จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :อรพร บาลี : |
สิ่งก่อสร้างจากศิลาแลงอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นหลักฐานความรุ่งเรืองแห่งอารยธรรมขอมโบราณ ทอดตัวสงบนิ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในโครงการเช็กอินอีสาน ได้พาตามรอยอารยธรรมเหล่านี้เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน โดยเริ่มต้นจากปราสาทอันสร้างอยู่บนยอดภูเขาไฟซึ่งดับสนิท “วนํรุง” คือคำที่ปรากฏในจารึก หาก “พนมรุ้ง” คือคำเรียกที่คุ้นหู เทวสถานสมัยพุทธศตวรรษที่ 1518 แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ตัวปราสาทสร้างขึ้นตามแบบลัทธิไศวนิกายซึ่งบูชาพระศิวะ ครั้นต่อมาก็มีแบบพุทธศาสนานิกายมหายานเข้ามาผสมผสาน เนื่องด้วยความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเป็นผู้ครองอาณาจักรในสมัยนั้น
เบื้องหน้าคือบันไดทอดยาว ถัดจากสะพานนาคราชขึ้นไปคือปราสาทประธานซึ่งเป็นที่บรรจุเรือนธาตุ โดยปราสาทนี้จะหันหน้าสู่ทิศตะวันออก หากมาเยือนที่นี่ในยามอาทิตย์ขึ้นหรือลง จะสามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ลอดผ่านบาน
ประตูที่วางเรียงกันเป็นแนวเดียวกัน ลวดลายสลักเสลาบนตัวปราสาทวิจิตรงดงาม ภาพพระศิวะวาดกรร่ายรำและพรนารายณ์บรรทม หลับ ยังคงเป็นที่ประทับใจผู้คนทุกครั้ง เมื่อยามได้มาเยี่ยมชม “หน้าบันศิวนาฏราช” และ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” ซึ่งได้รับการบูรณะอย่างดีพร้อมกับศิลปะวัตถุชิ้นอื่นๆ ณ ปราสาทแห่งนี้
ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เคลื่อนผ่านบารายกว้างใหญ่ ไปสู่ปราสาทซึ่งมีบารายขนาดกลางล้อมรอบอยู่ 4 ทิศ หรือที่เรียกกันว่า “ปราสาทเมืองต่ำ” ใน อ.ประโคนชัย ซึ่งเป็นเทวสถานลัทธิไศวนิกายอีกแห่ง ซึ่งใช้ศิลปะแบบคลังบาปวน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16
ปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบ แผนผังของปราสาทเป็นแบบรายล้อมเข้าสู่จุดศูนย์กลาง คือตัวปราสาทหินทั้ง 5 เปรียบองค์ประธานเป็นดั่งเขาพระสุเมรุซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของจักรวาล แม้ว่าตัวปราสาทจะเหลือเพียงฐานราก หากสระน้ำหักมุมทั้ง 4 และ “โคปุระ” ซึ่งเป็นระเบียงคดที่ล้อมรอบ ก็ยังคงความงดงามเก่าแก่ไว้ได้โดยไม่เสื่อมคลาย
ความเป็นศิลปะคลังบาปวน สังเกตได้จากทับหลังและกรอบประตู ซึ่งเป็นรูปสัตว์ประหลาดคล้ายยักษ์กำลังคายท่อนพวงมาลัยออกจากปาก มีนามเรียกว่า “หน้ากาล” บางความเชื่อกล่าวว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความโกรธความหลง ซึ่งกลืนกินทุกอย่างกระทั่งตนเอง หน้ากาลนี้มักปรากฏอยู่ในภาพกรอบประตูทางเข้า ร่วมกับเทพเจ้าองค์อื่นๆ โดยทับหลังที่สำคัญของปราสาทเมืองต่ำแห่งนี้ก็คือ “ทับหลังพิธีสยุมพระศิวะและพระนางปารพตี” อันเป็นจำหลักภาพท้าวหิมวันต์ถวายนางปารพตีพระธิดา (พระนางอุมาเทวี) ถวายแด่พระศิวะ
นารายณ์บรรทมสินธุ์ |
