จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :เรื่อง / ภาพ สุธน สุขพิศิษฐ์: |
เมื่อสองอาทิตย์ที่แล้วยังไปอันซีนชุมพรอยู่หยกๆ อาทิตย์นี้ขอทำหน้าที่ชวนเที่ยวน่านครับ
ก็เอาแผนการที่เคยเที่ยวมาเมื่อต้นปีกลับมาเขียนใหม่ ซึ่งผมเชื่อว่าน่านนั้น ไปเมื่อไหร่ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ผมเองก็จะต้องขึ้นไปเที่ยวและไปตามแผนนี้ครับ
ที่แนะนำหรืออยากให้เที่ยวน่านตั้งแต่ไก่โห่นี่ เพราะจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด อย่างแรกปลายเดือนต.ค.ต้นเดือนพ.ย.ฝนหมดแล้ว แต่ความเขียวชุ่มชื้นของต้นไม้ยังมีอยู่และถึงจะไม่มีฝนแล้ว แต่เช้าๆ ยังมีหมอกเกาะเรี่ยกับยอดเขา แล้วก็ไม่ต้องไปไกลมากมาย อยู่นอกเมืองน่านนิดเดียวก็เห็นแล้ว
อย่างที่สอง ต้นเดือนพ.ย.อากาศหนาวมาแล้ว เย็นกำลังสบาย ค่ำๆ หรือเช้ามืดอาจจะต้องใส่เสื้อกันหนาวด้วยซ้ำไป
อย่างที่สาม วิวข้างทางจะสวยมาก เพราะต้นข้าวยังเต็มท้องทุ่งมีทั้งเขียวและเหลือง แล้วแต่ว่าทุ่งไหนนาไหนต้นข้าวจะอ่อน แก่กว่ากัน ถ้าเลยตอนนี้ไปแล้วจะเป็นหน้าเกี่ยว พอเหลือแต่ซังข้าว วิวก็จะดูแห้งๆ ไปหน่อย
อย่างที่สี่ ไปเที่ยวก่อนถึงฤดูท่องเที่ยวตักตวงไว้ก่อน เรื่องที่พัก ที่กิน โดยเฉพาะผู้ที่ชอบเที่ยวดูธรรมชาติตามอุทยานแห่งชาติ ยังพอมีที่พักไม่ต้องแย่งกับใคร ราคาก็ยังเลือกได้
สำหรับการเดินทางก็แล้วแต่ตามสะดวก เครื่องบิน รถโดยสารก็มีให้เลือกเยอะ แต่พอไปถึงที่นั่นแล้วถ้าไม่มีรถก็จะลำบากหน่อย เห็นว่ายังไม่มีบริษัทรถให้เช่าที่นั่น ฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือเอารถไปเองและตีรวดเดียวไปถึงน่านเลย ซึ่งผมเคยวิ่งเส้นตากฟ้า ตาคลี พิจิตร ไปออกวังทอง พิษณุโลก แล้วเข้าอุตรดิตถ์ แพร่ และน่าน ระยะทางวิ่งสั้นกว่า แต่ถนนจากตากฟ้าไปตาคลีไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ก็ยังมีเส้นนครสวรรค์ พิษณุโลก เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
เมื่อวิ่งอยู่ก็ต้องคิดเผื่อถึงที่กินด้วย ตามทางก็มีผัดไทยที่วัดท้องคุ้ง อ่างทอง หรือที่ผัดไทยปากบาง พรหมบุรี สิงห์บุรี ริมถนนสายเอเชีย มีผัดไทย บะหมี่ต้มยำ อร่อยใช้ได้ ที่อุตรดิตถ์มีร้านเล้งเลือดหมู ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ผัดไทย ถนนบรมอาสน์เยื้องกับโรงแรมสีหราช กินแล้วแวะซื้อขนมเทียนประดับงา บ้านกนกมณี ซอยข้างโรงแรมสีหราช เจ้านี้อร่อยมาก แต่อาจจะไม่มีทุกวัน
