สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กู้ วิกฤตเศรษฐกิจชาติ ด้วยยุทธศาสตร์ พลังงานทดแทน

จากประชาชาติธุรกิจ
กระทรวง พลังงานได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้ประเทศไทยใช้ "พลังงานทดแทน" เป็นพลังงานหลัก เพื่อลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศภายใต้แผนพลังงานทดแทน 15 ปี เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ภายในปี 2565 จากปัจจุบันที่มีการใช้อยู่ที่ร้อยละ 6.4 เท่านั้น

โดยจะมี การส่งเสริมให้ใช้พลังงานทดแทนทั้งในการผลิตไฟฟ้าที่มาจากพลังงานธรรมชาติ เช่น จากพลังงานน้ำขนาดเล็ก, พลังงานลม, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานที่ได้จากก๊าซชีวมวล, พลังงานขยะ และพลังงานจากไฮโดรเจน ด้วยการวางเป้าหมายไว้ว่า จะต้องเพิ่มกระแสไฟฟ้าให้ได้ถึง 5,608 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีการผลิตอยู่เพียง 1,750 เมกะวัตต์ รวมทั้งการผลิตไฟฟ้าจากความร้อนที่วางเป้าหมายไว้ที่ 7,433 Ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) จากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 3,007 Ktoe

นอก จากนี้ยังมีการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ แบ่งเป็นการใช้เอทานอล เพิ่มขึ้นให้ได้ถึง 9 ล้านลิตร/วัน จากปัจจุบันที่ 1.24 ล้านลิตร/วัน ส่วนของไบโอดีเซลต้องการให้มีการใช้เพิ่มขึ้นเป็น 4.5 ล้านลิตร/วัน จากปัจจุบันที่ 1.56 ล้านลิตร/วัน และส่งเสริมให้มีการใช้ไฮโดรเจนเพิ่มขึ้น 0.1 ล้านกิโลกรัม ส่วนก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือ NGV นั้น วางเป้าหมายไว้ที่ 690 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากปัจจุบันที่ใช้อยู่ที่ 108.1 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

แผนพัฒนาพลังงานทดแทน 3 ระยะ

เพื่อ ให้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนเดินไปตามลำดับ ความสำคัญของการส่งเสริม จึงมีการแบ่งแผนออกเป็น 3 ระยะด้วยกันคือ แผนระยะสั้น (2551-2554), แผนระยะกลาง (2555-2559) และแผนระยะยาว (2560-2565) มีรายละเอียดแต่ละแผนดังต่อไปนี้

แผนพัฒนาพลังงานทดแทนระยะสั้น (2551-2554) จะมุ่งส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่ได้รับการพิสูจน์และยอมรับและมี ศักยภาพแหล่งพลังงานทดแทนที่สูง เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตไฟฟ้าและความร้อนจากชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) โดยใช้มาตรการทางการเงินเต็มรูปแบบ

การ สนับสนุนทางการเงินที่เห็นได้ชัดภายใต้แผนระยะสั้น ในขณะนี้ก็คือ น้ำมันในกลุ่มแก๊สโซฮอล์ ที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้การชดเชยเพื่อรักษาส่วนต่างของราคาน้ำมันแก๊ส โซฮอล์เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันเบนซินปกติจะมีราคาถูกกว่าตั้งแต่ 3-6 บาท/ลิตร ด้านน้ำมันไบโอดีเซลจะมีส่วนต่างราคาที่เมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันดีเซล ปกติจะอยู่ที่ 1.20 บาท/ลิตร เป็นต้น

ส่วนของก๊าซธรรมชาติสำหรับ ยานยนต์ (NGV) มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 8.50 บาท/กิโลกรัม จากต้นทุนที่ราคา 11 บาท/กิโลกรัม โดยกระทรวงพลังงานยังคงให้บริษัท ปตท.ตรึงราคาจำหน่าย NGV ไว้ที่ 8.50 บาท/กิโลกรัม เพื่อบรรเทาผลกระทบทางด้านพลังงานให้กับประชาชน อีกส่วนหนึ่งเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ได้ ตามเป้าหมายของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนนี้

ในส่วนของภาคไฟฟ้าได้รับการ สนับสนุนทางการเงินโดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทุกประเภทจะมีส่วน เพิ่มค่าไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า adder cost เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนหันมาลงทุน ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ด้วยการให้การส่งเสริมแยกตามประเภทเทคโนโลยีและเชื้อเพลิง โดยมีระยะเวลาการสนับสนุน 7 ปี "ยกเว้น" พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มีระยะเวลาการสนับสนุน 10 ปี แบ่งเป็นประเภทชีวมวลและก๊าซชีวภาพ กำลัง การผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 เมกะวัตต์ จะได้รับส่วนเพิ่ม 0.50 บาท/หน่วย หากมีกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 1 เมกะวัตต์ จะได้รับส่วนเพิ่ม 0.30 บาท/หน่วย

การผลิตไฟฟ้าจากขยะ แหล่งที่มาของขยะจะเป็นขยะชุมชนหรือขยะอุตสาหกรรมก็ได้ แต่ถ้าเป็นขยะอุตสาหกรรมต้องไม่ใช่ขยะอันตรายหรือขยะที่เป็นอินทรียวัตถุ โดยให้ adder แตกต่างตามประเภทเทคโนโลยี คือระบบหมักหรือหลุมฝังกลบขยะ รับส่วนเพิ่ม 2.50 บาท/หน่วย พลังงานความร้อนรับส่วนเพิ่ม 3.50 บาท/หน่วย

พลังงาน ลมกำลังการผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 กิโลวัตต์ได้รับส่วนเพิ่ม 4.50 บาท/หน่วย ถ้ากำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 50 กิโลวัตต์รับส่วนเพิ่ม 3.50 บาท/หน่วย การผลิตจากพลังงานน้ำขนาดเล็กกำลังการผลิตติดตั้งตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 200 กิโลวัตต์ จะได้รับส่วนเพิ่ม 0.80 บาท/หน่วย หากกำลังการผลิตติดตั้งน้อยกว่า 50 กิโลวัตต์ รับส่วนเพิ่ม 1.50 บาท/หน่วย และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน แสงอาทิตย์จะได้รับส่วนเพิ่ม 8 บาท/หน่วย

"วรรณรัตน์" หนุน Hub พลังงานทดแทน

นาย แพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนนั้นค่อนข้างมีศักยภาพสูง เนื่องจากขณะนี้มีผู้สนใจยื่นเสนอโครงการที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ เกินกว่าเป้าหมายที่ 5,000 เมกะวัตต์ โดยยื่นเข้ามารวมทั้งสิ้น 6,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ผลิตแล้วได้แล้วกว่า 1,700 เมกะวัตต์ "เราให้การส่งเสริมเป็นระยะเวลา 7 ปี ในกลุ่มของพลังงานลม น้ำ ชีวมวล แต่ในพลังงานแสงอาทิตย์ให้รวม 10 ปี เพราะลงทุนค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเภทอื่นๆ เราจึงต้องเพิ่มเวลาส่งเสริมเพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีรายได้ที่เหมาะสมกับ การลงทุน"

โดยหลังจากครบกำหนดระยะเวลาตามแผนระยะสั้นแล้ว สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.6 จากปัจจุบันที่ร้อยละ 6.4 และยังสามารถลดการนำเข้าพลังงานและ ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย

แผนพัฒนาพลังงานทดแทนระยะกลาง (2555-2559)

ตาม แผนระยะกลางเมื่อถึงปี 2559 ประเทศไทยน่าจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนขึ้นเป็นร้อยละ 19.1 ด้วยการกำหนดให้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีพลังงานทดแทน รวมถึงการสนับสนุนพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีพลังงานทดแทนใหม่ๆ เช่น การผลิตเอทานอล-ไบโอดีเซลจากสาหร่าย การผลิตน้ำมัน จาก ชีวมวล และเชื้อเพลิงไฮโดรเจน รวมถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับการผลิตพลังงานทดแทนในระดับชุมชน

ขณะ ที่บทบาทของกระทรวงพลังงานก็จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาจากข้อกล่าวหาที่ว่า "ภาคพลังงานไปแย่งวัตถุดิบจากภาคอาหาร" โดยเฉพาะในกลุ่มของการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ต้องใช้เอทานอลที่มาจากอ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งในระยะกลางนี้จะเร่งส่งเสริมให้ผลิตเอทานอลที่มาจากพืชที่ไม่ได้เป็น อาหาร และที่สำคัญหากขั้นตอน การวิจัยพัฒนาประสบความสำเร็จและต่อยอดต่อไปในเชิงพาณิชย์ได้นั้น จะยิ่งเสริมเป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางพลังงานทดแทน หรือ hub ของประเทศได้อีกด้วย

"ในอนาคตถ้าเราเตรียมที่จะเป็น hub พลังงานทดแทน เราก็ต้องเตรียมวัตถุดิบให้มีความเพียงพอ ไม่เพียงแต่พัฒนาพืชอาหารมาเป็นพืชพลังงานเท่านั้น แต่ยังสามารถพัฒนาพืชพลังงานที่ไม่ใช่อาหารขึ้นมาอีกด้วย เราไม่ต้องการให้เสียสมดุลในอนาคต แต่ต้องยั่งยืนด้วย เน้นการวิจัยควบคู่กันไป เชื้อเพลิงที่อยู่ในขั้นตอนการวิจัยในขณะนี้ก็คือ การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในภาคขนส่ง มีการทดลองใช้กับรถยนต์บางส่วน แต่ยังไม่แพร่หลายในเชิงพาณิชย์ จะต้องมีการวิจัยได้องค์ความรู้ที่ชัดเจน สามารถพัฒนาต่อไป มีความปลอดภัย ในการใช้" นายแพทย์วรรณรัตน์กล่าว

แผนพัฒนาพลังงานทดแทนระยะยาว (2560-2565)

ส่วน แผนระยะยาวนั้นจะเป็นช่วงการส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ รวมไปถึงการขยายผลไปสู่การเป็น green city และพลังงานชุมชน เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ส่งออกเชื้อเพลิงชีวภาพ และมีการ ส่งออกเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในภูมิภาคอาเซียนด้วย ซึ่งเมื่อถึงปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงท้ายๆ ของแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20.3 สามารถทดแทนพลังงานได้ 4,237 ktoe/ปี ลดการนำเข้าพลังงานได้ถึง 461,800 ล้านบาท/ปี และ ยังสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 42 ล้านตัน/ปี

อย่าง ไรก็ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี เมื่อมองในภาพรวมจะเห็นได้ชัดว่า เป็นแผนที่พลิกหน้าใหม่ให้กับวงการพลังงานทดแทนที่สามารถดำเนินการได้อย่าง "ครบวงจร" เช่น โรงงานผลิตน้ำตาลที่ครบวงจร ตั้งแต่ ขั้นตอน ปลูกอ้อย หลังจากนั้นนำมาผลิตเป็นน้ำตาล มีทั้งโมลาส (กากน้ำตาล) ต้นอ้อยที่เหลือยังสามารถแปลงมาสู่ภาคพลังงาน นั่นคือโมลาสนำไปผลิตเป็นเอทานอลเพื่อป้อนให้กับการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ส่วนต้นที่เหลือยังสามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อเผาให้เกิดความร้อนเพื่อนำ ไปผลิตไฟฟ้าได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มของโรงงานฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปอาหาร หรือโรงงานอื่นๆ ที่ต้องปล่อยน้ำเสียทิ้งและก่อให้เกิดมลพิษนั้น ขณะนี้ได้ถูกแปลงน้ำเสียเหล่านั้นมาผ่านกระบวนการหมักเกิดเป็นก๊าซมีเทน สามารถนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าต่อได้ด้วย ไม่มีอะไรเหลือทิ้ง ทุกอย่างสามารถนำมาแปลงเป็นพลังงานได้ทั้งหมด

"โดยสิ่งหนึ่งที่เรา อยากชี้ให้เห็นเลยว่า พลังงานทดแทน จะทำให้เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ เราสามารถลดนำเข้าพลังงาน ซึ่งหลายฝ่ายวิเคราะห์กันว่า หลังจากนี้ที่เศรษฐกิจโลกกำลังจะฟื้นตัวกลับมา นั่นจะเป็นสัญญาณด้วยว่า ราคาพลังงานจะกลับมาสู่ขาขึ้นอีกครั้ง และหากเราไม่ต้องการ แบกรับภาระราคาพลังงาน เราจึงต้องกลับมาใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น" นายแพทย์วรรณรัตน์กล่าวสรุปในตอนท้าย

view