จากประชาชาติธุรกิจ
ใน การเปิดตัวเครือข่ายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร CSR Club ที่เกิดขึ้นจากการก่อตั้งโดยองค์กรธุรกิจชั้นนำกว่า 27 องค์กร โดยการสนับสนุนของสมาคมบริษัทจดทะเบียน เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยผลสำรวจสถานการณ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นขององค์กรสมาชิกในสมาคมบริษัทจดทะเบียนกว่า 91 องค์กร ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และพบว่าปัจจุบันการขับเคลื่อนด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทที่จด ทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีความก้าวหน้าอย่างน่าสนใจ
บจ.ตื่น CSR แห่บรรจุเป็นนโยบาย
โดย พบว่าปัจจุบันองค์กรธุรกิจไม่ได้แต่เพียงให้ความสำคัญกับ CSR เป็นเพียงการคืนกำไรสู่สังคมผ่านการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมแต่เพียงเท่า นั้น หากยังพบว่ากว่า 81% ขององค์กรผู้ตอบแบบสอบถามได้กำหนดให้ CSR เป็นหนึ่งในนโยบายของบริษัท และมีเพียง 19% เท่านั้นที่ยังไม่ได้บรรจุเรื่องนี้ให้อยู่ในระดับนโยบาย
สำหรับ ประเภทธุรกิจที่มีการกำหนดให้ CSR อยู่ในระดับนโยบายมากที่สุดใน 5 ลำดับแรก ได้แก่ สถาบันการเงิน ปิโตรเคมี อุตสาหกรรม ธุรกิจเกษตร และเทคโนโลยี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ล้วนเป็นกลุ่ม ธุรกิจที่มีความอ่อนไหว ซึ่งจะนำมาสู่ความเสี่ยงในธุรกิจ หากไม่ได้ดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
การศึกษา ชุมชน สิ่งแวดล้อมประเด็นฮอต
อย่าง ไรก็ตามเมื่อถามถึงการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม หรือการดำเนินความรับผิดชอบนอกกระบวนการดำเนินธุรกิจ (CSR after process) พบว่า องค์กรผู้ตอบแบบ สอบถามกว่า 90% ระบุว่ามีการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม โดยประเด็นทางสังคมที่แต่ละองค์กรให้ความสนใจ ไม่ได้มีความแตกต่างจากผลสำรวจของหลายสำนัก ก่อนหน้านี้มากนัก โดยประเด็นปัญหาทางสังคมที่บริษัทให้ความสำคัญ 3 ลำดับแรก ได้แก่ การศึกษา ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
นัยสำคัญประการหนึ่งที่ปรากฏในแบบสอบถามนี้ คือ การเลือกให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเภทธุรกิจ เช่น กลุ่มสถาบันการเงินให้ความสำคัญกับประเด็นการ ส่งเสริมและพัฒนาด้านการศึกษามากที่สุด 50% รองลงมาเป็นการให้ความสำคัญ กับชุมชนและพนักงาน
ขณะ ที่กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตจะมุ่งเน้นการแสดงความรับผิดชอบต่อชุมชนเป็นสำคัญ โดยให้ความสำคัญเรื่องนี้ในสัดส่วน 50% ตามมาด้วยการให้ความสำคัญกับการแสดงความรับผิดชอบต่อพนักงาน ลูกค้า ผู้ถือหุ้น ในระดับที่เท่ากันคือ 50% เป็นต้น
ข้อมูลข้างต้นจึงเป็น ภาพสะท้อนถึงความก้าวหน้าและภาพบวก อย่างไรก็ตามจากการสำรวจครั้งนี้ยังมีอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะแม้ว่าแนวคิด CSR จะเข้ามาในประเทศไทย และมีความตื่นตัวอย่างยิ่งในช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา หากแต่สำหรับการขับเคลื่อน CSR ในระดับของการปรับกลยุทธ์ให้สอดผสานไปในการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาด้านความ รับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในอนาคตแล้ว กลับพบว่ายังมีปัญหามากมายที่ซ่อนอยู่
ความรู้-ภาครัฐจุดอ่อนเคลื่อน CSR
โดย เฉพาะปัญหาในการขับเคลื่อน CSR ภายในองค์กรที่พบว่า ปัญหาสำคัญที่สุดขององค์กรส่วนใหญ่อยู่ที่การมีงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ตามมาด้วยการขาดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานในด้านสังคม การไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง แต่ยังเป็นไปในลักษณะการฝากงานไว้ตามหน่วยงานต่าง ๆ รวมไปถึงปัญหาที่พนักงานขาดความเข้าใจ รวมไปถึงการที่ผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ดัง นั้นสิ่งที่องค์กรผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีความต้องการในการที่จะ ขับเคลื่อน CSR ต่อไปในอนาคตนั้น ใน 5 ลำดับแรก ได้แก่ การแบ่งปันองค์ความรู้ (knowledge sharing) เกณฑ์การดำเนินงานที่ชัดเจนจากภาครัฐและงบประมาณ องค์กรความรู้และทฤษฎีด้านทฤษฎีและหลักการต่าง ๆ รวมไปถึงวิธีการสร้างความตระหนักเรื่องนี้ให้กับพนักงาน ทั้งนี้เพื่อให้การขับเคลื่อน CSR ในอนาคตมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
เสียงสะท้อนในครั้งนี้จึง ไม่เพียงจะเป็นโจทย์ที่ภาครัฐและองค์กรส่งเสริมด้าน CSR ต่องเร่งทำการบ้าน แต่ยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นชัดเจนมากขึ้นว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งการจะขับเคลื่อน CSR ขององค์กรให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ องค์กรย่อมไม่สามารถทำงานเพียงลำพัง แต่ต้องแบ่งปันและเติมเต็มขีดความสามารถและประสบการณ์จากพันธมิตรที่เป็น ธุรกิจด้วยกัน องค์กรพัฒนาเอกชนตลอดจนผู้ที่มี ส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในสังคม !