จากประชาชาติธุรกิจ
กลางวิกฤตจากความแตกแยกทางการเมืองทำให้ประชาชนแบ่งขั้วส่วนใหญ่ในประเทศ ปิดหูปิดตา เปิดรับข้อมูลข่าวสารเฉพาะ พวกตัวเองเท่านั้น
ฉะนั้นปัญหาก็คือ วิกฤตรากลึกในสังคมไทยที่ต้องช่วยแก้ไขอย่างแท้จริงจึงถูกมองข้าม ละเลย
ดร.อัม มาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ โคจรมาพบกัน เพื่อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาประเทศ อย่างเป็นระบบ บนเวที สัมมนาวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประจำปี 2552 การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคมในหัวข้อ "เราจะปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมกันอย่างไร"
ดร.อัม มารกล่าวสรุปว่า ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมากเกินกว่าจะรับได้ ทั้งความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความเหลื่อมล้ำทรัพย์สิน ถามว่า จะจัดการได้อย่างไร ก็ทำได้หลายวิธี เช่น การปฏิวัติ ยึดทรัพย์คนรวยไปให้คนจน หรือใช้กระบวนการลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้แต่ก็ทำได้ช้ามาก
แต่ กระนั้นก็ตามกระบวนการแก้ความ เหลื่อมล้ำมักนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น โดยมีรัฐเป็นผู้ซ้ำเติมหรือจงใจซ้ำเติม แนวโน้มดังกล่าวดังตัวอย่างกฎหมายป้องกันการผูกขาดที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีการละเว้นการปฏิบัติ
ส่วนมาตรการภาษีซึ่งเป็นเรื่องคลาสสิก แต่กลับมีบทบาทน้อยในการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะต่ำกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติ ส่วนใหญ่เก็บจากการบริโภค ที่เก็บจากทุนมีน้อยมาก ขณะที่ในทางการเมืองและเศรษฐกิจรัฐ เป็นผู้ผูกขาดการใช้อำนาจ จากหนึ่งรัฐบาล จากประชาธิปไตยครึ่งนาที ในคูหา เลือกตั้ง ทำให้หลายพรรคแข่งขันโดยใช้ประชานิยม
เมื่อ ทีดีอาร์ไอเสนอเรื่อง ระบบสวัสดิการสังคมที่ประชาชนนิยมที่ยั่งยืน ซึ่งมีทางเป็นไปได้แต่มีเงื่อนไขว่า เศรษฐกิจต้องเติบโต รวมถึงการบริหารจัดการการคลังต้องมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ และมีคอร์รัปชั่นน้อยลง
ดร.อัมมารตั้งคำถามว่า แล้วประชานิยมอะไร ?
คำ ตอบ "จากงานวิจัยบอกว่า ประชาชนเข้าใจปัญหานี้ และสนับสนุนแนวทางที่จะให้รัฐจัดระบบสวัสดิการสังคม โดยพบว่าประชาชนต้องการมากที่สุดคือ สวัสดิการการศึกษา และประชาชนมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการให้สวัสดิการแบบถ้วนหน้ามากกว่าเจาะจง ให้คนจน ที่สำคัญประชาชนพร้อมให้รัฐเก็บภาษีเพิ่ม"
ด้าน ดร.นิธิเปิดประเด็นว่า ความแตกร้าวทางการเมืองในปัจจุบัน อันนำมาสู่ข้อเสนอเรื่องสันติ เรื่องสมานฉันท์ เป็นเพียงปัญหายอดภูเขาน้ำแข็ง แต่จริง ๆ แล้วสาเหตุและการแก้ปัญหาที่แท้จริง คือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองต่างหาก
"จากงานวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่าคนส่วนใหญ่ใน ประเทศไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรนานาชนิดได้ ทั้งทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ กระทั่งทรัพยากรทางวัฒนธรรม ส่งผลให้ประชาชนต้องทำกินจากการอุปถัมภ์ จากคนที่ได้ค่าเช่าทางเศรษฐกิจตลอดเวลา ไม่ว่าจะในรูปแบบนโยบายประชานิยม หรือการพึ่งหรือการพึ่งพาเครือข่ายอุปถัมภ์ของคนที่สามารถได้ค่าเช่าทาง เศรษฐกิจ"
