สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปุจฉา วิสัชนา เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจริงหรือ? กับ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแล้วหรือ? ตลาดหุ้นทั่วโลกดีดตัวรับข่าวศก.โลกฟื้นกันอย่างคึกคัก ไม่เว้นแม้แต่ตลาดหุ้นไทยที่ได้อานิสงส์ไปด้วย เศรษฐกิจจะฟื้นแบบตัวV,W หรือตัวU เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างนั้นด้วยหรือไม่...? กูรูด้านศก.อย่าง"ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ"มีคำตอบ...

คอลัมน์ เศรษฐกิจต้องรู้ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจริงหรือ ?
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

 

ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้น 50-60% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาจากจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคม ทำให้หุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นในลักษณะเดียวกันและมีการกล่าวขวัญกันมากขึ้นใน หมู่ของนักวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเป็นรูปตัว "V" และเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิมเร็ว ๆ นี้ โดยให้เหตุผลเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงก็ต้องฟื้นตัวในอัตราเร่งเช่นกัน เปรียบเทียบได้กับยางเมื่อถูกยืดออกไปมากก็จะดีดกลับมากเช่นกัน นอกจากนั้นก็ยังแสดงความมั่นใจว่าภาครัฐไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายการคลัง ของรัฐบาล (การลดภาษีและการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ) หรือการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง (การลดดอกเบี้ยและเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน) จะทำทุกอย่างที่จะทำได้เพื่อกระตุ้นมิให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบ "W" หรือ "U" เป็นอันขาด แนวคิดดังกล่าวเชื่อว่าแม้จะยังมีปัญหาคั่งค้างอยู่เกี่ยวกับหนี้สินของผู้ บริโภคและความอ่อนแอของสถาบันการเงิน แต่ปัญหาดังกล่าวก็จะคลี่คลายไปได้ด้วยเวลาที่ทอดยาวออกไป ในขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้น อย่างต่อเนื่อง จะเป็นเงื่อนไขทำให้ภาคการเงินสามารถแก้ปัญหาระยะยาวของตนได้ง่ายขึ้น   


จะเห็นได้ว่าแนวคิดดังกล่าวกลับกันโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดในการแก้ปัญหา เศรษฐกิจของไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียเมื่อครั้งประสบปัญหา (คล้ายคลึงกับสหรัฐ) ในปี 1997 คือการก่อหนี้มากเกินตัว ในครั้งนั้นไอเอ็มเอฟชี้นำให้ไทยบีบรัดเศรษฐกิจให้ชะลอตัวอย่างรุนแรงเพื่อ ลดการใช้จ่ายเกินตัวอย่างรวดเร็ว โดยกำหนดให้ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มและดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวด แต่สหรัฐทำตรงกันข้ามคือเร่งลดดอกเบี้ย นำเงินไปอุ้มธนาคารหลายล้านล้านเหรียญและดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณเพื่อ อุ้มเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านล้านเหรียญ หรือกว่า 10% ของจีดีพี นอกจากนั้นสหรัฐยังได้โน้มน้าวให้ทุกประเทศในโลกเร่งใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาค กระตุ้นเศรษฐกิจของตนอย่างปัจจุบันทันด่วนผ่านการประชุมระดับผู้นำของกลุ่ม G 20 ถึง 3 ครั้งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา   


ความเป็นจริงคือเศรษฐกิจไทยมีขนาดเล็ก ดังนั้นภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจไทยจึงไม่สร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจโลกแต่ อย่างใด ตรงกันข้าม การลดค่าเงินบาท (และเงินสกุลอื่น ๆ ในเอเชีย) กลับเป็นผลดีกับสหรัฐที่สามารถซื้อสินค้าและบริการได้ในราคาถูก นอกจากนั้นยังช่วยลดอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐสามารถกำหนดอัตรา ดอกเบี้ยให้ต่ำได้นานต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการบริโภค การลงทุนและการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ (แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของฟองสบู่ในสหรัฐ ตั้งแต่ฟองสบู่อินเทอร์เน็ตไปถึงฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์) แต่สำหรับความตกต่ำของเศรษฐกิจสหรัฐนั้นถูกมองว่าเพิ่มความเสี่ยงให้กับ เศรษฐกิจโลกอย่างมากจนไม่สามารถรับความเสี่ยงดังกล่าวได้ เราจึงต้องช่วยสหรัฐกอบกู้เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก ซึ่งขณะนี้ก็กำลังทำกันอยู่และดูเสมือนว่าทำได้สำเร็จจนกระทั่งเกิดความมั่น ใจในกลุ่มหนึ่งว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวแบบ "V" ดังกล่าวข้างต้น แต่ต้องขอสร้างความเข้าใจร่วมกันว่าการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกิน คาดในขณะนี้นั้นเป็นผลมาจากการใช้ "ยาแรง" ทางเศรษฐกิจมหภาคอย่างไม่เคยทำมาก่อนบนพื้นฐานของข้อสมมติว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ใหญ่เกินกว่าที่จะยอมให้ล่มสลายได้ (too big to fail)     


ปัญหาของการใช้ "ยาแรง" เพื่อกระตุ้นให้ฟื้นเร็วคือความเสี่ยงว่าจะไม่ได้มีการแก้ปัญหาโครงสร้างที่ เป็นรากเหง้าของวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว ที่สำคัญคือการฟื้นตัวด้วย "ยาแรง" นั้นจะมีผลข้างเคียงตามมาคือหนี้สินของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก (เช่นรัฐบาลสหรัฐจะต้องเพิ่มภาษีตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นไป และอาจยังต้องเผชิญกับการบริหารหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นจาก 60% ของจีดีพีมาเป็น 100% ของจีดีพีใน 7-8 ปีข้างหน้า) และการจะต้องปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 0% มาสู่ระดับปกติประมาณ 3-4% ไม่รวมถึงการเข้าไปซื้อตราสารหนี้หลากหลายประเภทของธนาคารกลางสหรัฐที่จะ ต้องขายกลับออกมาคิดเป็นมูลค่า 1.2 ล้านล้านเหรียญ ดังนั้นจึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า "คนไข้" อาจไม่สามารถกลับสู่สภาวะปกติก็ได้ เมื่อรัฐบาลต้องเริ่มลดยาลงใน 1-2 ปีข้างหน้า     


ที่อาจเป็นเช่นนี้ก็เพราะการฟื้นตัวเร็วของเศรษฐกิจอาจทำให้การแก้ปัญหา พื้นฐานสะดุดลง เช่น สาเหตุหลักของวิกฤตรอบนี้คือระบบธนาคารของสหรัฐที่กล้าเสี่ยงมากเกินไป แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อเกิดปัญหารัฐบาลก็จะทุ่มเททรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาให้ ทำให้เกิดความชะล่าใจหรือเสียนิสัย (moral hazard) ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลเข้าใจดีและมีกระแสทางการเมืองให้จัดการ กับธนาคาร แต่กระแสทางการเมืองกลับไปเน้นการจำกัดเงินเดือนและโบนัสของนายธนาคาร ซึ่งเป็นเพียงปัญหาหนึ่งในหลายประเด็นที่จะต้องจัดการเพื่อปฏิรูประบบสถาบัน การเงิน เช่น 1.ลดสัดส่วนของหนี้สินต่อทุน (leverage) 2.การบริหารและลดความเสี่ยง (risk management and reduction) 3.การลดขนาดของสถาบันการเงิน มิให้ใหญ่จนไม่สามารถล้มได้ (too big to fail) และ 4.การปรับให้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก (regulatory harmonization) ปัญหาคือข้อ 1 และข้อ 2 ข้างต้นนั้นย่อมจะต้องทำให้ธนาคารกำไรลดลง ซึ่งกำลังถูกต้านในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อธนาคารต่าง ๆ รอดตายแล้วและมีพลังที่จะล็อบบี้เพื่อลดความเข้มงวดของการควบคุม เห็นได้จากการที่ร่างกฎหมายปฏิรูปสถาบันการเงินของสหรัฐล่าช้าและอาจผ่านออก มาเป็นกฎหมายได้ไม่ทันสิ้นปีนี้ดังคาด 


สำหรับข้อ 3 และข้อ 4 นั้นยิ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะขณะนี้ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐที่มีปัญหาเมื่อปี 2008 นั้นกลับมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม คือยิ่งใหญ่จนไม่สามารถปล่อยให้ล้มได้ ส่วนข้อ 4 นั้นก็เผชิญปัญหาว่าแนวคิดของสหรัฐและยุโรปแตกต่างกันในประเด็นสำคัญ ๆ หลายประเด็น จึงสงสัยว่าการผลักดันการปฏิรูปสถาบันการเงินจะค่อย ๆ "หมดแรง" ลงและไม่คืบหน้าไปมาก     


อีกปัญหาหนึ่งคือการสร้างหนี้อย่างมากของผู้บริโภคสหรัฐ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลสหรัฐช่วยรับภาระให้ แต่ก็แปลว่าประเทศสหรัฐก็อาจจะกลับมาใช้จ่ายเกินตัวเช่นเดิม คือเมื่อก่อนวิกฤตประเทศสหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 5-6% ของจีดีพี โดยภาคเอกชนก่อหนี้จากตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ รวมถึงซีดีโอซึ่งได้กลายเป็นตราสารพิษและเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจใน ปี 2008 แม้ว่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐจะปรับตัวลดลงในปีนี้เหลือ 2-3% ของจีดีพี แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องดังคาด ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นอีก ครั้ง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์สหรัฐก็เริ่มออกมาพูดกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐสามารถขาดดุล บัญชีเดินสะพัดได้ปีละ 3-4% โดยไม่มีปัญหาอะไร เพราะประเทศสหรัฐเป็นประเทศที่น่าลงทุน และตลาดเงินตลาดทุนมีความใหญ่และลึกพอที่จะรองรับการไหลเข้าของเงินทุน ฯลฯ อย่าลืมว่าเมื่อก่อนวิกฤตนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มก็เคยชักแม่น้ำทั้ง 5 มาอธิบายว่าเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งเช่นกัน     


ผมอาจจะมองโลกในแง่ร้ายเกินไป แต่ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรอบนี้อาจไม่มั่นคงและแข็งแกร่งดังที่หลายคนคิด ทำให้เศรษฐกิจอาจมีความผันผวนได้มากใน 2-3 ปีข้างหน้าครับ

view