สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สรรพากร ลุยเช็คบิลบี้ คณะบุคคลเทียม 2หมื่นรายเลี่ยงจ่ายภาษี

(อ่าน 956/ ตอบ 0)

108acc

ประชาชาติธุรกิจ



สรรพากร ลุยตรวจคณะบุคคลเทียม 2 หมื่นรายเลี่ยงภาษี หลังร่อนจม.บีบให้แปรสภาพเป็นหจก.หรือบริษัทไม่ได้ผล เล็งใช้กฎหมายเล่นงานเฉียบขาด หวั่นปีหน้าพุ่งเป็น2แสนราย



นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากหารือกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีเมื่อ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อทบทวนประมาณการในการจัดเก็บรายได้ปี 2552 ใหม่ตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงเหลือ -3% ต่อปี โดยคาดว่าการจัดเก็บภาษีปีนี้อาจต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ 180,000-200,000 ล้านบาท (เป้าหมายเดิม 1.585 ล้านล้านบาท) โดยเฉพาะกรมสรรพากรคาดว่าจะเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมายเป็นจำนวนมาก ซึ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ ตนไม่มีนโยบายหรือสั่งให้กรมสรรพากรไปไล่บี้ภาษีผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใด เป็นพิเศษ



แต่ได้มอบหมายให้กรมสรรพากรไปดำเนินการตรวจสอบภาษีอย่างเข้มงวด กรณีที่มีผู้ประกอบการที่จัดตั้งคณะบุคคลขึ้นมาหลายคณะเพื่อหลบเลี่ยงภาษี หรือสร้างหลักฐานรายจ่ายเป็นเท็จเพื่อส่งให้นิติบุคคลนำไปหักภาษีเงินได้ นิติบุคคล ในกรณีนี้หากตรวจสอบพบจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ยกเว้นคณะบุคคลที่ประกอบธุรกิจโดยสุจริต



ด้านนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในฐานะที่ตนกำกับดูแลงานของกรมสรรพากรได้มอบหมายให้กรมสรรพากรไปเข้มงวดกวด ขันกับคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนั้น ไม่ได้ทำเพื่อจะหารายได้มาปิดหีบ เพราะคณะบุคคลยังมีจำนวนไม่มากนักและก็ไม่ใช่ฐานภาษีขนาดใหญ่ แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี อุดรูรั่วไหล และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ที่เสียภาษีอย่างตรงไปตรงมา



แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า หลังจากที่นายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร ได้รับมอบนโยบายมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ดำเนินการตรวจสอบภาษี คณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อหลบเลี่ยงภาษี ในวันเดียวกัน (27 มี.ค.) นายวินัยได้สั่งให้สรรพากรภาคและสรรพากรจังหวัดทั่วประเทศเข้าไปตรวจสอบคณะ บุคคลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อหลบเลี่ยงภาษีทันที



จากการตรวจสอบฐานข้อมูลของกรมสรรพากรพบว่า ปัจจุบันมีคณะบุคคลที่มาจดทะเบียนกับกรมสรรพากรประมาณ 60,000 คณะ ในจำนวนนี้เป็นคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยมีการประกอบกิจการจริงประมาณ 40,000 คณะ ที่เหลืออีกประมาณ 20,000 คณะ จัดตั้งขึ้นมามีกระแสเงินไหลเข้าออก แต่พอลงไปตรวจสอบดู ปรากฏว่าไม่มีการประกอบกิจกรรมใดๆ บางกรณีจัดตั้งขึ้นมารับงานเพียงครั้งเดียวแล้วไม่มีความเคลื่อนไหวอีกเลย ซึ่งในกรณีนี้เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าอาจเป็นการกระจายรายได้เพื่อหลบภาษี หรืออาจสร้างหลักฐานรายจ่ายส่งให้นิติบุคคลนำไปหักภาษี



"ตราบใดที่ประมวลรัษฎากรยังไม่ได้รับการแก้ไข กรมสรรพากรจะไปห้ามหรือไปกีดกันไม่ให้มีการจัดตั้งคณะบุคคลไม่ได้ เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งเมื่อจัดตั้งคณะบุคคลแล้วก็จะได้รับสิทธิหักค่าใช้จ่ายหรือหักค่าลด หย่อนได้ตามที่กฎหมายกำหนดเหมือนบุคคลธรรมดา ตรงนี้ถือว่าเป็นการหลบเลี่ยงภาษีโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย หากกรมสรรพากรไม่ทำอะไรเลย ในอนาคตจะมีผู้ประกอบการหันมาจดทะเบียนเป็นคณะบุคคลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 6 หมื่นราย อาจกลายเป็น 2 แสนรายในปีถัดไป"



แหล่งข่าวกล่าวว่า ในระหว่างที่กฎหมายยังไม่ได้รับการแก้ไขให้มีการยกเลิกการจัดตั้งคณะบุคคล คงจะต้องใช้อำนาจในเชิงของการบริหาร เริ่มต้นจากการยกเลิกการขอจดทะเบียนจัดตั้งคณะบุคคลทางอินเทอร์เน็ต โดยผู้ที่ประสงค์จะขอจัดตั้งคณะบุคคลจะต้องไปยื่นเรื่องที่สรรพากรพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรจะมีการซักถามและตรวจสอบประวัติจากฐานข้อมูล ผู้เสียภาษีของกรมสรรพากร กรณีที่ตรวจพบว่าเคยมีการจดทะเบียนจัดตั้งคณะบุคคลอยู่ก่อนแล้ว ก็จะต้องถูกสอบถามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งคณะบุคคล พร้อมกับอธิบายกฎระเบียบหรือกติกาให้ชัดเจน หากกรมสรรพากรตรวจสอบพบว่ามีการจัดตั้งคณะบุคคลเพื่อหลบเลี่ยงภาษีในภายหลัง จะมีโทษทั้งจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 200,000 บาท ทั้งนี้เพื่อจะชะลอการขออนุญาตจัดตั้งคณะบุคคลใหม่



สำหรับคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ และมีการประกอบธุรกิจกับหุ้นส่วนจริงที่มีประมาณ 40,000 ราย กรณีนี้เจ้าหน้าที่จะต้องพยายามเกลี้ยกล่อมให้เปลี่ยนไปจดทะเบียนเป็นห้าง หุ้นส่วนสามัญแทน ส่วนกรณีที่สงสัยว่าจะไม่ได้มีการประกอบกิจการร่วมกันจริงตามกฎหมายจำนวน 20,000 ราย ในช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้ กรมสรรพากรจะส่งจดหมายไปถึงผู้ที่มีชื่ออยู่ในคณะบุคคลมากกว่า 2 ชื่อ เพื่อให้มาแจ้งยกเลิกและไปดำเนินการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทให้ ถูกต้อง และถ้าเพิกเฉยหรือละเลยกรมสรรพากรจะเข้าไปดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

Lock Reply
view