สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศาสตราจารย์แซมมวลสัน

จากประชาชาติธุรกิจ

คนเดินตรอก

วีรพงษ์ รามางกูร




เมื่อ วันที่ 13 ธันวาคม 2552 โลกได้สูญเสียศาสตราจารย์แซมมวลสัน นักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนที่สองในสามคนของศตวรรษที่ 20 ไปด้วยวัย 94 ปี

ในศตวรรษที่ 20 ต้องยกให้นักเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่สามคนคือ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ พอล แซมมวลสัน และมิลตัน ฟรีดแมน

ศาสตราจารย์ แซมมวลสัน เกิดที่เมืองแกรี มลรัฐอินเดียนา เมื่อปี 1915 สำเร็จปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อจบการศึกษาแล้วมาเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่ง แมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ด้วยอายุเพียง 25 ปี เป็นศาสตราจารย์ในขณะที่มีอายุเพียง 32 ปี และในปี 1966 ได้รับยกย่องเป็นศาสตราจารย์สถาบัน หรือ ′Institute Professor′ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของสถาบันแห่งนี้

ศาสตราจารย์ แซมมวลสันเป็นนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 1970 ขณะนั้นผมยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเว เนีย อาจารย์ที่นี่ส่วนมากจะเป็นชาวอเมริกันยิว เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเอ็มไอทีเกือบทั้งนั้น ในปีนั้นมีตัวเก็งผู้จะได้รับรางวัลโนเบลอยู่สองท่านคือ ศาสตราจารย์แซมมวลสัน กับ ดร.ฟรีดแมน แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก วันหนึ่งผมได้พบศาสตราจารย์ลอเรนซ์ ไคลน์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ศาสตราจารย์แซมมวลสัน เลยถามท่านว่าใครควรได้รางวัลโนเบลปีนี้ หลังจากศาสตราจารย์ฟริตซ์ แห่งสวีเดน ที่ได้รับรางวัลนี้เป็นคนแรก ดร.ไคลน์ตอบว่า ถ้าศาสตราจารย์แซมมวลสันไม่ได้รางวัลนี้เป็นคนแรกของอเมริกา ท่านจะลาออกจากการเป็นอาจารย์ไปตั้งร้านขายแฮมเบอร์เกอร์ดีกว่า

ในสมัยนั้นนักศึกษาปริญญาเอกไม่ว่าจะลงทะเบียนเรียนวิชาอะไรก็ตาม ต้องอ่านหนังสือและบทความของศาสตราจารย์แซมมวลสันทั้งนั้น

ตำราเศรษฐศาสตร์ที่ยึดถือกันมานานก็คือ หนังสือของศาสตราจารย์อัลเฟรด มาร์แชลล์ หรือ Alfred Marshall ชื่อหนังสือ ′หลักเศรษฐศาสตร์′หรือ ′Principles of Economics′ เป็นหนังสือที่อธิบายทฤษฎีของนักเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม หรือ ′Classical Economics′ ไว้อย่างเป็นระบบ ทั้งเศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาค อธิบายว่าความต้องการซื้อ หรือ ′demand′เกิดขึ้นได้อย่างไร ความต้องการขาย หรือ ′supply′ เกิดขึ้นได้อย่างไร หนังสือเล่มนี้พิมพ์ในปี 1890 อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เล่าว่า ท่านอ่านตำราเล่มนี้จนจำได้ขึ้นใจและถือติดตัวไว้อ่านเสมอ แต่พอมาถึงทางด้านมหภาค อัลเฟรด มาร์แชลล์ เชื่อทฤษฎีของเซย์ที่ว่า ความต้องการซื้อจะต้องเท่ากับความต้องการขายเสมอ จะน้อยกว่าความต้องการขายไม่ได้ เพราะเมื่อมนุษย์ผลิตได้ก็ขายไปในตลาด รายได้จากการขายก็แบ่งไปให้ผู้ที่เป็นเจ้าของ เป็นปัจจัยในการผลิต เป็นเงินปันผลสำหรับผู้ประกอบการ ดอกเบี้ยของผู้ให้กู้ยืมไปเป็นเงินทุน ค่าเช่าสำหรับเจ้าของที่ดิน ค่าจ้างสำหรับผู้ใช้แรงงาน เมื่อผลิตมากขึ้นขายได้มากขึ้น รายได้ของผู้เกี่ยวข้องก็มากขึ้น รายได้มากขึ้นก็ทำให้ความต้องการซื้อมากขึ้น บางคนอาจจะออมมากขึ้น แต่เงินออมก็นำไปฝากธนาคาร ธนาคารก็ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ลงทุน ไม่เก็บเอาไว้ที่ธนาคารเกินความจำเป็น การออมจึงเท่ากับการลงทุนเสมอ ความต้องการสินค้าและบริการก็เพิ่มขึ้นเท่ากับความต้องการขาย เศรษฐกิจตกต่ำจึงเป็นไปไม่ได้ถ้ารัฐบาลไม่เข้ามายุ่งกับระบบเศรษฐกิจ ที่เศรษฐกิจมีขึ้นมีลงเพราะรัฐบาลเข้ามายุ่งในระบบเศรษฐกิจมากเกินไป

มาร์แชลล์ เป็นนักคณิตศาสตร์ที่เชี่ยวชาญมาก เวลาคิดเหตุผลทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ก็คิดเป็นสมการทางคณิตศาสตร์ก่อน คิดเสร็จแล้วให้เผาสูตรทางคณิตศาสตร์ทิ้งเสีย แล้วเขียนเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ออกมาเป็นตัวหนังสือภาษาอังกฤษ หนังสือตำรา ′หลักเศรษฐศาสตร์′ของท่านจึงไม่มีสูตรคณิตศาสตร์เลย ท่านเอาสูตรทางคณิตศาสตร์ของท่านไปไว้ในเชิงอรรถและภาคผนวกท้ายเล่ม มาร์แชลล์ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของสำนักเศรษฐศาสตร์เดิมรุ่นใหม่ หรือ ′Father of Neo-Classical Economics′

ต่อ มาจอห์น เมนาร์ด เคนส์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์วิชาคณิตศาสตร์ของท่านมาร์แชลล์ ได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง ′ทฤษฎีทั่วไปว่าด้วยการจ้างงาน ดอกเบี้ย และเงินตรา′ หรือ ′The General Theory of Employment Interest and Money′ ในปี 1936 โดยโต้แย้งอาจารย์ของท่านเองว่า ความต้องการซื้อไม่จำเป็นต้องเท่ากับความต้องการขายเสมอ บางทีความต้องการซื้อไม่ได้เกิดจากความต้องการจริงเสมอ แต่อาจจะมีความต้องการซื้อไว้เก็งกำไรด้วย หน้าที่ของเงินตราไม่ได้มีไว้เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและเป็น เครื่องมือในการรักษามูลค่าของสิ่งของเท่านั้น เงินตราหรือ ′money′ ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรด้วย เมื่อไหร่ตลาดถึงจุดจุดหนึ่งแล้ว ก็จะพบว่าความต้องการจริงไม่เพิ่มเมื่อรับซื้อจากผู้ต้องการขายจากการเก็ง กำไร เมื่อนั้นความต้องการซื้อรวมทั้งประเทศก็อาจจะน้อยกว่าความต้องการขายรวม ทั้งประเทศได้

ทฤษฎี ของเคนส์ได้นำมาใช้ที่อังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยตัวของท่านเองได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง แต่ทฤษฎีของเคนส์ก็ไม่ค่อยมีคนเข้าใจเพราะหนังสือ ′ทฤษฎีทั่วไป′ ท่านคิดโดยใช้สูตรคณิตศาสตร์ คิดเสร็จก็เผาทิ้งแล้วเขียนเป็นตัวหนังสือ คนอ่านก็ไม่ค่อยเข้าใจอย่างกว้างขวางนัก

ต่อมาอาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชื่อ อัลวิน แฮนเซน หรือ Alvin Hansen ซึ่ง เป็นอาจารย์ของ ดร.แซมมวลสัน เป็นผู้ที่เชื่อและซาบซึ้งในทฤษฎีของเคนส์เป็นอันมาก เอาทฤษฎีของเคนส์มาอธิบายด้วยตัวหนังสือและกราฟให้เห็นดุลยภาพของตลาดสอง ตลาด คือตลาดสินค้าและบริการกับตลาดการเงิน และเขียนหนังสือเล่มหนึ่งออกมาชื่อ ′คู่มืออ่านเคนส์′ หรือ ′A Guide to Keynes′ ความเห็นของ ดร.แฮนเซน เจ้าของสมญานาม ′เคนส์อเมริกัน′ หรือ American Keynes แซมมวลสันเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของ ดร.ลอเรนซ์ ไคลน์ เรื่อง ′การปฏิวัติของเคนส์′ หรือ ′Keynesian Revolution′ทั้ง สามท่านคือ อัลวิน แฮนเซน อาจารย์ของแซมมวลสัน ตัวแซมมวลสันเอง แล้วลูกศิษย์ของแซมมวลสัน ลอเรนซ์ ไคลน์ เป็นผู้ทำให้ จอห์น เมนนาร์ด เคนส์ มีชื่อเสียงโด่งดังมาจนปัจจุบันนี้

หนังสือที่ใช้เป็นตำราของนักศึกษาปริญญาเอกสมัยนั้นที่สำคัญอีกเล่มหนึ่งคือ ′รากฐานของการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์′ หรือ ′Foundations of Economic Analysis′ ของแซมมวลสัน หน้าแรกของหนังสือเล่มนี้มีเขียนไว้ประโยคเดียวคือ ′คณิตศาสตร์เป็นภาษาภาษาหนึ่ง′ หรือ ′Mathematics is a language′ เป็นการปฏิวัติความคิดดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นความคิดของอัลเฟรด มาร์แชลส์ เคนส์ หรือแม้แต่แฮนเซน แล้วหนังสือเล่มนี้ก็ใช้คณิตศาสตร์อธิบายทฤษฎีและการวิเคราะห์ เป็นคณิตศาสตร์ตลอดเล่ม

มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียมีอาจารย์เศรษฐศาสตร์ชื่อเสียงโด่งดังท่านหนึ่งชื่อ ศาสตราจารย์ซิดนีย์ เวนทรอบ หรือ Sydney Weintraub ท่าน โกรธแซมมวลสันที่เขียนว่าคณิตศาสตร์เป็นภาษาภาษาหนึ่งได้อย่างไร ขอถามหน่อยเถอะว่าถ้าคุณจะพูดว่า ′ผมรักคุณ′ จะเขียนเป็นสูตรคณิตศาสตร์ว่าอย่างไร

หนังสือเล่มนี้เป็นครั้งแรกที่แซมมวลสันใช้วิธีการของวิชาฟิสิกส์ที่เรียกว่า ′พลวัตความร้อน′ หรือ ′Thermodynamics′ มาใช้ในวิชาเศรษฐศาสตร์ โดยใช้หลักเปรียบเทียบว่า เมื่อเราเปลี่ยนตัวแปรตัวใดตัวหนึ่ง หรือหลายตัว เช่น รัฐบาลขึ้นภาษี หรือธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ย ฯลฯ แล้วจะกระทบต่อรายได้ประชาชาติอย่างไร จะกระทบต่อการจ้างงานอย่างไร จะกระทบต่อดอกเบี้ยอย่างไร เป็นต้น เป็นการเปรียบสถานการณ์อย่างหนึ่งกับสถานการณ์อีกอย่างหนึ่ง ที่นิยมเรียกกันว่า ′ดุลยภาพเชิงสถิตเปรียบเทียบ′ ′comparative statics′ ตั้งแต่นั้นมา การเรียนการสอนในระดับปริญญาเอกจึงมาเน้นทฤษฎีของเคนส์ นิยมใช้คณิตศาสตร์ชั้นสูงและวิธีการของวิชาฟิสิกส์ ′พลวัตความร้อน′ หรือที่เรียกว่า การวิเคราะห์แบบ ′comparative statics� ตามแบบที่พิมพ์ในหนังสือ ′รากฐานของการวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์′ มาจนทุกวันนี้ แม้แต่เจ้าสำนักทาง Neo-Classical Economics ต่อ มาโดยศาสตราจารย์มิลตัน ฟรีดแมน ก็ใช้วิธีวิเคราะห์แบบ ′ดุลยภาพเชิงสถิตเปรียบเทียบ′ มาใช้เป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นรากฐานของการวิเคราะห์แบบพลวัต หรือแบบ dynamic ทั่วไป

งาน ของ ดร.แซมมวลสันจึงมีทุกแขนงสาขาของวิชาเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์มหภาค จุลภาค การเงิน การคลัง การค้าระหว่างประเทศ ตลาดแรงงาน และเศรษฐศาสตร์ที่เป็นพลวัต หรือ ′dynamic economics′ แท้ ๆ คือ ทฤษฎีความจำเริญทางเศรษฐกิจ หรือ ′Theory of Economic Growth′

ใน ปี 1948 แซมมวลสันได้ตีพิมพ์ตำราเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี ชื่อ ′ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์′ หรือ ′Economics : An Introductory Analysis′ เป็นตำราที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง พิมพ์ออกมาทุกปีจนถึงประมาณปลายทศวรรษที่ 1980 รวมเป็นเวลาเกือบ 40 ปี แปลออกเป็นภาษาต่างประเทศกว่า 40 ภาษา รวมทั้งภาษาไทยโดยศาสตราจารย์ ดร.เดือน บุนนาค แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 1957 หรือปี 2500 หนังสือตำราเล่มนี้เป็นตำราที่นิยมแทนตำราของ ดร.อัลเฟรด มาร์แชลล์ ชื่อ ′หลักเศรษฐศาสตร์′หรือ ′Principles of Economics′ ดังที่กล่าวมาแล้ว

หนังสือเล่มนี้แซมมวลสันเริ่มต้นบทที่ 1 โดยยกกวีนิพนธ์ของจอห์น ดัน หรือ John Donne ที่ว่า ′To whom the bell, tolls� ท่าน ดร.เดือนแปลว่า ′ระฆังดังหง่าง ๆ เอ๊ะใครตาย′ ซึ่งเป็นธรรมเนียมของโบสถ์ศาสนาคริสต์ที่จะตีระฆังให้ถ้ามีใครถึงแก่กรรม จอห์น ดัน ให้ความหมายว่า ′อย่าถามว่าใครตาย ใครตายก็เป็นการสูญเสียของสังคมทั้งนั้น′ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ว่า ′เป็นวิชาที่ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคม′ แซมมวลสันขยายความต่อไปว่าเป็นการศึกษาว่า สังคมควรจะ ′ผลิตอะไร′ ′ผลิตอย่างไร′ และ ′ผลิตเพื่อใคร′ หรือ what how and for whom หาก เกิดปัญหาและเราปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี ตลาดก็จะบอกเองว่า สังคมควรจะ ′ผลิตอะไร′ ′จำนวนเท่าไหร่′ ผู้ผลิตก็จะตอบปัญหานี้เอง ถ้าผู้ผลิตได้ใช้ปัจจัยการผลิตอันได้แก่ แรงงาน ทุน ที่ดิน ทำงานอย่างเสรี ผู้ผลิตก็จะผลิตเพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด ซึ่งเป็นการตอบว่าจะ ′ผลิตอย่างไร′ควรใช้เทคโนโลยีแบบไหน

สำหรับ คำถามสุดท้ายคือ ′ผลิตเพื่อใคร′ จึงจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด รายได้จากการขายผลผลิตให้กับผู้บริโภค ผลประโยชน์จากการผลิตย่อมถูกแจกจ่ายออกไป เงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าเช่า ค่าจ้างแรงงาน ผู้ใดจะได้เท่าไหร่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจการเมืองและรูปแบบของระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือ ระบบเศรษฐกิจเสรี ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม และระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ ที่สำคัญที่สุดคือ ระบบการถือครองปัจจัยการผลิต ที่สำคัญคือทุนและที่ดิน รวมทั้งการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน ระบบเศรษฐกิจที่เหมาะสมที่สุดในทรรศนะของแซมมวลสัน คือระบบเศรษฐกิจแบบผสม หรือ ′mixed economic system′ กล่าวคือ ภาระหน้าที่ของภาคเอกชนและของรัฐบาลที่ต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสมกับสังคมทั้ง แต่ละแห่งและกาลเวลา ความเห็นนี้ถูกคัดค้านอย่างรุนแรงโดยมิลตัน ฟรีดแมน

ตอน ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียนั้นมีบรรยากาศที่คลุ้งไปด้วยอิทธิพล ทางความคิดและวิธีวิเคราะห์ของแซมมวลสัน เพราะศาสตราจารย์โรเบิร์ต ซัมเมอร์ ซึ่งเป็นน้องชายต่างบิดาของแซมมวลสันก็สอนอยู่ที่นั่น ดร.ลอเรนซ์ ไคลน์ ลูกศิษย์คนสำคัญรุ่นแรก ๆ ของแซมมวลสันก็สอนอยู่ที่นั่น ภรรยาของ ดร.ซัมเมอร์ ชื่อ แอนนิตา หรือ Anita น้องสาวของอาจารย์เศรษฐศาสตร์คนสำคัญของโลกอีกคนหนึ่ง ชื่อ เคเนท แอร์โรว์ Keneth Arrow นัก เศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอีกคนหนึ่งก็อยู่ที่นั่น ลูกชายของ ดร.โรเบิร์ต ซัมเมอร์ ชื่อ ลอเรนซ์ ซัมเมอร์ ก็เป็นรัฐมนตรีคลังของรัฐบาลประธานาธิบดีคลินตัน ส่วนแซมมวลสันเคยเป็นประธานคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีเคนเนดี และประธานาธิบดีจอห์นสันด้วย

การจากไปของศาสตราจารย์แซมมวลสันจึงเป็นข่าวไปทั่วโลก

view