จากประชาชาติธุรกิจ
สัมภาษณ์
ก่อนที่ จะลาตำแหน่ง "นายกสมาคมประกันชีวิตไทย" ของ "สาระ ล่ำซำ" พร้อม ๆ กับ การเลือกตั้งนายกสมาคมคนใหม่ ในวันที่ 30 ก.ค.นี้เป็นต้นไป ซึ่งจะต้อง มารับไม้ต่อนั้น สาระได้เปิดอกบอกเล่าถึงประสบการณ์ตลอด 4 ปีเต็มในการดำรงตำแหน่งนี้ทั้ง 2 สมัย รวมถึงสิ่งที่ยังอยาก จะมุ่งมั่นผลักดันให้เกิดขึ้นในวงการธุรกิจประกันชีวิตไทย ผ่าน 7 คำถามต่อไปนี้
- ผลงานความสำเร็จในตำแหน่งนายกสมาคม เป็นอย่างไรบ้าง ?
ผมไม่อยากเรียกว่าเป็นความสำเร็จ แต่เรียกว่าเป็น "จังหวะที่ดี" ของธุรกิจประกันชีวิตที่พอดีกับการตอบรับของตลาดมากขึ้น ทั้งกระแสโลกาภิวัตน์ในวันนี้ ทำให้การขยายตัวของช่องทางการขายใหม่ ๆ และกรมธรรม์แบบต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน ปัจจัยแวดล้อมเรื่องโรคภัย อย่างไข้หวัด 2009 ภัยธรรมชาติ ไล่มาถึงวิกฤตทางเศรษฐกิจโลก หรือแม้แต่ปัญหาการเมืองในประเทศ ก็กลายเป็น "ตัวเร่ง" ที่ทำให้คนไทยยิ่งสนใจประกันชีวิตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแง่การใช้หลักความมั่นคงของชีวิต การบริหารความเสี่ยง หรือแม้แต่ การบริหารค่าใช้จ่ายก็ตาม
"ธุรกิจประกันชีวิตเติบโตเร็ว มากในช่วง 5-6 ปีมานี้ อัตราการถือครองกรมธรรม์กระโดดจาก 10% มาเป็นเกือบ 30% ซึ่ง สิ่งสำคัญอยู่ที่คนไทย "เข้าใจ" มากขึ้น เริ่มตั้งคำถามว่าจะซื้อประกันเพื่ออะไร ซื้อแบบไหน และซื้อกับใคร เมื่อเข้าใจ ก็ย่อม"ตอบรับ" ประกันชีวิตมากขึ้นด้วย"
- มีนโยบายรับมือกับวิกฤตอย่างไรบ้าง เพราะ 3-4 ปีที่ผ่านมาเกิดปัญหากระทบ ต่อธุรกิจประกันชีวิตค่อนข้างมาก ?
อย่างแรก ผมไม่อยากเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็น "วิกฤต" แต่มันเป็น "ความตื่นเต้น" และ "ความโชคดี" ที่ทุกคนในอุตสาหกรรมนี้ได้ "เรียนรู้" ร่วมกัน
เริ่ม จากประเด็นปัญหาเศรษฐกิจโลก แม้จะไม่กระทบโดยตรงกับประเทศไทย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนให้ ความสนใจมาก ซึ่งเราก็พยายามตอบรับ กับสถานการณ์อย่างทันที ข้อมูล, เทคโนโลยี และสื่อที่มีอยู่ ถูกหยิบมาใช้ในการชี้แจงต่อสังคม เพื่อให้เกิดความสบายใจ
ในกรณีไข้ หวัด 2009 ประกันชีวิตก็ให้ความคุ้มครองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำคู่กันไป คือเราสนับสนุนให้ผู้บริโภครู้จัก "ป้องกัน"ตัวเองมากขึ้น เมื่อเคลมน้อยลง ก็ช่วย ธุรกิจประกันชีวิตในทางอ้อมได้ เช่นเดียว กับปัญหาการเมือง ก็ทำให้ประชาชนสนใจ ซื้อประกันชีวิต เพื่อบริหารความเสี่ยงมากขึ้นด้วย
ประเด็น ความเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถือเป็นอีก "ความโชคดี" เพราะได้เรียนรู้กฎระเบียบใหม่ ๆ เยอะมาก โดยเฉพาะเกณฑ์กำกับเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk-based Capital-RBC) ที่จะเริ่มปรับให้สอดคล้องไปกับหลักสากล รวมถึงการเชื่อมกับภาคการเงินอื่น ๆ และการขยายตัวของช่องทางขายจำนวนมาก ที่การกำกับดูแลจะต้องล้อกันไป
- การเรียนรู้สิ่งเกิดขึ้น จะต่อยอดไป สู่อนาคตได้อย่างไร ?
