จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ชนิตา ภระมรทัต
แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กระแส CSR ก็ยังคงฮอต และดูเหมือนว่าจะฮอตไปอีกนาน
ในงาน Thailand Corporate Excellence Awards 2009 เมื่อเร็วๆ นี้ หนึ่งในหัวข้อสัมมนา จึงว่าด้วยเรื่อง "ความเป็นเลิศด้านความรับผิดชอบต่อสังคม"
เป็นการนำเสนอโมเดล CSR หรือ Corporate Social Responsibility ที่เป็นเลิศขององค์กรที่เป็นเลิศ นั่นคือ ปูนซิเมนต์ไทย บางจาก ไทยเบฟเวอเรจ ปตท.และ โตโยต้า
โดยมี ปกิต เอี่ยมโอภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันภัย จำกัด ทำหน้าที่ซักถามด้วยคำถามดังต่อ ไปนี้ CSR คืออะไร ทำไมองค์กรธุรกิจต้องทำ CSR ภาพของ CSR ที่เห็นทุกวันนี้ทำไมจึงอยู่ในรูปแบบของโครงการไม่ใช่พฤติกรรม ว่ากันว่าทำ CSR หากไม่ Top-down จะไม่สำเร็จจริงหรือ CSR คือการทำความดี ควรวัดความสำเร็จหรือไม่อย่างไร วิธีการรักษากระแสนิยม CSR ให้แรงอย่างต่อเนื่อง และ do & don't ของการทำ CSR
วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี กล่าวว่า CSR สำหรับเอสซีจีคือเรื่อง Sustainable Development หรือการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการสร้างสมดุลใน 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
เอสซีจีเน้นการปลูกฝัง CSR ชนิดให้ซึมเข้าไปในสายเลือดของพนักงาน หากแต่ปัจจุบันโลกใบนี้หมุนไวขึ้นเอสซีจีทำคนเดียวคงไม่ทันการณ์จึงได้เชื้อ ชวนคนนอกองค์กรให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำความดี
"เป็นโอกาสให้องค์กรขนาดเล็กๆ ที่ยังไม่พร้อม ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน กระทั่งเด็กๆ นักเรียน นักศึกษา ได้เข้ามาเรียนรู้ จากการร่วมทำกิจกรรม CSR กับเอสซีจี"
เธอบอกว่าที่ผ่านมามีคนที่ขอเข้าเยี่ยมชมงาน CSR ของเอสซีจีจำนวนเยอะมาก และมักถามถึงตัวเลขของงบประมาณที่ใช้ไปกับเรื่องนี้ (ซึ่งเยอะมาก) ขณะที่บอร์ดของเอสซีจีไม่เคยถามเรื่องนี้เลย นั่นหมายถึง เอสซีจีไม่เคยประเมิน CSR ในแง่ของ ROI
"เราจะวัดผลกันที่คุณภาพ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนก็คือ จากการที่เอสซีจีไปสร้างฝายยังป่าต้นน้ำ ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ขณะที่กำลังพูดอยู่นี้ที่จังหวัดลำปางเกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่แต่ในพื้นที่ที่เราสร้างฝายกลับไม่เกิดเหตุน้ำท่วมเลย แสดงให้เห็นว่าฝายของเราช่วยในเรื่อง น้ำขาด และน้ำเกิน ได้เป็นอย่างดี"
เธอมองว่า do สำหรับ CSR ก็คือ การลงมือทำในสิ่งที่ชุมชนและสังคมมีความต้องการจริงๆ เพราะการทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำนั้นคือ waste ส่วน don't หมายถึง "อย่าหยุดทำ" คือหากทำโครงการใดแล้วก็อย่าหยุดกลางคัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนการศึกษา และทุนประกวดหุ่นยนต์กู้ภัยให้กับเยาวชน ที่จำเป็นเหลือเกินที่ต้องส่งเด็กให้ถึงฝั่ง
อนุชิต จุรีเกษ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้องค์กรธุรกิจในปัจจุบันสนใจขับเคลื่อน CSR ว่าเป็นเพราะได้เล็งเห็นว่าโลกทุกวันนี้เสียหายอย่างหนักเพราะมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง หากไม่คิดจะทำอะไรในวันนี้ธุรกิจคงจะอยู่ไม่ได้และต้องสิ้นสลายไปพร้อมๆ กับโลกใบนี้เช่นเดียวกัน
"ผมว่าคำว่า CSR ต้องเปลี่ยน c เป็น i คือ Corporate เป็น Individual ความดีต้องเริ่มจากคนคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อนึกถึงว่าคนดีต้องมีพฤติกรรมอย่างไรก็จะ simple มาก "
