สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ค่านิยมสร้างสรรค์ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ค่านิยมสร้างสรรค์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

    ค่านิยมสร้างสรรค์ฯ เป็นคุณธรรมประจำใจที่จัดทำขึ้นให้เจ้าหน้าที่ของรัฐพึงยึดถือ
เพื่อกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานใหม่ ให้งานภาครัฐบังเกิดผลตามแนวทางของแผนปฏิรูป
ระบบบริหารภาครัฐที่มุ่งสร้างคุณประโยชน์สูงสุดให้ประชาชนและประทศชาติ โดยได้สกัดเนื้อหา
จากคุณค่าสำคัญต่าง ๆ ที่เป็นแนวคิดหรือหลักประพฤติปฏิบัติในการทำงาน  และหลักการสำคัญ
ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบราชการ เช่น พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน 
ในวันข้าราชการพลเรือนทุกปี  ทศพิธราชธรรม ปรัชญาในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย
พ.ศ. 2540  ลักษณะที่พึงคาดหวังตามวิสัยทัศน์ของแผนปฏิรูประบบบริหารภาครัฐ รวมทั้งหลักปฏิบัติ
ราชการของต่างประเทศมากำหนดเป็นค่านิยมสร้างสรรค์กลาง  ที่มีความหมายสะท้อนพฤติกรรม 
ที่เป็นค่านิยมใหม่ที่พึงประสงค์สำหรับการปฏิบัติงานในภาครัฐ มี 5 ประการ ดังนี้
    1. กล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง (Moral Courage)  โดยยึดมั่นในความถูกต้อง  ดีงาม    ความชอบธรรม  ความเสียสละ  หลักวิชาและจรรยาวิชาชีพ  ไม่โอนอ่อนตามอิทธิพล
    2. ซื่อสัตย์และมีความรับผิดชอบ (Integrity &  Responsibility)  ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา  แยกเรื่องส่วนตัวออกจากหน้าที่การงาน และมีความรับผิดชอบต่องานในหน้าที่ต่อผลงาน  ต่อองค์การและ ต่อประชาชน
    3. โปร่งใส  ตรวจสอบได้ (Transparency & Accountability)  ปรับปรุงกลไกและวิธีการทำงานให้มี ความชัดเจน  โปร่งใส สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้  และพร้อมเปิดเผยข้อมูล อันไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย
    4. ไม่เลือกปฏิบัติ (Nondiscrimination)  ให้บริการโดยเสมอภาค  เป็นธรรม  เน้นความสะดวก  รวดเร็ว  ประหยัดและถูกต้อง  ด้วยความมีน้ำใจ  เมตตา
    5. มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน (Result Orientation)  โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ    ประสิทธิผล  งานแล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์  เกิดผลดีต่อหน่วยงานและส่วนรวม  โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

กล้ายืนหยันทำในสิ่งที่ถูกต้อง    ( Moral Courage)      หมายถึง
* ยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม
* เสียสละ
* ยึดหลักวิชาและจรรยาวิชาชีพ
* ไม่โอนอ่อนตามอิทธิพลใด ๆ ซึ่งอาจขยายความได้ว่า เป็นพฤติกรรมการทำงานในลักษณะดังต่อไปนี้
* การปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง ชอบธรรม ไม่ทำผิดระเบียบ กฎหมาย แม้ ผู้บังคับบัญชาจะสั่งให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็กล้าที่คัดค้านตามกระบวนการ
* กล้าแจ้งเหตุ หรือร้องเรียน เมื่อพบเห็นการกระทำผิด แม้ผู้กระทำผิดจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานตนเอง
* ให้รางวัลแก่ผู้ปฏิบัติดี และกล้าลงโทษผู้กระทำผิด
* ปฏิบัติตามหลักวิชา ตามหลักการ และจรรยาบรรณ โดยไม่ประนีประนอม กับความเลว ไม่หวั่นเกรงต่อการข่มขู่หรืออิทธิพลใด ๆ
* มีความอดทนหรือยับยั้งชั่งใจต่อผลประโยชน์ที่เย้ายวน โดยคำนึงถึงเกียรติและ  ศักดิ์ศรี
 
ซื่อสัตย์และมีความรับผิดชอบ ( Integrity and Responsibility)   หมายถึง
* ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา
* แยกเรื่องส่วนตัวออกจากหน้าที่การงาน
* มีความรับผิดชอบต่อประชาชน ต่อผลการปฏิบัติงานองค์การ และต่อการพัฒนาปรับปรุงระบบราชการ    ซึ่งอาจขยายความได้ว่า เป็นพฤติกรรมการทำงานในลักษณะดังต่อไปนี้
* การมีความตั้งใจจริงปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยไม่คดโกง ไม่หลอกลวง
* มีความตรงต่อเวลาทั้งการมาปฏิบัติหน้าที่และการนัดหมาย ไม่ให้ประชาชนหรือ ผู้ ที่ตนนัดหมายต้องรอคอย
* การไม่เอาประโยชน์ส่วนตนมาทำให้ประโยชน์ส่วนรวมต้องเสียไป
* การหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ตนจะได้ประโยชน์ผู้ใต้บังคับบัญชา
* การมิจิตสำนึกต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการและประชาชน และพร้อมที่จะรับผิดเมื่อทำงานผิดพลาดและยินดีแก้ไข

โปร่งใส  ตรวจสอบได้ ( Transparency and Accountability) หมายถึง
* ปรับปรุงกลไกการทำงานขององค์การ ให้มีความโปร่งใส
* มีวิธีการให้ประชาชนตรวจสอบได้
* เปิดเผยข้อมูลข่าวสารภายในขอบเขตของกฎหมาย  ซึ่งอาจขยายความได้ว่า เป็นพฤติกรรมการทำงานในลักษณะดังต่อไปนี้
* การมีขั้นตอนการปฏิบัติงาน แผนการทำงาน และการมอบหมายงานที่ชัดเจน      โดยสามารถแจ้งลำดับขั้นตอนการปฏิบัติงาน ผู้ปฏิบัติงาน และระยะเวลา ให้          ผู้ติดต่อ ได้ทราบเพื่อสามารถติดตามความรับผิดชอบได้
* เก็บหลักฐานทุกอย่างไว้หรือทำเป็นบันทึกไว้ เพื่อง่ายแก่การตรวจสอบ
* การตั้งคณะทำงาน หรือคณะกรรมการจะทำให้เกิดการตรวจสอบกันเองได้ดี
* การให้คำอธิบาย ให้เหตุผลที่เหมาะสมแก่ผู้มาขอรับบริการกรณีที่ไม่สามารถ  ปฏิบัติหรืออนุญาตตามคำขอได้
* การเปิดเผยหลักเกณฑ์ และวิธีการในการปฏิบัติงานหรือข้อมูลการปฏิบัติงานให้  แก่ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ ตามสมควรแก่กรณีโดยถือว่าการเปิดเผยเป็นหลักการ  การปกปิดเป็นข้อยกเว้น

ไม่เลือกปฏิบัติ ( Nondiscrimination) หมายถึง
* บริการประชาชนด้วยความเสมอภาค เน้นความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด    และถูกต้อง
* ปฏิบัติต่อผู้มาขอรับบริการด้วยความมีน้ำใจ  เมตตา  เอื้อเฟื้อ  ซึ่งอาจขยายความได้ว่า เป็นพฤติกรรมการทำงานในลักษณะดังต่อไปนี้
* การให้บริการโดยเน้นความเสมอภาคเท่าเทียมกัน
* ให้บริการตามลำดับโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติหรือเครือญาติ เพื่อความเสมอภาค     เป็นธรรม ผู้ที่มาก่อนจะได้รับบริการก่อน
* อำนวยความสะอาดแก่ผู้มารับบริการในมาตรฐานเดียวกัน ไม่บริการพิเศษเฉพาะรายที่รู้จักมักคุ้น
* ให้บริการด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง ปราศจากอคติ
* ให้บริการด้วยความเต็มใจ ยิ้มแย้ม แจ่มใส รักษาประโยชน์ให้แก่ผู้รับบริการทุกคนเท่าที่จะทำได้
* กรณีมีเหตุจำเป็น หากต้องเลือกที่จะบริการแก่ประชาชนผู้อยู่ห่างและทางเดินลำบาก ก็ต้องอธิบายความจำเป็นให้แก่ผู้รับบริการคนอื่น ๆ ที่รออยู่ทราบทั่วกัน

มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน  (Result Orientation)   หมายถึง
* ทำงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดเกิดผลดีต่อหน่วยงาน และส่วนรวม
* ใช้ทรัพยากรของทางราชการให้คุ้มค่าเสมือนหนึ่งการใช้ทรัพยากรของตนเอง
* เน้นการทำงานโดยยึดผลลัพธ์เป็นหลัก มีการวัดผลลัพธ์ และค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจขยายความได้ว่า เป็นพฤติกรรมการทำงานในลักษณะดังต่อไปนี้
* การปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จตามกำหนดโดยได้ผลลัพธ์ตาม        เป้าหมาย และคุ้มค่า ทั้งในส่วนของการใช้เงิน และใช้เวลา
* ประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเป้าหมายและเนื้อหาสาระของงานที่ตรงกัน
* ปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบไม่ประมาท รักษาผลประโยชน์ให้แก่หน่วยงาน   อย่างเต็มความสามารถ คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ     และประสิทธิผล
* การปฏิบัติงานโดยไม่ยึดติดอยู่กับกฎ ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน แต่มุ่ง   เป้าหมายขององค์กร โดยมีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมว่าการทำงานนั้น ๆ บรรลุเป้าหมายหรือไม่ และมีการติดตามผลเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
       
  ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ ค่านิยมสร้างสรรค์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม
                      สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ., หน้า 19 - 29
view