ที่น่านมีโรงแรมพอประมาณครับ มื้อกลางวันยังพอหาร้านอาหารพื้นเมือง เช่น ไส้อั่ว แกงแค ลาบคั่ว ข้าวซอย อยู่ตรงถนนใกล้ๆ สี่แยกวัดภูมินทร์ มีสองร้านอยู่เยื้องกันเสียด้วย ร้านหนึ่งกว้างขวางเหมือนเป็นสวนอาหาร อีกร้านหนึ่งเป็นห้องแถว ใช้ได้ทั้งคู่ ส่วนมื้อเย็นไม่ต้องหาร้านอาหารพื้นเมือง มีร้านริมแม่น้ำน่านใกล้ๆ สะพานข้ามแม่น้ำน่านกลางเมือง มีหลายร้านฝีมือทัดเทียมกันคือไม่อร่อย แต่ถ้าเอาวิวยามเย็น วิวดีทุกร้าน
ไปน่านเช้าๆ ต้องไปไหว้พระธาตุแช่แห้งเอาสิริมงคลก่อน เป็นวัดอยู่บนเนินเขา เป็นวัดที่มีศิลปกรรมชั้นเยี่ยม ทั้งองค์เจดีย์และพระวิหารที่อยู่ในบริเวณระเบียงคต ต้องพินิจดูหน้าบันพระวิหารด้วยครับ ลวดลายปูนปั้นหน้าบันที่เป็นพญานาคขดนั้นงามมาก ส่วนภายในพระวิหารตอนนี้ มีพระพุทธรูปบูชาที่แกะด้วยไม้ลอยตัวขาย เป็นกึ่งศิลปะพื้นบ้าน ไม่มีที่อื่นจริงๆ แล้วทางวัดอยากให้ซื้อแล้วตั้งบูชาอยู่ในพระวิหารนั้นเลย แต่ถ้าซื้อแล้วจะเอากลับมาบูชาที่บ้านก็ไม่เป็นไร
ไปเที่ยวน่านนั้นหลายคนคงชอบเรื่องธรรมชาติ เพราะมีอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง แต่ละแห่งก็ไม่ยิ่งหย่อนกัน ผมก็ขอแถมว่าไปถึงนั่นแล้วก็ดูแหล่งวัฒนธรรม ศิลปกรรม และสังคมด้วยก็ดี เพราะน่านมีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนบ้านอื่นเมืองอื่น แม้กระทั่งในเมืองเหนือเอง
ที่แรกอยากให้เที่ยวคือ อ.ท่าวังผา พื้นที่ของอำเภอนี้สวยมากเป็นพื้นที่ราบกว้างล้อมด้วยภูเขา มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน แล้วยังมีแม่น้ำสายเล็กแยกอ้อมออกไปอีก พื้นที่อย่างนี้นี่แหละเป็นชัยภูมิที่ถูกต้องของการตั้งถิ่นฐานของคนสมัย ก่อน มีน้ำ มีภูเขาเป็นกำแพง มีพื้นที่เพาะปลูก และมีช่องทางลมที่ทำให้มีอากาศดี ก็ดีแน่ครับเพราะเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน อ.ท่าวังผา ยังเป็นสถานีตรวจอากาศหนาวอยู่ เวลาหน้าหนาวต้องมีรายงานอากาศว่า อุณหภูมิต่ำสุดที่ท่าวังผาเท่าไหร่ ไม่เหมือนสมัยนี้เอาอุณหภูมิต่ำสุดที่ยอดดอยอินทนนท์มาเป็นหลัก
กลุ่มคนหรือชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานที่ท่าวังผายุคแรก เป็นชาวไทยลื้อ ซึ่งอพยพมาจากเมืองหล้าทางสิบสองปันนานั้น มาเพราะมีปัญหาขัดแย้งระหว่างเจ้าครองเมืองด้วยกันเอง มาตั้งถิ่นฐานปักหลักมีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่บ้านหนองบัว เลยตัวตลาดท่าวังผาไปนิดเดียว
