สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมืองเก่าล้านนา หริภุญไชย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



หลบแสงสีของเมืองเชียงใหม่ มาท่องเมืองเก่า สัมผัสชุมชนเล็กๆ ที่มีผังเมืองเป็นรูปหอยสังข์ ชิมลำไยหวาน เที่ยววัด ไหว้พระธาตุหริภุญไชย

หาก ชอบท่องเที่ยวเมืองเก่า อย่างลำปางและน่าน บรรยากาศเงียบๆ เต็มไปด้วยวัดวาอารามสไตล์ล้านนา และหมู่บ้านดั้งเดิม ที่ปรุงแต่งไม่มากเหมือนเชียงใหม่ ลำพูนเป็นอีกทางเลือกของการเดินทาง

ทำไมถึงเปรียบเปรยเมืองลำพูนกับน่านและลำปาง เรื่องนี้เพิ่งได้รับความรู้ในหลายเรื่องจากอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ซึ่งมาตั้งหลักแหล่งในเมืองลำพูนว่า เมืองแห่งนี้วางผังเมืองแบบโบราณเป็นรูปหอยสังข์ ไม่ต่างจากทั้งสองเมือง และในประเทศไทยมีผังเมืองโบราณเหลือเพียงสามแห่งเท่านั้น

เมืองเก่าที่เรียกว่า 'หริภุญไชย' แห่งนี้ มีตำนานและประวัติศาสตร์ชวนให้ท่องเที่ยวไม่แพ้เชียงใหม่

เมื่อนั่งรถผ่านถนนต้นยางเข้าตัวเมืองลำพูน แลเห็นต้นไม้ใหญ่ทำให้รู้สึกรื่นรมย์ และอยากให้ข้างถนนในเมืองไทยมีต้นไม้แบบนี้เยอะๆ ต้นยางอายุกว่า 117 ปี ปลูกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 (ปีพ.ศ. 2435) ต้นยางเหล่านี้ปลูกพร้อมการตัดถนน

ก่อนจะเล่าถึงการท่องเที่ยว ฉันมีเกร็ดเล็กๆ อยากเล่าสักนิด เคยมีคนสำรวจพบว่า เส้นทางนี้มีต้นยางประมาณ 1,200 ต้น มีทั้งต้นไม้เก่าและต้นใหม่ที่ปลูกทดแทน ต้นยางเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งของเมืองลำพูน ใครเดินทางมาเที่ยวลำพูน มักจะต้องพูดถึงความร่มรื่นของต้นยาง

เมืองพระนางจามเทวี

คราวนี้ฉันเดินทางกับนกแอร์ "ลงเชียงใหม่ ไปนอกเมือง" ใช้เวลาเข้าลำพูนไม่ถึง 30 นาที ถึงตัวเมืองแลเห็นสายน้ำเนิบๆ สองสายคือ แม่น้ำกวง ไหลจากเชียงใหม่เข้าลำพูน และแม่น้ำทา ไหลจากเชียงใหม่เข้าลำพูนออกเชียงใหม่

เมืองเล็กๆ แห่งนี้ชวนให้ค้นหาอารยธรรมดั้งเดิม ซึ่งเจ้าเมืองพยายามผลักดันให้เป็นมรดกโลก แต่ด้วยเงื่อนไขบางอย่าง จึงยังไม่ประสบความสำเร็จ

ชื่อดั้งเดิมของลำพูนถูกเรียกขานว่า หริภุญไชย ซึ่งเมืองนี้เป็นเมืองที่มีพิพิธภัณฑ์ ทั้งในวัดและชุมชนมากที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ ที่น่าตื่นเต้นคือ ศิลาจารึกมีอยู่ 30 หลัก ในจำนวนนั้น 6 หลักเป็นอักษรโบราณ

สำหรับฉันแล้ว ลำพูนเป็น เมืองโบราณที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะวิถีชีวิตดั้งเดิม อาจารย์เผ่าทองเล่าว่า ช่วงที่ในหลวงเสร็จโดยรถยนต์พระที่นั่ง เพื่อออกเยี่ยมราษฏรในจังหวัดลำพูน ระหว่างทางรถพระที่นั่งเสีย ชาวบ้านได้ทราบเรื่อง จึงนำข้าวเหนียวใส่กระติ๊บและข้าวห่อใบตองมาถวายในหลวงเพราะเกรงว่า พระองค์ท่านจะทรงหิว

นี่คือความน่ารักของชุมชนเล็กๆ

เมืองโบราณแห่งนี้มีการวางผังเมืองเป็นรูปหอยสังข์ ในประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า พระนางจามเทวีเป็นผู้สร้างเมืองหริภุญไชย เรื่องนี้ถูกสันนิษฐานว่า พระนางอาจไม่ใช่คนเหนือ แต่เป็นคนภาคกลางเชื้อสายเขมร ย้ายจากลพบุรีมาสร้างเมืองใหม่ทางเหนือ

ในช่วงที่พระนางจามเทวีและชาวบ้านเดินทางอพยพมาที่นี่ มีข้อมูลสันนิษฐานว่าเป็นช่วงเกิดโรคระบาด พระนางจึงเดินทางทวนกระแสน้ำ จนมาถึงพื้นที่บริเวณลำพูนปัจจุบัน มีชัยภูมิเป็นเกาะเหมือนอยุธยา จึงตั้งบ้านเรือนเมื่อ 1,300 ปีที่แล้ว โดยใช้ชื่อเมืองว่า หริภุญไชย มีการผังเมืองตามคติความเชื่อแบบฮินดู และนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานอีกว่า บริเวณวัดดั้งเดิมเคยเป็นพระราชวัง
 
กินลำไย เที่ยววัด

ค่อยๆ ซึมซับว่า ลำพูนมีดีอย่างไร หากอยากกินลำไยอร่อย แต่ร้อนในเหมือนเดิม ต้องกินที่ลำพูน เนื่องจากคนไทยองนำพันธุ์มาจากสิบสองปันนา ในช่วงอพยพมาตั้งบ้านเรือน จึงเป็นข้อเด่นอย่างหนึ่งของเมืองลำพูน แม้จะไม่โด่งดังเรื่องการท่องเที่ยว แต่ชาวลำพูนมี รายได้ต่อหัวดีกว่าคนเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก มีการปลูกยาสูบ หอม กระเทียมเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

หลายคนอาจมองว่า ลำพูนเป็นแค่ทางผ่าน เพราะไม่ได้หาเวลาเที่ยวชมลำพูนอย่าง จริงจัง ทั้งๆ ที่มีแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถาน ชุมชนดั้งเดิม และแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติจำนวนไม่น้อย ที่นี่ไม่มีโรงแรมหรูๆ แต่มีที่พักน่ารักๆ ให้รู้สึกอุ่นใจอยู่บ้าง และไม่มีร้านกาแฟน่ารักๆ แบบคนเมือง แต่มีเสน่ห์ของชุมชนเล็กๆ

หากย้อนไปว่า ทำไมเมืองลำพูนจึง มีศักยภาพจะเป็นแหล่งมรดกโลก เมืองบุญหลวงที่นี่มีวัดวาอารามทั้งตามคติพุทธและฮินดูจำนวนมาก และเป็นที่เล่าลือนักว่า เป็นเมืองที่มีพระพิมพ์ของพม่ายุคโบราณในศตวรรษที่ 12 โดยเฉพาะคนที่ชอบเรื่องราวของพระเครื่องต้องมาที่ลำพูน อย่างน้อยๆ แวะมาไหว้พระรอดวัดมหาวัน

หากอยากสัมผัสวิถีชีวิตคนไทยองที่อพยพมาตั้งรกฐานในลำพูน ต้องแวะมาที่วัดต้นแก้ว จะมีคนเฒ่าคนแก่ไทยองมานั่งทอผ้า เป็นอีกบรรยากาศที่น่ารัก

ส่วนวัดที่ไม่ควรพลาดชมคือ วัดพระธาตุหริภุญไชย เป็นวัดกลางเมือง ใกล้แม่น้ำกวงสร้างเมื่อปี 1990 สมัยพระเจ้าติโลกราช

พระเจดีย์สีทองเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งบรรจุไว้ใต้ดินและสร้างเจดีย์ทับตามแบบโบราณ แม้เจดีย์ที่สร้างมาพังลงจากด้านบน พระบรมสารีริกธาตุก็ยังอยู่

สถานที่แห่งนี้เป็นพระธาตุเจดีย์ประจำปีระกาหรือปีไก่ ซึ่งมีความเชื่อว่า หากใครเกิดปีนี้ได้บูชาพระธาตุองค์นี้จะเป็นสิริมงคลอย่างมาก

เวลากราบไหว้พระธาตุ อ.เผ่าทองบอกว่า ให้มองไปที่องค์ระฆังหรือส่วนกลางพระเจดีย์ที่หุ้มด้วยแผ่นโลหะลงรักปิดทอง หรือหุ้มด้วยแผ่นทองจังโก๋ ที่แผ่นทองหุ้มพระเจดีย์ คนโบราณสลักดุนเป็นภาพพระพุทธรูป 8 องค์ ในจำนวนนั้นเป็นปางลีลา 3 องค์และปางถวายเนตร คือเอามือไขว้กันที่หน้าท้องอีก 5 องค์ แต่จุดหนึ่งที่ไม่มีใครเห็นคือ จารึกบนพระพุทธรูปขนาดเล็กเกี่ยวกับผู้สร้าง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญตั้งแต่อดีตและเก่าแก่ที่สุดของล้านนา

จนนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานจากหลักฐานว่า พระธาตุแห่งนี้เก่าแก่กว่าพระธาตุศรีจอมทอง เชียงใหม่และพระธาตุดอยสุเทพ

ส่วนพระอุโบสถเดิมเป็นไม้ทั้งหลัง ปัจจุบันได้สร้างขึ้นใหม่ ด้านในมีพระพุทธรูปสององค์ มีความงดงามมาก องค์ซ้ายเป็นองค์ดั้งเดิม ส่วนองค์ขวาสร้างขึ้นใหม่ หากสังเกตก็จะเห็นความแตกต่าง

ภายในวัดยังมีหอระฆังที่มีกังสดาลใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บนโลหะมีจารึกว่าหล่อปี 2403 และมีคติความเชื่อตามโบราณว่า ต้องตีกังสดาลทุกวัน เพื่อบอกพระอินทร์ให้รู้ว่า ยังมีพระพุทธศาสนาในโลกนี้

นอกจากนี้ยังมีเจดีย์เก่าแก่คือ สุวรรณเจดีย์ เชื่อกันว่าเป็นเจดีย์สมัยพระนางจามเทวี เป็นเจดีย์ทรงมอญ วัฒนธรรมเก่าแก่แบบพม่า ต่างจากเจดีย์ยุคเก่าโบราณไทย จะสร้างเป็นทรงสี่เหลี่ยม ซ้อนทับกันห้าชั้น แต่ละด้านมีสามซุ้ม

คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์

หากอยากรู้เรื่องเมืองลำพูน ต้องแวะไปที่คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ อยู่ด้านหลังพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญไชย ปัจจุบันได้ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน เพราะคนจังหวัดนี้ให้ความสำคัญกับพิพิธภัณฑ์มาก

คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์เป็นสถานที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองลำพูนอายุกว่า 97 ปี เป็นคุ้มของเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูน ตรงกับช่วงรัชกาลที่ 6 ตัวอาคารเป็นเรือนสะระไนสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเปิดโล่งประกอบด้วยไม้สัก หลังคาจั่วผสมปั้นหยา

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กลุ่มพ่อค้าจีนได้ซื้อคุ้มแห่งนี้ เพื่อใช้เป็นสถานที่พบปะพูดคุย ต่อมาได้ปรับเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีน และได้ปิดตัวลงด้วยเหตุผลทางการเมือง จากนั้นไม่นานเทศบาลเมืองลำพูน และกลุ่มกวงแหวน หละปูน ได้เห็นความสำคัญของสถานที่ประวัติศาสตร์จึงจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน

ชั้นล่างตัวอาคารมีห้องต่างๆ เพื่อแสดงเรื่องราวเจ้าของคุ้มด้วยภาพถ่ายเก่าๆ และประวัติเจ้าของคุ้ม อีกห้องแสดงประวัติลำพูนในอดีต และห้องแสดงวัฒนธรรมประเพณีของเมืองลำพูน รวมถึงบุคคลมีชื่อเสียงในอดีต

สำหรับฉันภาพที่ดูสะดุดตา น่าจะเป็นภาพถ่ายนางสาวไทยในยุคนั้น นวลสวาท เปาโรหิตย์ นางสาวไทยที่มีถิ่นฐานอยู่ในลำพูนโด่งดังมาก จน สุรพล สมบัติเจริญ แต่งเพลงมนต์รักป่าซาง

นอกจากนี้ยังมีห้องที่แสดงถึงความเก่าแก่ของเรื่องเล่า ทั้งห้องฉายภาพยนตร์ ห้องเรียน แบบเรียน สลากกินแบ่งในยุคดั้งเดิม และกล่องไม้ขีด 

