สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

IMFส่งทีมสอบผลกระทบวิกฤตดูไบ เวิลด์ เจ้าหนี้จ้องยึดที่ดินชายฝั่งค้ำหนี้ซูกุกบริษัทนาคีล

จากประชาชาติธุรกิจ



กลุ่มเจ้าหนี้ดูไบ เวิลด์จ้องยึดที่ดินริมชายฝั่งที่ใช้ค้ำประกันพันธบัตรอิสลาม "นาคีล" มูลค่าประเมิน 4.2 พันล้านดอลลาร์ หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ด้านไอเอ็มเอฟเตรียมส่งทีมตรวจสอบและประเมินผลกระทบวิกฤตหนี้ดูไบ เวิลด์ ขณะที่มอร์แกน สแตนเลย์เตือนยอดขอยืดหนี้อาจพุ่ง 2 เท่าตัว กว่า 4.67 หมื่นล้านดอลลาร์ เหตุบริษัทมีปัญหาอาจขอพ่วงด้วยอีกหลายราย

เมื่อ วันที่ 8 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมาสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า กลุ่มเจ้าหนี้ของบริษัทนาคีลอาจได้สิทธิในการครอบครองที่ดินอันแห้งแล้งริม ชายฝั่งขนาดเท่ากับเกาะแมนฮัตตัน หากบริษัทผิดนัดชำระพันธบัตรอิสลาม หรือซูกุก (sukuk) ซึ่งออกเพื่อระดมเงินทุนมาทำโครงการดูไบ วอเตอร์ฟรอนต์ บางส่วน เนื่องจากบริษัทนาคีลได้ระบุในหนังสือชี้ชวนของโครงการ
หนังสือ ชี้ชวนระบุว่า โจนส์ แลง ลาซาล ได้ประเมินมูลค่าที่ดินดังกล่าวไว้ประมาณ 4.2 พันล้านดอลลาร์ เมื่อ 3 ปีก่อน โดยพิจารณาจากการประเมินโครงการดังกล่าวทั้งโครงการ ซึ่งมีกำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2561 ไว้ว่า จะมีมูลค่าอยู่ที่ 1.18 หมื่นล้านดอลลาร์
โครงการดูไบ วอเตอร์ฟรอนท์ เป็นโครงการที่นาคีลวางแผนสร้างเมืองใหม่ที่มีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของเกาะฮ่องกง ซึ่งซาอุด มาซุด นักวิเคราะห์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของยูบีเอสประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ ดังกล่าวว่า ไม่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างน้อยภายใน 5 ปีข้างหน้า อีกทั้งการนำที่ดินดังกล่าวมาค้ำประกันการออกพันธบัตรอิสลาม วงเงิน 3.5 พันล้านดอลลาร์ ถือว่าน้อยกว่าราคาประเมินเมื่อปี 2549 อย่างมาก
อย่างไร ก็ตามการบังคับคดีจำนองใด ๆ ก็ตามอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก มาร์ค แอนดรูว์ หุ้นส่วนบริษัทกฎหมายเดนตัน ไวลด์ แซปเต ซึ่งให้คำปรึกษาแก่ผู้ถือพันธบัตรอิสลามเตือนว่า เจ้าหนี้จะต้องดำเนินการฟ้องร้องที่ศาลของดูไบ เนื่องจากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ล้วนอยู่ภายใต้กฎหมายดูไบซึ่งไม่ใช่กระบวนการที่เร็วและทำได้ง่ายนัก
ขณะ เดียวกันนายมาซูด อาเหม็ด ผู้อำนวยการฝ่ายตะวันออกกลางและเอเชียกลาง ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) เปิดเผยว่า คณะทำงานชุดหนึ่งของไอเอ็มเอฟจะเดินทางไปยังดูไบในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อตรวจสอบอย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจของวิกฤตการณ์หนี้ของดูไบ เวิลด์ และดำเนินมาตรการหากจำเป็นเพื่อแก้ไขวิกฤตครั้งนี้
ประกอบกับ การเดินทางไปครั้งนี้ไอเอ็มเอฟจะถือโอกาสปรับปรุงข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐ อาหรับเอมิเรตส์ให้ทันสมัย รวมทั้งประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2552 ไปด้วย
ผู้ บริหารระดับสูงของไอเอ็มเอฟตั้งข้อสังเกตว่า นับถึงขณะนี้ผลกระทบของวิกฤตดูเหมือนจะอยู่ในวงจำกัด หลังจากก่อกระแสวิกฤตในหมู่นักลงทุนต่างประเทศมานานนับสัปดาห์ว่า วิกฤตอาจขยายวงออกไป อย่างไรก็ดีแม้ความวิตกกังวลของนักลงทุนจะลดลงบ้างแต่มีความเป็นไปได้ว่า วิกฤตการณ์อาจส่งผลกระทบที่กินเวลายาวนานกว่าปกติต่อสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศเพื่อนบ้าน 
ในอีกด้านหนึ่งหนังสือพิมพ์อัล-บายัน อ้างคำเปิดเผยของนักการธนาคารอังกฤษ ในดูไบโดยระบุว่า การหารือระหว่างผู้บริหารของดูไบ เวิลด์ และคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนเจ้าหนี้ครอบคลุมตั้งแต่การหาทางออกร่วมกัน แนวทางการประนอมหนี้ และการกำหนดวันไถ่ถอนตราสารหนี้แทนกำหนดเดิมในวันที่ 14 ธันวาคมที่จะถึงนี้
รายงานระบุว่า คณะกรรมการเจ้าหนี้ของดูไบ เวิลด์ มีสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เอชเอสบีซี ลอยด์ส และโรยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ ร่วมกับเอมิเรตส์ เอ็นบีดี และอาบูดาบี คอมเมอร์เชียลแบงก์ สถาบันการเงินท้องถิ่นของดูไบรวมอยู่ด้วย
ในประเด็นยอดรวมหนี้ที่จะขอ เจรจาเพื่อยืดระยะเวลาการชำระนั้น โมหะเหม็ด ดับเบิลยู เจเบอร์ และเปาโล บาโตริ นักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนเลย์ กล่าวในรายงานฉบับล่าสุดซึ่งเผยแพร่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า อาจเพิ่มจำนวนขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว เป็นประมาณ 4.67 หมื่นล้านดอลลาร์ เนื่องจากคาดว่าจะมีธุรกิจอื่น ๆ ของเอมิเรตส์ต้องการความช่วยเหลือในลักษณะเดียวกันเพิ่มขึ้น ซึ่งในจำนวนนั้น ได้แก่ ดูไบ โฮลดิง ดูไบ โฮลดิง คอมเมอร์เชียล โอเปอเรชั่น กรุ๊ป เบิร์ส ดูไบ และดูไบ ซูกุก เซ็นเตอร์

view