"ผมคิดว่าการเมืองไทยที่ผ่านมาหลายสิบปี ตั้งแต่ 2475 ก็ว่าได้ เราอยู่กันอย่างโดยสงบ เพราะคนส่วนใหญ่ยังพอใจที่จะเป็นผู้พึ่งพิงจากคนที่ได้ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ สูง หรือคนที่มีตำแหน่งในการบริหาร แต่วันนี้สังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรสังคมหรือชุมชน เพราะแทบไม่มีทรัพยากรให้ เข้าถึง
"ในอดีตเราเห็นคนไทยมีความรัก ใคร่ สามัคคี มีความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ แต่ปัจจุบันชุมชนในประเทศไทยก็แตกแยกเช่นกัน แม้แต่วัดก็เป็นของหลวงพ่อ ไม่ใช่ของประชาชน"
ดร.นิธิเสนอว่า ปัจจุบันจำเป็นที่ชาวบ้านต้องพึงพารัฐมากขึ้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อทำให้มีความจำเป็นในการเข้ามาต่อรองในเวทีของรัฐ เพราะจะพึ่งพาการอุปถัมภ์อย่างที่เคยมีมาในอดีตอย่างเดียวไม่พอ เพราะปัจจุบันผู้อุปถัมภ์ ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือนักการเมือง ไม่สามารถอุปถัมภ์ให้พอแก่การดำรงชีวิตอยู่ของคนปัจจุบัน
"ฉะนั้นผมคิดว่า มีความจำเป็นที่จะต้องคิดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการสังคม ที่เป็นไปได้ ทั้งเรื่องการศึกษา น้ำ หรือไฟฟ้า"
แต่คำถามคือ เราจะเอาเงินมาจาก ไหน ?
ดร.นิธิ มีคำตอบว่า คือ ภาษีที่ดิน ต้องทำให้คนเข้าถึงที่ดินได้มากขึ้น ต้องมีคนหน้าใหม่ ๆ เข้ามาถือภาษีทางตรงมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันจำเป็นต้องปรับอัตราภาษีอะไรบางอย่างเพื่อทำให้คนที่อยู่ใน ภาคเกษตรที่ต้องมาอยู่ในภาคบริการโดยตรงสามารถเติบโตได้ด้วย
"ที่ สำคัญต้องทำให้การคอร์รัปชั่นลดลง เพราะผมคิดว่าความวิตกเรื่องการคอร์รัปชั่นในเวลานี้แพร่ระบาดเป็นอย่างมาก แต่ไม่ใช่ว่าคนไทยมีศีลธรรมดีขึ้น แต่คนไทยจำนวนมากเริ่มเข้าใจว่าต้องพึ่งพารัฐ ฉะนั้นถ้ารัฐมัวแต่โกง แล้วไม่มีเงินเหลือถึงชาวบ้าน ก็ต้องช่วยกันลดคอร์รัปชั่นลง"
นอกจาก นี้ ดร.นิธิยังเห็นว่า ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมอย่างหนัก เนื่องจากเราเป็นห่วงตัวเลขภาคอุตสาหกรรมมากกว่าปอดของชาวบ้าน แต่ทรัพยากรธรรมชาติในระยะยาวจะช่วยกระจายรายได้ ฉะนั้นปอดของชาวบ้านจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจ
ฉะนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง เช่น ทรัพยากรชายฝั่งที่รัฐบาลหลายรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย คือ ไม่ยอมปราบการทำลายทรัพยากรชายฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นป่า แม่น้ำ หรือที่ดิน
อีก ประเด็นที่สำคัญ คือ อำนาจต่อรองทางการเมืองต้องเท่าเทียมกัน หรือใกล้เคียงกันให้มากกว่านี้ การกระจายอำนาจเป็นแค่การกระจายองค์กรภาครัฐออกไป แต่กลับไม่กระจายอำนาจให้ประชาชน ฉะนั้นจะต้องให้คนตัวเล็ก ๆ หรือชาวบ้านเข้าถึงทรัพยากรได้ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่กลับพบว่ามีการกีดกันคนตัวเล็ก ๆ ไม่ให้เข้าถึง
"อย่าง กรณี กทช. (กรรมการกิจการโทรคมนาคม) ผมแปลกใจมากว่า ทำไมไม่มีตัวแทนผู้บริโภคสักคน ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ใช้โทรศัพท์ส่วนใหญ่ แต่กลับได้ กรรมการที่มีแต่คนรู้เรื่องเทคนิค"