สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถอดรหัสผู้สร้างทุนมนุษย์ปี 2015 ASEAN Business Forum

จากประชาชาติธุรกิจ



ใน งานสัมมนา ASEAN Business Forum 2010 ที่ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ทีเอ็มเอ และไอโอดี ร่วมกันจัดงาน เมื่อไม่นานผ่านมา มีหัวข้อที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง คือ "Towards 2015 : Enhancing ASEAN Human Capital"

ที่ไม่เพียงจะมีวิทยากรรับเชิญพิเศษอย่าง "โลว์ เปก เคม" ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ กระทรวงแรงงาน ประเทศสิงคโปร์ หากยังมี "อนังกา ดับเบิลยู. รอสดิโอโน" ผู้บริหารระดับสูงของรอสดิโอโน แอนด์ พาร์ทเนอร์ ประเทศอินโดนีเซีย

"มิตซูฮิโร โซโนดะ" ผู้บริหารระดับสูงของโตโยต้า เอเชีย-แปซิฟิก ประเทศญี่ปุ่น และ "กานต์ ตระกูลฮุน" ผู้บริหารระดับสูงของเอสซีจี ประเทศไทย โดยมี "นอร์ ซาห์ ราซาลี" ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ปรึกษาบอสตันฯ ประเทศมาเลเซีย เป็นผู้ดำเนินรายการ

เบื้องต้น "นอร์ ซาห์ ราซาลี" ตั้งประเด็นถึงประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่จะเดินเข้าสู่กรอบประชาคมอาเซียนในปี 2015 ว่าเราพร้อมจะตั้งรับ และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร ?

"โลว์ เปก เคม" จึงเสนอความคิดก่อนว่า ประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศเล็ก ๆ ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อเสมอว่า เรามีคนที่มีศักยภาพ และสามารถเชื่อมโยงกับหลายประเทศ ในอาเซียน

"เรา เชื่อว่า คนของเรามีภาวะผู้นำ และมีคนเก่ง ๆ มากมาย ที่จะข้ามไปในประเทศต่าง ๆ แต่กระนั้น เราก็มีคำถามให้ขบคิดในภาพกว้างว่า เมื่อปี 2015 เป็นปีที่ประชาคมอาเซียนจะเชื่อมโยงกัน พวกเรามีความพร้อมหรือยัง เริ่มคิดหรือยังว่า ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม อาจเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง"

ผลตรงนี้ จึงทำให้ "นอร์ ซาห์ ราซาลี" ตั้งคำถามต่อว่า การรวมประชาคมอาเซียนครั้งนี้ จะทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น ไม่ทราบว่ามองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

"อนัง กา ดับเบิลยู.รอสดิโอโน" จึงตอบก่อนว่า แม้ประเทศในอาเซียนจะมีความแตกต่างเรื่องเศรษฐกิจและวัฒนธรรม แต่ความท้าทาย คือทำอย่างไร จึงจะทำให้ประชาคมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว

"สิ่งสำคัญ คือความกดดันในประชาคมอาเซียนจะต้องเสริมสร้าง SMEs ด้วยการพัฒนาต้นทุนมนุษย์ การศึกษา และการฝึกอบรม ไม่เช่นนั้นจะไม่มีความเป็นหนึ่งเดียว"

"ผมมองว่า เรื่องทักษะ อาจเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เราต้องดูคนที่ไม่มีฝีมือด้วย เพราะกลุ่มคนจำนวนนี้ ค่อนข้างมาก ผมจึงมองว่า เราจำเป็นต้องพัฒนาให้แรงงานไร้ฝีมือให้เป็นแรงงานมีฝีมือ เพื่อให้เขาเกิดความเชี่ยวชาญ"




ถึง ตรงนี้ "โลว์ เปก เคม" จึงเสริมว่า เพราะปัจจุบัน แรงงานค่อนข้างเคลื่อนย้ายไปมา อย่างสิงคโปร์ เรามีข้อจำกัดในเรื่องนี้มาก เราต้องบีบคั้นทุกอย่าง เพื่อให้เขาเป็นแรงงานฝีมือ เพราะประเทศของเรา แรงงานฝีมือ มีไม่เพียงพอ

"ดิฉันจึงมองว่า ตรงนี้เป็นโอกาสมหาศาล ที่จะทำให้แรงงานฝีมือจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาทำงานในประเทศของเรา แต่กระนั้น ก็จะต้องผ่านการ คัดกรองอย่างมีคุณภาพด้วย ยกตัวอย่างแม่บ้าน ก็จะต้องพูดภาษาอังกฤษได้ด้วย"

มุมมองเดียวกัน "กานต์" สะท้อนเรื่องความเป็นสปิริตอาเซียน ทั้งนั้น เพราะเราพูดบ่อยว่า เราต้องการที่จะ ส่งเสริมอาเซียน แต่เรากลับไม่ค่อยมีความรู้สึกถึงความเป็นเพื่อน

"ฉะนั้น ในมุมมองผม ก่อนที่จะไปเป็นประชาคมอาเซียน เราต้องรู้สึกถึงความเป็นเพื่อนกันก่อน และเมื่อรู้สึกอย่างนี้ จะทำให้เกิดการแข่งขันน้อยลง ดังนั้น โอกาสที่ท้าทาย ผมจึงมองว่า อย่างประเทศไทย ยังขาดแคลนแรงงานฝีมือ และถ้ามีการเปิดตลาดแรงงานอาเซียน ผมเชื่อว่า

ประเทศไทยน่าจะช่วยพัฒนาแรงงานฝีมือเหล่านี้มากขึ้น แถมยังช่วยซัพพอร์ตประเทศต่าง ๆ ด้วย"

"ยก ตัวอย่างมาเลเซีย อาจเป็นเจ้าภาพเรื่องของไอที ขณะที่ประเทศไทย อาจจะเก่งเรื่องการบริการ โรงแรม รีสอร์ต รวมไปถึงรถยนต์ ดังนั้น เราจึงต้องปรับปรุงคนเก่ง คนที่มีความสามารถ เพื่อไปเปรียบเทียบ และช่วยเหลือประเทศในอาเซียน ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสปิริตอาเซียน"

เช่น เดียวกัน ในมุมมองของ "มิตซูฮิโร โซโนดะ" มองว่า โตโยต้ามีบริษัท 18 แห่ง ใน 12 ประเทศที่อยู่ในเอเชีย-แปซิฟิก ดังนั้น เมื่อมารวมกัน เราจึงเลือกพันธมิตรที่เป็นเครือข่าย เพื่อจะได้ประโยชน์ทางธุรกิจ

"ยก ตัวอย่าง เราต้องการส่วนประกอบรถยนต์ และส่วนประกอบรถยนต์ส่วนใหญ่มาจากฐานการผลิตในเอเชีย-แปซิฟิก โดยคนท้องถิ่นก็มีโอกาสทำงาน ขณะที่ผู้บริหารก็มาจากคนท้องถิ่นด้วย"

"โต โยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) เรามีผู้บริหารชาวญี่ปุ่น 3 คน ทีมงาน 30 กว่าคน นอกนั้นเป็นคนไทยหมด เราสร้างศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ และสถาบันโตโยต้า เพื่อพัฒนาฝึกอบรมผู้บริหาร ทั้งหมด 4 กลุ่มในเอเชีย-แปซิฟิก นอกจากนั้น เรายังฝึกอบรมซัพพลายเออร์ 1,800 บริษัทในประเทศไทย เพื่อให้เขามีขีดความสามารถในการแข่งขัน"




ฉะนั้น ต่อมุมมองตรงนี้ "นอร์ ซาห์ ราซาลี" จึงตั้งคำถามต่อว่า แล้วโปรแกรมผลสำเร็จของแต่ละคน เป็นอย่างไรบ้าง ?

"กานต์" จึงตอบว่า สิ่งที่เรามองว่าเป็นสินทรัพย์สำคัญที่สุด คือมนุษย์ และเราลงทุนต่อเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเราเยอะมาก อย่างปีนี้ เราใช้งบประมาณในการฝึกอบรมและพัฒนากว่า 900 ล้านบาท

"เรามองว่า ความรู้ต้องคู่กับธุรกิจ อย่างที่ผ่าน ๆ มา เราส่งผู้บริหารไปเรียนที่ วอลตันมาแล้วกว่า 26 ปี นอกจากนั้น เรายังมีโปรเฟสเซอร์มาสอนให้ผู้บริหารระดับกลางอีก 50-60 คน เพื่อสอนในเรื่องธุรกิจ ความคิด และองค์ความรู้ระดับโลก"

"พนักงาน ของเราที่จบปริญญาตรี ประมาณ 700 คน จบเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง-สอง ประมาณ 17-18% นอกจากนั้น เรายังส่งผู้บริหารไปเรียนฮาร์วาร์ดอีก ถามว่า ทำไมต้องทำเช่นนั้น คำตอบ คือ เราต้องการพัฒนาคนของเราให้มีความรู้ อยู่เสมอ"

"เมื่อเขามีความรู้และเกิดการพัฒนา เขาจะได้นำองค์ความรู้เหล่านี้มาต่อยอดในธุรกิจและสร้างคนไปพร้อม ๆ กัน ผมจึงบอกว่า การพัฒนาทุนมนุษย์ เป็นเรื่องสำคัญ เราก็ทำมากว่า 30 ปีแล้ว และตั้งแต่ปี 1973 เป็นต้นมา เราให้ทุนพนักงานไปเรียนปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา จีน และประเทศอื่น ๆ อีกจำนวนมาก"

เช่นเดียวกัน ในมุมมองตรงนี้ "โลว์ เปก เคม" กลับมองสวนว่า เอสซีจีมีชื่อเสียงมากในเรื่องการดูแลคน และก็พอจะทราบว่า มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ส่วนใหญ่อยู่ในโลกตะวันตก

"แต่ดิฉันกลับ มองว่า ถ้าเราคิดว่า ประชาคมอาเซียนจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดใน ปี 2015 ทำไมเราไม่ส่งเสริมให้มีการวิจัย การพัฒนาในตลาดอาเซียนด้วยกัน ทำไมเราไม่เชิญมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเหล่านั้นมาที่สิงคโปร์ แทนที่จะไปวอลตัน เพราะจะได้เป็นการส่งเสริมซึ่งกันและกัน"

"กานต์" จึงตอบคำถามนี้ว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีระบบการจัดการศึกษาที่ดี แต่ต้องยอมรับว่า การที่นักเรียนไทยจะไปเรียนสิงคโปร์ มีปัญหาเหมือนกัน ทั้งเรื่องภาษา และการเปิดโอกาสทางการศึกษา ดังนั้น ผมจึงขอฝากด้วยว่า ช่วยให้ทางรัฐบาลสิงคโปร์เปิดโอกาสให้นักเรียนไทยมีโอกาสเรียนที่นี่บ้าง

ถึงตรงนี้ "นอร์ ซาห์ ราซาลี" จึงถามต่อว่า นอกจากเรื่องการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ยังมีเรื่องอื่นอีกไหม ที่ร่วมมือกับรัฐบาล

"โล ว์ เปก เคม" จึงตอบว่า เราดูแลทักษะทุกอย่างของแรงงาน เราก็พัฒนาทักษะ และร่วมมือกับหน่วยงานอื่น แต่ทั้งนั้น เราต้องอย่าคิดแบบโลกตะวันตก เราต้องคิดแบบโลกตะวันออกบ้าง

"เพราะเราเคยชินกับการทำงานที่หลาก หลาย และการจัดการที่หลากหลาย ดิฉันจึงมองว่า เราต้องเข้าใจวัฒนธรรมทางอารมณ์บ้าง เหมือนผ่านมา ดิฉันส่งเสริมให้มีการวิจัยทั่วทั้งเอเชีย เพื่อให้ทราบว่า แต่ละประเทศมีการเชื่อมโยงคนอย่างไรบ้าง"

"ขณะเดียวกัน ในเดือนพฤษภาคม ปี 2554 เราก็เชิญ อดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู มาปาฐกถาในหัวข้อ Singapore Leader Business Program เพื่อพัฒนาผู้นำประเทศของเรา"

ฉะนั้น ต่อมุมมองตรงนี้ "นอร์ ซาห์ ราซาลี" จึงตั้งคำถามต่อว่า แล้ววิธีที่จะสนับสนุนให้มีการร่วมมือกันในการบูรณาการอาเซียน จะต้องทำอย่างไร

"มิตซูฮิโร โซโนดะ" จึงตอบว่า เราต้องส่งเสริมศักยภาพในแต่ละประเทศให้มีการเชื่อมโยงกัน และต้องสร้างทีมในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภูมิภาค"

ขณะที่ "กานต์" กลับมองว่า เราต้องคิดว่า การเป็นผู้นำ จะต้องปรับตัวได้ ต้องไม่หวั่นไหวทางวัฒนธรรม เพื่อไปทำงานยังต่างประเทศได้

"ผู้ นำอาเซียนจะต้องปรับตัวให้ได้ และจะต้องมีความร่วมมือที่หลากหลาย ที่สำคัญ กรอบของความร่วมมือ จะต้องออกจากกรอบความคิดเก่า ๆ ว่าคุณเป็นคนชาตินั้น ชาตินี้ แต่จะต้องเป็นประชาคมอาเซียนด้วยกัน"

จึงจะทำให้กรอบความคิดของการสัมมนาครั้งนี้สัมฤทธิผลซึ่งฟังดู อาจจะยาก

แต่ เมื่อฟังผู้นำทั้งหมดที่กล่าวมา คงพอจะเห็นแสงสว่างในปลายอุโมงค์บ้างว่า ทัศนคติของผู้นำที่มีต่อประชาคมอาเซียน ที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 คงน่าจะมีความหวังอยู่บ้าง ไม่มาก ก็น้อย

สำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ทำงานอยู่ในองค์กรของประเทศไทย ?

Tags : ถอดรหัส ผู้สร้าง ทุนมนุษย์ ปี 2015 ASEAN Business Forum

view