สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดร.โกร่ง อ่านภูมิทัศน์โลกใหม่ ทำไมวิกฤตรอบนี้จึงแรงกว่าปี 1929 !!

จากประชาชาติธุรกิจ




ดร.วีร พงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการ บริษัท แอ๊ดวานซ์อะโกร จำกัด (มหาชน) อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลก หลังวิกฤตซับไพรม และผลกระทบต่อประเทศไทย" จัดโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่ง ดร.วีรพงษ์ได้วิเคราะห์การเคลื่อนย้าย "จุดรวมศูนย์โลกใหม่" ว่า

ผม เงียบมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี วันนี้เกรงใจจริง ๆ เพราะคนเชิญคุ้นเคยกันมาก วันนี้อาจจะพูดไม่คล่องเหมือนเมื่อก่อนเพราะได้ว่างเว้นการพูดในที่สาธารณะ มานาน หัวข้อที่ตั้งให้เป็นหัวข้อที่ผู้จัดเป็นคนตั้ง ผู้จัดถามว่า อยากจะพูดเรื่องอะไร ก็บอกว่า อยากจะฟังเรื่องอะไรให้ตั้งมา ทาง ผู้จัดได้ตั้งหัวข้อว่า "ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกและผลที่อาจจะกระทบต่อ ประเทศไทย"

เป็นที่ทราบดีว่า ตั้งแต่เกิดปัญหาซับไพรมในสหรัฐอเมริกาลุกลามไปยังยุโรปและภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก วิกฤตการณ์ครั้งนี้ใหญ่มากและก็ลึกอย่างมาก อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้จะเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย Recession ปี 1929 วิกฤตการณ์ครั้งนี้อาจจะใหญ่กว่าเสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพราะสถานการณ์โลกได้เชื่อมต่อกันหมด ทั้งด้านการค้า สินค้าและบริการ และทางด้านการเงิน ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา และยุโรปแล้ว สถานการณ์ก็ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก

อาการของ วิกฤตการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินและลุกลามไปที่ภาคเศรษฐกิจที่ แท้จริง ทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ เที่ยวนี้เป็นเที่ยวที่แปลกกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งโลกพร้อมใจกันใช้นโยบายอย่างเดียวกัน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีปรากฏการณ์เช่นนี้ เมื่อก่อนนั้น เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ในประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งจะใช้นโยบายการเงินเฉพาะภูมิภาคนั้น ส่วนที่อื่นที่ไม่เกิด ก็จะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไป พร้อม ๆ กัน

ข้อ ที่น่าสังเกตเที่ยวนี้คือ การประกาศใช้นโยบายเหมือนกันหมด คือนโยบายการขาดดุลงบประมาณ ไม่ว่าจะที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย และประเทศอื่น ๆ แม้กระทั่งประเทศจีนและอินเดีย สิ่งที่น่าสนใจคือ ประกาศว่านโยบายที่ใช้ขณะนี้เป็นนโยบายที่ทำตามความเห็นของจอห์น เมนาร์ดเคนส์

แต่ถ้าให้ดูลึกลงไปจะเห็นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ stimula tion package ไม่ว่าจะของสหรัฐ ยุโรป มาตรการทางด้านการเงิน มาตรการการคลังขาดดุลอย่างมาก จะหยุดอยู่แค่การช่วยเหลือสถาบันการเงิน บริษัทใหญ่ไม่ให้ล้มละลายเท่านั้น ในสหรัฐจะเห็นได้ชัดเจนว่า มาตรการทั้งหมดที่ใช้ 1.2 ล้านล้านเหรียญ เป็นมาตรการด้านการเงินที่ใช้ช่วยเหลือสถาบันการเงินและบริษัทใหญ่ ๆ เช่น บริษัทรถยนต์ให้รอดพ้นจากการล้มละลาย ในกรณีของยุโรปก็เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่แล้วเงินช่วยเหลือที่นำมากระตุ้นเศรษฐกิจก็หยุดแค่การช่วยสถาบันการ เงินและบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีปัญหาทางด้านการเงิน

ดังนั้นตามความเห็น ของผมนโยบายที่ใช้อยู่ไม่ใช่มาตรการหรือนโยบายตามทฤษฎีของจอห์น เมนาร์ดเคนส์ หากเป็นไปตามที่ทฤษฎีของเคนส์ เงินที่นำมาใช้ในนโยบายที่จะต้องต้านการตกต่ำเศรษฐกิจน่าจะไปที่ภาคเศรษฐกิจ ที่แท้จริงมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดเศรษฐกิจซบเซาหลังที่เกิดวิกฤตการณ์ ในช่วงที่เอกชนไม่สามารถลงทุนได้ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำสุด หากท่านเรียนเศรษฐศาสตร์ก็คงอยู่ในช่วงที่เส้น LM ขนานกับแกนนอน เพราะส่วนที่จะลงทุนได้ก็จะเป็นภาครัฐบาล แต่เราไม่ได้ยินโปรแกรมการลงทุนจากภาครัฐทั้งในสหรัฐหรือยุโรป

การ ใช้จ่ายเงินที่ได้จากการขาดดุล งบประมาณมุ่งไปรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงินและบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้นเอง ด้วยเหตุนี้จึงมีเสียงบ่นว่า หลังจากที่ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมา 2 ปี ทั้งในสหรัฐและยุโรปอัตราการว่างงานไม่ได้ ลดลง จึงไม่น่าแปลกใจ เพราะการใช้เงินในการบรรเทาวิกฤตการณ์ไม่ได้มุ่งไปที่การลงทุน การสร้างงาน เป็นแต่เพียงพยายามพยุงฐานะของภาคการเงินไม่ให้เกิดภาวะล้มละลายเท่านั้นเอง ภาวะเศรษฐกิจซบเซาจึงดำเนินต่อไปและยังอยู่ทั้งที่สหรัฐและยุโรป ผลคือหนี้ภาครัฐบาลเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตประชาชาติยังไม่เพิ่มหรือเพิ่มในอัตราที่ไม่มาก

