จาก ประชาชาติธุรกิจ
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่อาคารศศปฐศาลา สถาบันบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเสวนา “ทิศทางและการวัดความก้าวหน้าของสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งงยืน” โดยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถานำถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนว่า ขณะนี้ประเทศกำลังประสบวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อประเทศไทย รวมถึงวิกฤติทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความแตกแยก จึงเป็นสิ่งท้าทายของสังคมไทยในการทำให้สังคมกลับสู่ความร่มเย็น ซึ่งนายกฯได้มอบหมายให้สสส.เป็นตัวประสานเชื่อมโยงกับทุกฝ่ายในการจัดทำตัว ชี้วัดทางสังคมที่นอกเหนือจากการวัดผลทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เพราะในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่กำลังจะประกาศใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า ได้กำหนดชัดถึงการนำเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแกนหลัก โดยวัดทั้งประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่ครอบคลุมถึงมิติการศึกษา สุขภาพ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า กระแสการวัดความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH) ที่ตื่นตัวมากในช่วงปี 2549 ที่เจ้าชายจิ๊กมี่ แห่งภูฐาน เดินทางมาประเทศไทย ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นการสร้างความสุขและความพึงพอใจทางสังคม แต่หลายคนมองว่า ภูฐานอาจมีความแตกต่างในสังคมไทยที่มีลักษณะความเป็นเมืองมากขึ้น ขณะที่ UNDP ได้มีการวัดผลเรื่องดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์พบว่า ความสุขของคนในเมืองน้อยกว่าสังคมชนบทที่เป็นเกษตรกรรม แสดงว่าการพัฒนาที่มุ่งสร้าความเจริญด้านเศรษฐกิจ ไม่น่าจะเป็นเป้าหมายสุดท้ายของความสุข นั่นคือสิ่งที่นายกฯและคนในสังคมเห็นว่าเป็นการแปรวิกฤติเป็นโอกาส จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ไทยเข้มแข็ง เพื่อใช้ในปี 2553-2555 ไว้ 3 ด้านคือ 1. การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในระยะสั้น และการวางรากฐานของระบบการศึกษา 2. การวางโครงสร้างพื้นฐานระบบสุขภาพให้สังคมไทย และ 3. การวางระบบโครงสร้างพื้นฐานในสังคม โดยไม่ก่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งยุทธศาสตร์นี้จะเป็นการเน้นการพัฒนาทางสังคมให้ไปสู่ความยั่งยืน โดยคงไม่จำเป็นต้องรอแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 11 ในอีก 2 ปี
“การพัฒนาสังคมที่มีความสุขจะต้องเกิดความสมดุล โดยหวังให้ OECD และกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะมีการรวมกลุ่มกันเพื่อขับเคลื่อนในเรื่องต่างๆ ของภูมิภาค รวมถึงภาคประชาชน และภาคธุรกิจ จะร่วมกันยกระดับประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งในเดือนสิงหาคมนี้ จะเชิญดร.โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล จะมาร่วมทำงานกับเครือข่ายของประเทศไทย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนตัวชี้วัดทางสังคมไทยในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะเป็นเรื่องท้าทายมากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบัน” นายอภิรักษ์ กล่าว
ดร.จอห์น ฮอล หัวหน้าโครงการการวัดความก้าวหน้าของสังคม จากองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD) กล่าวว่า การวัดผลตัวชี้วัดทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่นอกเหนือจากการวัดผลทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ขณะนี้เริ่มเกิดการตื่นตัวและเชื่อมโยงของแต่ละประเทศมากขึ้น สิ่งสำคัญในการวัดผลมีอยู่ 3 เรื่อง คือ จะวัดอะไร วัดอย่างไร และจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร ซึ่งการจะวัดความก้าวหน้าทางสังคมนั้น คนในสังคมไทยเองจะต้องเป็นผู้นิยามว่าจะวัดอะไรบ้าง โดยมองว่าอยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงในทิศทางใด สิ่งที่น่าสนใจคือ สังคมไทยจะสร้างความเท่าเทียมในการกระจายรายได้อย่างไร คนไทยต้องเป็นคนคิดในการกระจายความก้าวหน้า เช่น ความสุข และความยากจน เพราะผู้ที่จะได้ประโยชน์นการวัดความก้าวหน้าคือ ประชาชนจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะมีข้อมูลจากการวัดผลมาร่วมตัดสินใจ และฝ่ายนโยบายจะทำให้ฝ่ายนโยบายสามารถมองเห็นในภาพรวมและผนวชให้ทุกฝ่ายมา ร่วมกัน
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า จากการสำรวจความสุขมวลรวมของคนไทยครั้งล่าสุดพบว่า แนวโน้มความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศลดลงอย่างมาก จาก 7.15 ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน เหลือเพียง 5.92 ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยคนไทยมีความสุขน้อยที่สุดในเรื่องบรรยากาศทางการเมือง (2.87) หลักธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการของรัฐบาล (3.61) สภาวะเศรษฐกิจระดับประเทศ (4.06) สภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือน (5.19) และความเป็นธรรมทางสังคม (4.26) ขณะที่ร้อยละ 88 เห็นว่าความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นปัญหาที่ต้องเร่ง แก้ไข อย่างไรก็ตามความสุขของประชาชนยังคงมีมากในเรื่อง ความจงรักภักดี (9.24) ครอบครัว (7.67) สุขภาพกาย (7.35) และสุขภาพใจ (7.26) ทั้งนี้ความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมากกว่าการ วัดผลในเรื่องปากท้องเพียงอย่างเดียว
นายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผู้จัดการโครงการนำรองการพัฒนาดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าของประเทศ สสส. กล่าวว่า การวัดผลที่เน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวได้ส่งผลกระทบมาแล้วใน ประเทศอังกฤษ ที่พยายามใช้เวลาถึง 30ปี ทำให้จีดีพีโตถึง 300 % ในทางกลับกันตัวชี้วัดทางสังคมกลับโตน้อยกว่า 10% ซึ่งการวัดผลความก้าวหน้าทางสังคม จะก่อให้เกิดนโยบายสาธารณะที่ดี และการตัดสินใจที่อิงกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ไม่ใช่กระแสหรือความหวือหวาชั่วคราว ดัชนีวัดความก้าวหน้าทางสังคมไม่ใช่เป้าหมายของการพัฒนา แต่เป็นแค่เครื่องมือที่ทำให้สังคมดีขึ้น ซึ่งการพัฒนาตัวชี้วัดความก้าวหน้าทางสังคมนั้นในประเทศไทยมีตัวชี้วัด มากกว่า 100 ตัว ดังนั้นตัวชี้วัดทางสังคมไทยไม่จำเป็นต้องทำขึ้นมาใหม่ แต่ต้องจัดระบบให้ดีขึ้น โดยวางบทของแต่ละฝ่ายเพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน