จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :วราภรณ์ เนาว์โนนทองและคณะ: |
แชร์เปียหวย แปลรวมๆ จะคล้ายการประมูลโดยการเอาเงินหรือทุนทรัพย์กันด้วยการเสี่ยงโชค หรือใช้ฝีมือตามที่นิยมเรียกกันว่า ลงแชร์ เล่นแชร์ เปียแชร์ เปียหวย หรือที่เรียกกันอย่างอื่นซึ่ง ความหมายคล้ายกัน
เคยสงสัยไหมว่า “การเล่นแชร์” ที่เราๆ เคยได้ยินหรือได้เคยลองเล่นนั้นมันเป็นการพนัน การกู้ยืมเงิน การลงทุน หรือการออมแบบใด และคุ้มค่าที่จะเสี่ยงหรือไม่?
การเล่นแชร์ถือได้ว่าเป็นกึ่งออมทรัพย์กึ่งการลงทุน และให้ผลตอบแทนในการลงทุนที่ค่อนข้างสูง หากมองให้เป็นการลงทุนก็ได้เพราะเราได้ดอกเบี้ยจากการเล่น นอกจากนี้ยังช่วยบังคับให้เราเก็บเงินเป็นประจำอีกด้วย จากนั้นก็ค่อยมานั่งคำนวณค่างวดที่เราส่งว่าเรามีความสามารถที่จะส่งได้โดย ไม่กระทบค่าใช้จ่ายหลักของเราหรือไม่? แล้วก็ค่อยตัดสินใจ ลองคิดดูว่าถ้าเล่นแชร์โดยไม่เปีย รับดอกเบี้ยรวมทั้งวงมีแต่ได้กับได้ แต่ถ้าเล่นแชร์แบบร้อนเงิน อันนี้เป็นการก่อหนี้แน่นอน เพราะต้องเสนอดอกเบี้ยสูงๆ เพื่อสู้กับคนอื่นๆ เพื่อให้ได้เงินมา บางวงเห็นดอกเบี้ยสูงจนเกือบจะเท่าเงินต้นที่เปีย และข้อเสียอีกประการหนึ่งก็คือเป็นการลงทุนที่ไม่มีการประกันความเสี่ยงต้อง เล่นกับคนที่ไว้ใจได้ เพราะถ้าแชร์ล้มตัวใครตัวมัน ดังนั้นคนเป็นท้าวแชร์จะได้เปรียบ เพราะเปียมือแรกไม่มีดอกนั่นเอง
การเล่นแชร์ถือว่าเป็นธุรกิจการเงินนอกระบบเป็นการระดมเงินจากผู้ เล่นมาลงหุ้นกันเป็นกองกลางแล้วหมุนเวียนให้สมาชิกแต่ละคนรับเงินนั้นไป และให้สมาชิกมีหน้าที่ส่งเงินงวดตามจำนวนงวดที่กำหนด วิธีการเช่นนี้ทำให้สมาชิกได้เงินเป็นก้อน วิธีการที่จะทำให้เงินก้อนหรือเงินกองกลางก็โดยการประมูล สมาชิกผู้ใดให้ดอกเบี้ยสูงสุดก็จะได้รับเงินกองกลางไป ประกอบกับการเล่นแชร์ กฎหมายไม่ถือว่าเป็นการกู้ยืม ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องบังคับกันได้ ไม่อยู่ในบังคับกฎหมายว่าด้วยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา จึงทำให้เกิดธุรกิจวงแชร์ขึ้นอย่างกว้างขวาง การประกอบธุรกิจดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนผู้สุจริตแล้วยังกระทบต่อ การระดมเงินของสถาบันการเงินที่ทางราชการสนับสนุนอยู่ นอกจากนี้ผู้ประกอบการธุรกิจดังกล่าวพยายามดำเนินกิจการให้ใกล้เคียงกับ ธุรกิจเงินทุนซึ่งมีกฎหมายควบคุมอยู่ โดยจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกับบริษัทเงินทุน จึงได้ออกกฎหมายห้ามธุรกิจประเภทนี้ ดังนั้นจึงมีมาตรการลงโทษทางอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล
พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 เป็นการบังคับทางอาญาและกฎหมายมิได้กำหนดให้เป็นความผิดยอมความได้ ดังนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ใช้มาตรการต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดรวมถึงฟ้องคดีด้วย การที่มีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการเล่นแชร์ แม้สมาชิก วงแชร์ตกลงกันได้ในทางแพ่งโดยได้รับเงินคืนตลอดจนผลประโยชน์ตอบแทนไปแล้ว ก็ไม่ลบล้างความผิดทางอาญา พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ สิทธิในการฟ้องร้องคดีอาญาไม่ระงับไปเพราะเป็นคดีอาญาแผ่นดิน
การดำเนินคดีอาญาการเล่นแชร์ เริ่มต้นโดยการกล่าวโทษหรือการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ของ รัฐ หรือพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือพนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการได้เมื่อได้ทำการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีการ กระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยการ เล่นแชร์ ก็สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้
กระบวนการในการดำเนินคดีอาญาก็จะดำเนินการตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเช่นเดียวกับความผิดอาญาอื่นๆ
การเล่นแชร์ของประชาชนทั่วไปผิดกฎหมายหรือไม่ ตอบคือไม่ผิดหากไม่ได้ดำเนินการเป็นธุรกิจหรือขัดต่อข้อห้ามของกฎหมาย ดังนี้ ข้อจำกัดการเล่นแชร์ตามพ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 1.กรณีบุคคลธรรมดา หรือประชาชนทั่วไป ห้ามมิให้เป็นนายวงแชร์ (เท้าแชร์) หรือจัดให้มีการเล่นแชร์รวมกันมากกว่า 3 วง หรือมีจำนวนสมาชิกรวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน หรือมีทุนกองกลางต่อ 1 งวดรวมกันทุกวงไม่เกิน 3 แสนบาท หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ โดยเท้าแชร์ได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น นอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในงวดใดงวดหนึ่งโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.กรณีนิติบุคคล ห้ามมิให้เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ หากนิติบุคคลใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1 เท่าถึง 3 เท่าของทุนกองกลางแต่ละงวดทุกวงแชร์ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งให้นิติบุคคลนั้นหยุดดำเนินการเป็นนายวงแชร์หรือการจัดให้มี การเล่นแชร์ และห้ามมิให้สัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัด ให้มีการเล่นแชร์ หรือสมาชิกวงแชร์ หากนิติบุคคลใดฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดกรณีอื่นๆ ได้แก่ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท และห้ามมิให้ผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำว่า “แชร์” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน หาก ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และปรับอีกไม่เกิน วันละ 500 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังใช้ชื่อในธุรกิจอยู่