สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มาบตาพุด... เร่งแก้แต่ไม่จบ

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ปานปรีย์ พหิทธานุกร:


การแก้ไขปัญหา มาบตาพุดของรัฐบาล ดูเหมือนมีความคืบหน้าไประดับหนึ่ง โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2550

แม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ 65 โครงการในมาบตาพุด เนื่องจากยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ อีกทั้งการขจัดและลดมลภาวะในพื้นที่ยังเป็นปัญหาที่ค้างคาอยู่ไปอีกหลาย เดือนก็ตาม แต่เมื่อรัฐบาลเริ่มเห็นความสำคัญในการแก้ไข แล้วเร่งรัดออกระเบียบ กฎเกณฑ์ ตามขั้นตอนของมาตรา 67 วรรค 2 ก็น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับภาคเอกชนและแรงงานที่เฝ้ารองานจาก 65 โครงการนี้

ผมติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ถึงวันนี้ก็พบว่ารัฐบาลมีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาเพียงเรื่องเดียวเท่า นั้น คือ การหยิบยกมาตรา 67 วรรค 2 ขึ้นมาพิจารณา แล้วเร่งรัดกรอบการปฏิบัติต่างๆ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ รายงานผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อม (EIA) รายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และจัดตั้งองค์การอิสระ (ชั่วคราว) เท่านั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าปัญหามาบตาพุดคลี่คลายลงแล้ว

ความกังวลหลักที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหายังคงอึมครึมต่อไป โดยเฉพาะกรอบระยะเวลาที่ 65 โครงการ จะรับความเห็นชอบให้เดินต่อไปได้ แผนและระยะเวลา การลด ขจัด และแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดแก่นักลงทุนที่หดหายไป

ขณะที่ภาคเอกชนยังคงแสดงออกถึงความร้อนใจว่า โครงการที่ถูกระงับอาจถูกลากยาวออกไป กระทั่งประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และหอการค้าต่างประเทศในไทย (JFCCT) ก็อดรนทนไม่ไหว ลุกขึ้นมาเรียกร้องขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามาบตาพุดให้เสร็จสิ้นภายใน 2-3 เดือน มิฉะนั้นนักลงทุนต่างประเทศจะหนีไปลงทุนที่อื่นหมด

เป็นครั้งแรกที่นักลงทุนต่างประเทศในไทย กล้าออกมาแสดงความเห็นตรงไปตรงมาเช่นนี้ จึงเป็นสัญญาณอันตรายที่รัฐบาลไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด

ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการมาบตาพุดซึ่งศาลปกครองสูงสุดสั่งระงับ น่าจะกลับมาเริ่มดำเนินการได้ใน 6 เดือน เมื่อองค์ประกอบมาตรา 67 วรรค 2 เสร็จเรียบร้อย

ขณะที่อีกด้านหนึ่งของกระบวนการแก้ไขปัญหาภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) กลับมีความเห็นว่า การทำ HIA ที่ยึดตามประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คาดว่าน่าจะใช้เวลาอนุมัติ 6-8 เดือน ขณะที่นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เห็นว่าจะแก้ไขปัญหาโครงการที่ค้างในมาบตาพุดเสร็จภายใน 10 เดือน

หากรวมกับเรื่องการเสนอร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งองค์การอิสระอย่างถาวรต่อรัฐสภา จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 12 เดือน

เฉพาะในส่วนนี้เพียง 65 โครงการ ที่ทำ EIA แล้ว แต่ยังไม่ได้ทำ HIA คงต้องรอไปอย่างน้อยอีก 8 เดือนกว่า HIA จะผ่าน ยังไม่รวมว่าจะต้องรอความเห็นประกอบจากองค์การอิสระอีกด้วย

ระยะเวลาที่ผู้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาระบุมาข้างต้น ก็ยาวนานกว่าที่นายกรัฐมนตรีกำหนดไว้แล้วคือ เพียง 6 เดือน ตรงนี้ต้องระมัดระวังอย่าให้ภาคเอกชนใน 65 โครงการ เข้าใจผิดจนผิดหวังซ้ำสอง

รัฐบาลต้องคิดว่าทุกนาทีที่ช้าไป คือต้นทุนความเสียหายของภาคเอกชนที่จะต้องแบกรับ และผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2553 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน แกนนำสำคัญของภาคประชาชนที่ต่อสู้ในคดีมาบตาพุด และผลักดันให้เจตนารมณ์ของมาตรา 67 วรรค 2 บังเกิด ได้เดินทางไปฟ้องนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อศาลปกครองสูงสุด เรื่องการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานการให้ความเห็น องค์การอิสระในโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง และขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนยกเลิกระเบียบดังกล่าว

เรื่องเก่ารัฐบาลแก้ไขยังไม่จบ ก็ต้องประสบกับปัญหาใหม่ในข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์การอิสระภายใต้มาตรา 67 วรรค 2 อีก

รัฐบาลต้องกลับไปพิจารณาดูว่า ได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบเพียงใด เป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกวิธีการ ถูกกฎหมาย และมีประสิทธิภาพหรือไม่

ในชั้นนี้ผมยังมีความเป็นห่วงในเรื่องการจัดตั้งองค์การอิสระภายใต้ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จะทำให้การแก้ไขปัญหามาบตาพุด สะดุด หยุดลง และอาจสร้างปัญหาเพิ่มเติม เพราะคำถามที่ว่า องค์การอิสระตามความหมายของมาตรา 67 วรรค 2 ต้องออก กฎหมายมารองรับหรือไม่ หากมีการตีความว่าต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติที่มีอำนาจหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญ

แต่คณะรัฐมนตรีกลับใช้อำนาจในฐานะฝ่ายบริหารออกระเบียบสำนัก นายกรัฐมนตรีมาแทนพระราชบัญญัติ แม้จะชั่วคราวเท่านั้น ก็ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะอาจเป็นการฝ่าฝืน ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้

เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 303 ที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการจัดทำ หรือปรับปรุงกฎหมายในหลายกรณี ที่เกี่ยวข้องกับเฉพาะกรณีนี้โดยตรง คือ ส่วนที่ 12 ในรัฐธรรมนูญกล่าวถึงสิทธิชุมชน ซึ่งมีอยู่ในมาตราคือ 66 และ 67 ยิ่งน่าเป็นห่วงว่า รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่ององค์การอิสระถูกทางหรือไม่... เอาไว้ฉบับหน้าเรามาดูปัญหาว่า ด้วยการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในการตั้งองค์การอิสระอีกครั้ง ผมว่าปัญหายังรังควานให้รัฐบาลต้องขบคิดกันอีกหลายยก...เพราะมีปมสารพัดที่ เอกชนกำลังตั้งคำถาม

view