ด้านบนที่เปิดโล่งยังเป็นสถานที่เรียนพิณเปี๊ยะ ซึ่งเป็นดนตรีดั้งเดิมล้านนา ในอดีตเวลาผู้ชายไทยองจีบสาวใต้ถุนบ้านก็จะเล่นพิณเปี๊ยะช่วงที่ผู้หญิงนั่ง ทอผ้า

“พ่อแม่ที่อยู่บนเรือนก็จะได้ยินเสียงพิณเปี๊ยะ แต่ถ้าเงียบเมื่อไหร่ พ่อแม่ก็จะก้มลงดูตามช่องไม้ นั่นแสดงว่าผู้ชายอาจมีการผิดผี” อ.เผ่าทอง เล่า

เมื่อแวบเห็นธงช้างเผือกโบกสะพัดบนชั้นสองของคุ้ม นเรนทร์ ปัญญาพู ประธานกลุ่มกวงแหวน ผู้ดูแลพิพิพิธภัณฑ์ที่มีใจรักท้องถิ่นบอกว่า ช่วงรัชกาลที่ 6 มีการเปลี่ยนจากธงช้างเผือกมาเป็นธงชาติไทยตามแบบสากล

เสน่ห์ของเมืองเล็กๆ แห่งนี้อยู่ที่อารยธรรมดั้งเดิม มีวัดวาอารามจำนวนมากและเรื่องราวของครูบาที่ชาวล้านนาเลื่อมใสศรัทธา รวมถึงหัตถกรรมพื้นบ้านผ้าฝ้ายทอมือ ซึ่งเป็นที่นิยมของคนทั่วประเทศ

ลำพูนยัง เป็นแหล่งของงานศิลปะ เพราะศิลปินมีชื่อหลายคนมาตั้งฐานที่เมืองนี้ จึงมีอุทยานธรรมะและหอศิลป์ของอาจารย์อินสนธิ์ วงศ์สาม ศิษย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และบ้านอาจารย์จรูญ  บุญสวน ศิลปินแห่งชาติอีกคนที่ชอบวาดรูปดอกไม้ และบ้านศิลปินประสงค์ ลือเมือง

และที่ขาดไม่ได้ อย่าลืมแวะกินก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไย งานนี้จึงจะเรียกว่า ครบเครื่องมาถึงลำพูนแล้ว

    * การเดินทางและที่พัก

การเดินทางไปจังหวัดลำพูน สามารถนั่งเครื่องบินมาแวะที่เชียงใหม่ แล้วเดินทางเข้าเมืองโดยใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง ขอแนะว่า ถ้าอยากได้บรรยากาศแบบโรแมนติก น่าจะผ่านเข้าเส้นทางอ.ป่าซาง ถนนต้นยางอายุกว่าร้อยปีที่ไม่ถูกตัด เพราะพระราชดำริของในหลวงทรงอยากให้อนุรักษ์ต้นไม้เก่าแก่ไว้

ถ้าขับรถจากรุงเทพฯ น่าจะไปตามทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน ผ่านสิงหบุรี ชัยนาท เข้านครสวรรค์ แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 11 เข้าจังหวัดลำพูน รวมระยะทาง 670 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางกว่า 8 ชั่วโมง

ที่นี่เป็นเมืองเล็กๆ มีที่พักไม่มากนัก ถ้าอยากได้บรรยากาศแบบธรรมชาติ ขอแนะนำที่พัก โขงสาละวิน ต.เหมืองง่า อ.เมือง จ.ลำพูน เจ้าของเป็นอดีตนักเคลื่อนไหวคนเดือนตุลารักทั้งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ราคาที่พักไม่แพง สอบถามได้ที่เบอร์ 053-561338

    * แบบเรียนย้อนยุค

เห็นแบบเรียนเก่าๆ วางอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน ทำให้นึกถึงชีวิตวัยเด็ก วิชาสุขศึกษา หลายคนจำได้ว่า สอนให้เราเรียนรู้เรื่องสุขอนามัยในร่างกาย ส่วนวิชาวรรณคดีเวนิสวาณิช สมัยเด็กก็ได้แต่ท่องบทกลอนจนขึ้นใจ และรู้แค่ว่า มันเป็นคำพ้องรูปพ้องเสียงที่ไพเราะ แต่มิได้ซาบซึ้งอันใด

มุมแบบเรียนย้อนยุค จึงไม่ใช่แค่ความชื่นชอบที่มีคนเก็บรวบรวมสิ่งของเก่าๆ มาให้ชม แต่ทำให้ความทรงจำวัยเด็กหวนคืนมา

view