TOR ฉาว ลานจอดสุวรรณภูมิ ชนวน การเมือง-สูญเงิน-รื้อ 208 สัญญา
จากประชาชาติธุรกิจ
เหตุการณ์ ลุกลามบานปลายจากผลพวง "สัมปทานลานจอดรถ หน้าอาคารเอและบีสุวรรณภูมิ" 1.6 แสนตารางเมตร ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) "ทอท." กับคู่สัญญา บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ศึกสองขั้วสาวไส้ถึง "เงาการเมือง" โยงใยอยู่เบื้องหลังมาตั้งแต่แรก ถูกเปิดโปงด้วยข้อกล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่าต๋งหลัก 100 ล้านบาท ในการเร่ขายสัมปทาน
1 รัฐวิสาหกิจ คือ "ทอท." 2 กระทรวง คือ "คมนาคม-คลัง" 3 นักการเมือง คือ "ส.อ.ท." 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ปาร์คกิ้ง คือ "ธนกฤต เจตกิตติโชค-ธรรศ พจนประพันธ์" 2 บิ๊ก "ปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานบอร์ด ทอท.-สุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดคมนาคม ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการใช้พื้นที่เกี่ยวข้องระบบขนส่งคมนาคมในสนามบิน สุวรรณภูมิ
ชนวนสาวไส้เปิดโปงกันแหลกหลัง ทอท.ทำหนังสือยกเลิกสัญญา บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด วันนี้ที่มีทั้ง "เงา 3 นักการเมืองพรรคใหญ่" หรือ "ทอท.ไม่ได้รับผลตอบแทนรายได้ตามสัญญาค้างชำระเกือบ 100 ล้านบาท" เรื่อยไปจนถึงกระแสกดดันจากภายในองค์กร ทอท.ขอให้ตรวจสอบสัมปทานสุวรรณภูมิเพื่อความโปร่งใสอีกครั้ง 208 สัญญา รวมถึงขอให้กลับไปใช้รูปแบบการบริหารลานจอดรถตาม แนวทางเดิม คือ ทอท.ดูแลการจัดเก็บเอง
หมากกระดานนี้ คือผลพวงที่มีมาตั้งแต่"ศรีสุข จันทรางศุ" อดีตประธานการก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ และอดีตประธานบอร์ด ทอท. ผู้เคยรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีตรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บริหารประเทศ สร้างไว้หรือไม่ และปัจจุบัน "พรรคภูมิใจไทย" นำศรีสุขกลับมาใช้งานอีกครั้ง โดยแต่งตั้งเป็นใหญ่ในฐานะที่ปรึกษาคมนาคม ฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน ผู้ที่เคยวางฐานโครงสร้าง "ฝ่ายการพาณิชย์ ทอท." ไว้อย่างแข็งแรง รวมถึงรูปแบบวิธีจัดทำ "ทีโออาร์สัมปทานสุวรรณภูมิ"
การ กำหนดเงื่อนไขผู้ประมูลงาน : Term Of Reference : TOR ของ "ทอท." ต้นตอของปมปัญหาใหญ่การให้สัมปทานเอกชนเข้าบริหารพื้นที่และกิจกรรมเชิง พาณิชย์ในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ถูกตั้งข้อสังเกตมาตลอดว่า "สเป็ก" ถูกกำหนดขึ้นโดยรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับโครงการไหน บริษัทใครจะได้งานคัดเลือกตามสูตรมาตลอด 2 แนวทาง
แนวทางแรก เริ่มจากเสนอจัดจ้าง วิธีพิเศษ แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเป็นตุ๊กตาขึ้น 1 ชุด "ประธานคณะ" ชุดที่ทำทีโออาร์ลานจอดรถสุวรรณภูมิอาคาร เอและบีคือ นายสุทัศน์ สุวรรณผ่องใส รองผู้อำนวยการฝ่ายพาณิชย์ ทอท. ซึ่งบทสรุปแนวทางแรกจบลงง่าย ๆ ไม่มีบริษัทผ่านเกณฑ์