เชื่อว่า ในอนาคตธุรกิจจะยิ่งโชคดีมากขึ้น ทั้งการเปิดเสรีด้านการเงินสำหรับภูมิภาคอาเซียนในปี 2015 และเปิดทั่วไปตาม ข้อตกลงขององค์การการค้าโลกในปี 2020 ทำให้การแข่งขันมากขึ้น ทั้งบริษัทในประเทศด้วยกัน และแข่งขันกับภาคการเงินอื่น ๆ แข่งกับบริษัทอื่น ๆ ในอาเซียน รวมถึงบริษัทข้ามชาติที่กำลังจะเข้ามามากขึ้น
"ตอนนี้บริษัทประกัน ชีวิตหลาย ๆ แห่งเริ่มปรับตัวและพร้อมรับกับการแข่งขันที่ จะเกิดขึ้นได้ แม้จะการันตีไม่ได้ว่าทุกบริษัทพร้อม แต่เชื่อว่าหลายแห่งปรับตัวแล้ว ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นไปด้วย"
- ความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจประกันชีวิตจะได้เห็นในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร ?
อย่างแรกที่จะได้เห็น คือการเริ่มใช้ RBC ในต้นปี 2554 เป็นต้นไป แม้จะเป็นการเริ่มใช้ในช่วง "ปรับแต่ง" กฎระเบียบให้สอดคล้องกันไปด้วย ขณะเดียวกัน บริษัท ก็ต้อง "ปรับตัว" ให้โปร่งใส และเป็นมืออาชีพ จึงจะอยู่ได้
ในอีก 2 ปีข้างหน้า บริษัทประกันชีวิตจะต้องเดินหน้าสู่การปรับเปลี่ยนเป็น "บริษัท มหาชน จำกัด" ตามเงื่อนไขกฎหมาย ก็จะยิ่งตอบโจทย์ความโปร่งใส ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทุกบริษัทก็ต้องเตรียมพร้อมรับกับการ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานด้วย
แนว โน้มการควบรวมกิจการ ก็ยังเป็นเทรนด์ที่ต้องติดตาม และอาจได้เห็นอีก ก็เป็นได้ เพราะตลาดประกันชีวิตในประเทศไทยยังมีแนวโน้มการเติบโตอีก มาก สัดส่วนเบี้ยต่อจีดีพีเพิ่งอยู่ในระดับ 2-3% ขณะที่ต่างประเทศอาจสูงถึง 6-7% และอัตราการถือครองกรมธรรม์ ของคนไทยก็เพียง 30% เท่านั้น จึงเป็นตลาดที่บริษัทต่างชาติ รวมถึงบริษัทในไทยด้วยกันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
- การลงทุนของธุรกิจประกันชีวิตให้สอดคล้องกับรูปแบบกรมธรรม์ จะมีมากขึ้นหรือไม่ ?
