CSR กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (1)
จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ CSR Talk
โดย ดร.พรชัย ศรีประไพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์การค้าอิมพีเรียล และกรรมการมูลนิธิรักษ์ไทย
ผม ได้รับเชิญไปร่วมงานสัมมนาของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อวางแผนระยะยาว (15 ปี) ให้กับคณะ ในฐานะที่คณะนี้เป็นคณะที่ทำงานด้านการ สร้างสรรค์อยู่แล้ว ผมจึงนำเสนอเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นแกนหลักในการที่คณะจะไปพิจารณาปรับ หลักสูตรและวางแผนระยะยาวพัฒนานักศึกษาให้สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจสร้าง สรรค์ที่จะเป็นแนวทางสู่อนาคตที่สำคัญสำหรับประเทศไทย
เป็นที่ทราบ กันดีว่าการแข่งขันทางธุรกิจในโลกยุคปัจจุบัน เงินลงทุนไม่ได้เป็นปัญหาหลักอีกต่อไป สิ่งที่นักลงทุนขาดแคลนคือ "ความรู้" และ "ความคิดสร้างสรรค์"
ในยุคแห่งการเติบโตของ internet ความรู้กลายเป็นเรื่องหาได้ง่าย อยากจะรู้เรื่องอะไรก็กด Google search หรือ Yahoo search เราก็พอที่จะได้ความรู้ พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ และถ้าอยากรู้ซึ้งต่อไปอีกก็อาจจะหาตำรับตำราเรื่องราว งานวิจัยที่มีนำเสนอกันอยู่มากมายในอินเทอร์เน็ต ความรู้และขบวนการค้นคว้าหาความรู้กลายเป็นเรื่องง่าย เรื่องสะดวกสบายในศตวรรษที่ 21
ความคิดสร้างสรรค์ในทางตรงกันข้าม เป็นเรื่องที่ไม่สามารถค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ตได้ง่าย ๆ (ยกเว้นแต่จะไปลอกเลียนคนอื่น ๆ เขามา ..... ซึ่งก็ไม่แนะนำ ณ ที่นี้) เพราะความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมจะได้มาด้วยขบวนการคิดใหม่ ๆ ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่เน้นหาความแตกต่าง การออกนอกกรอบความคิดเดิม ๆ ความกล้าที่จะลองอะไรใหม่ ๆ การสังเกตในรายละเอียดต่าง ๆ ที่อาจจะนำมาขยายด้วยมุมมองใหม่ และที่สำคัญที่สุด คือ การฝึกตนเองให้ออกจาก "มุมที่เคยชิน" หรือ comfort zone
ประเทศไทย มองขอบเขตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้ 4 ด้าน คือ
1.ด้านวัฒนธรรมที่เน้น งานฝีมือ การท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ OTOP
2.ด้านศิลปะ อันประกอบด้วย ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ งานบันเทิงและงานศิลปะต่าง ๆ
3.ด้านสื่อผสม ที่มีภาพยนตร์ วีดิทัศน์ การพิมพ์ การกระจายเสียงและดนตรี
4.ด้านงาน สร้างสรรค์และออกแบบ ที่เกี่ยวข้องไปถึงแฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ ซอฟต์แวร์ งานโฆษณา และสถาปัตยกรรม
ในปัจจุบัน "อุตสาหกรรมสร้างสรรค์" สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยประมาณ 10% ของ GDP ประเทศ (ข้อมูลจาก Press Release ของ Kenan Institute Asia) เราส่งออกงานสร้างสรรค์ประมาณ 13,000 ล้านบาทต่อปี โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5% อุตสาหกรรมที่ทำรายได้สม่ำเสมอให้กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์, สารสนเทศ, เฟอร์นิเจอร์, ยารักษาโรค, เครื่องอัญมณี, งานวิจัย, ภาพยนตร์ วิทยุ และโทรทัศน์
เมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ที่ให้ความสนใจกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์มานาน เราจะเห็นว่าประเทศไทยเรายังอยู่ในจุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง
- สินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของอเมริกา คือ "ลิขสิทธิ์"
- อุตสาหกรรมดนตรีของอังกฤษ สร้างรายได้สูงกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ เหล็ก หรือสิ่งทอ
- กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ปรับยุทธศาสตร์จากอุตสาหกรรมหลักมาเน้นทางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
- ประเทศต่าง ๆ เริ่มหันมาหายุทธศาสตร์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยพยายามสร้าง cluster การผลิตให้อยู่ร่วมกันและช่วยเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อประสิทธิภาพและต้นทุนที่ต่ำลง
- สิงคโปร์เน้นที่ระบบสารสนเทศ และระบบ logistic ที่จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ประสบความสำเร็จ
ยุทธศาสตร์ ประเทศไทย ในมิติ Green CSR
จากประชาชาติธุรกิจ
พูดกันมา มากถึงโครงการด้านการป้องกัน ฟื้นฟูและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่องค์กรธุรกิจนำมากล่าวถึงและจัดทำโครงการ ต่าง ๆ ในฐานะส่วนหนึ่งของกิจกรรมซีเอสอาร์ของบริษัท ขณะที่ในฝ่ายรัฐบาลก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเป็นผู้วางแนวทาง กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจ
ใน งานเสวนาเรื่อง "CSR ในมิติรักษ์ สิ่งแวดล้อมกับการเตรียมพร้อมสู่ความ ยั่งยืน" (Towards Green CSR) ที่สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) และสถาบัน Change Fusion ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยจัดขึ้น โดยการสนับสนุนของซีเอสอาร์ คลับ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และมูลนิธิโลกสีเขียว เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
"อภิรักษ์ โกษะโยธิน" ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ ประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลปัจจุบันว่า ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการพัฒนาอยู่ที่การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการอนุรักษ์ การพัฒนาด้าน สิ่งแวดล้อมนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ในการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมในเรื่องเหล่านี้ โดยเน้นที่การกระจายอำนาจ ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการ
นับ ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 มาถึงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551-2552 ผู้ทำธุรกิจทุกคนต่างคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตอย่างนั้น เกิดขึ้นอีก คนจำนวนมากคิดถึงทิศทางการพัฒนาในอนาคตที่ต้องยืนอยู่บนหลักคิดเรื่องการ พัฒนาที่ยั่งยืน มีความสมดุล และไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการเติบโตมูลค่าเศรษฐกิจที่เป็นจีดีพี
"อภิรักษ์" เล่าว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ทำงานในองค์กรธุรกิจมา 20 กว่าปี โดยส่วนมากเป็นบริษัทข้ามชาติ ตนมีความเชื่อว่า ที่มาของวิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนมาจากการดำเนินธุรกิจที่เน้นการเติบโตของตัวเลข
แม้จีดีพี ประเทศไม่มีทางโตเกิน 10% แต่ในภาคธุรกิจจะถูกกำหนดโดยสำนักงานใหญ่ตลอดให้เติบโตทางธุรกิจไม่ต่ำกว่า 10-20% ทุกปี แล้วถ้าไม่โตก็จะถูกสั่งให้ขึ้นราคา หรือเพิ่มส่วนแบ่งตลาด
พอ เบ่งตัวเลขการเติบโตในองค์กรธุรกิจ มันก็จะไปโป่งเป็นตัวเลขจีดีพีของประเทศ เมื่อฟองสบู่แตกมันย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของทั้งประเทศ
ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตอีกครั้ง "โจเซฟ สติกลิตซ์" นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล จึงเสนอเรื่องของสังคมสมดุลหรือ well balance sustainable development คือการที่เอกชนโตได้ แต่ต้องโตอย่างมีความรับผิดชอบ และไม่ส่งผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม
หาก ภาคธุรกิจสามารถเติบโตในทางธุรกิจได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โตได้โดยการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเพิ่มผลิตภาพ ด้วยศักยภาพของคนในองค์กรมันจะยั่งยืนกว่าการเติบโตด้วยแรงกดดันของการเพิ่ม มูลค่าตัวเลขจีดีพี และปั๊มยอดขายให้โป่ง
เรื่องนี้จึงเป็นแนวนโยบาย ที่รัฐบาลเน้นอย่างแรก คือเรื่องการพัฒนาอย่างมีเป้าหมาย มีสมดุลและมีความยั่งยืน และรัฐบบาลกำลังพัฒนาตัวชี้วัดที่เรียกว่า ดัชนีทางเลือก (alternative index) โดยให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พัฒนา NPI หรือ National Progress Index เพื่อพิจารณาว่า มีการพัฒนาประเทศจากความร่วมกันของทุกภาคส่วนต่าง ๆ จริง ๆ หรือไม่ อย่างไร
แต่ อย่างไรก็ตาม การวัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือจีดีพี ก็ยังต้องมีต่อไป แต่ดัชนีทางเลือกนี้ จะวัดให้เห็นถึงผลการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สร้างชีวิตความเป็นอยู่ของคนใน สังคม ให้ได้จริง ๆ
ดังนั้นในเวลานี้รัฐบาลจึงเน้นที่การให้ ประชาสังคมที่เป็นอาสาสมัคร องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรธุรกิจ ภาคประชาชนเข้ามาร่วมกันเป็นภาคส่วนที่ 3 แล้วใช้จุดแข็งของแต่ละภาคส่วนเข้ามาร่วมกันคิด โดยใช้ศักยภาพของภาคธุรกิจเข้ามาช่วยทำให้เกิดผู้ประกอบการสังคม
ไม่ ว่าจะเป็น social enterprise, social entrepreneur เพื่อสร้างนวัตกรรมสังคม หรือ social innovation ซึ่งในเวลานี้รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่ง ชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นรองประธาน
และ ขณะนี้คณะกรรมการดังกล่าวได้จัดทำแผนแม่บทและกำลังจะเสนอเข้าสู่การพิจารณา ของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อตั้งสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติต่อไป