แนวทางสอง ช่วงกุมภาพันธ์ 2553 เริ่มลดเงื่อนไขในสเป็กเพื่อผ่อนคลาย พร้อมกับเปลี่ยนวิธี "จัดจ้าง" เป็น "สัมปทาน" ทันที ส่วนรายละเอียดในทีโออาร์เกือบทุกข้อคล้ายคลึงของเดิม "นางสาวผานิตย์ เสถียรเสพย์" เป็นผู้อำนวยการฝ่ายพาณิชย์ ทอท. และล่าสุดหลังเหตุการณ์ลานจอดรถสุวรรณภูมิของบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด บานปลาย ผอ. ไม่สามารถตอบคำถามให้ชัดเจนได้ว่า "คุณสมบัติ" ของกลุ่มชนะประมูลถูกต้องครบถ้วนตามทีโออาร์หรือไม่
เพราะตามเอกสาร การประมูลเสนอ ค่าตอบแทนเลขที่ 1/2553 "การให้สิทธิบริหารจัดการอาคารและลานจอดรถ หน้าอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ" ตามประกาศ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 26 มีนาคม 2553 ระบุไว้ในข้อ 3 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูล เสนอค่าตอบแทน ข้อ 3.3 ต้องมีประสบการณ์ด้านการบริหารลานจอดรถเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีต่อเนื่องกัน หรือหากหยุดประกอบการแล้วจะต้อง ไม่เกิน 5 ปี นับจากวันยื่นซองเสนอ ค่าตอบแทน ข้อ 3.4 ต้องมีประสบการณ์ในการบริหารลานจอดรถยนต์ที่มีขนาด ช่องจอดรถยนต์รวมกันไม่ต่ำกว่า 1,000 ช่องจอด
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ตั้งคำถามนี้กับ ผอ.ผานิตย์ต่อหน้าปิยะพันธ์ จัมปาสุต เมื่อช่วงต้นตุลาคมที่ผ่านมา แต่กลับได้ คำตอบคร่าว ๆ แค่ผู้ชนะเป็นกลุ่มบริษัท ดับเบิ้ลยู ไอ เอ็น จำกัด ซึ่งไม่มีประสบการณ์ แต่สามารถอ้างอิงประสบการณ์ของผู้ร่วมทุน คือ บริษัท สแตนดาร์ด ดีพรอมพ์ จำกัด ได้ จากนั้นก็กลับไปค้นข้อมูลแจ้งตามมาภายหลังระบุใหม่ว่า วีดับเบิ้ลยู ไอ เอ็น ยื่นหนังสือรับรองการปฏิบัติงานระบบบริหารลานจอดให้กับบริษัท วี ฮิเคิลแลนด์ จำกัด (เครือมาสด้า/ ฟอร์ด สต็อก ยาร์ด) บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาสะพานควาย บริษัท ปาร์ค โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ต จำกัด แต่รายละเอียดส่วนอื่นเกี่ยวกับเคยทำปีไหน ต่อเนื่อง 3 ปี หรือหยุดไม่เกิน 5 ปี หรือไม่ ทาง ทอท.อ้างว่า ข้อมูลถูกเก็บเข้าโกดังสุวรรณภูมิไปหมดแล้ว ไม่สามารถตอบให้ชัดเจนได้มาจนถึงวันนี้
ขณะที่กรรมการและผู้ถือหุ้น บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งขัดแย้งถึงขั้นแตกหัก งัดข้อมูลถล่มใส่กันยับ กลุ่ม "ธรรศ-แพรว พจนประพันธ์" เจ้าของ เงินค้ำประกันซองและรายได้ ที่ภายหลังมี บมจ.เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด (GEN) โอนเงินเป็นค่าซื้อหุ้นใส่บัญชีธนาคาร กสิกรไทยให้ปาร์คกิ้งฯ 240 ล้านบาท ทั้ง 3 คน ดาหน้าออกมาเรียกร้องสิทธิ์ จากกลุ่ม "ธนกฤต เจตกิตติโชค" หนึ่งในกรรมการที่ถูกกล่าวหาปลอมแปลงลายมือ ชื่อนายธรรศเพื่อเซ็นสัญญารับสัมปทานกับ ทอท. เมื่อ 30 เมษายน 2553 และยังถูก คู่กรณีระบุเป็นผู้ที่หลอกเงินโดยไม่ได้ทำ ตามข้อตกลงตั้งแต่แรก ผู้ถูกกล่าวหา ออกมาโต้ว่า กลุ่มของธรรศเองก็ใช้กำลังเข้ายึดสำนักงานและทำร้ายร่างกาย แถมเก็บรายได้ค่าจอดไปแล้วถึง 90 ล้านบาท
ทั้ง 3 กลุ่มนี้ประกาศเอาเรื่องกันให้ถึง ที่สุด โดยจะฟ้องเรียกค่าเสียหายระหว่างกัน
สำหรับ บทบาทของ "ปิยะพันธ์" ตอบชัดเจนว่า การแถลงยกเลิกสัมปทานหลังผู้บริหาร ทอท.ตัดสินใจเป็นหน้าที่หลักต้องทำ ต่อไปจะติดตามข้อสรุปภายใน 3 เดือน ทอท.ควรเลือกทางบริหาร ลานจอดแบบใด ระหว่าง "ทำเอง-จ้างเอกชน-สัมปทาน"
ส่วน "สุพจน์ ทรัพย์ล้อม" สรุป 2 ปมหลัก คือ ปมแรก ผู้บริหาร ทอท.ทำให้เกิดความเสียหาย ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ให้ถูกต้องตั้งแต่แรก ปม 2 แนวทางบริหารลานจอด เปรียบเทียบข้อมูลทั้งหมดแล้ว ทอท.ทำเองแต่ละเดือนมีรายได้ 28 ล้านบาท หักค่าใช้จ่าย 7 ล้านบาทแล้ว ยังเหลือเงินอีกถึง 21 ล้านบาท มากกว่าการให้สัมปทานเอกชนได้รับผลตอบแทน ขั้นต่ำเพียงเดือนละ 16.5 ล้านบาท แถมยังอยู่เหนือการควบคุมดูแลสร้างปัญหามากมาย
ถึงเวลาที่ "ภูมิใจไทย" ควรยอมรับความจริงเถอะว่า ต้นตอ "ทีโออาร์" กับ "สเป็ก" ล้มวิธีจัดจ้างพิเศษแปลงร่างเป็น "สัมปทาน" นั้นชนวนระเบิดใหญ่ มาจากอะไร และหากวันที่ 20 ตุลาคมนี้เลือกลงโทษเฉพาะ "แพะใน ทอท." ก็เท่ากับย้ำให้สังคมไทยเข้าใจโดยปราศจากข้อสงสัยว่า การเมืองอยู่เหนือกติกา ยิ่งใหญ่กว่าอำนาจใด ๆ จริง
ทอท.จัดเก็บที่จอดรถเองชั่วคราวยกเลิกสัญญากับบ.ปาร์คกิ้งฯ
จากประชาชาติธุรกิจ
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบการใช้พื้นที่ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและระบบ การคมนาคมขนส่ง พร้อมด้วยว่าที่ ร.ท.อนิรุทธ์ ถนอมกุลบุตร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและผู้บริหาร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมในการจัดเก็บเงินค่าที่จอดรถบริเวณอาคารและลานจอด รถ หลังจากที่คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. ยกเลิกสัญญากับ บริษัท ปาร์คกิ้ง แมนเนจเมนท์ ไปแล้ว
นายสุพจน์เปิดเผยว่า ทาง ทอท.แจ้งว่า จะจัดเก็บเงินค่าที่จอดรถอัตราเดิม ในวันที่ 18 ตุลาคม เวลา 08.00 น. โดยรถที่คาบเกี่ยวในช่วงนี้จะปล่อยฟรีถึงเที่ยงคืนของวันที่ 18 ตุลาคม จากนั้นจะคิดค่าที่จอดรถตามอัตราที่กำหนดไว้ เบื้องต้นจะใช้พนักงานมาเก็บเงินกะละ 19 คน รวมประมาณ 57-60 คน โดยทาง ทอท.จ้างมาชั่วคราว
นายสุพจน์กล่าวว่า ส่วนการตรวจสอบเรื่องการให้สัมปทานบริษัทปาร์คกิ้งฯ นั้น เนื่องจากนายธนกฤต เจตกิตติโชค กรรมการผู้จัดการบริษัทปาร์คกิ้งฯ ยื่นข้อมูลเพิ่มเติม จึงสั่งให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการไปจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ดังนั้น คงจะสรุปได้ไม่ทันวันที่ 20 ตุลาคมที่กำหนดไว้เดิม จึงอาจเลื่อนสรุปข้อเท็จจริงทั้งหมดช่วงปลายเดือนตุลาคม หรือไม่เกินต้นเดือนพฤศจิกายน ทอท.ต้องคิดวิธีการจัดการเก็บค่าที่จอดรถรูปแบบใหม่ การลงทุนไม่น่าจะเกิน 100 ล้านบาท หากต้องมีเจ้าหน้าที่จัดเก็บและมีการจ้างซ่อมบำรุงคาดว่าไม่น่าจะเกิน 4-5 ปี ก็คุ้มทุน