ตามระเบียบแบบแผนหรือวัฒนธรรมของการตั้งถิ่นฐานของทางเหนือ ทุกที่ต้องมีสะดือเมืองหรือเสาหลักเมือง ที่เชียงใหม่ก็มีเสาอินทขิล ที่วัดเจดีย์หลวง สะดือเมืองของหมู่บ้านหนองบัวเป็นลานอเนกประสงค์ ในทุก 3 ปีหมู่บ้านนี้จะจัดปีใหม่ไทยลื้อครั้งหนึ่ง เป็นทั้งงานทำบุญปีใหม่ และรำลึกถึงบรรพบุรุษที่หอบหิ้วกันมา มีการเซ่นไหว้ภายใน ที่เรียกว่าเข้ากรรมห้ามคนในออก คนนอกเข้า ซึ่งครั้งหน้าในปี 2554 ถึงจะมีงานนี้
หมู่บ้านหนองบัว มีวัดหนองบัวซึ่งเป็นวัดไทยลื้อ มีพระวิหารซึ่งถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมอันดับต้นๆ ในขบวนพระวิหารในภาคเหนือ ภายในพระวิหารมีจิตรกรรมฝาผนังที่งามมากเป็น 1 ใน 12 ของจิตรกรรมชั้นยอดของภาคเหนือ ที่น่านเองมี 2 แห่ง คือที่วัดภูมินทร์และที่วัดหนองบัวนี่เอง รูปจิตรกรรมฝาผนังในวัดหนองบัวถึงจะเป็นเรื่องราวชาดกพื้นบ้าน แต่มีเสน่ห์ตรงที่มีวิถีชีวิตของผู้คนธรรมดาที่เป็นชาวบ้านทั่วไป ซึ่งต่างจากจิตรกรรมฝาผนังทั่วไปที่มักจะเขียนเรื่องราวตามจินตนาการผสมคติ ความเชื่อ มีเทพยดา นางฟ้า ชนชั้นกษัตริย์ ที่อยู่อาศัยเป็นวิมานหรือราชวัง แต่งองค์ทรงเครื่องเหนือมนุษย์
นักเล่นผ้าพื้นเมืองสมัยใหม่เคยบอกว่า ลวดลายผ้าลายน้ำไหลที่สาวนุ่งอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัวนั้น เป็นลายที่คลาสสิกที่สุด ผมก็ว่าจริงตามที่เขาว่า
วัดหนองบัวในวันเสาร์อาทิตย์จะมีพ่ออุ้ย 2-3 คนมานั่งเล่นดนตรี สะล้อ ซอ ซึง น่ารักมากครับ แล้วบริเวณพื้นที่โดยรอบของหมู่บ้านหนองบัวนั้น เป็นหมู่บ้านที่มีระเบียบ สะอาด น่าอยู่มาก
จากท่าวังผาขึ้นเหนือไปก็มีที่เที่ยวอีกเยอะ อุทยานแห่งชาติจะมีหลายแห่ง แต่ถ้ายังอยากดูวัดไทยลื้อแบบศิลปะพื้นบ้านจริงๆ หรือเป็นโฟล์กอาร์ต ต้องเข้าไปที่ อ.เชียงกลาง มีวัดหนองแดง นี่ก็ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้ น่าดูครับ เป็นพระวิหารเตี้ยๆ หลังคามุงด้วยไม้แผ่นที่เรียกว่าแป้นเกร็ด คันทวยหรือแผ่นไม้ค้ำชายคาที่เรียกว่าทวยหูช้าง ซึ่งมีอยู่โดยรอบนั้นไม่เหมือนกันเลยสักแผ่น ช่อฟ้าเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ ซึ่งเป็นสัตว์กึ่งช้างกึ่งนก งามมากครับภายในก็สวย ทำบุญเสียด้วยก็ดีเป็นสิริมงคล
นี่เป็นเพียงเล็กๆ น้อยๆ ของน่านเท่านั้น ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก ฉะนั้นต้นหนาวนี้เที่ยวน่าน เก็บตักตวงสิ่งดีๆ ไว้ก่อนก็คุ้มครับ