กลต.ภาคทัณฑ์ผู้สอบบัญชี3รายเป็นเวลา2ปี
108acc (Member) |
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ก.ล.ต.ลงดาบผู้สอบบัญชี 3 ราย หลังพบข้อพร่องอย่างร้ายแรง ในการปฏิบัติงาน สั่งภาคฑัณฑ์เป็นเวลา 2 ปี รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการที่ ก.ล.ต. ได้ตรวจทานงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนและสั่งการให้บริษัทจดทะเบียนแก้ไขงบ การเงินที่มีการเปิดเผยข้อมูลหรือจัดทำงบการเงินไม่เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีใน ช่วงก่อนหน้านี้ ก.ล.ต. จึงได้ตรวจทานการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชี โดยได้นำข้อเท็จจริงรวมถึงกระดาษทำการและคำชี้แจงของผู้สอบบัญชี หารือกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบบัญชีและนักวิชาการหลายรายแล้ว เห็นว่าผู้สอบบัญชีปฏิบัติงานบกพร่อง ดังนี้ 1. นางสาวทิพย์สุดา ชำนาญวนิชกุล สังกัดบริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชี จำกัด ซึ่งเป็นผู้สอบทานงบการเงินงวดไตรมาส 3 ปี 2547 ของบริษัท เซอร์คิทอีเลคโทรนิคส์ อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) (“CIRKIT”) โดย ก.ล.ต. ได้สั่งให้ CIRKIT พิจารณาทบทวนการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับลูกหนี้การค้าในงวดดัง กล่าวเพิ่มเติมเนื่องจากมีเหตุอันควรสงสัยว่าลูกหนี้รายใหญ่อาจมีปัญหาในการ จ่ายชำระหนี้ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก แต่ผู้สอบบัญชีกลับเห็นว่าค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 924 ล้านบาทที่มีอยู่เดิมนั้นเพียงพอแล้ว และต่อมา CIRKIT ได้นำส่งงบการเงินฉบับแก้ไขโดยตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับลูกหนี้ราย ใหญ่เพิ่มเติมอีกจำนวน 787 ล้านบาท ส่งผลให้ CIRKIT ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 22 ล้านบาท เป็น 809 ล้านบาท ก.ล.ต. ได้พิจารณาตามขั้นตอนข้างต้นแล้วได้ข้อสรุปว่า นางสาวทิพย์สุดาฯ ปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องเนื่องจากไม่ตั้งข้อสงสัยและไม่สอบทานเพิ่มเติม เกี่ยวกับฐานะการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้รายใหญ่ ก่อนที่จะสรุปผลว่า ยังไม่จำเป็นต้องตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่ม การปฏิบัติงานดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามมาตรฐานการสอบบัญชี 2. นายประวิทย์ วิภูศิริคุปต์ สังกัดบริษัท อาร์เอสเอ็ม ออดิท เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบงบการเงินงวดปี 2547 ของบริษัท ดาต้าแมท จำกัด (มหาชน) (“DTM”) โดย ก.ล.ต. ได้สั่งให้ DTM ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับเงินให้กู้ยืมและเช็คที่ไม่สามารถนำไปขึ้น เงินกับธนาคารได้ในงวดดังกล่าวทั้งจำนวน และต่อมา DTM ได้นำส่งงบการเงินฉบับแก้ไขโดยได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ สำหรับรายการดังกล่าวจำนวน 21.4 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ DTM ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 58.5 ล้านบาท เป็น 79.9 ล้านบาท ก.ล.ต. ได้พิจารณาตามขั้นตอนข้างต้นและได้ข้อสรุปว่า นายประวิทย์ฯ ปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่อง เนื่องจากไม่ได้รวบรวมหลักฐานอื่นใดเพิ่มเติมให้เพียงพอและเหมาะสม มีเพียงข้อมูลจากคำชี้แจงที่ได้รับจากบริษัทเท่านั้นก่อนที่จะสรุปผลว่ายัง ไม่จำเป็นต้องตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ การปฏิบัติงานดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามมาตรฐานการสอบบัญชี 3. นางเกษรี ณรงค์เดช สังกัดสำนักงาน เอ.เอ็ม.ที. แอสโซซิเอท ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบงบการเงินงวดปี 2549 ของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) (“THL”) สืบเนื่องจากหลักทรัพย์ของ THL ได้กลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้ง โดยงบการเงินในขณะนั้น (งวดปี 2549) แสดงผลกำไร 6.1 ล้านบาท และผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไขหรือไม่มีข้อสังเกตใด ๆ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นอีก 14 วัน พบว่า งบการเงินงวดไตรมาสถัดมาของ THL (ไตรมาส 1 ปี 2550) กลับแสดงผลขาดทุน 29.5 ล้านบาท ก.ล.ต. จึงได้ตรวจสอบและพบว่า ในงบการเงินงวดปี 2549 ไม่มีการบันทึกค่าใช้จ่ายส่วนแบ่งผลผลิตทองคำ ส่งผลให้กำไรสุทธิของ THL ลดลงจาก 6.1 เป็น 2 ล้านบาท รวมทั้ง THL ไม่ได้เปิดเผยภาระที่จะต้องจ่ายค่าปรับจากการชำระหนี้ก่อนกำหนดไว้ในงบปี 2549 อีก 11.6 ล้านบาท ซึ่งต่อมา THL ได้แก้ไขตามการสั่งการของ ก.ล.ต. แล้ว ก.ล.ต. ได้พิจารณาตามขั้นตอนข้างต้นและได้ข้อสรุปว่า นางเกษรีฯ ปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่อง เนื่องจากไม่ได้ตั้งข้อสังเกต สอบถาม หรือเสนอแนะให้ THL บันทึกบัญชีและเปิดเผยรายการดังกล่าวไว้ในงบการเงินงวดปี 2549 การปฏิบัติงานดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามมาตรฐานการสอบบัญชี ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีนับแต่นี้ไป หาก ก.ล.ต. พบข้อบกพร่องที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของบุคคลทั้งสามอีก อาจมีผลต่อการให้ความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียน |