ผู้สื่อข่าว ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า การสัมมนาวิชาการประจำปี 2551 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) หัวข้อ" สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน"ระหว่าง วันที่ 29-30 พ.ย. ศกนี้ ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี จะมีการเปิดเผยงานวิจัยหลายชิ้นที่น่าสนใจ โดยหนึ่งในงานวิจัยดังกล่าวคือ งานวิจัยเรื่อง "การพัฒนาตลาดการเงินเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กรณีศึกษาข่าวสารในตลาดทุน" โดยคุณ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ และคอลัมนิสต์ ประชาชาติธุรกิจ
งานวิจัยการพัฒนาตลาดการเงิน มีเนื้อหาดังนี้
ในเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ ตลาดการเงินเป็นกลไกสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการขับเคลื่อนระบอบเศรษฐกิจในฐานะ ตลาดสำคัญในการจัดหาและจัดสรรทุน ด้วยเหตุนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ระบอบเศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้หากปราศจากตลาดการเงินที่แข็ง แกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืนดุจเดียวกัน ตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา วิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีชนวนส่วนหนึ่งมาจากความไม่โปร่งใสในตลาด การเงินเป็นเพียงตัวอย่างล่าสุดที่พิสูจน์ให้เห็นว่าความข้อนี้เป็นจริง เพียงใด และยังตอกย้ำความสำคัญของ "คุณภาพ" ของข้อมูลข่าวสารในตลาดทุน ในฐานะที่เป็นหัวใจของตลาดที่เติบโตอย่างยั่งยืน
การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในตลาดทุนอย่างเท่าเทียม ถูกต้องสมบูรณ์ และทันเวลา เป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างตลาดทุนที่มีทั้งความเป็นธรรมและความโปร่งใส ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ในตลาดทุนที่เติบโตอย่างมีคุณภาพและ ยั่งยืน ผู้กำกับดูแลส่วนใหญ่เชื่อว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารน่าจะเป็นวิธีการที่ สำคัญที่สุดในการบรรเทาปัญหาข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ฝ่ายต่างๆ (ปัญหาข้อมูลอสมมาตร) และการที่ผู้ถือหุ้นจำนวนมากไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารกิจการเอง (ปัญหาตัวแทน) ซึ่งที่ผ่านมาได้ลิดรอนทั้งประสิทธิภาพและคุณภาพของตลาดทุน ในแง่ที่ทำให้ราคาหุ้นไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานและข้อมูลข่าวสารที่แท้จริง วรรณกรรมเศรษฐศาสตร์การเงินปัจจุบันสนับสนุนความเชื่อดังกล่าวของผู้กำกับ ดูแล และยืนยันว่าคุณภาพของข้อมูลข่าวสารในตลาดทุนมีความสัมพันธ์เชิงลบกับระดับ ความอสมมาตรของข้อมูลในตลาด และการเปิดเผยข้อมูลยังช่วยลดต้นทุนทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนได้อีกทาง หนึ่งด้วย
รายงานฉบับนี้จัดทำกรณีศึกษาการเปิดเผยข้อมูลในตลาดทุนไทยอย่างย่อ โดยบันทึกปริมาณการซื้อขายต่อวัน (daily trading volume) สำหรับหุ้นแต่ละตัวในบรรดา "หุ้นร้อน" 27 ตัวที่ติด Turnover List 12 สัปดาห์หรือมากกว่า ในช่วงปี 2548-2550 และเปรียบเทียบวันที่มีการซื้อขาย "ผิดปกติ" ตามนิยามของผู้เขียน กับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของบริษัทจดทะเบียน 27 แห่งดังกล่าว ที่ปรากฏบนเว็บไซต์ SETSMART (www.setsmart.com) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทางการของ ตลท. และเว็บไซต์ข่าวหุ้นดอทคอม (www.kaohoon.com) ระหว่างช่วงเวลาเดียวกัน โดยผู้เขียนมีข้อสังเกตโดยสรุปดังต่อไปนี้
1. บริษัทส่วนใหญ่ในกรณีศึกษาละเลยที่จะทำตามประกาศ ตลท. เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเปิดเผยสารสนเทศของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะแนวทางข้อ (4) ว่าด้วย "การดำเนินการเมื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนผิดไปจากสภาพปกติ ของตลาด"
ตารางที่ 1: หุ้นใน Turnover List เรียงตามสัดส่วนวันที่การซื้อขายผิดปกติ แต่ไม่มีการรายงานข้อมูล
2. สัดส่วนจำนวนวันที่ปริมาณการซื้อขายหุ้นสูงผิดปกติแต่ไม่มีสารสนเทศปรากฏใน SETSMART หรือข่าวหุ้นดอทคอม ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงสำหรับบางบริษัทโดยเฉพาะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ หลักทรัพย์ อาจก่อให้เกิดข้อกังขาว่า ตลท. ได้ดูแลเรื่องการเปิดเผยข้อมูลอย่าง "เลือกปฏิบัติ" ต่อบริษัทบางแห่งหรือไม่
3. ข่าวหุ้นดอทคอมมีข่าวที่ปรากฏระหว่างช่วงซื้อขายผิดปกติ (T-3 ถึง T+1) กว่าร้อยละ 54 ของข่าวในข่าวหุ้นดอทคอมทั้งหมด ในขณะที่มีสารสนเทศบน SETSMART เพียงร้อยละ 31 เท่านั้นที่ปรากฏในช่วงซื้อขายผิดปกติ สะท้อนให้เห็นว่า ตลท. อาจมีความ "หละหลวม" ในการกำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทบางแห่ง
4. ในบรรดาข่าวที่ปรากฏบนข่าวหุ้นดอทคอม พบว่ามีบางกรณีที่เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อราคาหุ้นอย่างแน่ชัด เข้าข่ายเหตุการณ์ที่บริษัทต้องชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ ตลท. แต่บริษัทกลับมิได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าว หรือไม่ก็ชี้แจงหลังจากช่วงที่มีการซื้อขายผิดปกติผ่านพ้นไปนานแล้ว ตัวอย่างของข่าวลักษณะนี้ได้แก่ ข่าวเกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่าง BLS และ ASP, ข่าวการ "จีบพันธมิตรร่วมทุน" ของ BLISS, ข่าวการ "ได้งานต่างประเทศ" ของ EMC และ PLE , และข่าวการควบรวมกิจการระหว่าง PLE และ EMC
ตารางที่ 2: หุ้นใน Turnover List เรียงตามลำดับการมีข่าวในข่าวหุ้นดอทคอมมาก แต่มีการรายงานต่อตลท. และปรากฏใน SETSMART น้อย ในช่วงซื้อขายผิดปกติ
แม้กรณีศึกษาครั้งนี้ยังมีข้อจำกัดสำคัญหลายประการอาทิ มิได้ประเมินผลกระทบต่อนักลงทุนที่ซื้อขายในช่วงที่มีปริมาณการซื้อขายผิด ปกติ เปรียบเทียบเฉพาะข่าวสารที่ปรากฏในเว็บไซต์ SETSMART และข่าวหุ้นดอทคอมเท่านั้น และยังมิได้ติดตามตรวจสอบความถูกต้องเป็นจริงของข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ออก ไปก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่ากรณีศึกษาที่ใช้ในรายงานฉบับนี้ก็เพียงพอที่จะสะท้อนให้ เห็นว่า ปัจจุบันการเปิดเผยข้อมูลในตลาดหุ้นไทยยังมีความคลุมเครือด้านระดับข้อเท็จ จริง ความไม่เท่าเทียม และ "ช่องว่าง" ทั้งระหว่างสื่อเอกชนกับสื่อทางการของ ตลท. และระหว่างคนกลุ่มน้อยที่ล่วงรู้ข้อมูลภายในกับนักลงทุนคนอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นข้อบกพร่องที่ยังปรับปรุงได้อีกมาก