สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รื้อ208สัญญาสุวรรณภูมิ เช็กบิล'รายสัมปทาน'หวั่นซ้ำรอยที่จอดรถ

จากประชาชาติธุรกิจ

"คมนาคม-บอร์ด ทอท." ขยายผลการจัดระเบียบใหม่ "สัมปทานสุวรรณภูมิ" ทั้ง "รมว.โสภณ-ปิยะพันธ์" ไฟเขียว คนในแฉ 208 สัญญา มี 3 โปรเจ็กต์ใหญ่ที่สร้างเม็ดเงิน ปีละ 500-600 ล้านบาท ต้องเคลียร์ด่วน "ไฟฟ้า 400 เฮิรตซ์" ไม่ปฏิบัติตามทีโออาร์มา 5 ปี "รถเข็นของแท็กส์" ซุ่มตั้งบริษัทใหม่ได้สัมปทานสนามบินภูเก็ต "ศูนย์ขนส่งสาธารณะสุวรรณภูมิ" ไม่จ่ายค่าตอบแทนรายปี



ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) "ทอท." ได้ขยายผลการรื้อสัมปทานโครงการของ บริษัทต่าง ๆ ที่เข้ามารับงานภายในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ต่อเนื่องจากกรณีบอร์ดมีมติยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่ลานจอดรถระยะยาว (longterm parking) 62,380 ตารางเมตร ของบริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด ระยะ 15 ปี เมื่อ 6 กันยายน 2553 ล่าสุดยกเลิกสัญญาบริหารพื้นที่ลานจอดรถหน้าอาคารผู้โดยสารเอและบี พื้นที่กว่า 1.6 แสนตารางเมตร ของบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด เมื่อ 7 ตุลาคม 2553

โดยนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้ตั้งนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบการใช้พื้นที่เกี่ยวข้องระบบการคมนาคมขนส่งใน สนามบินสุวรรณภูมิ ทำหน้าที่สอบสวนหาข้อเท็จจริงจากฝ่ายบริหาร ทอท.และกรรมการทั้งหมดของบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ส่วนนายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานบอร์ด ทอท. เร่งสะสางปัญหาพร้อมกับให้ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายพาณิชย์ ทอท.ดำเนินการฟ้องดำเนินคดีเรียกค่าชดเชยความเสียหายจากคู่สัญญา หลังจากปาร์คกิ้งฯตอบโต้ด้วยการชิงฟ้อง ผู้อำนวยการสุวรรณภูมิและ ทอท.ก่อน อีกทั้งยังขอให้ศาลแพ่งและศาลปกครองกลางคุ้มครองฉุกเฉินกรณีถูกยกเลิกสัญญา บริหารลานจอดรถอาคารผู้โดยสารเอและบีสนามบินสุวรรณภูมิ




นาย ปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานบอร์ด ทอท. เปิดเผยว่า จากนี้ไปมีนโยบายให้ ทอท.เร่งตรวจสอบสัญญาอื่น ๆ ที่ส่อแววจะมีปัญหาต้องทบทวนทุกสัมปทานอย่างรอบคอบ หากพบสัญญาโครงการใดมีลักษณะใกล้เคียงกันกับกรณีสัมปทานบริหารพื้นที่ลานจอด รถสุวรรณภูมิซึ่งไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงตามที่ระบุไว้ โดยไม่จ่ายผลตอบแทน ไม่ติดตั้งอุปกรณ์ หรือผิดเงื่อนไขอื่น ทอท.รวบรวมและสะสางปัญหาให้เรียบร้อย

และเมื่อ 11 ตุลาคม 2553 ที่ประชุมบอร์ดมีมติตรงกันให้ดำเนินการตามกฎหมายพร้อมทั้งการยกเลิก สัมปทานบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ตามข้อเสนอของฝ่ายบริหาร ทอท. ในทางปฏิบัติจะให้เวลาขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่เช่าภายใน 7 วัน นับจากวันที่ 7 ตุลาคมเป็นต้นมา จากนั้น ทอท.จะใช้เวลาเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์จัดเก็บเงินอีก 3 วัน ช่วงดังกล่าวจะเปิดให้ลูกค้าจอดฟรีโดยไม่เสียค่าบริการ

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบการใช้พื้นที่เกี่ยวข้องระบบการคมนาคมขนส่งใน สุวรรณภูมิ กล่าวว่า ให้ ผู้บริหาร ทอท.กับกรรมการที่ขัดแย้งกันทั้ง 2 ฝ่าย จากบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด คือ นายธนกฤต เจตกิตติโชค กับนายธรรศ พจนประพันธ์ มาชี้แจง รายละเอียดเรียบร้อยแล้ว เตรียมส่งข้อสรุปให้ ทอท.ตัดสินใจเรื่องคดีเอง

แหล่งข่าวระดับสูงจาก ทอท.เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้มีสัญญาระหว่าง ทอท.กับเอกชนที่เข้ามารับสัมปทานในสุวรรณภูมิรวม 208 บริษัท (ดูกราฟิก) ประกอบด้วย 3 หมวด ได้แก่ หมวด 1 สัญญา 10 ปีขึ้นไป มี 27 สัญญา แยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่ม 1 ดำเนินตามพระราชบัญญัติร่วมทุนภาครัฐและเอกชน พ.ศ. 2535 รวม 6 สัญญา กลุ่ม 2 ผู้ประกอบการเหนือ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 21 สัญญา