คอนเซ็ปต์เรื่องการจับคู่ระหว่างสินทรัพย์กับ ภาระผูกพันตามกรมธรรม์ (Asser & Liability Matching-ALM) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของธุรกิจประกันชีวิต จากนี้คงจะพยายามปรับให้สอดคล้องกันมากขึ้น เบี้ยประกันที่รับมา จะต้องถูกจัดสรรไปสู่การลงทุนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทสัญญากับผู้เอาประกัน ดังนั้น ALM ต้องมีช่องว่างน้อยที่สุด ทั้งในแง่ผลตอบแทน ระยะ เวลาและความเสี่ยง
"อย่าง ไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในธุรกิจวันนี้อาจทำให้โครงสร้าง ของแบบประกันชีวิตเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งจะกระทบให้ภาระผูกพันและรูปแบบการลงทุนต้องปรับให้สอดคล้องไปในทำนอง เดียวกัน จึงเป็นความท้าทายสำหรับบริษัทประกันชีวิตที่จะต้องทำให้ ALM เกิดช่องว่างน้อยที่สุดให้ได้"
- สิ่งที่อยากส่งต่อไปถึงนายกสมาคมคนใหม่ มีอะไรบ้าง ?
ที่ผ่านมา การทำงานของสมาคม จะร่วมกันเป็นทีมและประสานงานกันตลอด เชื่อว่าผู้ที่จะมารับตำแหน่งนายกสมาคม ต่อไป ย่อมเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ รวมถึงเข้าใจธุรกิจและภาระงานเป็นอย่างดีอยู่แล้ว จึงมั่นใจว่าจะสามารถมารับช่วงต่อ ในส่วนงานที่ยังไม่เสร็จสิ้นได้ไม่ยาก
สำหรับภาระงานที่ยังอยู่ใน ระหว่างดำเนินการขณะนี้ เรื่องแรก เป็นเรื่องสิทธิหักลดหย่อนภาษีสำหรับเบี้ยประกันชีวิต แบบบำนาญ, แบบควบการลงทุน และอนุสัญญาเพิ่มเติม เช่น สุขภาพ และอุบัติเหตุ ซึ่งจะรวมไปถึงการแก้ไขหลักเกณฑ์การวางสำรองประกันภัย เพื่อให้สามารถออกกรมธรรม์บำนาญได้
เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจ ประกันชีวิต ก็เป็นอีกเรื่องใหญ่ที่ต้องถูกสานต่อ ทั้งเรื่องหลักเกณฑ์ RBC ที่ยังต้องปรับแต่งอีกพอสมควร, มาตรฐานบัญชีต่าง ๆ, กฎหมายเรื่องการลงทุน รวมถึงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจให้ทันสถานการณ์ ถูกต้องและเป็นธรรมต่อผู้เอาประกัน
- จากนี้ไป ยังเหลือตำแหน่ง "ประธานสภาธุรกิจประกันภัย" จะมีนโยบายผลักดันอย่างไร ?
ภายใต้สภา ธุรกิจประกันภัย ประกอบด้วยสมาชิก 5 สมาคม ได้แก่สมาคมประกันชีวิตไทย, สมาคมประกันวินาศภัย, สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน, สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย และสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย
"บทบาท หลักของสภา จะต้องเป็น "ตัวเชื่อม" ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสมาคมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสมาชิกโดยรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดความ ซ้ำซ้อน"
ปัจจุบัน สิ่งที่สภากำลังดำเนินการอยู่ จะโฟกัสไปที่การเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการเปิดเสรี ซึ่งให้สมาคมที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษารายละเอียด โดยสภาจะเป็นตัวเชื่อมประสานเรื่องเหล่านี้อีกชั้นหนึ่งกับหน่วยงานอื่น ๆ นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องการปรับแก้ตารางมรณกรรม, หลักเกณฑ์ RBC และการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเบี้ยประกัน ต่างก็อยู่ในวาระที่สภาจะต้องเดินหน้าผลักดันต่อเช่นกัน
ทั้งหมดนี้ คือ 7 คำถาม และคำตอบจาก "สาระ ล่ำซำ" ก่อนที่จะส่งต่อภารกิจให้กับ "นายกสมาคมประกันชีวิตไทย" คนใหม่มารับช่วงต่อ แต่สำหรับเขา ตำแหน่ง "ประธานสภาธุรกิจประกันภัย" ที่ยังเป็น "หมวก" อีกใบนั้น ก็ยังเป็นอีกบทบาท ที่เขาจะผลักดันเพื่อธุรกิจประกันภัยทั้งระบบต่อไป