สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Green และการศึกษา CSR เฮงเค็ล

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : ชนิตา ภระมรทัต


เฮงเค็ลนั้นใน แง่ของรายได้นั้นติดทำเนียบฟอร์จูน 500 องค์กรนี้ยังติดในหลายทำเนียบว่าด้วยเรื่องการมีจิตสำนึกทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม จริยธรรม
บริษัทสัญชาติเยอรมันแห่งนี้มีอายุอานามกว่า 130 ปีแล้ว  ปัจจุบันดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่มคือ  กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์กาวอุตสาหกรรม  ผลิตภัณฑ์กันรั่วซึม และเคมีภัณฑ์เพื่อการเตรียมพื้นผิว,กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคลและ เครื่องใช้ในครัวเรือน

เฮงเค็ลเริ่มต้นธุรกิจในประเทศ ไทยเมื่อปี พ.ศ. 2515   อย่างไรก็ดีบริษัทนี้จะมีแบรนด์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เส้นผมคือ "ชวาร์สคอฟ" เท่านั้นที่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนไทย  แต่แทบจะไม่รู้จักเลยในส่วนที่เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ด้านอุตสาหกรรมอย่าง  กาวล็อกไทท์ ยูวีไลท์เคียว ฯลฯ  ทั้งๆ ที่มันเป็นส่วนประกอบในสิ่งรอบๆ ตัวในชีวิตประจำวันไม่ว่าบนหน้าปัดนาฬิกา วงจรอิเล็กทรอนิกส์ กระทั่งทำหน้าที่ผนึกซองขนมขบเคี้ยว

อย่างไรก็ดีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ทุกกลุ่มของเฮงเค็ลล้วนเป็นผู้นำในตลาดทั้ง สิ้น   จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมองถึงความยั่งยืน

Henkel is a leader with brands and technologies that make people's  lives easier, better and more beautiful

นี่คือสโลแกนที่เฮงเค็ลเชื่อว่า สิ่งที่ได้พูดกับการที่ได้ปฏิบัติจริงนั้นสอดคล้องต้องกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรแห่งนี้เน้นหนัก ทุ่มเทกับงานวิจัยเพื่อคิดค้นนวัตกรรม  green ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเม็ดเงินมหาศาล อีกทางหนึ่งก็ไม่ละเลยกับกิจกรรมด้าน CSR ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยทำให้ทุกชีวิตง่ายขึ้น ดีขึ้น และสวยงามขึ้น นั่นเอง

ชมัยพร เอื้อไพโรจน์กิจ ประธานกรรมการ บริษัท เฮงเค็ล (ประเทศไทย) จำกัด  กล่าวว่าสำหรับ CSR ของเฮงเค็ลไทยจะเน้นเรื่องการศึกษา เป็น หลักด้วยมองว่าเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ  รวมถึงมีการนำเทคโนโลยี green ไปกระตุ้นจิตสำนึกผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมให้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมวิธี การก็คือ โรดโชว์ไปยังมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ

เป็น  CSR ที่ยึดโยงไปกับธุรกิจของเฮงเค็ลทั้งสิ้น

"ความเห็นส่วนตัวมองว่า CSR ต้องอยู่ในชีวิตประจำวัน สอดคล้องกับธุรกิจที่ทำ คือไม่เป็นการข้ามห้วยไปทำเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องเลย  เพราะทำอย่างนั้นเหมือนเป็นการทำเพื่อการประชาสัมพันธ์มากกว่า"

เหตุผลก็คือ คุณภาพการศึกษาดีก็จะช่วยสร้างคนที่มีศักยภาพมีขีดความสามารถ  ช่วยไดรฟ์องค์กรธุรกิจในอุตสาหกรรมการผลิตให้เติบโตก้าวหน้า  ตลอดจนโลกจะเป็นสีเขียวได้ก็ต่อเมื่อโรงงานอุตสาหกรรมหันมาใช้เทคโนโลยีสี เขียว

ด้านการสนับสนุนด้านการศึกษา  เฮงเค็ลนั้นมีธรรมเนียมปฏิบัติ เป็นเวลากว่า 20 ปีมาแล้วในการให้งบประมาณสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งเกิดขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เพื่อสนับสนุนการศึกษาของเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เป็นจำนวนเงิน 2.5-3 ล้านบาท /  โรงเรียน ใช้ไปในการสร้างอาคารเรียน ห้องน้ำ ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ปรับภูมิทัศน์โดยรอบ ฯลฯ

หากแต่การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยต่างหากที่จะส่งผลต่อการขับเคลื่อน อุตสาหกรรมและประเทศชาติ ดังนั้นเฮงเค็ลจึงได้เพิ่มความช่วยเหลือ การศึกษาเยาวชนในระดับนี้ภายใต้โครงการ Henkel University Training School (UTS) ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีกาววิศวกรรมให้แก่ คณาจารย์และนักศึกษาด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์

"เด็กที่เรียนวิศวะระดับมหาวิทยาลัยที่สุดเขาต้องไปทำงานเป็นหัวหน้าเป็น นายของคนงานในโรงงานผลิตต่างๆ  เขาจะต้องรู้ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ในโลกนี้ก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว  คือแทนที่จะต้องใช้มือขันนอตก็แค่หยดกาวไม่กี่หยด  เราต้องให้ความรู้ใหม่ๆ เพื่อสร้างน้ำใหม่เข้าไปในกระบวนการไม่เช่นนั้นอุตสาหกรรมของเราก็จะเป็นแบบ เดิมๆ  จนไม่มีความสามารถในการแข่งขัน"

และภายใต้แนวคิด "Go Green" เพื่อนำเสนอความรู้ข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ (Green Technology) ให้กับคนในแวดวงอุตสาหกรรม เฮงเค็ลมีจุดสตาร์ทในปี พ.ศ. 2551 ด้วยการจัดงาน Henkel Go Green Innovation Carnival

"งานนี้ได้รับความสำเร็จมีคนเข้าร่วมงานกว่า 500 คน   สุดท้ายพูดจริงๆ ก็คือวิธีการนี้ก็สะท้อนมาที่ยอดขายด้วย เพราะเดิมพนักงานขายของเรามักถูกปฏิเสธเวลาจะขอนำเสนอสินค้าหลังงานนี้ก็ได้ รับการต้อนรับมากขึ้น "

ชมัยพรบอกว่าคีย์ซัคเซสการทำ CSR ของเฮงเค็ลไม่ใช่เรื่องพีอาร์ แต่ประกอบไปด้วยปัจจัย 3 ด้าน คือ 1. เกิดจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและดีเลิศของเฮงเค็ลบริษัทแม่

"ค่านิยมของคนทั่วโลกต่อเทคโนโลยีเยอรมันนั้นคือ ความสุดยอด และคุณภาพที่ดีจริงๆ  ในสายเลือดความเป็นเยอรมันคือเขาจะต้องพัฒนาสินค้าให้ดีแบบสุด ๆ ไปเลยซึ่งอาจไม่มีความจำเป็นและยังทำให้แข่งขันได้ยากเพราะมีราคาแพง เทียบกับอเมริกาที่มักจะพัฒนาแค่ให้ตลาดยอมรับและแข่งขันได้แค่นั้น จึงไม่ยากเย็นเกินไปกับการสร้างความรับรู้ในเรื่องนี้"

ปัจจัยที่สอง คือ นโยบายที่ทำให้ CSR เกิดขึ้นได้จริงๆ   หากบริษัทหวังเรื่องทำกำไรเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มองระยะยาวก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ แน่นอนเฮงเค็ลมองเรื่องความยั่งยืน  ซึ่งโครงการ CSR เองก็ต้องเน้นเรื่องความยั่งยืนคำนึงถึงผลระยะยาว

ปัจจัยที่สามคือ   ความแข็งแกร่งด้านการเงินของเฮงเค็ลบริษัทแม่ ตัวเองต้องอยู่รอดก่อนจึงจะสามารถไปดูแลสนับสนุนคนอื่นๆ ได้ ชมัยพรบอกว่าที่เฮงเค็ลฝ่าวิกฤติมาได้หลายต่อ ครั้งมาได้ก็เพราะอยู่ในธุรกิจที่มีความหลากหลายซึ่งไม่แค่ธุรกิจเท่านั้น ยังหมายรวมถึงมันสมองของพนักงานที่หลากหลายสัญชาติและภาษา อีกด้วย

ผู้บริหารหญิงคนเก่งท่านนี้บอกว่า ในอนาคตเฮงเค็ลไทยก็จะเดิน CSR ไปตามแนวทางการศึกษาเช่นเดิม  ด้วยสอดคล้องกับแนวพระราชดำริในหลวงที่ทรงสอนให้คนทำมาหากินได้ด้วยตัวเอง

เพราะการศึกษาจะทำให้คนเลี้ยงดูตัวเองได้จนแก่เฒ่า แน่นอนไม่ได้ทำให้ชีวิตสุขสบาย  ต้องมีร้อนมีหนาวบ้าง และหากไม่ต้องเหนื่อยยากเลยสุดท้ายก็คงไม่ยั่งยืน

Tags : Green การศึกษา CSR เฮงเค็ล

view