สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รหัส ร้อน ไม่ลับ Repo 105 ไขปริศนา ทำไมเลห์แมนฯ ต้องล้มละลาย

(อ่าน 2345/ ตอบ 0)

108acc (Member)

จากประชาชาติธุรกิจ












เวลามัก จะผ่านไปเร็ว และแทบไม่น่าเชื่อว่าเรื่องราวการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส จะผ่านไปกว่าปีครึ่งแล้ว ชื่อของเลห์แมนฯเกือบจะถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา เนื่องด้วยโลกการเงินมักจะมีตำนานบทใหม่ ๆ เกิดขึ้นแทนที่ของเดิมอยู่ตลอดเวลา

กระทั่งเข็มนาฬิกามาหยุดอยู่ที่ วันที่ 11 มีนาคม 2553

มีเรื่องราวบางอย่างเกิดขึ้น และปริศนาที่เคยคาใจใครบางคนในแวดวงการเงินก็แจ่มชัดในตัวของมันเอง

ใน วันนั้นมีการเผยแพร่ผลการตรวจสอบการล้มละลายของ "เลห์แมน บราเธอร์ส" อดีตวาณิชธนกิจแถวหน้าของสหรัฐออกมาอย่างเป็นทางการ

รายงานฉบับดัง กล่าวอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ แอนตัน วาลูกัส ผู้ตรวจสอบ และทีมงาน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากศาลล้มละลาย

ในรายงานผลการตรวจสอบ ความหนา 2,200 หน้า วาลูกัสได้บรรยายพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเลห์แมน บราเธอร์ส โดยเฉพาะในช่วงเวลาสำคัญ ก่อนหน้าที่วาณิชธนกิจชื่อดังจะกลายเป็นเสือลำบาก และเผชิญกับภาวะล้มละลายในที่สุด เมื่อ 15 กันยายน 2551

หนึ่งใน พฤติกรรมที่น่าชวนสนเท่ห์ มีชื่อเรียกที่รับรู้กันเป็นการภายในว่าเรโป 105 (Repo 105) ได้ถูกตีแผ่ออกมา โดยกินเนื้อที่ในรายงานมากถึง 328 หน้า หลังหักใบปะหน้าและสารบัญแล้ว

อะไรคือเรโป 105

ในเอกสารของวา ลูกัสระบุว่า "เลห์แมนฯใช้เครื่องมือ นอกงบดุลบัญชี รู้จักกันภายในบริษัทว่าธุรกรรม "เรโป 105" และ "เรโป 108" ซึ่งเป็นการโยกย้ายตราสารจำนวนหนึ่ง ออกไปจากงบดุลบัญชีชั่วคราว โดยปกติจะกินระยะเวลาประมาณ 7-10 วัน และเครื่องมือดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างภาพที่ทำให้เข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับฐานะการเงินของบริษัทในช่วง ปลายปี 2550 และ 2551

โดยสรุป แล้ว ข้อตกลง "เรโป" เป็นกลวิธีทางบัญชีที่ เลห์แมน บราเธอร์ส นำมาใช้ในรูปของข้อตกลงซื้อคืน เพื่อเปิดช่องให้สามารถแลกเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นเงินสดได้ชั่วคราว โดยวางโครงสร้างให้เหมือนเป็นการขาย เพื่อให้ดูเหมือนว่า ความเสี่ยงจากการก่อหนี้ดังกล่าวได้หมดไปจากงบดุลบัญชีของบริษัทแล้ว

จริง ๆ แล้ว เลห์แมน บราเธอร์ส เริ่มใช้เครื่องมือนี้มา ตั้งแต่ปี 2544 แต่เพิ่งมาใช้บ่อยครั้งในช่วงสิ้นปี 2550 และจำนวนการใช้ธุรกรรมเรโป 105 มีปริมาณมากที่สุดในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2551 เพื่อช่วยผ่องถ่ายสินทรัพย์มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ออกไปจากงบดุลบัญชีของบริษัทเป็นการชั่วคราว

ใน เอกสารรายงานของวาลูกัสอ้างอิงอีเมล์ที่เป็นหลักฐานในการตรจสอบระบุถึงเรโป 105 ว่า ถูกใช้เพื่อการตกแต่งบัญชีสิ้นงวด (Window Dressing)

Window dressing ถือเป็นกลวิธีทางบัญชีอย่างหนึ่ง ซึ่งนิยมใช้ในหมู่กองทุน หรือบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำให้ตัวเลขทางบัญชีดูดีขึ้นมาด้วยมูลค่าหุ้นที่กองทุนหรือบริษัทนั้น ๆ ถืออยู่

