จากประชาชาติธุรกิจ
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดตัวร่างแผนแม่บทการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร ปี 2560 – 2564 ชู 3 แนวทาง เพื่อยกระดับการบริหารจัดการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยสนับสนุน สู่การขับเคลื่อนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตรในระยะ 5 ปี
นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และ สศก. ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการฯ โดย สศก. ในฐานะหน่วยงานหลักของการจัดทำร่างแผนแม่บทการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร พ.ศ.2560 – 2564 ได้จัดทำแผนแม่บทฯ ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ และคำนึงถึงมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระยะ 5 ปี ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี 2560 – 2564) รวมทั้ง (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังดำเนินการ
สาระสำคัญร่างแผนแม่บทการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร พ.ศ.2560 – 2564 ได้กำหนดวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มมูลค่าในห่วงโซอุปทาน และพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์การเกษตร โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ออกเป็น 3 แนวทาง ได้แก่
1) ยกระดับการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุน โลจิสติกส์การเกษตร และเพิ่มขีดความสามารถในการเก็บเกี่ยวมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ ด้วยการเพิ่มทักษะและองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตรตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงส่งมอบผู้บริโภค การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ (Agro Logistics) โดยให้สำคัญกับการพัฒนาสถาบันเกษตรกรเป็นกลไกหลักในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการผลิต การตลาดและการบริการโลจิสติกส์สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมทั้งการพัฒนาโซ่คุณค่าสินค้าเกษตร
2) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบการอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์การเกษตรให้มีประสิทธิภาพ โดยสร้าง พัฒนาและปรับปรุง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ของเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการ ให้มีความเชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร และพัฒนาด่านสินค้าเกษตรและระบบการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบ Nation Single Window รวมทั้งพัฒนาระบบโลจิสติกส์อิเล็กทรอนิกส์ (E- Logistics)
3) พัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ภาคการเกษตร ด้วยการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้าน โลจิสติกส์การเกษตร และการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบเพื่อเอื้อต่อการบริหารจัดการโลจิสติกส์สินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ร่างแผนแม่บทฯ ดังกล่าว คณะอนุกรรมการฯ ได้เห็นชอบให้มีการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งในหน่วยงานภายในและภายนอก กษ. รวมทั้งเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำเป็นแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) ปี 2560-2564 เสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาต่อไป
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน