ข่าวกระทรวงการคลัง - มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
108acc |
ฉบับที่ 5/2552 วันที่ 20 มกราคม 2552
มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล _____________________ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อันเป็นการใช้มาตรการการคลังด้านภาษีอากรในการช่วยสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มเติมจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552 เห็นชอบให้จัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2552 จำนวน 1.15 แสนล้านบาท โดยมีรายละเอียดของมาตรการที่นำเสนอ ดังนี้ 1. มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ และสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชน 1.1 ขยายวงเงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ต้องคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 จาก 60,000 บาท เป็น 1,000,000 บาท 1.2 เพิ่มเพดานวงเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นภาษี สำหรับวิสาหกิจชุมชน จาก 1,200,000 บาท เป็น 1,800,000 บาท ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ของวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับในปี พ.ศ. 2552 ถึง พ.ศ. 2553 1.3 ปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนของธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) ในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ในประเด็นดังนี้ (1) ขยายเวลาการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลร่วมลงทุนกับสำนักงาน ก.ล.ต. ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 (2) ยกเลิกการกำหนดเงื่อนไขการลงทุนในในปีแรก ที่กำหนดให้ VC ต้องนำเงินไปลงทุนใน SMEs ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนจดทะเบียน (3) ในกรณีที่ VC สามารถนำหุ้นของ SMEs เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้กำไรที่ VC ได้รับจากการขายหุ้นของ SMEs ดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 2. มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ที่จ่ายเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน เป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ทั้งนี้ การได้สิทธิ์ดังกล่าวจะต้องทำการโอนกรรมสิทธิ์ของอสังหาริมทรัพย์ภายในปี พ.ศ. 2552 เท่านั้น มาตรการฯนี้ เป็นมาตรการเพิ่มเติมจากที่ให้ ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัยตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี 3. มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นธุรกิจการท่องเที่ยว ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคลที่จัดโครงการอบรมสัมมนา เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถภายในประเทศ สามารถหักรายจ่ายในการคำนวณภาษี สำหรับรายจ่ายค่าห้องพัก และค่าห้องสัมมนา ภายในประเทศ ได้เป็นจำนวน 2 เท่าของที่จ่ายจริง ทั้งนี้ สำหรับรายจ่ายที่ได้เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2552 4. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และโครงสร้างองค์กร 4.1 การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (NPL) ของภาคเอกชน ด้วยการยกเว้นภาษีต่างๆ และลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรมที่ดิน ให้แก่ การปลดหนี้ และการโอนทรัพย์สินใช้หนี้ สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ของสถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่น ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ที่ได้กระทำระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2552 ถึง 31 ธันวาคม 2552 4.2 การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนหรือบริษัทจำกัด สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน และลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรมที่ดิน ทั้งนี้ บริษัทผู้โอนและ ผู้รับโอนต้องโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552 นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรการภาษีที่ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในวันนี้ จะมีผลกระทบต่อรายได้ภาษีอากร ประมาณ 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ โดยมาตรการแรกจะเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพ อันจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน และช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน มาตรการที่สองจะเป็นการช่วยกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้มีสภาพคล่องยิ่งขึ้น ทำให้มีการเร่งการก่อสร้าง และเปิดโครงการใหม่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ซื้อบ้าน ผู้ประกอบการ และสถาบันการเงิน รวมทั้งจะมีผลกระทบในวงกว้างต่อกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ค้าวัสดุอุปกรณ์ ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ใช้แรงงานอีกด้วย สำหรับมาตรการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยวนั้น จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งระบบ ได้แก่ กิจการโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่ง บริษัททัวร์ รวมทั้งก่อให้เกิดการจ้างแรงงานเพิ่มเติม ส่วนมาตรการสุดท้าย จะช่วยให้ผู้ประกอบการเร่งทำการปรับปรุงโครงสร้างทางการเงิน และโครงสร้างองค์กร เพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก อีกทั้งการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มผลผลิตอันจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจของบริษัท” _____________________ กรมสรรพากร โทร. (02) 617-3320-1 |