การโต้ตอบทางอีเมล์มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เส้นทางการใช้ ธุรกรรม "เรโป 105" ในหน่วยงานบางแห่งของเลห์แมนบราเธอร์ส ในช่วงสิ้นไตรมาส เพื่อทำให้ตัวเลขบัญชีเป็นไปตามเป้าหมาย

อาทิ ข้อความหนึ่ง ซึ่งถูกหยิบมาอ้างอิง "เราอยู่ในสถานการณ์ ที่หมดหวัง และผมต้องการจากคุณอีก 2 พันล้านดอลลาร์ ทั้งที่ผ่านการขายขาด และเรโป 105 ค่าใช้จ่ายไม่เป็นปัญหา เราจำเป็นต้องทำ" เป็นอีเมล์ที่หัวหน้ากลุ่มตลาดสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องภายในแผนกสินทรัพย์ ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ของเลห์แมนเขียนอีเมล์ไว้สั้น ๆ ก่อนสิ้นไตรมาสแรกของปี 2551

เลห์แมน บราเธอร์ส ได้รายงานฐานะการเงินของบริษัทในช่วงไตรมาสนั้นว่ามีสัดส่วนการก่อหนี้สุทธิ อยู่ที่ 15.4 แต่วาลูกัสคำนวณว่า หากไม่มีการใช้ธุรกรรมเรโป 105 สัดส่วนการก่อหนี้สุทธิของเลห์แมน บราเธอร์ส จะเพิ่มเป็น 17.3

อย่าง ไรก็ตาม เมื่อรอบระยะบัญชีใหม่เริ่มขึ้น และธุรกรรม เรโป 105 ที่เลห์แมน บราเธอร์ส มีภาระผูกพันอยู่ครบกำหนด ซื้อคืน เลห์แมน บราเธอร์ส ต้องกู้ยืมเงินมา เพื่อซื้อคืนสินทรัพย์ ดังกล่าว ส่งผลให้สัดส่วนการก่อหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

เงื่อนปมสำคัญ ในข้อตกลงเรโป 105 ที่วาลูกัสตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในรายงาน คือเลห์แมน บราเธอร์ส ทำอย่างไรให้ธุรกรรมนี้ผ่านอุปสรรคสุดท้าย และสามารถลงบัญชีในรายการ "ขาย" ได้ เนื่องจากการทำบัญชีในลักษณะนี้ต้องขอความเห็นทางกฎหมายรับรองว่าเป็นข้อ ตกลงที่เกิดการขายจริง

รายงานของวาลูกัสชี้ว่า ปัญหาในขณะนั้น คือเลห์แมน บราเธอร์ส ไม่สามารถขอความเห็นรับรองทางกฎหมายว่าเป็นการขายจริง จากนักกฎหมายในสหรัฐ

ดังนั้น ทุกข้อตกลงเรโป 105 ของเลห์แมนฯ ยังต้องอาศัยการดำเนินการผ่านหน่วยงานในลอนดอนของบริษัท ซึ่งที่นั่น เลห์แมน บราเธอร์ส สามารถขอความเห็นทางกฎหมายรับรองว่าเป็นการขายจริง จากบริษัทกฎหมาย "ลิงก์เลเตอร์ส" ภายใต้กฎหมายอังกฤษ

เมื่อมีชื่อถูก พาดพิง ลิงก์เลเตอร์สได้ทำเอกสารแถลงชี้แจงว่า รายงานของวาลูกัสไม่ได้สรุปว่า ความเห็นทางกฎหมายที่ให้ภายใต้กฎหมายอังกฤษเป็นสิ่งผิด หรือไม่เหมาะสม

อีก ข้อสังเกตหนึ่งในกรณีการใช้ธุรกรรมเรโป 105 คือเป็น ธุรกรรมที่เกิดนอกสหรัฐ ด้วยเหตุนี้ คู่สัญญาในข้อตกลงจึงไม่มีสถาบันการเงินในสหรัฐเกี่ยวข้องเลย โดยในบรรดาคู่สัญญาของธุรกรรมเรโปทั้ง 7 ราย มี ดอยช์แบงก์ ของเยอรมนี บาร์เคลย์ส ของอังกฤษ และ มิตซูบิชิ ยูเอสเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ของญี่ปุ่น รวมอยู่ด้วย

วาลูกัสสรุปในเอกสารรายการตรวจสอบของเขาว่า หากพิจารณาจากพฤติกรรมดังกล่าว เท่ากับว่าเลห์แมน บราเธอร์ส อาจอยู่ในภาวะไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ตั้งแต่ 2 กันยายน 2551 เกือบ 2 อาทิตย์ก่อนที่จะมีการยื่นล้มละลายอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 กันยายน ซึ่งครั้งนั้นได้สร้างความปั่นป่วนให้กับระบบการเงินโลก และเป็นแรงบวกทุบตลาดหุ้นดิ่งถล่มทลายไป ทั่วทุกภูมิภาค

กลวิธี ทางบัญชีเยี่ยงนี้ ผิดหรือไม่ คงจะมีการหาข้อสรุปได้ใน ไม่ช้า แต่เรโป 105 กำลังเป็นบ่วงกรรมที่อาจตามหลอกหลอนอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูง เนื่องจากวาลูกัสได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมไว้ในรายงานด้วยว่า

"แม้ กรรมการบริหารบางคนของเลห์แมนฯในช่วงที่ประสบภาวะล้มละลายไม่จำเป็นต้องร่วม รับผิดชอบ แต่ผู้บริหารระดับสูงอาจต้องมีส่วนรับผิดชอบ"

วาลูกัสได้ ระบุชื่อของดิ๊ก ฟุลด์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รวมทั้ง คริส โอเมียรา เอียน โลวิตต์ และ อิริน คัลแลน ประธาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัท อาจเผชิญกับการฟ้องร้องฐานประมาทเลินเล่อ หรือกระทำผิดหน้าที่

แม้ แต่ เอิร์นสต์ แอนด์ยัง ซึ่งรับผิดชอบตรวจสอบบัญชีให้กับ เลห์แมน บราเธอร์ส ก็อาจพลอยติดร่างแห่ไปด้วย เพราะ วาลูกัสระบุในรายงานเอกสารด้วยว่า หลักฐานที่ปรากฏสนับสนุนการฟ้องร้องเอิร์นสต์ แอนด์ยัง ในข้อกล่าวหาการละเมิดทางวิชาชีพ เนื่องจากบริษัทเพิกเฉย หรือไม่ดำเนินการใด ๆ ที่จะตั้งคำถาม หรือพยายามตรวจสอบพฤติกรรมการไม่เปิดเผยข้อมูลของเลห์แมนฯ จากการใช้ธุรกรรมนอกงบดุลบัญชีชั่วคราว ที่มีวงเงิน สูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์

ความน่าสนใจประเด็นต่อมาคือวาลูกัสและทีมงาน ไม่ใช่คนกลุ่มแรกที่เข้าไปตรวจสอบเอกสารในเลห์แมน บราเธอร์ส

ใน คอลัมน์ dealbook ของนิวยอร์ก ไทมส์ ระบุว่า เมื่อเกือบ 2 ปีก่อน มีคณะตรวจสอบ ที่มาจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ และธนาคารกลางสหรัฐ ประจำนิวยอร์ก ได้เข้าไปในสำนักงานใหญ่ของเลห์แมน บราเธอร์ส อย่างเงียบ ๆ โดยมีการจัดเตรียมโต๊ะทำงาน โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ช่องทางในการเข้าถึงสถิติตัวเลข และรายงาน ทางบัญชีทั้งหมดของเลห์แมนฯ

ทีม งานชุดนี้ได้รับมอบหมายจาก ทิโมธี ไกธเนอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ประจำนิวยอร์ก และ คริสโตเฟอร์ ค็อกซ์ ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ ในช่วงเวลานั้น ให้ติดตามเลห์แมน บราเธอร์ส อย่างใกล้ชิด หลังจากที่ แบร์ สเติร์นส์ อยู่ในภาวะใกล้ล้มละลาย

ในช่วงเวลานั้น หน่วยงานทั้งสองไม่ได้ส่งแค่ทีมเดียวไปที่ เลห์แมน บราเธอร์ส แต่ทีมงานคล้าย ๆ กันได้เข้าไปติดตาม อย่างใกล้ชิดในสำนักงานของโกลด์แมน แซกส์ มอร์แกน สแตนเลย์ เมอร์ริล ลินช์ และสถาบันการเงินอื่น ๆ ด้วย

ทีมงานจากหน่วยงานทั้งสองได้เข้าตรวจ สอบเอกสารทางบัญชี มีการสอบปากคำผู้บริหารระดับสูง เกี่ยวกับการตัดสินใจต่าง ๆ รวมทั้งยังได้ตรวจทานรายงานผลประกอบการรายไตรมาสก่อน เผยแพร่ด้วย

แต่ น่าสนใจว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเลห์แมน บราเธอร์ส เพิ่งมาปรากฏในอีกเกือบ 2 ปีต่อมา โดยผู้ตรวจสอบอิสระที่ได้รับ มอบหมายจากศาลล้มละลาย

ในช่วง เวลาที่ทีมงานของหน่วยงานทางการเงินทั้งสองเข้าไปตรวจสอบ จริง ๆ แล้ว เป็นช่วงที่ได้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินสดก้อนมหึมาเข้า ๆ ออก ๆ

เช่น ในไตรมาส 4 ของปี 2550 เลห์แมนฯใช้ธุรกรรม เรโป 105 ลดงบดุลบัญชีสุทธิในช่วงสิ้นไตรมาส ประมาณ 3.86 หมื่นล้านดอลลาร์ อีก 4.91 หมื่นล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปี 2551 และ 5.038 หมื่นล้านดอลลาร์ ในไตรมาส 2 ของปีเดียวกัน

การเคลื่อนย้ายจำนวนเงินก้อนใหญ่เหล่านี้ กลับมีปรากฏ อยู่ในรายงานของวาลูกัสเท่านั้น

คุณูปการของการเปิด โปงพฤติกรรมการใช้ธุรกรรมเรโป 105 ของเลห์แมนฯ คือการสะท้อนให้เห็นว่า การอาศัยช่องโหว่ทางบัญชี เพื่อสร้างภาพลวงตาทางตัวเลข ไม่เคยสาบสูญไปจากโลกนี้

สาระสำคัญในรายงาน หนา 2,200 หน้า ของวาลูกัส เป็นเพียงบทเรียนล่าสุดที่ชวนให้นึกย้อนกลับไปถึงพฤติกรรม "คาบลูกคาบดอก" ของการทำบัญชีในหลาย ๆ กรณี ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในระบบทุนนิยมโลก

บางคนอาจคิดย้อนกลับไปไกลถึง กรณีการตบแต่งบัญชีของเอนร็อน ก่อนที่ยักษ์ใหญ่วงการพลังงานจะเดินสู่ภาวะล้มละลาย และสร้างความเสียหายให้กับผู้ถือหุ้นกว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ จากการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจหลายบริษัทขึ้นมา เพื่ออำพรางหนี้สินให้พ้นไปจากบริษัท

แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปไกลขนาดนั้นก็ได้ กรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือการทำธุรกรรม เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกรีก ในเดือนเมษายน ปี 2545 รัฐบาลกรีกนำพันธบัตรออกขายระดมทุน 3.5 พันล้านดอลลาร์ กำหนดไถ่ถอนวันที่ 22 เดือนตุลาคม 2565 ที่อัตรา ผลตอบแทน 5.90% ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีสถาบันการเงินต่างชาติเข้าไปรับประกันการจำหน่ายหลาย ราย รวมถึงโกลด์แมน แซคส์ มอร์แกน สแตนเลย์ และ ดอยช์แบงก์

กระทั่ง มีการเปิดโปงในเวลาต่อมาว่า โกลด์แมน แซกส์ วาณิชธนกิจสหรัฐ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลกรีก การเข้าถึงแหล่งทุน 1 พันล้านดอลลาร์ ผ่านข้อตกลงสวอปหนี้ มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2545 หลังจากที่ประเทศ เข้าร่วมในกลุ่มยูโรโซน

ในช่วงเวลานั้น โกลด์แมน แซกส์ ได้ใช้กลวิธีในการทำข้อตกลงสวอป โดยเริ่มต้นด้วยข้อตกลงสวอปอัตราแลกเปลี่ยน ข้ามสกุลเงิน (cross-currency swap) ออกโดยกรีซ มีทั้ง สกุลเงินดอลลาร์และเยน วงเงินรวมกัน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ จากนั้นจึงนำมาสวอปเป็นเงินยูโร ซึ่งคำนวณโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนในอดีต ถือเป็นกลไกสำคัญที่มาช่วยทำให้หนี้ ดูเหมือนลดลงและกรีซได้เงินทุนมาประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์

บ่วง กรรมของการใช้นิติกรรมอำพราง กำลังสั่นคลอนเสถียรภาพของเศรษฐกิจกรีซอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ โดยที่ไม่มีใครรู้ชะตากรรมว่า ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปรายนี้จะแปรสภาพเป็นชนวนก่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้ง ใหม่หรือไม่ หรือจะมีอัศวินม้าขาวมาปลดชนวนได้ทัน


Lock Reply
view