สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เลือกผู้สอบบัญชี กองสำรองเลี้ยงชีพ

จาก โพสต์ทูเดย์

สวัสดีค่ะ หลังจากฉบับที่แล้ว เราพอทราบเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ ประโยชน์ และการจัดทำงบการเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปแล้ว

สรรหามาเล่าฉบับนี้ ขอเล่าเรื่องที่ติดค้างกันไว้ในเรื่องการจัดตั้งผู้สอบบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อ ว่ามีเกณฑ์การเลือกอย่างไร

ก่อนอื่นขอเรียนว่า การที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดให้มี ผู้สอบบัญชีกองทุน เพื่อให้มีผู้เข้ามาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลงบการเงินของกองทุน การบันทึกบัญชีของกองทุนถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ เพื่อจะได้นำมาเปรียบเทียบกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยกันได้ ซึ่งหากข้อมูลถูกต้องก็จะสะท้อนให้เห็นมูลค่าเงินกองทุนที่ถูกต้องด้วย จึงเห็นควรกำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญใน วิชาชีพเข้าตรวจสอบงบการเงินทั้งหมดของกองทุนสำนักงานก.ล.ต. จึงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้สอบบัญชีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่า ในการตรวจสอบ งบการเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องใช้ผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. สามารถกำกับดูแลได้อีกชั้นหนึ่ง เพราะถือว่าข้อมูลงบการเงินเป็นข้อมูลสำคัญอันสะท้อนให้เห็นมูลค่าของกองทุน และใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการบริหารจัดการของบริษัทจัดการกองทุนได้

อย่างไรก็ดี การว่าจ้างผู้สอบบัญชีย่อมมีค่าใช้จ่าย ในการตรวจสอบ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งมีทั้งกองทุนขนาดเล็กและใหญ่ตามประเภทนายจ้าง หรือประเภทกองทุน สำนักงาน ก.ล.ต. จึงผ่อนผันให้กองทุนขนาดเล็กหรือจำนวนสมาชิกน้อย สามารถใช้ผู้สอบบัญชีทั่วไปได้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของกองทุน และให้เป็นอำนาจของสมาชิกในการคัดเลือกผู้สอบบัญชี โดยกำหนดกลุ่มที่สามารถใช้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั่วไปได้ เฉพาะ 2 กรณี คือ

(1) กรณีที่กองทุนมีสมาชิกของกองทุนไม่เกิน 100 คน หรือ

(2) กรณีที่กองทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสมาชิกให้ใช้ผู้สอบบัญชีทั่วไปได้

ทั้งนี้ ในการนับจำนวนสมาชิกหรือนับมูลค่ากองทุนให้พิจารณาจากจำนวนสมาชิกหรือมูลค่า กองทุน ณ วันสิ้นเดือนก่อนวันที่แต่งตั้งผู้สอบบัญชี

ในการพิจารณาเลือกผู้สอบบัญชีของกองทุนที่มีหลายนโยบายการลงทุน (Master fund) ก็จะใช้เงื่อนไขเดียวกับเกณฑ์ข้างต้น คือนับจำนวนสมาชิก และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของทั้งกองทุน กล่าวคือนับรวมทุกนโยบายการลงทุน ไม่ได้นับตามรายนโยบายการลงทุน ดังนั้น ถึงแม้ว่าแต่ละนโยบายมีจำนวนสมาชิกและมูลค่ากองทุนตามเกณฑ์ที่ได้รับยกเว้น ตามข้อ (1) หรือ (2) ข้างต้น แต่เมื่อนับรวมทุกนโยบายการลงทุนของกองทุน Master Fund ทำให้ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับยกเว้นก็ต้องใช้ผู้สอบบัญชีที่สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นชอบ

มาถึงตรงนี้ ท่านคณะกรรมการกองทุนที่อยู่ระหว่างการเลือกผู้สอบบัญชี คงพอเข้าใจเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วนะคะ และหากต้องการทราบรายชื่อผู้สอบบัญชีที่สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นชอบ สามารถค้นหารายชื่อได้ที่ www.thaipvd.com ภายใต้หัวข้อ “ผู้ให้บริการ” ซึ่งจะมีข้อมูลทั้งชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และ email address ครบถ้วน เพื่อให้ง่ายต่อการติดต่อค่ะ แล้วพบกันใหม่ในสรรหามาเล่าฉบับหน้า สวัสดีค่ะ

view