จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วนัส แต้ไพสิฐพงษ์
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารรุ่นที่ 3 เครือเบทาโกร
หากเปรียบธุรกิจของตระกูล เป็นเหมือนต้นไม้ใหญ่ โดยผู้บริหารรุ่นแรกเป็นผู้ปลูก และรุ่นต่อๆ มา เป็นผู้ดูแลและบำรุงให้ต้นไม้นั้นเติบโต แผ่กิ่งใบ ให้ดอกออกผล และเมื่อมีการสืบทอดกันไปหลายชั่วคน ผู้รับผิดชอบแต่ละรุ่นย่อมต้องการเห็น ต้นไม้ที่หยั่งรากแข็งแรงมากขึ้น ตลอดจนให้ร่มเงาและให้ดอกผล แก่คนรุ่นหลังได้ตราบนานเท่านาน
อย่างที่ทราบกันว่าเครือเบทาโกรเป็นธุรกิจของตระกูลแต้ไพสิฐพงษ์ ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่รุ่นที่ 3 แล้ว ในการบริหารธุรกิจของครอบครัว จะมีบางเรื่องที่ต่างจากบริษัทมหาชนทั่วไป เพราะส่วนมากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกและอาจจัดการได้ยาก แนวทางการดำเนินการและการแก้ปัญหาต้องอาศัยความบริสุทธิ์ใจและตั้งใจจริงของ คนในตระกูล และการมีส่วนร่วมของสมาชิก
ผู้บริหารในธุรกิจของครอบครัวจะมีภารกิจหลัก 2 ส่วน คือ 1. บริหารกิจการให้มีผลประกอบการที่ดี และสร้างความยั่งยืน 2. ดูแลสมาชิกในตระกูลให้อยู่ดีมีสุข โดยจะต้องทำทั้งสองส่วนให้ดีเพราะมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก การที่ธุรกิจของตระกูลจะยั่งยืนได้ ส่วนหนึ่งมาจากเสถียรภาพของโครงสร้างการถือหุ้น เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ขนาดของธุรกิจมีผลต่อการแข่งขันมาก หากคนในตระกูลแยกตัวออกมาดำเนินธุรกิจเอง จะมีผลทำให้ขนาดของกิจการเดิมของตระกูลเล็กลง ซึ่งจะลดทอนความสามารถในการแข่งขันลงได้ สิ่งนี้ผู้บริหารธุรกิจของตระกูลต้องให้ความสำคัญและมีวิธีการจัดการที่ เหมาะสม
มุมมองที่ต้องการให้ตระกูลมีความมั่นคงระยะยาวนั้นย่อมมีหลากหลาย ซึ่งตัวผมเองต้องยอมรับว่าเคยประสบปัญหาเป็นอย่างมากในการพยายามที่จะเสนอ ความเห็นที่ต่างจากแนวทางปฏิบัติหรือหลักการที่ตระกูลเคยใช้อยู่ ผมจึงได้รับบทเรียนว่าเรื่องที่มีผลกระทบด้านเงินๆ ทองๆ นั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนกว่าที่คิดมาก ถึงแม้ตัวเองจะมั่นใจว่า ได้นำเสนอความเห็นด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่วิธีนำเสนอก็ยังไม่ดีพอ ทำให้ผมประสบความล้มเหลวในครั้งแรก
โชคดีที่ผมมีกัลยาณมิตรให้คำแนะนำให้ผมมุ่งเน้นไปที่กระบวนการ และการมีส่วนร่วมของสมาชิกในตระกูล และปล่อยให้กระบวนการนำไปสู่ข้อสรุปด้วยตัวของมันเอง ซึ่งต่างจากการนำเสนอของผมในครั้งแรก ที่ผมด่วนสรุปเสนอความเห็นส่วนตัวของผมเอง ผมจึงเริ่มใหม่อีกครั้งโดยการเชิญอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งมาบรรยายให้กับ ผู้ใหญ่และสมาชิกในตระกูลฟัง ซึ่งเป็นที่น่าประหลาดใจกับตัวผมเองว่า
เมื่อผู้ใหญ่เข้าใจว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อความยั่งยืนของตระกูลใน ระยะยาว จึงได้อนุมัติให้ไปดำเนินงานในเรื่องนี้ต่อ โดยให้นโยบายว่า คนรุ่นต่อไปของตระกูลต้องตกลงกันเอง โดยใช้เสียงส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์ตัดสิน เมื่อผู้ใหญ่ให้ไฟเขียวทุกอย่างก็สามารถดำเนินการจนสำเร็จได้ในที่สุด ซึ่งหลักการใหญ่ๆที่เราสรุปได้ก็คือ ให้กันส่วนของแต่ละคนออกมาเป็นกองกลาง เพื่อใช้ในการดูแลสมาชิกตระกูลในเรื่องที่จำเป็น เช่น ทุนการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น และใช้ในกิจกรรมซึ่งจะส่งเสริมให้สมาชิกในตระกูลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ให้มีความสัมพันธ์ที่ดี เช่น การท่องเที่ยวประจำปีของตระกูล เป็นต้น
โดยส่วนตัวรู้สึกดีที่เรื่องสามารถจบลงได้ด้วยดี และรู้สึกภูมิใจที่สมาชิกของตระกูลต่างมีเป้าหมายเดียวกันที่ยอมเสียสละ ประโยชน์ส่วนตัวเพื่อช่วยกันดูแลรักษาสมาชิกของตระกูลทุกคนให้มีความสุข และความมั่นคงในระยะยาว