วันที่สองเริ่มต้นขึ้นด้วยการมาเยี่ยมชมหน้าบันศิวนาฏราชที่แกะสลัก อย่างละเอียดลออ ณ ปราสาทศรีขรภูมิ จ.ศรีสะเกษ จำหลักนี้เป็นหนึ่งในศิลปวัตถุซึ่งมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย และกล่าวกันว่าอาจสมบูรณ์ไม่แพ้ที่ค้นพบในนครวัดเลยทีเดียว เทวสถานแห่งนี้สร้างขึ้นตามลัทธิไศวนิกายเช่นเดียวกับปราสาทอื่น สังเกตได้จากภาพจำหลัก และศิวลึงค์ซึ่งอยู่ในองค์ประธาน ตัวปราสาทซึ่งมีลักษณะเป็นปรางค์หมู่ 5 องค์ยังมีความสมบูรณ์อยู่มาก เวลาที่สร้างนั้นสันนิษฐานว่าอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 17 หากคงมีเหตุบางประการให้การก่อสร้างต้องหยุดลง เพราะส่วนที่เสร็จสมบูรณ์มีเพียงด้านหน้าและด้านข้างบางส่วนเท่านั้น
ยามบ่ายเคลื่อนที่ไปยัง “ปราสาทสระกำแพงใหญ่” ใน อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ อันเป็นเทวสถานที่ตั้งอยู่ร่วมกับวัดสระกำแพงใหญ่ในศาสนาพุทธ ลักษณะปราสาทเป็นหมู่ปรางค์ 3 องค์ที่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ล้อมรอบด้วยระเบียงคด อยู่ถัดจากบารายที่มีลักษณะคล้ายรูปตัวแอล (L) แผนผังแบบนี้คล้ายคลึงกับ “ปราสาทสระกำแพงน้อย” ใน อ.ขลุง ต่างกันตรงที่ปราสาทสระกำแพงน้อยมีขนาดเล็กและทรุดโทรมกว่ามาก และเคยใช้งานเป็นอโรคยาสถาน มากกว่าจะเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างปราสาทสระกำแพงใหญ่
ปราสาทหินแห่งที่เข้าเยี่ยมชมในวันสุดท้าย เป็นปราสาทหินทำจากศิลาแลงสีชมพู ที่เป็นหนึ่งในปราสาทซึ่งมีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ใน จ.นครราชสีมา มีชื่อเรียกขานคุ้นหูว่า “ปราสาทหินพิมาย” ซึ่งเป็นเทวสถานในไศวนิกาย สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 และมีความเป็นพุทธนิกายมหายานผสมผสานด้วยอิทธิพลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นเดียวกับปราสาทพนมรุ้ง
เทวสถานปราสาทหินพิมายตั้งอยู่ในพื้นที่ราบ หันหน้าออกไปยังทิศใต้ผิดจากปราสาทอื่นๆ ที่มักหันออกทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าทำเพื่อให้หันรับกับเส้นทางตัดมาจากเมืองยโศธรปุระ เมืองหลวงในสมัยนั้นของขอม ซึ่งเข้ามาสู่เมืองพิมายทางทิศใต้ ทางเบื้องหน้ามีโคปุระ หรือซุ้มกำแพงแก้วทอดยาวเพื่อนำทางเดินสู่ส่วนกลางซึ่งมีความเชื่อว่าเป็น ที่อยู่ของเทพเจ้า ชาลาทางเดินนั้นก่อสร้างด้วยหินทราย โอบล้อมส่วนกลางไว้ด้วยหมู่ระเบียงคดพบแนวจารึกสลักไว้ไปตลอดทาง ส่วนสำคัญที่สุดคือปราสาทประธานซึ่งมีภาพจำหลักเกี่ยวกับเรื่องรามเกียรติ์ สลักไว้รายรอบ จะมีเพียงด้านทิศใต้เท่านั้นที่ต่างออกไปด้วยจำหลักลายศิวนาฏราช
ปราสาทหินพิมาย |
เส้นทางตามรอย 3 วัน 2 คืน สิ้นสุดลงด้วยความอิ่มอกอิ่มใจของผู้มาเยือน กรมศิลปากรและเจ้าหน้าที่อุทยานต้องใช้ความยากลำบากไม่ใช่น้อยที่จะบูรณะและ ดำรงรักษาสภาพไว้ให้ได้สมบูรณ์ที่สุด หากหน้าที่ในการดูแลรักษาก็อยู่ในมือของผู้เยี่ยมชม นั่นคือการชื่นชมความงามอย่างมีจิตสำนึก ไม่ทำลายหรือลักเล็กขโมยน้อย เก็บชิ้นส่วนอันควรเป็นมรดกของชาติกลับเข้ามาเป็นสมบัติของตนเสียเอง
เข้าดูรายละเอียดเส้นทางเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tourismthailand. org/checkinisan