และเรื่องนี้ควรต้อง Top-down เพราะขวัญกำลังใจของพนักงานในองค์กรที่สุดมาจากการสนับสนุนของคนระดับ Top
สำหรับเรื่องการวัดผลสำเร็จนั้น เขามีความเห็นว่าไม่ว่าจะทำโครงการอะไรก็ล้วนต้องมีการวัดผลทั้งสิ้น ความดีก็ไม่มีข้อยกเว้น เพราะจะรู้ได้อย่างไรว่าองค์กรเรานั้นทำดีแค่ไหนแล้ว ดีกว่าเดิมหรือยังเท่าเดิม ซึ่งเกณฑ์ประเมินจะเข้มข้นขนาดไหนก็ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของแต่ละโครงการ
" ตัวอย่างเช่นเรามีโครงการให้พนักงานมีความปลอดภัยในที่ทำงาน ก็ต้องมีสถิติว่าเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร หรือ โครงการปลูกต้นไม้ให้ ได้หนึ่งล้านต้นก็ต้องมีสถิติว่าที่ผ่านมาปลูกไปได้แล้วกี่ต้น จะต้องปลูกอีกกี่ต้น และใช้เวลาเท่าไหร่"
ฉวีวรรณ เกียรติโชคชัยกุล ผู้อำนวยการ สำนักสื่อสารองค์กรและชุมชนสัมพันธ์ บริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า CSR ก็คือ นิสัยของคนไทยที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เอื้ออารี มีน้ำใจ
"ต้องเริ่มสร้างจิตสำนึกเรื่องนี้จากภายในองค์กร พนักงานของบางจากยุคนี้ส่วนใหญ่ก็จบจากรั้วฮาร์วาร์ด เรื่องความเก่งไม่ต้องถามถึง แต่เป็นคนดีด้วยหรือเปล่า ก่อนจะทำประโยชน์ต่อสังคมต่อคนอื่น DNA คนบางจากจะต้องเป็นคนดีเสียก่อน "
และมีความเห็นว่า CSR นั้นไม่ใช่ทำได้แค่องค์กรหรือบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น ธุรกิจไซส์ไหนก็ทำได้ และจะไปทอดกฐิน ผ้าป่าก็ทำได้หมด คือต้องเริ่มจากสิ่งที่บริษัทมีอยู่จริง สิ่งที่พอจะทำได้จริง
"ใครจะว่าเทียมก็ช่าง เพราะคนที่ว่าเราในความเป็นจริงอาจไม่เคยทำบุญเลยก็เป็นได้"
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มองว่ากระแส CSR เกิดจาก การตระหนักถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเช่นเดียวกัน ทำให้องค์กรธุรกิจในวันนี้ต้องดูแลทั้งด้าน demand side และ supply side เพราะธุรกิจคงไปต่อไม่ได้หากด้านใดด้านหนึ่งเฟล
อย่างไรก็ตาม เขามองว่า CSR ก็เป็นกระแสที่สักวันหนึ่งก็ต้องมีแผ่ว ดังนั้นในช่วงกำลังบูมแบบฉุดไม่อยู่องค์กรจึงควรต้องปลูกฝังเรื่องนี้ให้ติดแน่นจนกลายเป็น DNA ให้ได้อย่างแท้จริง
"ผมเห็นด้วยกับเรื่อง Top-down หากพนักงานเริ่มต้นแล้วนายไม่เห็นด้วยยากที่จะสำเร็จ ปตท.จึงมีประเมินการทำงาน หรือ KPI ถึงเรื่อง ของ CSR ในระดับผู้บริหาร"
และเขาสรุปเรื่อง do & don't แบบง่ายๆ แต่ได้ใจความว่า do ก็ให้คิดถึงไนกี้ Just Do It และdon't นั้นเข้าตำรานาโต้ที่ว่า No Action Talk Only
จิตติมา คงจำเนียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวางแผนส่งเสริมสังคม และสำนักงานเลขานุการมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย กล่าวว่า โตโยต้านั้นทำ CSR ครบทั้งห่วงโซ่คุณค่าหรือ value chain เริ่มตั้งแต่การสั่งวัตถุดิบเข้าไลน์กระบวนการผลิตจนกระทั่งถึงมือของลูกค้า และโตโยต้าได้ลากเอาบรรดาผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในห่วงโซ่เข้าร่วมขบวน CSR ด้วย จนในวันนี้ผู้ผลิตชิ้นส่วนและดีลเลอร์ของโตโยต้าแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ผ่านมาตรฐาน ISO 24000 แล้ว
"เห็นด้วยว่าจำเป็นต้องมีการประเมินผล เพื่อชี้ว่าโครงการที่เราทำไปสำเร็จหรือไม่อย่างไร ต้องให้เห็นความก้าวหน้าและพัฒนาต่อไม่เช่นนั้นมันจะหยุดอยู่กับที่ continuous improvement จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก"