มาร์ค ผ่าทางตันศึกBOI-สรรพากร ส่งกฤษฎีกาตีความเก็บภาษีซ้ำซ้อน
108acc (Member) |
ผู้ สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานจากที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด BOI) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า ในการ ประชุมนอกจากจะ มีการหารือนโยบาย และอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้ว ยังได้มีการหารือประเด็นปัญหาวิธีการคำนวณการใช้สิทธิ "ยกเว้น" ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่แตกต่างกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลง ทุน กับกรมสรรพากรด้วย แต่ยังไม่สามารถสรุปความชัดเจน เนื่องจากกรมสรรพากรยังยืนยันให้นักลงทุนต้องเสียภาษีตามกฎหมายกรมสรรพากรตี ความ ซึ่งเป็นประเด็นที่ค่อนข้างสร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนเป็นอย่าง มาก โดยคณะกรรมการวินัจฉัยภาษีอากร กรมสรรพากร ได้ตีความว่า บริษัทที่มีหลายโครงการและได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จะต้องนำกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละโครงการมาหักกันก่อน หากมีกำไรเหลือจึงจะสามารถใช้สิทธิ "ยกเว้น" ภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ แต่ตามหลักกฎหมายส่งเสริมการลงทุน ผู้ได้รับสิทธิจะต้องคิดแยกแต่ละโครงการ ซึ่ง BOI ก็ได้ขอความเห็นไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552 คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเห็นว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเป็นกฎหมายเฉพาะที่กำหนดระบบการจัดเก็บภาษี เป็นพิเศษ แตกต่างจากประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป ที่ไม่สามารถนำมาบังคับกับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมได้ ในขณะที่ กรมสรรพากรเองก็ยึดถือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 มีสถานะเป็นกฎหมายและถือเป็่นที่สุดตามมาตรา 13 สัตต วรรค 3 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งพนักงานและผู้เสียภาษีต้องปฏิบัติตาม โดยจำนวนเงินภาษีทั้งหมดที่ผู้เสียภาษีต้องชำระตามคำวินิจฉัยและการประเมิน ของภาษีของเจ้าพนักงาน ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางของ BOI ในหลาย ๆ โครงการที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ คิดเป็นมูลค่าถึง 4,800 ล้านบาท โดยเจ้าของโครงการผู้เสียภาษีที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของกรมสรรพากร ก็สามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภาษีอากร ได้มีมติยืนตามคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรตีความ ส่งผลให้หลาย บริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนได้รับผลกระทบ บางบริษัทได้ยื่นฟ้องกรมสรรพากรต่อศาลภาษีอากรแล้ว และมีบางบริษัทพิจารณาเตรียมย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ เช่น ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่จากประเทศสหรัฐอเมริการายหนึ่ง ได้รับคำสั่งจากกรมสรรพากร ให้ชำระภาษีทันที โดยปฏิเสธไม่ยอมรับพิจารณาหนังสือชี้แจงจาก BOI ทำให้บริษัทต้องเสียภาษีย้อนหลังประมาณ 100 ล้านบาท ในกรณีนี้ผู้บริหารบริษัทไม่ประสงค์จะฟ้องร้องต่อหน่วยงานรัฐ แต่จะมีผลต่อการพิจารณาย้ายฐานการผลิต นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดความสับสนกับผู้ลงทุนรายใหม่หรือบางรายที่กำลังจะใช้สิทธิว่า จะให้ปฏิบัติตามแนวทางของกรมสรรพากรหรือของสำนักงาน เนื่องจากต้องรอผลการตัดสินของศาลที่ไม่สามารถกำหนดว่าจะสิ้นสุดคดีเมื่อใด ล่าสุด BOI ได้เสนอทางออกของปัญหาวิธีการคำนวณการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลใน เรื่องนี้ ด้วยการให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ใช้อำนาจของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ 1) พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนตามมาตรา 51, 52 และ 53 ให้ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งหน่วยงานราชการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับการส่ง เสริมที่ประสบปัญหา วิธีการจัดเก็บภาษี กับ 2) ใช้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2552 (คณะที่ 5 และที่ 12) ที่ไม่ผูกพันกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษี สามารถดำเนินการตามการตีความของกฤษฎีกา ตามกฎหมายของ BOI ได้เลย ด้าน นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวนี้ค่อนข้างสร้างความสับสนให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งทาง BOI ก็พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ปัญหาคลี่คลายไปได้ แก้ไขปัญหาเงื่อนไข กฎระเบียบภายในของ BOI ให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น พร้อมกับประสานไปยังกรมสรรพากร บรรเทาปัญหาชั่วคราว ในช่วงรอผลการอุทธรณ์การประเมินภาษีตามมาตรา 29 และขอทุเลาการเสียภาษีตามมาตรา 31 แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ผู้อุทธรณ์สามารถวางหลักประกันการเสียภาษีได้ โดยไม่ต้องจ่ายเป็นเงินสด ที่บางบริษัทต้องเสียจ่ายภาษีเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ขณะที่นาย ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทั้ง 2 หน่วยงานมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จึงมีการออกระเบียบปฏิบัติที่ใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เหมือน กัน ทำให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเกิดความสับสนและไม่แน่ใจว่าจะใช้ แนวปฏิบัติของหน่วยงานใดถึงจะถูกต้อง หลังจากได้รับทราบหนังสือตอบ ข้อหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ในฐานะประธานคณะกรรมการ BOI จึงได้สั่งการให้เลขาธิการ BOI ทำหนังสือไปถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบข้อหารือมา เช่นนี้แล้ว ในทางปฏิบัติทาง BOI จะดำเนินการต่อไปอย่างไรได้บ้าง ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์เน้นย้ำว่าการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในครั้งนี้จะต้องเป็น ไปตามกระบวนการยุติธรรม "ล่าสุดได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่า ขณะนี้เอกชน 1 ราย เป็นโจทก์ฟ้องกรมสรรพากรที่ศาลภาษีอากรกลาง และยังมีอีก 1 ราย ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษี" ขณะที่ นายถาวร รุจิวนารมย์ หัวหน้าหุ้นส่วนกรรมการอาวุโสและกรรมการบริหาร บริษัทที่ปรึกษากฎหมายและภาษีอากร ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นที่ภาคเอกชนเรียกร้องก็คือ อยากจะให้รัฐบาลมีความชัดเจนก่อนว่าต้องการส่งเสริมการลงทุนจริงหรือไม่ และจะให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนอะไรบ้าง และเมื่อให้สิทธิประโยชน์แก่ภาคเอกชนไปแล้วต้องไปดูว่าเอกชนได้รับจริงหรือ ไม่ แต่ตอนนี้นโยบายส่งเสริมการลงทุนที่กล่าวมานี้ ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้ผู้เสียภาษีเกิดความกังวลว่าตนเองจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังหรือ ไม่ ตรงนี้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ไม่มีความแน่นอน |