นายสุพจน์ยังกล่าวว่า เร่งรัดให้ ทอท.จัดทำแนวทางการบริหารจัดการ และเพิ่มสวัสดิการให้ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ในสนามบินสุวรรณภูมิส่งให้รับ ทราบว่า ต่อไปหากจะมีการจัดพื้นที่ภายนอกสนามบินให้รถแท็กซี่จอดและวนมารับผู้โดยสาร ภายในสนามบิน ควรมีระยะห่างจากอาคารผู้โดยสารเท่าไหร่ หากมีจุดจอดหลายที่จะบริการจัดการอย่างไร ให้จุดใดมาก่อน และผู้ประกอบการรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ หรือต้องผลักภาระให้กับผู้โดยสาร ทอท.ต้องไปคิดและรายงานมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายสุพจน์ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ มีผู้ประกอบการรถแท็กซี่ยื่นหนังสือเรียกร้องขอสวัสดิการเพิ่ม อาทิ ห้องน้ำ ปรับเพิ่มอายุของรถแท็กซี่ ขอเพิ่มอัตราค่าบริการ กม.แรกจาก 35 บาท เป็น 40 บาท และเพิ่มค่าเซอร์วิสชาร์จ จาก 50 บาท เป็น 100 บาท ฯลฯ โดยนายสุพจน์รับปากว่าจะนำแต่ละเรื่องที่แก้ไขได้ไปพิจารณา
สุวรรณภูมิที่...'สกปรก'
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เฉลา กาญจนา
ความเหม็นเน่า ฉาวโฉ่เกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหมือนมีอาถรรพ์เรื่องการคอร์รัปชัน ตั้งแต่เริ่มต้นค้น "หาพื้นที่"
ก่อสร้างสนามบิน เรื่อยมากระทั่ง "ออกแบบก่อสร้าง" สนามบิน อาคารผู้โดยสาร และส่วนอื่นๆ มีแต่ปัญหาแทบทุกตารางนิ้ว
ทุกโครงการที่เปิดประมูล ล้วนแต่มีกลิ่นโชยฉาวโฉ่ ไม่ว่ายุคไหนๆ ก็เหมือนกัน
วันนี้สนามบินสุวรรณภูมิกำลัง จะกลายเป็น "สนามคอร์รัปชัน" เข้าไปทุกขณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ต้องคิดทบทวนแล้วว่าจะปล่อยให้สนามบินแห่งนี้ เป็นแหล่งทำมาหากินของกลุ่มผลประโยชน์อีกต่อไปหรือไม่
เช่นเดียวกับ นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ซึ่งวางตนต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน จะรับรู้รับทราบบ้างหรือไม่ หรือรู้แล้วเฉยๆ เพื่อความอยู่รอด
ตัวอย่างชัดเจน กรณีการเปิดให้สัมปทานบริหารจัดการอาคารและลานจอดรถหน้าอาคารผู้โดยสาร บริเวณอาคาร A และ B บนเนื้อที่ 1.6 แสนตารางเมตร จอดรถได้วันละประมาณ 5,000 คัน สัญญา 5 ปี เริ่ม 30 เมษายน 2553 - 31 มีนาคม 2558 ผู้ได้รับสัมปทานต้องจ่ายผลตอบแทนให้ ทอท.ขั้นต่ำปีแรก 16.5 ล้านบาท ก่อนปรับเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป
ด้วยเหตุผลนี้ จึงกลายเป็นสัมปทานที่มีการวิ่งเต้นและคอร์รัปชันอย่างโจ่งแจ้ง
ที่ต้องว่ากันอย่างนี้ ก็เพราะจุดเริ่มต้นเกิดจาก "มือปืนรับจ้าง" สายพันธุ์การเมืองและนักธุรกิจเชื่อมต่อเข้าไปประมูลงานให้ได้สัญญาสัมปทาน แต่ "ไส้ใน" ลึกๆ ไม่มีเงินที่จะบริหารจัดการเอง เลยมีแผนการแยบยล ทำตัวเป็น "โบรกเกอร์" กินหัวคิว
ที่สำคัญ มีการอ้างว่า ต้องหาเงิน 100 ล้านบาท มาจัดสรรให้แก่กลุ่มผลประโยชน์ 3 ส่วน ส่วนแรก 20 ล้านบาท ให้ "นาย ท" ส่วนที่สองอีก 30 ล้านบาท ให้ "นาย" กับ "นาย น" ส่วนที่สาม 30 ล้านบาท ให้แก่ พรรคการเมือง ส่วนที่สี่อีก 20 ล้านบาท จ่ายให้แก่ "เจ้าพ่อวงการธุรกิจขาใหญ่"
นี่คือ ภารกิจที่จำเป็นต้องหาเงินก้อนแรกก่อน 100 ล้านบาท ให้กลุ่ม 4 กลุ่ม ในคราบ "เสือนอนกิน" ไม่เช่นนั้นอย่าหวังที่จะได้สัมปทานส่วนนี้เด็ดขาด!
ฉะนั้น เงิน 100 ล้านบาท จึงเป็นเหตุทำให้เกิดการวิ่งเต้น "เร่ขายสัญญาสัมปทาน" จนกลายเป็นเรื่องงามหน้าไปทั่วบ้านทั่วเมือง
งานนี้ทำคนเดียวไม่เกิด จึงต้องมีหัวหอก ตัวเชื่อมก็ไม่ใช่คนอื่นที่ไหน แต่คือ "นักการเมือง" ที่ใครๆ ก็รู้จักอักษรย่อ "นาย อ" เดินสายเร่ขายสัญญาสัมปทานร่วมกับ "นาย ธ" รายแรกที่สองคนนี้เข้าไปหา แทบกราบเท้า นั่นคือ "เจ๊ ส" ขาใหญ่ ที่อยู่ในวงการธุรกิจหลายหลากมายาวนาน
"เจ๊ ส" หนีไม่พ้น เมื่อมีคนเข้าไปเสนอขายของ ตามมารยาทจึงต้องรับรู้รับฟัง แต่ด้วยความคร่ำหวอดในวงการธุรกิจและวงการเมืองมาอย่างโชกโชน เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าภายใต้สัญญามีวาระซ่อนเร้นอยู่หลายอย่าง ไม่เฉพาะแค่การจ่าย 100 ล้านบาท แต่ยังต้องไปเผชิญกับปัญหา "ระบบคอมพิวเตอร์" สำหรับจัดเก็บค่าจอดรถ ที่ผูกปิ่นโตกันมาล่วงหน้าแล้วว่า ต้องใช้บริษัทอะไร
ทางเทคนิคแล้ว เรื่องการตั้งโปรแกรม ถ้าบริสุทธิ์ใจ ก็ได้เห็นรายรับงามๆ ในแต่ละวัน แต่หากตั้งโปรแกรมไม่บริสุทธิ์ ก็ไม่มีใครจะว่าถูกโกงหรือไม่ "เจ๊ใหญ่" จึงตัดสินใจไม่รับสัญญาอัปยศ แต่ตัวเชื่อมอย่าง "นาย อ" พยายามเสนอที่จะให้ "เจ๊ ส" เข้ามาทดลองบริการจัดการที่จอดรถก่อนสักระยะหนึ่ง พร้อมกับย้ำว่าอาจจะดีก็ได้
เมื่อเหยื่อรายแรกไม่ประสบความสำเร็จ ทั้ง "นาย อ"และ "นาย ธ" จึงเดินสายไปหาเจ้าพ่อวงการธุรกิจทำป้ายของกรมขนส่งทางบก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทั้งสองฝ่ายไม่สามารถการันตีได้ว่า ถ้าจ่าย 100 ล้านบาทแล้ว จะได้งานผลิตป้ายทะเบียนรถจากกรมส่งขนทางบกหรือไม่
จริงๆ แล้ว เจ้าพ่อรายนี้ คนในวงการเดียวกัน รู้จักดี เพราะเขาเคยได้งานผลิตป้ายกรมขนส่งทางบกมาในสมัยรัฐบาลก่อนๆ
จริงๆ แล้ว กลุ่มของ แพรว พจนประพันธ์ น่าจะเป็นเหยื่อรายสุดท้ายของสัญญาชิ้นนี้ ที่ถูกเร่ขายสัมปทาน ฉะนั้นหากสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเพียงการหากินของกลุ่มคนบางกลุ่ม การเร่ขายสัญญาจึงไม่ใช่เรื่องแปลก
แล้ว นายกฯ อภิสิทธิ์ จะให้สัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention Against Corruption : UNCAC) ซึ่งประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพ การประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ครั้งที่ 14 หรือ ไอเอซีซี ระหว่างวันที่ 10-13 พ.ย. นี้...ได้ยังไง