สรรพากรไฟเขียว แยกรายได้สามี-ภรรยา
108acc (Member) |
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ตัวแทนประกันชีวิตบุกสรรพากรถกปัญหาภาษีมูลค่าเพิ่มตัวแทนประกัน แย้มข่าวดีกำลังร่างกม.แยกรายได้สามี-ภรรยาในการคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา ปี55ได้ใช้ นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะทำงานด้านภาษีตัวแทนประกันชีวิตของสมาคม ได้ขออนุญาตเข้าพบผู้บริหารของกรมสรรพากร เพื่อหารือเรื่องภาษีของตัวแทนประกันชีวิต ที่ตัวแทนประกันคิดว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม อันได้แก่เรื่อง ปัญหาภาษีมูลค่าเพิ่มของตัวแทนประกัน ค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี และการขอแยกรายได้ของภรรยาออกจากสามี ในการนี้ ผู้บริหารของกรมสรรพากร ประกอบด้วย คุณวัชราภรณ์ มาตยานันท์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการแผนภาษี พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีและนิติกรของกรมสรรพากรได้ให้การต้อนรับและร่วมรับฟังข้อคิดเห็น ซึ่งผู้แทนของสมาคมได้ชี้แจงว่า ธุรกิจประกันชีวิตไม่จัดอยู่ในธุรกิจที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าเบี้ยประกันชีวิต หรือรายได้ของบริษัทประกันชีวิต แต่รายได้ของตัวแทนประกันชีวิตกลับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยที่ไม่สามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภคคนสุดท้ายได้ จึงใคร่ขอให้กรมสรรพากรพิจารณาทบทวนภาษีดังกล่าว หรือจะจัดให้อาชีพตัวแทนประกันชีวิตเข้าไปอยู่ในกลุ่มวิชาชีพอิสระเพื่อให้ได้สิทธิ์ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ ฝ่ายกฎหมายของกรมสรรพากรได้เสนอแนวทางว่า อาชีพตัวแทนประกันชีวิตมีกฎหมายควบคุมการประกอบอาชีพคล้ายวิชาชีพอิสระอื่น หากสมาคมสามารถแสดงข้อเท็จจริงได้ว่า อาชีพตัวแทนประกันมีคุณสมบัติเหมือนวิชาชีพอิสระอื่น เช่น แพทย์ ทนายความ นักบัญชี และสถาปนิก ทุกประการ ก็น่าจะได้รับการพิจารณายกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เรื่องต่อมาคือ เรื่องการหักค่าใช้จ่ายของตัวแทนประกันชีวิต ที่เดิมตัวแทนจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มอาชีพที่ใช้แรงกายและกำลังสมองในการประกอบอาชีพ ไม่มีการใช้ทุน หรือเครื่องไม้เครื่องมือใดๆ จึงสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เพียง 40% แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2) ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไรก็ตาม แต่ปัจจุบันนี้ อาชีพตัวแทนประกันชีวิตได้ขยับขยายบทบาทขึ้นเป็นที่ปรึกษาการเงิน ต้องใช้อุปกรณ์ เทคโนโลยี เข้ามาช่วยในการทำงาน มีต้นทุนค่าเข้าฝึกอบรมที่สูงมาก ต้องลงทุนเรื่องของกำนัลและการเลี้ยงรับรอง บางคนต้องมีการจ้างพนักงานผู้ช่วย จึงขอให้กรมสรรพากรช่วยพิจารณาให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 30% หรือให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง เช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจตามมาตรา 40(8) กรมสรรพากรได้ชี้แจงว่า ทุกวันนี้ทางกรมก็ได้อนุญาตให้ตัวแทนประกันชีวิตแจ้งความจำนงยื่นเสียภาษีในแบบผู้ประกอบธุรกิจได้อยู่แล้ว โดยมีเงื่อนไขว่า ตัวแทนผู้นั้นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีสำนักงานของตนเอง มีการจ่ายค่าเช่าและมีพนักงานประจำสำนักงาน หากตัวแทนคิดว่าเกณฑ์ดังกล่าวไม่สอดคล้อง ไม่สามารถประยุกต์ใช้กับตัวแทนประกันส่วนใหญ่ได้ ก็ให้สมาคมไปหาข้อมูลว่า ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายของตัวแทนประกันเฉลี่ยอยู่ที่เท่าใด ควรจะมีการปรับเกณฑ์ที่ใช้อยู่อย่างไร อย่างไรก็ตาม หากย้ายจากกลุ่มอาชีพในมาตรา 40(2) ไปอยู่กลุ่มอาชีพตามมาตรา 40(8) ก็คงจะไม่สามารถระบุว่าให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ คงต้องให้หักค่าใช้จ่ายตามความจริง โดยต้องแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายประกอบการยื่นเสียภาษีทุกครั้ง ซึ่งสมาคมตัวแทนประกันชีวิตรับที่จะไปสำรวจหรือหาข้อมูลเพื่อนำมาเสนอใหม่อีกครั้ง สุดท้าย เป็นเรื่องการเสนอให้แยกรายได้ของภรรยาออกจากรายได้ของสามี ในการคำนวณเสียภาษีบุคคลธรรมดา ซึ่งสมาคมตัวแทนประกันชีวิตได้ยื่นเรื่องผ่านรมต.คลัง นายกรณ์ จาติกวณิช ไปนานแล้ว ด้วยเห็นว่ารูปแบบการคำนวณภาษีแบบเดิมมีส่วนทำให้ครอบครัวแตกแยก และเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีสตรีไทย โดยในหลายประเทศ เช่นสิงคโปร์ ก็ได้มีการแก้กฎหมาย ให้แยกรายได้ของภรรยาออกจากรายได้ของสามีมานานแล้ว จึงสมควรที่ประเทศไทยจะได้ปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่ผู้หญิงได้ออกมาทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น โดยเฉพาะอาชีพตัวแทนประกันชีวิตที่มีผู้หญิงเป็นกำลังหลักถึง 60% ของตัวแทนทั้งประเทศ ที่มีอยู่กว่า 250,000 คน ผู้บริหารกรมสรรพากรแจ้งว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายของท่านอธิบดีกรมสรรพากร นายสาธิต รังคสิริ อยู่แล้ว ที่จะแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ โดยขณะนี้ทางกรมกำลังให้นิติกรประจำกรมสรรพากรร่างกฎหมายแก้ไขดังกล่าวขึ้นมา เพื่อให้กระทรวงการคลังเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี หากได้รับการเห็นชอบแล้ว ในการเปิดสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้า (หลังการเลือกตั้ง) ก็สามารถนำเข้าสภาเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบได้ทันที คาดว่าจะได้ใช้ในปีหน้า ( พศ.2555 ) โดยหากเรื่องนี้ได้รับการอนุมัติออกมา จะมีผลให้รายได้(บุคคลธรรมดา)ของภรรยา ไม่ว่าจะอยู่ในสาขาอาชีพใด สามารถแยกคำนวณออกจากรายได้ของสามีได้ ทำให้ช่วยประหยัดภาษีเป็นจำนวนมาก นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน ได้กล่าวชื่นชมนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากรว่า เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ เข้าใจสภาพสังคมปัจจุบัน พร้อมบอกว่า กฎหมายที่ดีต้องวิวัฒน์ไปตามวิถีชีวิตและสภาพสังคมที่แปรเปลี่ยนไป อยากให้เรื่องนี้อนุมัติออกมาเร็วๆ เพราะถือเป็นขวัญชิ้นใหญ่ที่มอบให้กับทุกครอบครัว ที่ทั้งสามีและภรรยาต้องดิ้นรน ช่วยกันทำงานเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว คนขยันสมควรได้รับการชมเชย ไม่ใช่การลงโทษ |