ผู้ สื่อข่าว"ประชาชาติธุรกิจ"รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เวลา 9.27 น. ศาลปีฎาได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขแดง ที่ 11102/2551 กรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลแพ่ง กรุงเทพใต้ต่อศาลฎีกา กรณีการปรับขึ้นค่าผ่านทางในปี2541 ของทางด่วนขั้นที่1และ2 ที่ให้กทพ.ปฎิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดที่2 ที่ให้กทพ.จ่ายค่าชดเชยผลต่างค่าผ่านทางตามที่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือบีอีซีแอล คู่สัญญาสัมปทานยื่นข้อพิพาท เป็นเงินจำนวน 360.89 ล้านบาท ซึ่งเป็นการคำนวณส่วนต่างของค่าผ่านทางตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2541ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2543 ตามประกาศวันที่ 27 สิงหาคม 2541
โดยศาลฎีกาให้ยกคำร้องของบริษัทบีอีซีแอล โดยศาลฎีกาเห็นว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดแรกไปให้คณะอนุญาโต ตุลาการชุดที่ 2พิจารณานั้น ไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 23 ที่จะซ้ำซ้อนกับผลคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดแรกที่ชี้ขาดให้กทพ.ชนะไป แล้ว ย่อมส่งผลทำให้คณะอนุญาโตตุลาการไร้ประสิทธิผลไปโดยปริยาย เมื่อคู่กรณีไม่ยอมรับผลการผูกพันของคำชี้ขาด จะทำให้ทำซ้ำซากต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งไม่ใช่เจตนารมย์ที่แท้จริงของกฎหมายอนุญาโตตุลาการ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นอื่นๆอีก โดยศาลให้บริษัทจ่ายค่าใช้จ่ายให้กับทนายความเป็นเงิน 1 แสนบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับเพิ่มอัตราค่าผ่านทางในปี 2541ของทางด่วนขั้นที่1และ2 โดยบริษัทบีอีซีแอลเสนอโครงข่ายในเมืองปรับเพิ่ม 10 บาทสำหรับรถยนต์4 ล้อและ20บาทสำหรับรถยนต์6-10 ล้อและเกิน 10 ล้อ มีการออกประกาศกทรวงมหาดไทยวันที่ 27 สิงหาคม 2541ตามอัตราที่บริษัทเสนอ ต่อมามีการร้องเรียนจากผู้ใช้ทาง กทพ.จึงต้องออกประกาศค่าผ่านทางอีกฉบับวันที่ 23 ตุลาคม 2541 ทำให้ค่าผ่านทางปรับเพิ่ม 10 บาทสำหรับรถทุกประเภท แต่โครงข่ายนอกเขตเมืองไม่มีการปรับ บริษัทจึงฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเรียกค่าชดเชยผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทาง จริงที่นับตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2541 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันยี่นข้อพิพาท จำนวนเงิน 360,898,617 บาท
แต่กทพ.ปฎิเสธที่จะปฎิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จึงนำเรื่องฟ้องศาลแพ่งและเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาให้กทพ.จ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทยืนตามคำชี้ ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่งที่ศาลฎีกาจนมีคำตัดสินในวัน ที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ เป็นระยะเวลา 10 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กทพ.ประเมินวงเงินที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้บีอีซีแอลหากแพ้คดีจาก การประเมินผลต่างค่าผ่านทางในเบื้องต้นจากวันที่ 24 ตุลาคม 2541-สิงหาคม 2551 ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นวงเงินประมาณ 1,700 ล้านบาท เงินต้น 1,165 ล้านบาท ดอกเบี้ย 513 ล้านบาท
ส่วนข้อตกลงที่มีการเจรจาต่อรองหาข้อยุติข้อพิพาทการปรับค่าผ่านทางช่วง ปี 2541-2563 ก่อนที่ศาลจะตัดสิน ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา อยู่ระหว่างหารืออัยการสูงสุดและคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยให้สิทธิบริษัทในการได้รับส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาทางด่วนขั้นที่2สัดส่วน กทพ.40% บริษัท 60% ต่อไปอีก 8 ปี 10.8 เดือนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันจะเท่ากับเงินจำนวน 18,086 ล้านบาท ทางคณะกรรมการ(บอร์ด)มีมติให้หยุดขั้นตอนต่างๆเพราะศาลตัดสินแล้ว
ศาลสูงชี้ขาดกทพ.ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ทางด่วน
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศาลฎีกาพิพากษากลับ การทางพิเศษฯ ชนะคดี ไม่ต้องจ่ายค่าโง่กว่า 360ล้านบาทให้บริษัททางด่วนกรุงเทพฯ ตามอนุญาโตฯ ชุด"มีชัย"วินิจฉัยเมื่อปี 2544
ที่ศาลฎีกา สนามหลวง วันนี้(18 ก.พ.) ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีที่ บริษัท ทางด่วน กรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ในฐานะผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นคู่สัญญาโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการ กรณีมีการเรียกค่าชดเชยในการปรับอัตราค่าผ่านทางค่าทางด่วน
โดยศาลฎีกาองค์ คณะคดีปกครอง ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บริษัททางด่วนกรุงเทพฯ ผู้ร้อง ลงนามในสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 กับ กทพ.ผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2531 ต่อมาเมื่อเปิดใช้โครงการแล้ว กทพ. เสนอ รมว.มหาดไทยกำหนดค่าผ่านทางซึ่งวันที่ 27 ส.ค.2536 รมว.มหาดไทยกำหนดค่าผ่านทางเป็น 2 บัญชี
บัญชีหนึ่ง กำหนดค่าผ่านทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ - บางโคล่ (เขตในเมือง) รถไม่เกิน 4 ล้อ อัตรา 30 บาท รถเกิน 4 ล้อแต่ไม่เกิน 10 ล้อ อัตรา 50 บาท รถเกิน 10ล้อ อัตรา 70 บาท บัญชีสอง กำหนดค่าผ่านทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ (นอกเขตเมือง) รถไม่เกิน 4 ล้ออัตรา 15 บาท รถเกิน 4 ล้อแต่ไม่เกิน 10 ล้ออัตรา 20 บาท รถเกิน 10 ล้ออัตรา 30 บาท ซึ่งในกรณีที่ใช้ทางพิเศษทั้งสองบัญชีค่าผ่านทางจะลดลง 5 บาท โดยประกาศนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 28 ส.ค. 2536 และเนื่องจากตามสัญญากำหนดให้มีการปรับอัตราค่าผ่านทางทุก 5 ปีตามดัชนีสินค้าผู้บริโภคและอัตราเงินเฟ้อ โดยปัดเศษเป็นจำนวนเงิน 5 บาท แต่ต้องไม่เกิน 10 บาทภายในระยะเวลา 15 ปีแรกของการให้สัมปทาน กทพ.เสนอ รมว.มหาดไทยปรับอัตราเพิ่มขึ้นสำหรับในเขตเมือง รถไม่เกิน 4 ล้อเป็น 40 บาท รถเกิน 4 ล้อแต่ไม่เกิน 10 ล้อเป็น 70 บาท รถเกิน 10 ล้อเป็น 90 บาท ส่วนเขตนอกเมืองรถไม่เกิน 4 ล้อ เป็น 20 บาท รถเกิน 4 ล้อแต่ไม่เกิน 10 ล้อเป็น 30 บาท รถเกิน 10 ล้อเป็น 40 บาท และรถที่ใช้ทางพิเศษทั้งสองโครงข่ายจะมีส่วนลด 5 บาทต่อเที่ยว มีผลใช้ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2541
ต่อมา ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคมสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือถึง รมว.มหาดไทย ให้ทบทวนการปรับค่าผ่านทางดังกล่าว รมว.มหาดไทยจึงให้ กทพ.พิจารณา แล้วต่อมา รมว.มหาดไทยออกประกาศยกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทยขึ้นค่าผ่านทาง และกำหนดค่าผ่านทางใหม่เป็นในเขตเมือง รถไม่เกิน 4 ล้ออัตรา 40 บาท รถเกิน 4 ล้อแต่ไม่เกิน 10 ล้ออัตรา 60 บาท รถเกิน 10 ล้ออัตรา 80 บาท ส่วนนอกเขตเมือง รถไม่เกิน 4 ล้ออัตรา 15 บาท รถเกิน 4 ล้อแต่ไม่เกิน 10 ล้ออัตรา 20 บาท รถเกิน 10 ล้ออัตรา 30 บาท และรถที่ใช้ทางพิเศษทั้งสองโครงข่ายจะมีส่วนลด 5 บาท ทำให้บ.ทางด่วนฯ เสนอเรื่อง รมว.มหาดไทยยกเลิกการเก็บค่าผ่านทางตามสัญญาเดิม ต่อคณะผู้พิจารณาตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 เพื่อเรียกค่าชดเชยรายได้ แต่ไม่สามารถตกลงทำความเห็นเป็นเอกฉันท์ได้ จึงเสนอตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาดประกาศกระทรวงมหาดไทยยกเลิกเก็บค่าผ่านทาง ตามสัญญานั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้ กทพ.ระบุว่า การปรับอัตราค่าผ่านทางนั้น สอดคล้องกับสัญญาแล้วขอให้ บ.ทางด่วนฯ คืนเงินค่าผ่านทางที่รับจากผู้ใช้ทางด่วนเกินไปตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2541 - 23 ต.ค. 2541 เป็นเงิน 29,240,041 บาท พร้อมดอกเบี้ย 11.75% ต่อปีนับจาก 24 ต.ค. 2541 ขณะที่ บ.ทางด่วนฯ ร้องแย้งว่า การเรียกค่าผ่านทางใหม่ ไม่สอดคล้องกับสัญญา ทำให้บริษัทเสียหาย จึงให้ กทพ.ชำระค่าเสียหายที่คำนวณจากอัตราค่าผ่านทางของรถยนต์แต่ละประเภทเป็นราย วันจากวันที่ 24 ต.ค. 2541 -15 ก.ค. 2543 เป็นเงิน 360,898,617 บาทพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา รวมทั้งค่าเสียหายที่จะเกิดขึ้นเป็นรายวันตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. 2543 เป็นต้นไปจนกว่า กทพ.จะออกประกาศกระทรวงมหาดไทยกลับไปใช้อัตราค่าผ่านทางให้สอดคล้องกับสัญญา
คณะอนุญาโตตุลาการชุดแรก ซึ่งมีนายโสภณ รัตนากร อดีตประธานศาลฎีกา เป็นประธานทำคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2542 เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยที่ยกเลิกการขึ้นค่าผ่านทางและเปลี่ยนแปลงลดอัตราค่า ผ่านทางใหม่ชอบแล้ว เพราะสอดคล้องกับสัญญาของการขึ้นค่าผ่านทาง แต่ บ.ทางด่วนฯ กลับขอเสนอตั้งคณะอนุญาโตตุลาการชุดที่สองขึ้นพิจารณาใหม่ โดยมี นายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานวุฒิสภาเป็นประธาน ปรากฎว่าคณะอนุญาโตตุลาการชุดนี้ ซึ่งชี้ขาดเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2544 เป็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยที่ยกเลิกการขึ้นค่าผ่านทางและเปลี่ยนแปลงลดอัตราค่า ผ่านทางใหม่นั้นไม่สอดคล้องกับสัญญา บ.ทางด่วนฯ จึงมีสิทธิได้รับชดเชยค่าเสียหายตามที่เรียกร้อง และไม่ต้องคืนเงินค่าผ่านทางจำนวน 29,240,041 บาท ให้กับ กทพ.เพราะเป็นส่วนแบ่งโดยชอบตามสัญญา
ศาลฎีกาพิเคราะห์ แล้วเห็นว่า การที่ บ.ทางด่วนฯ นำข้อพิพาทไปร้องแย้งต่อคณะอนุญาโตตุลาการชุดสองที่มีนายมีชัย เป็นประธานจนมีคำชี้ขาดซ้ำ เป็นการนำข้อพิพาทที่ได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดแล้วโดยอนุญาโตตุลาการชุดแรกที่ มีนายโสภณ เป็นประธานซึ่งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดแรกมีผลผูกพันต่อคู่กรณีอยู่ การร้องตั้งอนุญาโตตุลาการซ้ำจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการทำลายหลักการสำคัญของ พรบ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 23 วรรคหนึ่งที่บัญญัติว่า ให้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดเป็นที่สุด และผูกพันคู่กรณีโดยสิ้นเชิง และย่อมส่งผลทำให้กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยระบบอนุญาโตตุลาการไร้ ประสิทธิผลไปโดยปริยาย เพราะหากคู่กรณีไม่ยอมรับผลต่อการเป็นที่สุดของอนุญาโตตุลาการชุดแรกแล้ว โดยใช้สิทธิร้องซ้ำอีก ก็จะทำให้มีการดำเนินการซ้ำซากต่อไปไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งไม่ใช่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ
ดังนั้น การที่อนุญาโตตุลาการชุดสองได้รับคำเสนอข้อพิพาทของ บ.ทางด่วนฯ ไว้พิจารณาแล้วมีคำชี้ขาดใหม่ จึงเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เมื่อปรากฏว่า บ.ทางด่วนฯ ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ให้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ชุดสองเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2545 อันเป็นเวลาภายหลังที่ พรบ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มีผลใช้บังคับแล้ว กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่ให้อำนาจศาลจะทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำ ชี้ขาดนั้นได้ และศาลฎีกาเห็น ว่า ปัญหาเรื่องการนำข้อพิพาทที่อนุญาโตตุลาการชุดแรกไปร้องซ้ำต่ออนุญาโต ตุลาการชุดใหม่พิจารณา ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังเช่นที่ว่าแล้วย่อมถือว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดสอง ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่ศาลมีอำนาจและสมควรจะทำคำสั่งปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโต ตุลาการ
ดังนั้น ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาให้ กทพ.ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้แก่ บ.ทางด่วนฯ 360,898,617 บาท โดย บ.ทางด่วนฯ ไม่ต้องจ่ายเงินส่วนเกิน 29,240,041 บาทให้กับ กทพ.นั้น ศาลฎีกาไม่ เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของ กทพ.ฟังขึ้น และเมื่อผลการวินิจฉัยคดีเป็นดังนี้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของ กทพ.ในประเด็นอื่นอีก พิพากษากลับให้ยกคำร้องของ บ.ทางด่วนฯ และให้ บ.ทางด่วนฯ ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลแทน กทพ. พร้อมค่าทนายความ 100,000 บาท