สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดงานวิจัยทีดีอาร์ไอ จบปวส.-อนุปริญญาค่าจ้างเท่าปวช. มุเรียนต่อป.ตรีได้ค่าตอบแทนเพิ่ม2เท่า

ประชาชาติธุรกิจ
เปิด งานวิจัยทีดีอาร์ไอ"งานที่มีคุณค่า" หนึ่งในการศึกษาเรื่องสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนสำหรับทุนมนุษย์ เผยผู้จบปวส. อนุปริญญาได้ค่าจ้างไม่ต่างจากคนจบปวช. แต่หากเรียนต่ออีก2ปีจนจบป.ตรีจะได้ผลตอบแทนเพิ่มเกือบ2เท่า


การได้ทำงานที่มีคุณค่าเป็นคุณภาพชีวิตของแรงงานจริงหรือ ?
" ดร.วรวรรณ  ชาญด้วยวิทย์" ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ให้คำตอบถามนี้ไว้อย่างน่าสนใจในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2551 ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน ชลบุรี ไว้อย่างน่าสนใจโดยชี้ว่า แรงงานมนุษย์คือฟันเฟืองที่สำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตก้าวไกล และการทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้นจะช่วยให้ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานดี ขึ้นตามไปด้วย แรงงานไทยจำนวนมากจึงได้ชื่อว่าได้ทำงานที่มีคุณค่า

 

แต่อย่างไรก็ตามในงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า ประเทศไทยยังมีแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวอีกจำนวนมากที่ยังอยู่ห่างไกลจาก งานที่มีคุณค่า ซึ่งปัญหาหลักที่ทำให้แรงงานเหล่านั้นเข้าไม่ถึงงานที่มีคุณค่าก็คือ ความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานและ พ.ร.บ.ประกันสังคม รวมไปถึงความไม่กล้าหาญในการยอมรับหลักการและสิทธิพื้นฐานในการทำงานที่เป็น มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศที่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณค่าของงานของแรง งานบางกลุ่มถูกประเมินต่ำเกินไป

บทสรุปในงานวิจัยเรื่อง "งานที่มีคุณค่า (Decent Work) หนึ่งในการศึกษาเรื่องสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ในส่วนของทุนมนุษย์ ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำขึ้นได้สะท้อนให้เห็นว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมา แรงงานมักถูกมองไม่ต่างจากวัตถุดิบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือเครื่องจักร ถ้าแรงงานคนหนึ่งออกไปก็สามารถหาคนใหม่มาทดแทนได้ แรงงานส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการดูแล

จนกระทั่งเมื่อภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่ทวีความ รุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมในระดับโลก ทำให้นายทุนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของทุนมนุษย์ที่ไม่ได้เป็นเพียงวัตถุ ดิบชิ้นหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในทุนมนุษย์ คือ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความสามารถที่เกิดจากการเรียนรู้และพัฒนาตนเองระหว่างการทำงาน
ทุนมนุษย์ สามารถทำให้ผลผลิตที่ออกมาแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างตรงนี้คือมิติในเชิงคุณภาพของแรงงาน ที่สร้างความได้เปรียบให้กับองค์กรระดับแนวหน้าในวันนี้

ใน World Development Report 1980 ของธนาคารโลกได้กล่าวไว้ว่า นอกจากการพัฒนาในด้านการศึกษาแล้ว การพัฒนาในด้านสาธารณสุข และมาตรฐานทางโภชนาการก็สามารถช่วยทำให้ประสิทธิภาพการผลิตของทุนมนุษย์ดี ขึ้น
"งาน" อย่างไรจึงเรียกว่าเป็นงานที่มีคุณค่า และคนทำงานในประเทศไทยส่วนใหญ่เข้าข่ายว่าได้ทำงานที่มีคุณค่าหรือไม่ ?
องค์การ แรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ได้ให้ความหมายของงานที่มีคุณค่าไว้ว่า เป็นงานที่เป็นที่รวมของสิ่งพึงประสงค์ทั้งหมดในชีวิตการทำงานของมนุษย์
สิ่ง ที่พึงประสงค์ในที่นี้มีความหมายรวมตั้งแต่โอกาสความก้าวหน้า รายได้ที่เหมาะสมกับงานที่ทำการได้เป็นส่วนหนึ่งของที่ทำงาน การมีสิทธิ มีเสียง การได้เป็นที่ยอมรับในที่ทำงาน

นอกเหนือจากนั้น งานที่ทำยังต้องเป็นงานที่ช่วยให้ชีวิตครอบครัวมีความมั่นคง ได้มีการพัฒนาศักยภาพของตนเอง และเป็นงานที่มีความเป็นธรรม และความเท่าเทียมกันไม่ว่าเป็นชายหรือหญิงและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
องค์การ แรงงานระหว่างประเทศได้กำหนดหลักการที่จะทำให้ประเทศต่างๆ บรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้คนทำงานได้ทำงานที่มีคุณค่าไว้ 4 ประการ นั่นคือ
1.หลักการและสิทธิพื้นฐานของแรงงาน และการยอมรับความตกลงร่วมมือในด้านมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย เสรีภาพในการสมาคมและการร่วมเจรจาต่อรอง การบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เลิกการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน และการขจัดการใช้แรงงานเด็ก
2.เพิ่มโอกาสในการจ้างงานและการเพิ่มรายได้
3.การสร้างภูมิคุ้มกัน
4.การส่งเสริมการเจรจาและไตรภาคี
"ดร.วรวรรณ" ได้ฉายภาพให้เห็นถึงข้อบกพร่องในตลาดแรงงานที่เป็นอุปสรรคต่อการได้ทำงานที่มีคุณค่าในหลายประเด็น
เรื่อง แรก การไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่าง ประเทศในปี 2462 และได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศไว้ทั้งหมด 14 ฉบับจากทั้งหมด 185 ฉบับ ซึ่งถือว่าสำคัญที่สุด แต่ยังมีปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิพื้นฐานในการทำงานอีก 3 ฉบับที่ไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ประกอบด้วย ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม

ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวกันและสิทธิในการร่วมเจรจา ต่อรอง และฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ การลิดรอนสิทธิของแรงงานและการเลือกปฏิบัติเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยไม่พยายาม แก้ไขเพื่อให้ได้มาตรฐานพื้นฐานของแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งการเลือกปฏิบัติถือเป็นอุปสรรคต่อแรงงานในการได้ทำงานที่มีคุณค่า

เรื่องที่สอง การไม่ส่งเสริมการรวมกลุ่ม การเจรจาและไตรภาคี ตรงนี้เป็นเรื่องต่อเนื่องจากการที่รัฐบาลไทยไม่ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่า ด้วยเสรีภาพในสมาคม และว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวกันและสิทธิในการร่วม เจรจาต่อรอง แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์แท้จริงของรัฐบาลว่าไม่ต้องการให้แรงงานเข้มแข็ง หรือรวมกลุ่มกันได้
เรื่องที่สาม การใช้แรงงานเด็ก ที่ผ่านมาแม้ว่าประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่กำหนดมิให้นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทำงาน แต่ก็ยังมีการจ้างแรงงานเด็กอยู่ทั่วประเทศ

เรื่อง ที่สี่ การเลือกปฏิบัติกับแรงงานต่างด้าว ถ้าสังเกตจะพบว่าแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้นมีอยู่เป็น จำนวนมาก ทุกคนทำงานหนักและถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งจากผลการสำรวจของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ในปี 2549 บอกเป็นนัยว่าคนไทยยอมรับว่าแรงงานต่างด้าวถูกเลือกปฏิบัติ นอกจากจะทำงานหนักกว่าคนไทยแล้วยังไม่ได้รับความคุ้มครองที่ดีเท่ากับคนไทย

เรื่องที่ห้า การบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่มีประสิทธิภาพ แม้ว่าเรื่องนี้จะมีกฎหมายบังคับใช้มานานกว่า 34 ปี แต่จากการเก็บข้อมูลก็พบว่าในปี 2550 ยังมีลูกจ้างภาคเอกชนอีกประมาณ 3 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของลูกจ้างเอกชนที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคเกษตร ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้าง พาณิชยกรรม และบริการอื่นๆ จะมีสัดส่วนของการมองข้ามคุณค่าของแรงงานพอๆ กัน

เรื่องที่หก ความไม่เป็นธรรมของผลตอบแทน นอกจากแรงงานไทยจำนวนหนึ่งจะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แล้ว การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละปียังไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ ทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงลดลง
นอกจากนั้นช่องว่างระหว่างราย ได้ของลูกจ้างในระดับการศึกษาต่างๆ ยังมีลักษณะที่กว้างมากขึ้น โดยผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายได้ค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าผู้จบมัธยมศึกษา ตอนต้นเพียงเล็กน้อย ขณะที่ผู้ที่จบ ปวส.หรืออนุปริญญาได้ค่าจ้างแทบจะไม่แตกต่างจากผู้จบ ปวช.เลย แต่หากผู้ที่จบ ปวส.เรียนต่อระดับปริญญาตรีอีก 2 ปี จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มเกือบ 2 เท่า
และนี่คือสาเหตุที่ทำให้แรงงานระดับ ปวช. และ ปวส.มีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ในปัจจุบัน


เรื่องที่เจ็ด การไม่มีเวลาว่างกับครอบครัว จากการเก็บข้อมูลพบว่า มีแรงงานไทยที่ไม่ใช้วิชาชีพส่วนใหญ่ทำงานเกินสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง เกษตรกรในภาคใต้และเหนือทำงานเกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งการมีชั่วโมงทำงานที่ยาวนานทำให้แรงงานมีเวลาว่างเวลาในการทำกิจกรรม ร่วมกับครอบครัวน้อยลง
สุดท้ายเรื่องที่แปด การขาดภูมิคุ้มกัน งานวิจัยชิ้นพบว่า แม้ปี 2549 ที่สำนักงานประกันสังคมจะขยายระบบคุ้มกันให้ครอบคลุมลูกจ้างในสถานประกอบการ ขนาดเล็กที่มีการจ้างแรงงานต่ำกว่า 10 คน แต่ยังพบว่า มีลูกจ้างอยู่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่ได้รับภูมิคุ้มกัน

view