จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
การเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจของโตโยต้า ค่ายรถยนต์ชั้นนำจากญี่ปุ่นที่มีเครือข่ายธุรกิจสำคัญ ๆ ในตลาดโลก
หนึ่งในนั้น คือ ประเทศไทย ไม่ใช่เกิดขึ้นในปี 2552 เป็นครั้งแรก
วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 เป็นหนึ่งบทพิสูจน์ “วิถีของโตโยต้า” หรือ Toyota Way แนวทางที่ มิทซูฮิโระ โซโนดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เชื่อว่า ทำให้ผ่านช่วงเวลาวิกฤติมาได้
จากประสบการณ์ในปี 2540 โตโยต้า สามารถคงทรัพยากรบุคคลไว้ได้ในระดับปกติโดยไม่ต้องลดเงินเดือน หรือ ปลดพนักงาน หัวใจของแผนรับมือครั้งนั้นอยู่ที่นโยบายลดค่าใช้จ่าย และความร่วมแรงร่วมใจจากพนักงาน
“ความเชื่อมั่นในกันและกันจะทำให้เราฝ่าวิกฤติในปี 2552 ไปได้ เช่นเดียวกับการเผชิญหน้าเศรษฐกิจในปี 2540”
วิกฤติเศรษฐกิจปี 2552 เป็นความท้าทายใหม่ๆ ที่ โตโยต้า เผชิญ
ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกกลายเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ ขณะที่อีกด้านของผลกระทบเกิดจากปัจจัยภายใน การเมือง และความมั่นคงของรัฐบาล ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงยอดขายของโตโยต้า ที่มีสัดส่วนของตลาดส่งออกถึง 50% ของยอดการผลิต ในส่วนตลาดในประเทศ โตโยต้า ก็มียอดขายปรับลดลงเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดรถปิ๊กอัพ
การเผชิญหน้ากับ วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ โตโยต้า มาพร้อมทั้ง ยุทธศาสตร์ “รุก-รับ” ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
แผนระยะสั้น – เน้นการลดค่าใช้จ่าย
แผนระยะยาว- สร้างโอกาสทางธุรกิจ
แผนรบ โตโยต้า ขับเคลื่อนด้วยคณะกรรมการชุดใหม่ที่ตั้งขึ้น ในชื่อ “Challenge the Change Committee (CTC)” เป็นเสมือนมันสมองที่พัฒนามาตรการรับมือทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และเตรียมพร้อมสู่การเติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต
ในเชิงรุก โตโยต้า ชงแนวคิด “Leaner & Stronger Organization” ขึ้นมาบริหารจัดการส่วนผลผลิต และการแข่งขัน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
“เราจะไม่เน้นการทำธุรกิจในภาวะวิกฤติด้วยการลดค่าใช้จ่ายอย่างเช่นที่ เคยทำมา แต่จะทำกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาสในการผลิต และรักษาคู่ค้า”
ในด้านการบริหารยุทธศาสตร์เชิงรับ โตโยต้า ยังคงดำเนินการตามแผนเน้นสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า และรักษายอดขาย โดยแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด อาทิ การผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น Camry Hybrid และ Toyota CNG
การสร้างกิจกรรมการตลาดที่เข้มแข็งนำไปสู่การต่อยอดถึงช่องทางสร้างโอกาสทางธุรกิจ
พร้อมกับรักษาจุดยืนในการสร้างกิจกรรมเพื่อสังคม และกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมในฐานะขององค์กรที่ดีซึ่งนำไปสู่พัฒนาการของ สังคมที่พอเพียง
ภาพชัดของแผน “รุก-รับ” โตโยต้า ประเทศไทย ก็คือ ยกเลิกสิ่งที่ไม่ได้เพิ่มคุณค่า หรืองานซ้ำซ้อนลง เพื่อที่จะหากำลังคนส่วนเกิน และเพิ่มผลผลิต
เมื่อหนึ่งในวิถีของโตโยต้าว่าด้วยเรื่องของ “คน” การให้ความเคารพต่อบุคคล การจ้างงานที่มั่นคง และความไว้ใจซึ่งกันและกัน
ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2552 โตโยต้า เน้นที่การสร้างทัศนคติเชิงบวก การสร้างขวัญกำลังใจ กับ พนักงาน เครือข่ายผู้แทนจำหน่าย และซัพพลายเออร์
เพราะเชื่อว่า การสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจระหว่างกันจะนำมาซึ่งความสามัคคี และความสามัคคีนี้จะทำให้ โตโยต้า เผชิญกับภาวะที่ท้าทาย
“เราพยายามที่จะคงทรัพยากรบุคคลเอาไว้ โดยใช้มาตรการลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการเตรียมแต่ละหน่วยงานให้มีความพร้อมต่อสภาวะเศรษฐกิจที่จะกระเตื้อง ขึ้น”
ทั้งนี้ โตโยต้า จะมียอดขายรถยนต์รวมในไทย ปี 2552 ทั้งสิ้น 221,000 คัน ลดลง 15.7% คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 42.5% แบ่งออกเป็นรถยนต์นั่ง 91,000 คัน และรถปิ๊กอัพ ขนาด 1 ตัน 117,800 คัน โดยจากกลยุทธ์ที่ดำเนินการจะรักษาความเป็นผู้นำในตลาดทั้งสองประเภท
“ความร่วมมือ ทั้งภายใน และระหว่างบริษัท มุ่งที่การเติบโตที่แข็งแรง และ มั่นคง ของโตโยต้า ในไทย และจากความร่วมใจของพนักงานทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำให้เราผ่านวิกฤติ ปี 2540 และรวมถึงในครั้งนี้”