หมวด 2 สัญญาน้อยกว่า 10 ปี มีมากที่สุด 119 สัญญา ส่วนใหญ่เป็นสัญญา 1-3 ปี ที่เข้าไปเช่าพื้นที่ 10-500 ตารางเมตร/ยูนิต เปิดกิจการ ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ติดตั้งอุปกรณ์บริการด้านโทรคมนาคม บริการการเงิน และอื่น ๆ กลุ่มบริษัทเหล่านี้มีจำนวนกว่า 70% จะหมดสัญญาภายใน ปี 2554

หมวด 3 สัญญาอายุ 5 ปีขึ้นไป มี 62 บริษัท เป็นกลุ่มประกอบการร้านค้าย่อยเชิงพาณิชย์ เคาน์เตอร์บริการนักท่องเที่ยวของสมาคมชมรมท่องเที่ยวและโรงพยาบาล โทรศัพท์มือถือ

ส่วนสัมปทานโครงการขนาดใหญ่สัญญา 10 ปีขึ้นไปให้ผลตอบแทนรายได้ ทอท.สูงมาก ปีละ 100-600 ล้านบาท แต่กลับไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงสัญญา ที่บอร์ดและฝ่ายบริหารจะต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียดก็มี โครงการแรก สัมปทานการลงทุนให้บริการระบบไฟฟ้า 400 เฮิรตซ์ และระบบปรับอากาศ PC-Air สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท แอร์พอร์ต ฟาซิลิตี้ จำกัด (AFAC) ระยะเวลา 10 ปี ได้รับสัมปทานตั้งแต่เปิดสนามบิน ตกลงจ่ายผลตอบแทนรายได้ ทอท. 41.5% ของแต่ละปี มูลค่าผลตอบแทนปีละ 500-600 ล้านบาท และเป็นสัญญาเดียวที่ไม่ได้ระบุผลตอบแทนรายได้ขั้นต่ำไว้

ปัจจุบัน บริษัท แอร์พอร์ต ฟาซิลิตี้ จำกัด ยังไม่ได้ลงทุนปรับปรุงอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า 400 เฮิรตซ์ อากาศยานตามข้อตกลงทีโออาร์ แต่กลับคิดค่าบริการจากสายการบินนานาชาติแพงกว่าสนามบินดอนเมืองถึง 30% รวมทั้งยังติดหนี้ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำเย็นซึ่งนำมาใช้ในระบบ PC-Air เป็นยอดเงินรวมกว่า 100 ล้านบาท ทั้งที่ผลการดำเนินงานของบริษัทสูงมาตลอด ปี 2552 มีรายได้รวม 542 ล้านบาท แจ้งกำไรเพียง 65,506 บาท ส่วนปี 2551 มีรายได้รวม 620 ล้านบาท มีกำไรถึง 20 ล้านบาท

โครงการ 2 สัมปทานเช่าพื้นที่ภายในศูนย์ขนส่งสาธารณะ (bus terminal) ของ บริษัท สุวรรณภูมิ ทรานส์ เซอร์วิส จำกัด ขนาดพื้นที่ 4,707.30 ตารางเมตร สัญญา 10 ปี ขณะนี้เก็บเงินจากลูกค้า แต่ไม่จ่ายค่าตอบแทน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ให้ ทอท. โครงการนี้ภายใน ทอท.ตั้งข้อสังเกตว่า มีอดีตผู้บริหารซึ่งขณะนี้เกษียณไปแล้วเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ด้วย จึงเป็นเหตุให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่สนใจเข้าไปแก้ปัญหาเพื่อปกป้องผล ประโยชน์ของหน่วยงาน

โครงการ 3 สัมปทานรถเข็นกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร แม้ต้นปี 2553 จะยกเลิกคู่สัญญาเดิม คือ บริษัท ไทย แอร์พอร์ตส กราวนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด (TAGS) ระยะ 7 ปี ซึ่งมีนายอนุพงษ์ โรจนครินทร์ เป็นประธานแท็กส์ จากนั้นก็มีบริษัท เอ พี แมเนจเมนท์ จำกัด เข้ามาแทนที่ โดย ทอท.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจากแท็กส์เป็นมูลค่า 2,000 ล้านบาท จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ในทางตรงกันข้าม ผู้ถือหุ้นในแท็กส์กลับไปจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ในนาม SAS พร้อมขนย้ายอุปกรณ์ ทรัพย์สินต่าง ๆ ออกจากสุวรรณภูมิ ไปยึดหัวหาดทำธุรกิจในสนามบินนานาชาติภูเก็ตของ ทอท.

นอกจากสัมปทาน โครงการดังกล่าวแล้ว ยังมีการเหมาจ้างงานอีกเป็นจำนวนกว่า 40 สัญญา ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงตามที่ กำหนดไว้ในทีโออาร์ แต่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องใน ทอท.ส่วนหลักคือ ฝ่ายพาณิชย์และฝ่าย รายได้ รวมถึงคณะกรรมการพิจารณารายได้ เองไม่ได้เข้าไปตรวจสอบอย่างเข้มข้น จึงส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และเป็นปัญหาเรื้อรังของสุวรรณภูมิตกค้างมา 5 ปีแล้ว

Tags : รื้อ208สัญญา สุวรรณภูมิ เช็กบิล ายสัมปทาน หวั่นซ้ำรอย ที่จอดรถ

view