จากประชาชาติธุรกิจ
"พระ มหาวุฒิชัย วชิรเมธี" หรือ ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย เป็นพระนักคิดนักเขียนชื่อดัง ที่เผยแผ่ธรรมะเชิงปฏิบัติให้เข้าถึง คนทุกชนชั้น มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ล่าสุด ท่าน ว.วชิรเมธี เปิดตัวเว็บไซต์ "ธรรมะทูเดย์" ดึงคนทุกรุ่นทุกวัยเข้าวัดผ่านโลกออนไลน์ ด้วยภาษาธรรมที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน
นอกจากนี้ ท่าน ว. ยังเปิดเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ไปพร้อม ๆ กันมานานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว ล่าสุด พระ ว.วชิรเมธี มีเครือข่ายในเฟซบุ๊กราว 3 หมื่นคน ขณะที่ ทวิตเตอร์มี followers กว่า 7 พันคนแล้ว
ในปี 2553 นี้ ท่าน ว.วชิรเมธี มีโปรแกรมเดินทางไปบรรยายธรรมและ นำปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 เดือน และยุโรปอีก 1 เดือน เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาสู่ชาวโลก
ท่านบอกว่า "ปัจจุบันชาวตะวันตกหันมาสนใจพุทธศาสนาอย่างสูงยิ่ง"
เย็น ย่ำก่อนปีใหม่ไม่กี่วัน ทีมข่าวประชาชาติธุรกิจ (ประชาชาติธุรกิจ, ประชาชาติออนไลน์, DLife) พร้อมโชเฟอร์ เดินทางไปขอพรปีใหม่กับท่าน ว.วชิรเมธี พร้อมกับสนทนาธรรมในหัวข้อ "สันติประชาธิปไตย" ณ สถาบันวิมุตตยาลัย
บทสนทนาธรรมเปิดศักราชใหม่นี้ ถือเป็นพรปีใหม่ชั้นดีที่อาจจุดประกายให้ คนไทยฉุกคิด หันมาใช้สติและปัญญา มากกว่าใช้อารมณ์ ในการประหัตประหารกันเอง !
.........................
ปัญหาการเมือง-เศรษฐกิจ-คนวิวาท-ชาติวิปโยค
...ปัญหา ของประเทศไทยในเวลานี้ ถ้านิยามให้สั้น ๆ พระอาจารย์อยากจะ บอกว่า มีอยู่ 4 ปัญหาด้วยกัน คือ 1.การเมืองวิกฤต 2.เศรษฐกิจวิกล 3.คนวิวาท และ 4.ชาติวิปโยค
นี่คือ 4 ปัญหาหลักของคนไทยที่เราจะต้องเร่งถอดถอนออกไปให้ได้ ถ้าไม่ช่วยกันถอดถอนปัญหาเหล่านี้ออกไปจากสังคมไทย ทิ้งเอาไว้จะกลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักของสังคมไทย
เช่น ปัญหาภาคใต้ เมื่อเกิดความรุนแรงใหม่ ๆ สื่อมวลชนรุมกันเสนอข่าวรายงานกันทุกวัน อาจจะทุกชั่วโมงก็ว่าได้ แต่เมื่อผ่านมาสัก 3-4 ปี ทั้ง ๆ ที่มีคนถูกฆ่า มีเสียงปืน เสียงระเบิดดังเกือบทุกวัน แต่คนไม่สนใจที่จะเป็นข่าวแล้ว
เพราะอะไร ? เราเริ่มชินชากับความรุนแรง
ปัญหา ของสังคมไทยก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราปล่อยให้การเมืองยังคงเป็นการเมืองที่ไม่มีความโปร่งใส ไม่มีความมั่นคง ต่อไปในอนาคตเราก็จะคุ้นชินกับการเมืองสกปรก
ใน ทางเศรษฐกิจ หากเรายังปล่อยให้ไม่มีการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม เราก็จะยอมรับว่า การที่ทรัพยากรกว่า 80% กระจุกตัวอยู่ในชนชั้นนำทางอำนาจและ ทางธุรกิจ เพียงแค่ 20 ครอบครัว หรือมากกว่านั้นอาจจะ 500 ครอบครัว หาก เรายอมรับสิ่งนี้ต่อไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีการแก้ไข ทั้ง ๆ ที่ประชาชนคนไทย หรือทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากร แต่วันหนึ่งเราจะมีสงครามแย่งชิงทรัพยากรเกิดขึ้น
ส่วนคนวิวาท ถ้าเราไม่ถอดถอนออกมา ต่อไปในอนาคตอันใกล้ เมืองไทยก็จะ กลายเป็นเมืองอกแตก ที่อยู่กันในลักษณะต่างคนต่างอยู่ แล้วก็จะมีสี 2 สี ซึ่ง กลายเป็นน้ำแยกสายฝายแยกกอที่เข้ากันไม่ได้ พร้อมจะลุกฮือขึ้นมาจงเกลียดจงชังแล้วก็ทำร้ายกันได้ทุกเมื่อ ซึ่งสัญญาณ ณ เวลานี้ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนั้น
ขณะที่ชาติวิปโยคก็คือ ชาติซึ่งเคยถูกจับตามองว่าเป็นเสือของเอเชีย ในที่สุดเราก็จะกลายเป็นแค่คนป่วยในเอเชียเท่านั้นเอง นี่คือปัญหาหลักของสังคมไทยเวลานี้
...พระอาจารย์อยากจะชวนมองไป ที่การเมืองว่า เราพยายามที่จะแก้ปัญหาการเมืองด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 (2550) เราเคยมีรัฐธรรมนูญที่ยอมรับกันว่าดีที่สุด คือ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 17 (2540) แต่แล้วเมื่อมีการประกาศใช้จริง ๆ ก็กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดนักการเมืองที่ฉ้อฉลปล้นชาติมากเป็น ประวัติการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แล้วเชื่อมั้ยว่าเราร่างรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่าก็เพื่อที่จะรอวันถูก ฉีกเท่านั้นเอง
ปัญหารัฐธรรมนูญคือ นักการเมือง
พระอาจารย์จึงเชื่อมั่นอย่างหนึ่งว่า ปัญหาไม่น่าจะอยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่นักการเมืองกับประชาชน
ในส่วนนักการเมือง ทำไมจึงถูกมองว่าเป็นตัวปัญหาของการเมืองไทย ?
พระ อาจารย์คิดว่า นักการเมืองมีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับการทำงานทางการเมือง การทำงานทางการเมืองนั้น นักการเมืองทุกคนจะต้องมีเจตนารมณ์ในลักษณะเป็นผู้รับใช้ประชาชน หรือมี public service จิตสำนึกในการรับใช้สาธารณะ เป็นแรงจูงใจในการเล่นการเมือง
แต่นักการเมืองไทยจำนวนไม่น้อย ก็มีลักษณะเป็น job service คือเข้ามาทำงานการเมือง เพื่อมุ่งบริการตัวเอง กลุ่มทุน กลุ่มพวกพ้อง เป็นหลัก และนั่นเป็นเหตุให้ไม่สามารถทำงานการเมืองได้อย่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง
เยาว หราล เนห์รู นักการเมืองคนสำคัญของโลก เคยพูดไว้ว่า "อย่าเรียกข้าพเจ้าว่านายกรัฐมนตรีของอินเดียเลย เรียกข้าพเจ้าว่าเป็นหัวหน้าคนรับใช้ในอินเดียจะดีกว่า" นี่คือจิตสำนึกสาธารณะ หรือจิตสำนึกในการรับใช้ประชาชน ที่นักการเมืองทุกคนจะต้องมี
ในทางพระพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงหลักธรรมที่ว่าด้วยภาวะผู้นำทางการเมือง ข้อที่ 1 ทรงเริ่มต้นด้วยทาน ซึ่งก็คือ public service ฉะนั้นถ้านักการเมืองไทยมีจิตสำนึกในการรับใช้สาธารณะ เขาไม่โกง เขาไม่คอร์รัปชั่น เขาไม่วางอำนาจบาตรใหญ่ ไม่ทำตัวเป็นขุนนางศักดินา แต่เขาจะวางตัวต่ำสุด แล้วประชาชนต่างหากคือเจ้านายของเขา
ฉะนั้นการเมืองไทย ถ้าจะให้ดีต้องเริ่มต้นที่นักการเมือง ต้องมีเจตนารมณ์การทำงานทางการเมืองให้ถูกต้องเสียก่อน
ถ้า เจตนารมณ์การทำงานทางการเมืองไม่ถูกต้อง ทำงานการเมืองไป บางคนตายคาเก้าอี้ แต่พอวางมือจากการเมือง แล้ว ประชาชนยังนึกไม่ออกว่า นักการเมืองคนนี้เล่นการเมืองมา 50 ปี ทำอะไรให้ประเทศบ้าง
ในส่วน ประชาชน สิ่งที่เรายังขาดก็คือวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ไม่หยั่งรากลึก นั่นเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่า การที่นักการเมืองไปซื้อเสียงเป็นเรื่องที่ผิด พูดอย่างตรงไปตรงมา การที่นักการเมืองยังคงซื้อเสียงได้ ก็เป็นเพราะประชาชนยอมรับว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมดา
ตราบใดก็ตาม ที่วัฒนธรรมประชาธิปไตยยังไม่หยั่งรากลึก จนกลายเป็นวิถีชีวิตของประชาชน ตราบนั้นรัฐธรรมนูญจะไม่ใช่ทางออกของปัญหาการเมืองไทย
แก้ปัญหานักการเมือง-ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ
คำถามของอาตมาก็คือ ถ้าจะแก้ปัญหาการเมืองไทยจะแก้อย่างไร ?
ก็ ต้องบอกว่าต้องแก้ใน 3 ส่วน 1.แก้ที่ตัวนักการเมือง ให้นักการเมืองส่วนมาก แม้ไม่ใช่ทั้งหมด มีเจตนารมณ์ในการทำงานทางการเมืองที่ถูกต้อง มีจิตสำนึกในการรับใช้ประชาชน
2.ประชาชนจะต้องมีวัฒนธรรม ประชาธิปไตยที่หยั่งรากลึกลงไปในจิตใจ ถึงขั้นที่รู้ได้ว่า สิทธิคืออะไร เสรีภาพคืออะไร หน้าที่คืออะไร การมีส่วนร่วมทางการเมืองคืออะไร โดยไม่ต้องรณรงค์ ประชาธิปไตยที่มั่นคงจะเกิดขึ้นได้ ก็จากประชาชนที่สามารถปกครองตนเองได้ แล้วเข้าไปมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย
3.คงต้องปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีจิตวิญญาณของประชาธิปไตยจริง ๆ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ ที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรายังไม่มีรัฐธรรมนูญที่มีจิตวิญญาณของประชาธิปไตยที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ กับคนทั้งชาติอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญแต่ละครั้งที่ถูกฉีกและถูกเขียนขึ้นมา ล้วนแล้วแต่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เกิดจากการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย อย่างดียิ่ง แต่กลับกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ถ้า เมื่อไหร่ก็ตาม กติกาของเรายังไม่มีมาตรฐาน เราก็จะขาดผู้เล่นที่มีมาตรฐาน และนั่นเป็นเหตุให้ประชาธิปไตยของเรายังไม่ได้มาตรฐานอยู่ร่ำไป
เศรษฐกิจ-ต้องทุนนิยมมีหัวใจ
ต่อ มาคือเรื่องเศรษฐกิจ ทุกวันนี้ระบบเศรษฐกิจของเรามีปัญหามากก็เพราะช่องว่างทางรายได้ของประชาชน ระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นล่างห่างกันมากถึง 13 ช่วงตัว นี่เป็นตัวเลขที่น่ากังวลที่สุด
คำถามของอาตมาก็คือ ทำไมในประเทศที่มีทรัพยากรที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จึงยังคงมีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างรายได้ประชาชนห่างกันขนาดนี้
ฉะนั้น ใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการในเรื่องเศรษฐกิจของประเทศคงต้องมา นั่งดูใหม่ว่า เรามีการจัดสรรทรัพยากรกันอย่างไร บริหารการเงินการคลังกันอย่างไร จึงทำให้เกิดการรวยกระจุกและจนกระจาย ไม่ใช่คิดกันเฉพาะหน้า แต่อาตมาคิดว่า คงต้องคิดกันเป็น 20, 30 หรือเป็น 50 เป็น 100 ปี เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ประชาชนจะอดอยาก และถ้าไม่บริหารจัดการให้ดี ก็จะเกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากรได้
มัน คงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่สุด ที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ แต่วันหนึ่งข้างหน้ากลับมีสงครามแย่งชิงทรัพยากร อีกอย่างก็คือคนไทยต้องเรียนรู้วัฒนธรรมในการบริโภคที่มีสติมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราถูกกระตุ้นให้บริโภคอย่างขาดสติ ทุนนิยมมุ่งให้ผู้บริโภค บริโภคให้มากที่สุดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นั่นคือทุนนิยม ที่ไม่มีหัวใจ
อาตมาอยากเห็นทุนนิยมทั้งหลาย เป็นทุนนิยมที่มีหัวใจมากขึ้น ถามว่าทำอย่างไร ?
ทุก ๆ ครั้งที่มีการผลิต มีการจำหน่ายสินค้าออกไป สินค้าและบริการของคุณ การผลิตของคุณ ไม่ควรจะเป็นการผลิตหรือไม่ควรจำหน่ายสินค้าและบริการที่มีผลทำลายเพื่อน มนุษย์
เวลานี้เรามีสินค้าและบริการที่มียอดขายดี แต่ไม่ได้เกื้อกูลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทย ดังนั้นผู้ที่อยู่ในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการคงต้องเติมหัวใจเข้าไปให้ มาก
บริโภคอย่างมีสติ-วิ่งตามปัญญา
ส่วนผู้บริโภคเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน เพราะทุกวันนี้คนไทยบริโภคด้วยคุณค่าเทียมมากกว่าคุณค่าแท้...
บริโภค ด้วยคุณค่าเทียมก็คือ บริโภคอะไรก็ตาม มุ่งเน้นการบริโภคเพื่อสนองกิเลสมากกว่าความจำเป็น แต่เราควรหันมาบริโภคอย่างมีสติให้มากขึ้น ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะบริโภคขยะข้อมูล ปฏิกูลข่าวสาร บริโภคอาหารขยะมากขึ้น บริโภคตามเทรนด์ ตามแฟชั่นมากขึ้น และนั่นเป็นเหตุให้มีเงินเท่าไหร่ ไม่พอกิน ไม่พอใช้ ไม่พอจ่าย
เพราะเมื่อบริโภคมาก ๆ วิ่งตามกิเลสมาก ๆ ก็เหมือนเอาฟืนลงไปป้อนในไฟ ไฟไม่เคยอิ่มด้วยฟืนฉันใด กิเลสก็ไม่เคยอิ่มด้วยการสนองความต้องการฉันนั้น
ฉะนั้นแทนที่เรา จะวิ่งตามความอยากของเราไปไม่จบไม่สิ้น ควรจะหันมาพัฒนาความต้องการของเราให้สูงขึ้น คือแทนที่จะวิ่งตามความต้องการโดยสัญชาตญาณ ก็หันมาวิ่งตามความต้องการที่เป็นปัญญา
และแทนที่เราจะบริโภคตามคุณ ค่าเทียมคือ เอาสังคมเป็นตัวตั้ง เอาเทรนด์ เอาแฟชั่น เอาโฆษณาทางโทรทัศน์เป็นตัวตั้ง ก็หันมาเอาความจำเป็นเป็นตัวตั้ง เช่น โทรศัพท์ หลัก ๆ คือโทร.เข้า โทร.ออก แต่เดี๋ยวนี้คนใช้ถ่ายรูปเป็นหลัก มากไปกว่านี้ใช้โทรศัพท์แสดงอัครฐานทางการเงินด้วย บอกรสนิยม ใช้ส่งอีเมล์ด้วย จนบางทีเราหลงลืมไปว่าคุณค่าที่แท้จริงของโทรศัพท์คืออะไร ถ้าเราเข้าใจคุณค่าของโทรศัพท์ มีเครื่องเดียวก็อาจจะพอแล้ว
ประการ หนึ่ง ในเวลานี้คนไทยยอมรับว่า การคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องธรรมดา นี่เป็นทรรศนะอันตราย สะท้อนถึงเข็มทิศจริยธรรมที่พังทลายลงไปแล้ว ฉะนั้น ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันลุกขึ้นมา ตั้งเข็มทิศทางจริยธรรมให้เที่ยงตรงว่าคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งไม่ดี เราต้องพูดกันให้ชัด
ถ้าหากเรายอมรับว่าคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติ ในอนาคตสังคมไทยจะอยู่กันในลักษณะต่างคนต่างอยู่ และจะเกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากรเกิดขึ้น เพราะทรัพยากรทั้งหมดจะถูกต้อนไปอยู่กับคนที่มือยาวที่สุด แล้วเราจะเหลืออะไรที่เป็นทรัพยากรอันสมบูรณ์ส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน
เวลา นี้คนไทยจำนวนมากสะสมกักตุนทรัพยากรมากมายจนเกินความจำเป็น ดังหนึ่งว่าจะมีอายุเป็นพันปี หมื่นปี และ นั่นทำให้ประชาชนทั้งประเทศเดือดร้อน
มุ่งหาเหตุสังคมวิวาท-ใช้ปัญญาต่ำ
ถัด มาคือ คนวิวาท ทุกวันนี้สังคมไทยใช้ความรู้สึกแทนเหตุผลมากขึ้น เราต้องมา ตั้งคำถามว่าทำไม ? ประเทศชาติที่เคยมีเหตุผล เดี๋ยวนี้จึงเปราะบางทางอารมณ์ หันมาใช้อารมณ์สูง แต่ใช้ปัญญาต่ำ เราต้องช่วยกันถามหาสาเหตุ แล้วคิดค้น วิเคราะห์วิจัยให้ได้ มิเช่นนั้นเราจะกลายเป็นสังคมที่ถูกปั่นหัวเหมือนจิ้งหรีด ปั่นหัวให้คนไทยลุกขึ้นมาทำร้ายกัน
ที่สำคัญสังคมไทยกลายเป็นสังคม ที่ยอมรับความรุนแรงได้อย่างหน้าตาเฉยมากยิ่งขึ้น ไม่ตื่นไม่ตกใจหากจะมีระเบิดเอ็ม 79 ตกลงที่ทำเนียบรัฐบาล หรือที่สนามหลวง ทั้ง ๆ ที่ประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก นี่คือเรื่องที่ใหญ่และอันตรายมาก แต่กลับมีให้เห็นในบ้านเรามากขึ้นบ่อย ๆ
บางครั้งเห็นตัวคนบงการ ด้วยซ้ำไป แต่ทำไมเราจึงไม่ทำอะไร ยังคงวางเฉยกันได้ นี่เป็นเรื่องอันตรายมาก ถ้าเรายอมรับว่าความรุนแรงคือส่วนหนึ่งของสังคมไทย ในอนาคตวันไหนไม่ได้ยินเสียงปืน วันนั้นคงเป็นวันผิดปกติ
ประการ ต่อมา สังคมไทยหันมาพึ่งขุนขลัง ขมังเวทย์มากขึ้น หมอดูเริ่มมีบทบาท ชี้ทิศนำทาง ทั้งการเมือง สังคม และเศรษฐกิจมากขึ้น เกิดอะไรขึ้นกับระบบ ภูมิปัญญาแห่งชาติของเรา ทำไมคุณวิเศษเวทไสย์ พ่อมด หมอผี จึงกลายเป็นผู้มีอิทธิพลชี้นำทิศทางการพัฒนาประเทศ
เกิดความผิดพลาดกับกระบวนการทางปัญญาของประเทศตรงไหน ? เราต้องช่วยกันลุกขึ้นมาพินิจพิจารณา
อีก ประการก็คือ ทำไมศักยภาพในการแข่งขันของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยจึงลดลง มีแนวโน้มที่ชัดเจนในแวดวงการศึกษาว่า คนไทยอ่านน้อยลง และขีดความสามารถทางภาษา ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ แม้กระทั่งทางภาษาไทยลดลงอย่างน่าใจหาย อะไรคือเหตุปัจจัยของสิ่งเหล่านี้ ?
คำถามต่อมาคือ ทำไมสังคมไทยที่มีศักยภาพเป็นเสือของเอเชีย เดี๋ยวนี้จึง กลายเป็นผู้ป่วยของเอเชีย ?
5 ประเด็นนี้ พระอาจารย์อยากกระตุ้นให้มีการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเพื่อที่จะตอบให้ได้ เราคนไทยชอบพูดด้วยความประมาทว่า "ไม่ต้องห่วงหรอก ถึงอย่างไรสังคมไทยก็มีพระสยามเทวาธิราช"
อาตมาคิดว่า ถ้าเราคิดอย่างนี้ ก็เท่ากับว่าเราไม่เชื่อมั่นสิ่งใด ๆ แล้ว แม้กระทั่งตัวของเราเอง ถึงต้องผลักภาระทั้งหมดไปให้พระสยามเทวาธิราช อาตมาคิดว่า เวลานี้ท่านแบกภาระมากพอแล้วล่ะ คนไทยต้องลุกขึ้นมาพึ่งตนเอง
ส่วน ชาติวิปโยค ก็คือการที่ประเทศชาติเต็มไปด้วยปัญหาที่ว่ามานี้ ให้ประเทศชาติสูญเสียโอกาสในการพัฒนา ประชาชนสูญเสียโอกาสในการที่จะได้อยู่ในแผ่นดินที่ อุดมสมบูรณ์อย่างสันติ แล้วเครดิตของประเทศชาติซึ่งบรรพบุรุษสั่งสมกันมาเป็นร้อย ๆ ปี ก็ตกมาหายหก ตกลงในยุคสมัยของเรา
สื่อมวลชน-สื่อมอมชน ?
นักข่าวถามท่าน ว.ว่า ทุกวันนี้สื่อมวลชนทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็นแล้วหรือไม่ ?
คำ ตอบที่ได้รับก็คือ "...ต้องยอมรับว่าสื่อมวลชนในรอบหลายปีที่ผ่านมาก็มีปัญหามาก เราได้เห็นอย่างชัดเจนว่า สื่อจำนวนมากเลือกข้างและเอียงกระเท่เร่เลย และหาสื่อที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมในเวลานี้น้อยมาก สื่อหลายฉบับกลายเป็นสื่อมอมชน ไม่ใช่สื่อมวลชนตัวจริง เรียกว่าเวลานี้ มีสื่อเทียมมากกว่าสื่อแท้ มุ่งการขายข่าว มุ่งความมั่นคงของตัวเอง มากกว่า มุ่งความมั่นคงและผาสุกของประชาชน
และที่สำคัญที่สุดคือ สื่อจำนวนมากมุ่งแต่แสดงความรู้สึก เราเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นความคิดเห็น เมื่อเราอ่านจริง ๆ เราจะเห็นว่า คอลัมนิสต์จำนวนมากเขียนแสดงความรู้สึกทุกวัน ๆ แต่ไม่ค่อยทำการบ้านไม่ค่อยมีความรู้อยู่ในสิ่งที่เขียน
สิ่งที่ เสนอแนะกับสังคมบางทีก็เป็นเพียงแค่ความรู้สึกของปัจเจกชนคนหนึ่ง ไม่ได้เกิดจากการวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างลึกซึ้ง แล้วเราก็เรียกสิ่งนี้ว่าเป็นความคิดเห็น แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่ความรู้สึกเท่านั้น
ฉะนั้นสื่อคงต้องทำการบ้านให้มากขึ้น แล้วก็คงต้องแสวงหาดุลยภาพทางปัญญา เพื่อเป็นที่พึ่งของประเทศชาติในยามวิกฤตให้ได้มากกว่านี้
ขัดแย้งอย่างสันติ-ออกจากวิกฤต
อาตมา มองว่า ในยามที่การเมืองของเราไม่มีฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ ไม่มีฝ่ายรัฐบาลที่มีคุณภาพ สื่อควรจะเป็นสะดมหลักที่ให้ประชาชนได้พึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ในแง่ความกล้าหาญทางจริยธรรม ในการที่จะกล้าลุกขึ้นมาตรวจสอบจริยธรรมของนักการเมือง ลุกขึ้นมาชี้ทิศนำทางให้ประชาชนได้อ้างอิง เอาเป็นที่พึ่งทางสติปัญญาได้บ้าง
ไม่ใช่ประชาชนอย่างไร สื่อก็อย่างนั้น อย่าไปคิดแต่ว่าทำสื่อเพื่อขายประชาชน เพราะประชาชนชอบอย่างนี้ สื่อก็ต้องทำอย่างนี้ อาตมาคิดว่า สื่อคงต้องเป็นมากกว่าสื่อมวลชน กล่าวคือต้องเป็นปัญญาชนด้วย มิเช่นนั้นแล้ว เราจะกลายเป็นเตี้ยอุ้มค่อมกันไปอย่างนี้
นักข่าวถามต่อไปว่า ในทางธรรมะ คนไทยจะออกจากวิกฤตสังคมการเมืองไทยได้อย่างไร ?
พระ ว.วชิรเมธี ตอบว่า "...วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น เป็นโอกาสของประเทศไทย นี่ไม่ใช่พูดเพราะว่าตีวาทะ แต่เท่าที่ศึกษาจากประวัติศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั่วโลก ประเทศชาติเหล่านั้นล้วนผ่าน ความขัดแย้งครั้งสำคัญมาแล้วทั้งนั้น
ฉะนั้นมั่นใจได้เลยว่าในระบอบ ประชาธิปไตย คุณจะต้องผ่านและเผชิญกับความขัดแย้ง แต่เราไม่จำเป็นต้องขัดแย้งแล้วก็รุนแรงเหมือนประเทศที่เคยมีบทเรียนเหล่า นั้นมาแล้ว เราสามารถพัฒนา รูปแบบความขัดแย้งของเรา ให้เป็นการ ขัดแย้งอย่างสันติ เพื่อที่จะสร้างประชาธิปไตยที่สันติ หรือเรียกว่า สันติประชาธิปไตย
แต่สันติประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ 1.ประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างมีสติ 2.ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจวัฒนธรรมประชาธิปไตย 3.นักการเมืองเป็นผู้ที่อาสาเข้ามาทำงานการเมือง ด้วยจิตสำนึกรับใช้สาธารณะ 4.เรามีรัฐธรรมนูญที่มีมาตรฐานสากล และ 5.มีสื่อมวลชนมั่นคงในจรรยาวิชาชีพ คือ ไม่เลือกข้าง แต่เลือกความจริง
ถ้ามีองค์ประกอบทั้ง 5 ประการนี้ พระอาจารย์คิดว่า สันติประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็จะเกิดขึ้นได้
...เจริญพร