จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เอเอฟพี - นักเรียกร้องสิทธิมนุษยชนรุมวิจารณ์การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายใน ไทย โดยแสดงความกังวลว่าผู้อพยพเหล่านั้นอาจถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจรีดไถเอาเงิน แม้พวกเขาจะมีเอกสารยืนยันสถานภาพอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม
อู หนุ่มผู้อพยพชาวพม่าวัย 26 ปี เผยว่า เขาเริ่มมีปัญหากับตำรวจท้องที่มหาชัย ซึ่งเป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรม และเต็มไปด้วยแรงงานข้ามชาติ โดยถูกกล่าวหาว่ากู้ยืมเงินนอกระบบโดยไม่เป็นความจริง และถูกขู่ว่าจะเนรเทศกลับพม่า แม้ว่าเขาจะมีเอกสารพิสูจน์สถานภาพของตัวเอง จนกระทั่งเขาจ่ายเงินไป 4,000 บาทเรื่องจึงเงียบ
ประเทศไทยเริ่มใช้มาตรการปราบปรามแรงงานข้ามชาติที่ไม่ขึ้นทะเบียน อย่างเข้มงวด โดยเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามเพื่อทำให้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากได้ทำ งานอย่างถูกกฎหมาย แต่นักเคลื่อนไหวกลับแสดงความกังวลในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะการรีดไถเอาเงินโดยเจ้าหน้าที่
แอนดี้ ฮอลล์ ที่ปรึกษามูลนิธิสิทธมนุษยชน และการพัฒนา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถรีดไถเงินจากแรงงานอพยพ ที่อ่อนแอ โดยได้รับการยกเว้นโทษอย่างเต็มที่
"ผมคิดว่า ความจริงที่พวกเขากระทำเช่นนี้อย่างเป็นระบบทั่วประเทศไทยนั้นแค่เพียงแสดง ให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มองผู้อพยพเป็นเพียงชนชั้นสอง และเกือบจะไม่ใช่มนุษย์" ฮอลล์กล่าว
ด้าน ดร.ปณิธาน วัฒนายากร โฆษกรัฐบาลชี้ว่า ทางการต้องการเชิญชวนให้ผู้อพยพเข้าร่วมระบบดังกล่าว เพื่อพวกเขาจะได้รับการคุ้มครอง ซึ่งรัฐบาลก็ทราบเรื่องการรีดไถของบรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจในบางพื้นที่แล้ว และจะต้องมีการลงโทษเจ้าหน้าที่เหล่านั้น แต่ปัญหาคือผู้อพยพหลายคนไม่ยอมออกมาแจ้งความดำเนินคดี
ตัวเลขจากตำรวจมหาชัยแสดงให้เห็นว่ามีการจับกุมแรงงามต่างด้าวเพิ่ม ขึ้นมากกว่า 400 คนในเดือนสิงหาคม จากราว 80 คนในเดือนมีนาคม แต่ฮอลล์ชี้ว่า ตัวเลขแท้จริงนั้นน่าจะเป็นหลายพันราย แต่แรงงานเหล่านั้นจ่ายเงินเพื่อให้ได้รับการปล่อยตัว
สำหรับจำนวนผู้อพยพจากพม่า ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาในประเทศไทยอาจทะลุถึง 2 ล้านคน หากนับรวมกับแรงงาน ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกประมาณ 1 ล้านคน
นายจ้างในจังหวัดสมุทรสาครรายหนึ่ง ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ เล่าว่า เจ้าหน้าที่เคยบุกจับกุมคนงานไปมากกว่า 200 คนใน 1 วัน โดยไม่ได้ตรวจสอบเอกสารของพวกเขาเลย และคนงานเหล่านั้นก็ถูกนำตัวเข้ากรุงเทพฯ รอให้นายจ้างส่งเอกสารยืนยันเพื่อให้ได้รับการปล่อยตัว
"บางโรงงาน คนงาน 30-40 คนถูกจับไป พวกเขาจึงไม่สามารถดำเนินการได้เลย คุณลองคิดสิว่าเราต้องสูญเสียมากแค่ไหน เมื่องานไม่เดินสัก 2-3 วัน แต่ตำรวจก็ไม่ได้สนใจ" เธอกล่าว
ฟิล โรบินสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมน ไรท์ วอตช์ ในเอเชีย ระบุว่า การที่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจากส่วนกลางเข้าไปในพื้นที่เท่ากับว่าข้อ ตกลงทุกอย่าง ระหว่างตำรวจท้องถิ่น นายจ้าง และคนงานเป็นอันยกเลิกทั้งหมด ซึ่งตามปกติแล้ว แรงงานต่างด้าวเป็นเป้าหมายสบายสำหรับตำรวจท้องที่ ที่จับกุมแล้วก็ปล่อยตัวเมื่อได้รับเงินสินบน
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.พงษ์ศักดิ์ ชูนาค ผกก.สภ.เมืองสมุทรสาคร ปฏิเสธว่าไม่มีการคอรัปชันเกิดขึ้นในหน่วยงานของเขา และไม่เคยได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีรีดไถในท้องที่ภายใต้การบังคับ บัญชาของเขาด้วย
ทั้งนี้ ปัญหาเหล่านี้ยังคงเป็นเหมือนสิ่งต้องห้ามในประเทศไทย ซึ่งแม้แต่นักธุรกิจก็เกรงกลัวตำรวจ
"ความจริงมีอยู่ แต่ฉันไม่สามารถพูดอะไรได้ เพราะมันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของฉัน" เจ้าของโรงงานแห่งหนึ่งในสมุทรสาครกล่าว เมื่อถูกถามถึงการคอรัปชันในหมู่เจ้าหน้าที่ตำรวจ