- จาก "ต้มยำกุ้ง...ถึงเลแมนลัมนฯ"
จากคอลัมน์ ทัศนะวิจารณ์จับกระแส
-
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์
-
การ ล่มสลายของวาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับที่ 4 ของสหรัฐ อย่าง เลแมน บราเดอร์ส อันเป็นผลพวงมาจากพิษภัยของปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพร์ม) จนสร้างความปั่นป่วนต่อตลาดเงินตลาดทุนสหรัฐและของโลกอยู่ขณะนี้
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ประนอม บุญล้ำ pranom_b@nationgroup.com
ทำให้ธนาคารกลางของหลายประเทศทั่วโลก ต้องหันกลับมามองสถานะและความมั่นคงของสถาบันการเงินในประเทศตัวเองมากขึ้น ...ไม่แน่ว่า สถาบันการเงินรายใหญ่ๆ หากเจาะลึกลงไส้ในจริงๆ จะแข็งแกร่งเท่าขนาดขององค์กรหรือไม่ เพราะขนาด เลแมน บราเดอร์ส วาณิชธนกิจรายใหญ่สหรัฐ ที่มีอายุเก่าแก่มากว่า 150 ปีด้วยซ้ำ ยังไม่รอด...จนเกิดกระแสควบรวมกิจการเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในองค์กรกัน อย่างหนัก
ถือเป็นกรณีศึกษาและบทเรียนครั้ง สำคัญในวงการการเงินโลก ที่ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ควรมองข้าม แม้ว่าจะเคยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 มาแล้วก็ตาม ซึ่งครั้งนั้นประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์ "หนักหนาสาหัส อาการปางตาย"
ไทยต้องบากหน้าไปขอความช่วยเหลือจาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปล่อยเงินกู้เข้ามาช่วย 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ และประเทศไทยต้องทำ "จดหมายแสดงเจตจำนง (letter of Intent) หรือ LOI " ปฏิบัติเงื่อนไขที่ไอเอ็มเอฟกำหนดถึง 5 ฉบับ ซึ่งเงื่อนไขในหนังสือดังกล่าวหลักๆ ที่ไทยต้องทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด คือ การสั่งให้ไทยปิดกิจการ 56 ไฟแนนซ์ ลอยตัวค่าเงินบาท คุมเข้มการจัดทำงบประมาณ และระมัดระวังการใช้จ่ายของภาครัฐ เนื่องจากรัฐบาลไทยในช่วงนั้นอยู่ในสภาพกระเป๋าฉีก
บทเรียนครั้งนั้นของประเทศไทย คงไม่ต่างกับวิกฤติการเงินของสหรัฐครั้งนี้มากนัก แต่ความต่างอยู่ที่การเข้าควบคุมสถานการณ์และบริหารจัดการปัญหาของกระทรวง การคลังของสหรัฐ และเฟด โดยเฉพาะการผนึกกำลังเข้าดำเนินการเคลียร์ปัญหา ไม่ว่าจะเป็น กรณี เลแมน บราเดอร์ส กรณีกลุ่มเอไอจี หรือก่อนหน้านั้น กรณีธนาคารแบร์ สเติร์นส์ แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค
แม้ว่าวิธีเข้าเคลียร์ปัญหาที่เฟดและ กระทรวงการคลังสหรัฐจะไม่เหมือนกัน แต่ผลลัพธ์อยู่ที่การหยุดปัญหา และชะลอความรุนแรงของปัญหาไม่ให้ลุกลามไปกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ มากนัก ขณะที่การดูแลและบริหารจัดการปัญหาของ ธปท. และกระทรวงการคลังของไทย ค่อนข้างเชื่องช้าไม่ทันสถานการณ์ เทียบได้กับสุภาษิตที่ว่า "กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้"
ความแตกต่างในการบริหารจัดการและ เคลียร์ปัญหาระหว่างเฟด กับ ธปท. คือ เฟด มีไอเดียของตัวเอง ดำเนินการร่วมมือกับฝ่ายการเมือง เพราะรู้ว่าตัวเองควรทำอะไร และมีศักยภาพ (ทางกฎหมาย) แค่ไหน เนื่องจากประธานเฟด (Bernanke) ก็ถูกแต่งตั้งจากฝ่ายการเมืองเช่นกัน (ประธานาธิบดีบุช )
ส่วนกระทรวงการคลัง ก็ทำในสิ่งที่ทำได้ (มีกฎหมายรองรับ) คือ เข้ายึดกิจการ แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ไล่ผู้บริหารเน่าๆ ออก หรือส่วนที่ไม่มีอำนาจทางกฎหมายก็ทำผ่านเฟด เช่น ค้ำประกันหนี้ให้แบร์ สเติร์นส์, เปิดโอกาสให้ธนาคารและวาณิชธนกิจต่างๆ สามารถกู้ฉุกเฉินได้, หรือปล่อยกู้ฉุกเฉินให้กลุ่มเอไอจี และทุ่มเงินอีกกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ซื้อหนี้เสีย” รวมทั้งเตรียมออกบอนด์ระดมเงินอีกกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ไว้ให้เฟดใช้อัดฉีดสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินที่อาจมีปัญหา ที่สำคัญคือ ตัดสินใจปล่อยให้เลแมนฯ ล้มละลายไปโดยไม่ช่วย
ปฏิบัติการเหล่านี้ฝ่ายการเมืองสหรัฐ ไม่ได้เข้าแทรกแซงการตัดสินใจเลย...ผิดกับธนาคารกลางประเทศไทย แม้ว่า ทฤษฎี ธปท.ยืนยันว่าเป็นอิสระปลอดการเมือง แต่ในทางปฏิบัติหาใช่ไม่...เพราะทุกอย่างที่ ธปท.ต้องขออนุมัติฝ่ายการเมืองทั้งสิ้น...วิกฤติเลแมนฯ จึงเป็นบทเรียนสำคัญ ที่แบงก์ชาติ ต้องสังวรไว้ว่า "อย่าปล่อยให้การเมืองเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจ อย่ามัวแต่อ้างความอิสระ สร้างความเสียหายกับประเทศ เพราะการด้อยความรู้ ปล่อยให้คนที่ได้รับเลือกตั้งมาจัดการ น่าจะมี accountability ดีกว่ามั้ย???”