ดีเอสไอแถลงรพ.'สรรพสิทธิประสงค์'ส่อทุจริตยากว่า120ล้าน
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
รองอธิบดีดีเอสไอเผยผลสอบคดีทุจริตยา ระบุโรงพยาบาล"สรรพสิทธิประสงค์"จ่ายยาเกินจริงกว่า120ล้าน ส่วนรพ."เรณูนคร-เขตอุดมศักดิ์"เข้าข่ายเดียวกัน
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)-นายสรรเสริญ ปาลวัฒน์วิไชย รองอธิบดีดีเอสไอ แถลงผลการตรวจสอบเบิกจ่ายยาที่ผิดไปจากความเป็นจริงในโรงพยาบาลรัฐ ว่า จากการสุ่มตรวจสอบในโรงพยาบาล 3 แห่ง ที่มีความผิดปกติในการเบิกจ่ายยากับกรมบัญชีกลาง คือ รพ.เขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร รพ.เรณูนคร จ.สกลนคร และรพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ซึ่งในส่วนของรพ.เขตอุดมศักดิ์ เกิดความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูล ทำให้ข้อมูลของกรมบัญชีกลางไม่ตรงกับโรงพยาบาล จึงไม่ใช่การทุจริตแต่เป็นเพียงความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูล
ส่วนรพ.เรณูนครและสรรพสิทธิประสงค์ พบกรณีที่คล้ายคลึงกันคือมีการรับยาแทนผู้ป่วย โดยโรงพยาบาลไม่มีระบบตรวจสอบอย่างรัดกุม บางกรณีเป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลมาเซ็นชื่อรับยาแทนคนไข้ แต่คนไข้ไม่ได้รับยาจริง บางรายแพทย์มอบหมายให้พยาบาลเป็นผู้สั่งจ่ายยาให้คนไข้ได้ ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง ทำให้เกิดช่องว่างที่ส่อทุจริต
นายสรรเสริญ กล่าวต่อว่า ตามปกติระบบจากตรงของกรมบัญชีกลาง ผู้ป่วยจะต้องลงทะเบียนล่วงหน้า รวมถึงสแกนลายนิ้วมือและลงลายมือชื่อไว้กับรพ. และหากญาติจะรับยาแทนก็ต้องปฏิบัติในลักษณะเดียวกันคือต้องลงชื่อรับรองการรับยา ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าแต่ละรพ.ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น ดีเอสไอจะทำหนังสือแจ้งไปยังกรมบัญชีกลางและกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้มีหนังสือสั่งการให้รพ.ปฏิบัติตามระเบียบการจ่ายยาอย่างเคร่งครัด สำหรับยาที่พบว่ามีการเบิกแทนกันมากที่สุดคือยารักษาโรคเรื้อรัง เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ยาไขมันอุดตันในเส้นเลือด ยารักษาความดันโลหิต
"ดีเอสไอพบว่า เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลในทุกระดับเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายยาให้คนไข้เกินความเป็นจริงแต่ขณะนี้ผลการสอบยังไม่ถึงระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาล ส่วนมูลค่าความเสียหายโดยรวมเบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินได้ นอกจากนี้ยังพบว่าบุคลากรโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ได้มีการสั่งซื้อยานอกบัญชียาหลักจำนวนมาก เช่น สั่งซื้อยา ROSUVASTATIN (Cress หรือยาลดไขมัน) ยอดสั่งซื้อรวม 72,896,681 ล้านบาท หรือ สั่งซื้อยา ESOMEPRAZOLE (NEXIUM หรือยาลดการหลั่งกรด) ยอดสั่งซื้อรวม 51,028,750 ล้านบาท ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษจะสืบสวนขยายผลต่อไป" รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าว
นายสรรเสริญ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้การตรวจสอบจะมีลักษณะเป็นคู่ขนาน โดยดีเอสไอและป.ป.ท.จะสุ่มการตรวจสอบรพ.ทุกภาคทั่วประเทศ รวมถึงรพ.ที่มีระบบการจ่ายตรงที่ไม่ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุขตลอดจนโรงพยาบาลเอกชน สถานพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ขณะที่กรมบัญชีกลางจะตรวจสอบการเบิกจ่ายยาตามเวชระเบียบของโรงพยาบาล ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ช่องว่างดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระบบการจ่ายตรงและสุขภาพของผู้ป่วยเอง
ผอ.รพ.สรรพสิทธิประสงค์อุบลฯพร้อมชี้แจงดีเอสไอ
ด้านนายสรรเสริญ ปาลวัฒน์วิไชย รองอธิบดีดีเอสไอได้แถลงผลสอบคดีทุจริตยา ระบุโรงพยาบาล"สรรพสิทธิประสงค์จังหวัดอุบลราชธานีจ่ายยาเกินจริงกว่า 120 ล้าน มีการรับยาแทนผู้ป่วย โดยโรงพยาบาลไม่มีระบบตรวจสอบอย่างรัดกุม บางกรณีเป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลมาเซ็นต์ชื่อรับยาแทนคนไข้ แต่คนไข้ไม่ได้รับยาจริง บางรายแพทย์มอบหมายให้พยาบาลเป็นผู้สั่งจ่ายยาให้คนไข้ได้ ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง ทำให้เกิดช่องว่างที่ส่อทุจริต
นอกจากนี้ ยังพบว่าบุคลากรโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ได้มีการสั่งซื้อยานอกบัญชียาหลักจำนวนมาก เช่น สั่งซื้อยา ROSUVASTATIN (Cress หรือยาลดไขมัน) ยอดสั่งซื้อรวม 72,896,681 ล้านบาท หรือ สั่งซื้อยา ESOMEPRAZOLE (NEXIUM หรือยาลดการหลั่งกรด) ยอดสั่งซื้อรวม 51,028,750 ล้านบาท ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษจะสืบสวนขยายผลต่อไปนั้น
ผู้สื่อข่าวได้ประสานไปยังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสัมภาษณ์ขอทราบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว โดยน.ส.นุชนารถ เจียรวงศ์ตระกูล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี แจ้งว่าผู้ที่จะให้สัมภาษณ์และตอบคำถามในเรื่องดังกล่าวนั้นจะต้องเป็นผู้อำนวยการซึ่งขณะนี้ นายแพทย์มนัส กนกศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งขณะนี้เดินทางไปต่างประเทศที่ประเทศเยอรมันนี กำหนดจะเดินทางกลับในวันที่ 11 เมษายน นี้ซึ่งทางโรงพยาบาลได้ประสานโทรศัพท์แจ้งให้ผอ.ทราบเป็นเบื้องต้นแล้ว โดยทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ได้รับทราบและยินดีจะทำการชี้แจงในทุกเรื่องที่ทางดีเอสไอมาตรวจสอบ หลังจากที่เดินทางกลับมา
ดีเอสไอสอบ 3 โรงพยาบาลทุจริตยา
จาก โพสต์ทูเดย์
ดีเอสไอ เผยตรวจพบข้อมูลค่ารักษาพยาบาลครอบครัวข้าราชการในระบบจ่ายตรงของโรงพยาบาล 3 แห่งไม่ถูกต้องหลายประการ
นายสรรเสริญ ปาลวัฒน์วิไชย รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย นายประยงค์ ปรียาจิตต์ รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบกรณี กรมบัญชีกลางตรวจพบข้อมูลค่ารักษาพยาบาลครอบครัวข้าราชการในระบบจ่ายตรงของ โรงพยาบาลหลายแห่งไม่ถูกต้องหลายประการ
นายสรรเสริญ กล่าวว่า กรมบัญชีกลางตรวจพบข้อมูลค่ารักษาพยาบาลครอบครัวข้าราชการในระบบจ่ายตรงของ โรงพยาบาล 3 แห่ง คือ 1.โรงพยาบาลค่ายเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร , 2.โรงพยาบาลเรณูนคร จังหวัดนครพนม และ 3.โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเรียกเก็บจากกรมบัญชีกลางไม่ถูกต้องหลายประการ
ทั้งนี้ ดีเอสไอได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้อง , เอกสารเวชทะเบียน (OPD Card) และ OPD Visit ในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า มีข้อบกพร่องใน 2 โรงพยาบาลคือ โรงพยาบาลเรณูนคร จังหวัดนครพนม และ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ที่ผู้ป่วยซึ่งมีโรคประจำตัวและต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องสามารถมอบ หมายให้ผู้อื่นมารับยาแทนได้ โดยไม่มีการบันทึกการตรวจรักษาในเวชระเบียนและ ทั้งผู้ป่วยหรือผู้รับยาแทนก็ไม่ต้องลงลายมือชื่อรับยาและรับทราบราคายาแต่ อย่างใด เนื่องจากยังไม่มีระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติที่กำหนดในเรื่องนี้ไว้ และบางกรณีที่ตรวจพบผู้ป่วยบางรายตามหลักฐานเวชระเบียนปฏิเสธว่าไม่เคยได้ รับยาที่ปรากฏตามหลักฐานการจ่ายยา ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้อาจเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตหรือการสวมสิทธิขึ้น ได้ ดังนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้แจ้งข้อมูลให้กรมบัญชีกลางและกระทรวงสาธารณสุขร่วม กันพิจารณาวางแนวทางในเรื่องนี้แล้ว
นอกจากนี้ยังพบว่าบุคลากรโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ได้มีการสั่งซื้อ ยานอกบัญชียาหลักจำนวนมาก เช่น สั่งซื้อยา ROSUVASTATIN (Cress หรือยาลดไขมัน) ยอดสั่งซื้อประมาณ 73 ล้านบาท หรือ สั่งซื้อยา ESOMEPRAZOLE (NEXIUM หรือยาลดการหลั่งกรด) ยอดสั่งซื้อรวม 51 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งดีเอสไอ จะสืบสวนขยายผลในประเด็นนี้ต่อไป