ธรรมาภิบาลของสถาบันการเงิน
นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม
เรามักได้ยินการเปรียบเทียบสถาบันการเงินว่าเป็นเหมือนฟันเฟืองชิ้นสำคัญ หรือเครื่องจักรที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้เดินไปข้างหน้า แต่การเปรียบเทียบเป็นฟันเฟืองหรือเป็นเครื่องจักร ผมว่ามันฟังดูแห้งแล้ง ขาดชีวิตชีวาไปนิดนึง ดังนั้น ในวันนี้ผมจึงขออนุญาตให้ผู้อ่านคิดตามผมสักนิดว่า สถาบันการเงินเปรียบเหมือนยานพาหนะที่จะพาพวกเรา (ประชาชนในระบบเศรษฐกิจ) เคลื่อนที่ไปจุดหมายปลายทางที่ต้องการ และแน่นอนเมื่อเป็นยานพาหนะ (เช่น รถยนต์ หรือเครื่องบิน) ก็ต้องมีคนขับขี่ และเนื่องจากตอนนี้ผมกำลังนั่งอยู่บนเครื่องบินเดินทางจากจังหวัดกระบี่กลับไปกรุงเทพฯ ผมจึงขอเปรียบเทียบสถาบันการเงินเป็นเครื่องบิน คณะผู้บริหารก็คือกัปตัน ส่วนคณะกรรมการคือ ผู้กำหนดทิศทาง หรือ navigator ที่จะบอกทิศทางให้กัปตันขับเครื่องบินกลับสู่กรุงเทพฯ โดยมีผู้โดยสารอย่างผมอาศัยมาด้วย
หากมีการกำกับดูแลระบบขนส่งทางอากาศเพื่อสามารถให้บริการรองรับความต้องการของผู้โดยสารอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ การดูแลความมั่นคงแข็งแรงของเครื่องบินให้มีอุปกรณ์เกี่ยวกับความปลอดภัย (safety) และมีถังน้ำมันขนาดใหญ่เพียงพอ ตลอดจนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารแล้ว ก็ต้องมีกติกาสัญญาณจราจรทางอากาศ และการตรวจสภาพความแข็งแรงและความพร้อมของเครื่องบินอยู่อย่างสม่ำเสมอ และนอกเหนือจากนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ากัปตันและ navigator ก็สำคัญอย่างมาก ดังนั้นอีกด้านหนึ่งของการกำกับดูแลที่ต้องทำควบคู่กันก็คือ วางกรอบเพื่อให้แน่ใจว่ากัปตันและ navigator นั้น มีความ "เหมาะสมดี" และทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบอีกด้วย จึงเป็นที่มาของการวางกรอบธรรมาภิบาลควบคู่กับการดูแลด้านความเสี่ยงของสถาบันการเงิน
กรอบธรรมาภิบาลภายใต้กฎหมายขณะนี้ ประกอบด้วย เสาหลัก 3 ด้าน คือ
ประการแรก การมีกระบวนการพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงิน กล่าวคือ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินปัจจุบันกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องมีหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการ และผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงิน ซึ่งหลักการและเหตุผลก็คล้ายๆ กับกัปตันและ navigator ของเครื่องบินที่ผมคิดว่าการจะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนั้น ๆ คงต้องผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามีความสามารถและความเหมาะสมหรือไม่ เพราะต้องรับผิดชอบชีวิตและความปลอดภัยของผู้โดยสาร ในเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน กฎหมายและผู้กำกับดูแลให้ความสำคัญอย่างมาก จึงได้กำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารสถาบันการเงิน ตลอดจนกำหนดขบวนการและวิธีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานและมีความโปร่งใสมากที่สุด
ประการที่สองคือ การกำหนดอำนาจหน้าที่ที่สำคัญของกรรมการ เพื่อเน้นให้เห็นถึงความรับผิดชอบด้านต่าง ๆ ที่สำคัญของกรรมการสถาบันการเงิน ในเรื่องนี้ถ้าจะเปรียบเทียบ ก็ขอเรียนว่า หน้าที่ของกรรมการ คือ การเป็น navigator ไม่ใช่กัปตันขับเครื่องบิน และที่สำคัญคือการมีหน้าที่กำหนดทิศทางของเครื่องบิน และจัดให้มีระบบการติดตามตรวจสอบการขับเครื่องบินของกัปตันไม่ให้หลงทิศ และสุ่มเสี่ยงเกินกว่าที่มอบหมายให้
ประการที่สามคือ การวางโครงสร้างและระบบการทำงาน เพื่อให้เอื้อต่อการถ่วงดุลและกระจายอำนาจที่เหมาะสม ในสถาบันการเงินจะต้องมีคณะกรรมการชุดใหญ่ โดยประกอบด้วยกรรมการอิสระจำนวนที่เพียงพอ และต้องมีคณะกรรมการชุดย่อยต่าง ๆ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการตรวจสอบ นอกจากนั้นก็ยังควรมีคณะกรรมการที่ดูแลเกี่ยวกับการสรรหาบุคลากรและการกำหนดค่าตอบแทนของบุคลากรด้วย
โดยสรุปแล้ว การมีเครื่องบิน (สถาบันการเงิน) ที่สภาพดีพร้อม สามารถรองรับความต้องการของผู้โดยสาร การกำหนดกรอบด้านธรรมาภิบาลเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้โดยมีความสำคัญควบคู่กับการกำกับดูแลด้านความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร (ผู้ฝากเงิน/ลูกค้า) ที่กล่าวข้างต้น ซึ่งในเรื่องนี้แน่นอนว่ามีผลกระทบต่อตัวกรรมการและผู้บริหารระดับสูงโดยตรง แต่ผมเชื่อว่าท่านเหล่านั้นคงเข้าใจและให้ความร่วมมือด้วยดี ดังเช่นที่เป็นมาโดยตลอด
ช่วงนี้ใกล้เทศกาลที่มีวันหยุดเยอะ ก็ขอเชิญชวนให้ผู้อ่านทุกท่านออกไปพักผ่อนท่องเที่ยวเพื่อมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย แต่อย่าลืมนะครับ ถ้าจะขับรถก็ขอให้ยึดหลัก "ธรรมาภิบาล" ของผู้ขับขี่รถที่ดีด้วยนะครับ
ขอให้มีความสุขและสนุกสนานในเทศกาลสงกรานต์ครับ--จบ
*บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
จากเวปไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย