จากประชาชาติธุรกิจ
การ มีโอกาสไปทำงานในต่างประเทศ อาจเป็นหนึ่งใน เป้าหมายชีวิตของใครหลายคน ที่บ้างก็ต้องการแสวงหาสิ่งแปลกใหม่ให้ชีวิต หรือบ้างก็เพื่อรายได้ที่สูงกว่าบ้านเกิดเมืองนอน
แต่ชีวิตของแรงงาน ต่างชาติยุคนี้ก็ไม่ได้ถึงกับหอมหวานนัก เพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้น อันเป็นผลพวงของเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงทุกวัน โดยล่าสุดเอเอฟพีอ้างรายงาน ผลสำรวจของ อีซีเอ อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ ว่า พนักงานต่างชาติในเมืองต่าง ๆ ของเอเชียกำลังรู้สึกว่ามีอำนาจการซื้อน้อยลง เพราะเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยชาวต่างชาติในญี่ปุ่นได้รับผลกระทบหนักที่สุด อันเป็นผลมาจากเงินเยนแข็งค่าขึ้นมาก หรือสูงสุดในรอบ 14 ปี เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์
ทั้งนี้ ชาวต่างชาติที่ไปลงหลักปักฐานในประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ต้องการผลตอบแทนมากขึ้น เพื่อรักษาอำนาจการซื้อให้อยู่ในระดับเดียวกันกับปีที่ผ่านมา
การ ประเมินค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น พิจารณาจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้า และค่าใช้จ่ายจิปาถะ แต่ไม่รวมค่าบ้าน รถยนต์ และค่าเล่าเรียนบุตร โดยเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดสำหรับ พนักงานต่างชาติ 4 อันดับแรกอยู่ในญี่ปุ่น ไล่เรียงตั้งแต่โตเกียว โยโกฮามา นาโกยา และโกเบ ตามด้วยอันดับ 5-10 คือฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ โซล ปักกิ่ง สิงคโปร์ และไทเป ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงคุณภาพชีวิตที่ดี รายงานเรื่องประสบการณ์ของแรงงานต่างชาติ จัดทำโดย เอชเอสบีซี แบงก์ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า แคนาดาเป็นประเทศที่แรงงานต่างชาติรู้สึกว่ามีคุณภาพชีวิตดีที่สุด และเป็นหนึ่งในประเทศที่พวกเขาสามารถปรับตัวเข้ากับคนท้องถิ่นได้ง่ายที่สุด ด้วย
ซึ่ง เดวิด นอร์ตัน หัวหน้าด้านลูกค้าของเอชเอสบีซี แบงก์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงผลการสำรวจว่าเห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างกันในแง่ของรายได้และ คุณภาพชีวิตโดยรวม เพราะบรรดาประเทศที่ติดอันดับต้น ๆ ในฐานะประเทศที่เหมาะแก่การทำเงินและเก็บเงินในรายงานการสำรวจฉบับแรกของเอ ชเอสบีซี กลับติดอันดับท้าย ๆ ในรายงานฉบับนี้
สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ ประเทศที่แรงงาน ต่างชาติอาจไม่ได้รับเงินเดือนสูง เช่น แคนาดาและออสเตรเลีย แต่กลับรู้สึกมีความสุขจริง ๆ เพราะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และสามารถปรับตัวเข้ากับชุมชนได้ง่าย ผลสำรวจพบว่าแรงงานต่างชาติมีความสุขกับคุณภาพชีวิตดีขึ้น เมื่อเทียบกับบ้านเกิด โดย 42% บอกว่ามีอาหารและที่อยู่ดีขึ้น และ 44% บอกว่าการเดินทางไปทำงานดีขึ้น ส่วนปัจจัยที่รู้สึกว่าดีน้อยลง คือความบันเทิงและชีวิตสังคม
โดยประเทศที่แรงงานต่างชาติ รู้สึกว่าพวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นคือ แคนาดา (68%) สหรัฐ (61%) และออสเตรเลีย (57%) ส่วนประเทศยอดฮิต ในการตั้งถิ่นฐาน 3 อันดับแรกคือแอฟริกาใต้ (55%) ตามด้วยไทย (53%) และแคนาดา (52%) โดยแรงงานต่างชาติล้วนทำงานและอาศัยในประเทศดังกล่าวมานานกว่า 5 ปี
สำหรับ ประเทศที่แรงงานต่างชาติ รู้สึกมีความสุขสนุกกับชีวิตมากที่สุดอันดับ 1 คือแคนาดา อันดับ 2 ออสเตรเลีย อันดับ 3 ไทย ตามด้วยสิงคโปร์ บาห์เรน แอฟริกาใต้ สหรัฐ และฮ่องกง ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) รั้งตำแหน่งอันดับ 18 ในการสำรวจนี้คือเก็บข้อมูลความคิดเห็นจากแรงงานต่างชาติกว่า 3,100 คน ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก
และเมื่อพูดถึงยูเออี ก็คงต้องโยงไปถึงวิกฤตดูไบ ที่เพิ่งเกิดขึ้นหมาด ๆ ซึ่งวอลล์สตรีต เจอร์นัลระบุว่า วิกฤต ดังกล่าวกระทบต่อความเชื่อมั่นของชุมชนแรงงานต่างชาติในดูไบ เพราะวิกฤต อาจนำไปสู่การปลดพนักงาน เมื่อบริษัทของรัฐบาลถูกกดดันให้ปรับโครงสร้างองค์กร ทั้งนี้ บริษัทของรัฐบาลเป็น นายจ้างรายใหญ่ที่สุดของดูไบ และว่าจ้างพนักงานต่างชาติมากที่สุด โดยข้อมูลของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐระบุว่า ประชากรของยูเออีประมาณ 85% เป็นแรงงานต่างชาติ ขณะที่คนท้องถิ่นเป็นเพียงประชากรกลุ่มน้อยเท่านั้น