จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
แดดสายของวันอาทิตย์ส่องสาดเหนือลำน้ำ และสะท้อนกระจกหลากสีเหนือหลังคาอุโบสถ กลิ่นและเสียงอบอวลกระจาย อยู่ในท่ามกลางฝูงชนคลาคล่ำ
บ้าง ก็เดินขวักไขว่อยู่บริเวณวัด บ้างก็เดินเลี่ยงออกไปริมคลองคลองบางพลีน้ำขุ่นข้น ทว่าสงบนิ่งสะท้อนแดดเป็นประกาย อีกฟากฝั่งคือเมืองเต็มรูปแบบ บ้านเรือนทรงทันสมัย และห้างสรรพสินค้า ขณะอีกฝั่งมีบ้านเรือนไม้ขนาบริมน้ำมีทางเดินปูด้วยไม้ยาวประมาณ 500 เมตร เป็นตลาดเก่าอายุกว่าร้อยปี ในนาม ตลาดโบราณบางพลี
'ตลาดโบราณบางพลี' ทอดตัวอยู่บนฝั่งเหนือของคลองสำโรง หมู่ 10 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งอยู่ติดกับวัดบางพลีใหญ่ใน ซึ่งมีอายุประมาณ 150 ปี เหตุที่เรียกว่าตลาดน้ำบางพลี สืบเนื่องมาจากเมื่อมีเริ่มหมู่บ้านจัดสรรบางพลีนคร หมู่บ้านชลเทพ หมู่บ้านนิลุบล มีประชาชนเข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมาก ตลาดอยู่ริมน้ำแห่งนี้จึงได้รับการเรียกขานว่า 'ตลาดน้ำบางพลี' โดยมีชื่อเดิมว่า 'ตลาดศิริโสภณ' ตามนามของผู้สร้าง ต่อมานาย บ้อ โตเจริญ (ขุนเจริญ) อดีตกำนันตำบลบางพลีใหญ่ และนาง เจียม โตเจริญ ได้สร้างตลาดต่อจนถึงบริเวณปากคลองบัวคลี่ รวมเรียกตลาดทั้งสองตลาดว่า 'ตลาดยายเจียม' และมีการสร้างต่อเติมในช่วงสุดท้ายจากตลาดใหม่ไปจนถึงวัดบางพลีใหญ่ใน ชื่อว่า 'ตลาดอาจารย์เจริญสุข'
สำหรับประวัติ หลวงพ่อโต ตามตำนานเล่าขานว่าสร้างในสมัยเดียวกันกับ 'หลวงพ่อวัดบ้านแหลม' ตำบลดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสาคร และ 'หลวงพ่อโสธร' จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งตามประวัติของพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ 3 องค์นี้เป็นพระที่ลอยมาตามน้ำ ผ่านมาทางปราจีนบุรี แล้วไปผุดที่ตำบลสัมปทวน แขวงเมืองฉะเชิงเทรา ชาวบ้านไปพบเข้าจึงเอาเชือกพรวนไปผูกมัดพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ แล้วช่วยกันฉุดลากขึ้น แต่ไม่สามารถจะนำขึ้นมาจากน้ำได้ พระพุทธรูปองค์ใหญ่จึงลอยตามกระแสน้ำเรื่อยไป และไปผุดขึ้นที่บ้านแหลมจังหวัดสมุทรสงคราม ชาวบ้านแหลมจึงอัญเชิญประดิษฐานไว้ที่ วัดบ้านแหลม ส่วนองค์เล็กไปผุดขึ้นที่คลองใกล้ วัดบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ชาวบ้านจึงอัญเชิญประดิษฐานไว้ที่วัดบางพลี ส่วนหลวงพ่อโสธรซึ่งเป็นองค์กลางนั้นผุดขึ้นที่หน้า วัดโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา
'วัดบางพลีใหญ่ใน' จะมีประเพณีรับบัวเป็นประจำทุกปี โดยแห่ 'หลวงพ่อโต' ไปตามคลองสำโรงให้ประชาชนที่อยู่ริมฝั่งคลองโยนดอกบัวลงบนเรือหลวงพ่อ เป็นการบูชาสักการะ หากโยนลงเรือหลวงพ่อโตได้ ก็จะถือว่าเป็นสิริมงคลประเพณีโยนบัวนี้ ชาวอำเภอบางพลีกับชาวมอญหรือรามัญอำเภอพระประแดง ร่วมกันจัดในช่วงต้นเดือนตุลาคมของทุกปี ในขึ้นวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11
- 2 -
ในอดีตสองฟากฝั่งตลาดน้ำโบราณบางพลีถือเป็นชุมชนใหญ่ชุมชน หนึ่งและมีความเจริญอย่างมาก เป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าและผู้โดยสารจากภาคตะวันออก และแถบชายฝั่งทะเลเข้าสู่กรุงเทพมหานคร
แม้ภาพของคืนวันในอดีตเหล่านั้นจะไม่มีให้เราเห็นอีกแล้ว แต่ผลพวงของยุคการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่กำลังถูกโหมกระพือก็ส่งให้สถาน ที่แห่งนี้ถูกจำกัดความเปลี่ยนแปลงไว้ และแม้ว่าที่ไหนๆ ก็มีตลาดร้อยปี แต่ละแห่งต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะที่คล้ายๆ กัน นั่นคือ ความเก่าแก่ของบ้านเรือน และ วิถีชีวิตดั้งเดิม ตลาดน้ำโบราณบางพลีก็จำกัดอยู่รูปลักษณ์เช่นนั้น ความหยุดนิ่งที่ยังคงทำนองเคลื่อนไหวอยู่ในโลกของความเปลี่ยนแปลง
อย่างที่กล่าวไว้ ตลาดร้อยปีแต่ละแห่งต่างมีเอกลักษณ์บางอย่างของตัวเอง สำหรับตลาดโบราณบางพลีก็ มีบางรายละเอียดที่มองเห็น เราอาจพบความแตกต่างออกไปอย่างชัดเจน เนื่องจากตลาดแห่งนี้หาได้มีความใหญ่โตหรูหราอลังการจากการประดิดประดอย เพื่อรับใช้การท่องเที่ยวไปเสียทั้งหมด ที่นี่ไม่มีร้านกาแฟสวยหรู แต่ขายกาแฟสูตรโบราณร้านเล็กๆ คนขายเป็นคนในพื้นที่ดั้งเดิม ไม่มีร้านขายอาหารใหญ่โต แต่มีร้านก๋วยเตี๋ยวที่คนแน่นทุกร้าน ไม่มีร้านขายของที่ระลึกอะไรมากมาย ร้านรวงสองข้างทางเดินแคบๆ คือร้านขายเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น จอบ พร้า เสียม ที่นอน หมอนมุ้ง รวมถึงขนมนานาชนิดที่ขายอยู่ทั่วไป เช่น ร้านกล้วยแขกสูตรดั้งเดิม ร้านขนมชั้นแม่บุญศรี ได้รับรางวัลมาแล้วหลายรายการ ร้านก๋วยเตี๋ยวหมู บอกว่าขายกันมาถึง 48 ปีแล้ว สูตรเด็ดอยู่ตรงน้ำซุปอร่อย ร้านเป็ดพะโล้นายตี๋ นี่ก็บอกว่าเป็นร้านเก่าแก่ สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ร้านแม่ปราณี ขายปลาดุกแผ่น ปลาดุกสะดุ้งแดด นี่ก็ได้รับรางวัล OTOP ร้านขนมจีนป้ามล ฯลฯ
อากาศยามสายแผดแรงขึ้นเท่าใด ริมคลองตรงข้างวัดก็จะยิ่งคลาคล่ำด้วยฝูงคน เสร็จสิ้นจากเข้ากราบนมัสการหลวงพ่อโต กลุ่มคนจะแห่แหนกันมาจุดนี้ ซื้อหาของฝากขึ้นชื่อ ปลาสลิดแดดเดียว จากอำเภอบางบ่อ ซึ่งวางขายอยู่กลางลานโล่ง ปลาสลิดเจ้าที่อร่อยสุดไม่ได้วางขายทั้งวัน สาเหตุเพราะเขาทำขายวันต่อวัน เช้าๆ พ่อค้าแม่ค้าเหล่านั้นจะนำถังใบใหญ่พร้อมแผงตากปลามายังริมคลอง ปลาในถังยังคงสดใหม่ ผึ่งแดดกันตรงนั้น ผ่านไป 1-2 ชั่วโมงก็เริ่มแห้ง ทุกเจ้าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ไม่ทันแดดโรยก็หมดเกลี้ยง
ก็พอพูดได้ว่าหากใครมาทำบุญที่วัดหลวงพ่อโตก็ได้ของแถมเป็น 'ตลาดโบราณบางพลี' หรือกลับกันหากใครมาตลาดโบราณบางพลีก็จะได้มาทำบุญที่วัดไปด้วย
การมาเที่ยวหรือทำบุญที่นี่ เวลาเช้าจึงเป็นเวลาที่ลงตัวที่สุด เสร็จกิจจากในวัดแล้ว ก็เลือกกันล่ะว่าจะล่องเรือนำเที่ยวชมบรรยากาศของบ้านริมน้ำ หรือเดินชมตลาดโบราณก็ตามสะดวก
แต่หากเดินเข้าตลาด คุณจะพบกับทางเดินแคบๆ ที่ขนาบข้างด้วยร้านรวงมากมาย แม้จะดูอึดอัดยามผู้คนเนืองแน่น แต่กลับเป็นเสน่ห์บางอย่าง สุ้มเสียง และสีสันแจ่มชัดให้เรารู้สึกถึงบรรยากาศแห่งการซื้อขายด้วยท่าทีและลีลาของ แม่ค้ารุ่นคุณป้าคุณยายที่มีวาจาเป็นกันเอง ทางเดินที่ปูด้วยไม้ถูกกระทบด้วยจังหวะก้าวส่งเสียงสะท้อนไปถึงผืนน้ำเบื้อง ล่าง และอาจก้องสะเทือนถึงบ้านเรือนไม้ที่ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนดั้งเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
ทุกสิ่งที่เห็นจึงหาใช่การจัดฉาก ขณะอีกฝั่งฟาก เมื่อทอดตาผ่านผิวน้ำเป็นริ้วคลื่นออกไปกลับพบความแตกต่าง...
อดีตสองฝั่งคลองมีวิถีเดียวกัน อาศัยลำคลองสัญจรด้วยเรือแจว ค้าขายทำไร่ทำนา มีท่วงทำนองดุจดังสายน้ำ...
บัดนี้ฝั่งโน้นคือตึกราม และห้างสรรพสินค้าหรูหรา
...ยังคงมีเรือแจวผ่านมาทางนี้ ทว่าสองลำถูกผูกมัดกันไว้ จอดนิ่งขวางลำคลอง ทำหน้าที่ประหนึ่งสะพานเชื่อมคนสองฝั่งคลองเข้าหากัน ใครอยากสัมผัสความหรูหราก็ข้ามมา ใครอยากสัมผัสบรรยากาศดั้งเดิมก็ข้ามมา
สองฟากฝั่งในภาพวาดของยุคสมัย ที่ยังคงสร้างความแตกต่าง ไว้ให้เราสัมผัสถึงอารมณ์บางอย่าง...