ส่วน ที่เปลี่ยนแปลงและเห็นชัดคือ ภาคตลาดทุนและตลาดเงินที่ได้อานิสงส์จากมาตรการที่ใช้ในอเมริกาและยุโรป เมื่อเศรษฐกิจเริ่มซบเซาลง มีผลให้ราคาน้ำมันและราคาโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ลดลงในช่วงแรก ราคาน้ำมันที่เคยถีบตัวที่ 120 เหรียญ ต่อบาร์เรล ลดลงอย่างฮวบฮาบ เพราะเงินที่จะใช้ในการเก็งกำไรมีน้อยลง ในช่วงแรกของวิกฤตการณ์ค่าเงินดอลลาร์ในเอเชียหรือที่อื่นก็ดีมีค่าแข็งขึ้น เพราะมีมาตรการที่จะช่วยสถาบันการเงินและบริษัทต่าง ๆ ไม่ให้ล้ม บริษัทพวกนั้นต้องเรียกทรัพย์สินจากประเทศอื่น ๆ กลับเพื่อปรับปรุงบัญชีของตัวเองให้ดีขึ้น เงินดอลลาร์จึงไหลกลับสหรัฐค่อนข้างสูง จึงทำให้เงินดอลลาร์ในภูมิภาคอื่นแข็งขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นต่ำลง อัตราดอกเบี้ยต่ำลงเพราะปริมาณมีมากขึ้น ราคาหุ้นถีบตัวสูงขึ้น ทั้ง ๆ ที่รายได้จีดีพีหดตัวลง ทั้ง ๆ ที่การขายของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์อเมริกา ยุโรป มีอัตราการขายลดลงแต่กำไรกลับเพิ่มขึ้น สาเหตุเพราะต้นทุนการผลิตลดลง ไม่ใช่เกิดจากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น คือต้นทุนดอกเบี้ยและราคาโภคภัณฑ์ลดลง

ปี ที่ 2 เราจึงเห็นราคาหุ้นในเอเชีย ยุโรป สหรัฐมีราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นภาพลวง ทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าเศรษฐกิจในสหรัฐและยุโรปดีขึ้น ที่บอกว่า เป็นภาพลวง เพราะว่าเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐและยุโรปยังง่อนแง่นเต็มที เพราะล่าสุดมีข่าวว่า จะมีวิกฤตการณ์การเงินขึ้นเกิดในกรีซ สเปน โปรตุเกส สถานการณ์เช่นนี้สะท้อนว่า สิ่งที่เห็นในปีที่แล้ว (2552) ว่าเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวไม่ใช่ของจริง เป็นการฟื้นตัวของภาคการเงินมากกว่าเศรษฐกิจที่แท้จริง ที่น่าเป็นห่วงว่าสถานการณ์วิกฤตการเงินที่กรีซ โปรตุเกส สเปน อาจจะลุกลามไปทั่วสหรัฐ ยุโรปได้ เมื่อสถานการณ์นี้ค่อย ๆ ลุกลามขึ้น เงินยูโรเดิมที่เราคาดว่าจะแข็งค่าขึ้นเรื่อยเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็เปลี่ยนทิศทางเงินยูโรเมื่อเทียบกับ เงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว

สรุปคือ ในความเห็นของผมการฟื้นตัวในสหรัฐ ยุโรป เป็นภาพลวงทางด้านการเงินที่มีปริมาณเงินมากขึ้นอันเกิดจากมาตรการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่มีปัญหา เพิ่มขึ้นคือ ยอดหนี้สาธารณะของประเทศในสหรัฐและยุโรปมีมากขึ้น ส่วนดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในยุโรปยังไม่ได้กระเตื้องขึ้น ยังมีฐานะย่ำแย่เหมือนเดิม ก็กลับมาเรียกร้องเหมือนเดิม คือให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน เพราะตัวเอง (สหรัฐ) ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

ใน ขณะที่สหรัฐ ยุโรปมีปัญหาค่อนข้างรุนแรง จีนและอินเดียกลับได้รับผลกระทบจากวิกฤตของสหรัฐและยุโรปน้อยกว่าภูมิภาค อื่น สำหรับละตินอเมริกา มีบราซิล ส่วนเอเชียมีจีน อินเดีย รัสเซีย โดยจีน อินเดียได้รับผลกระทบบ้างในช่วงแรก แต่ด้วยการดำเนินนโยบายที่ถูกต้องกว่า คือขยายการลงทุนในประเทศอย่างรวดเร็วเพื่อชดเชยผลกระทบจากการส่งออกและการ ท่องเที่ยวจากสหรัฐและยุโรป ในไม่ช้าเพียง 1 ปีหลังวิกฤต เศรษฐกิจจีน อินเดีย กลับมาขยายตัวในอัตราที่สูงในระดับก่อนหน้านี้

ทั้งสอง ประเทศหากดูนโยบายเป็นการใช้ทฤษฎีของเคนส์อย่างแท้จริง คือเร่งใช้การลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อชดเชยการอ่อนตัวจากการส่ง ออก รักษาอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ค่าเงินแข็งตัวจนเกินไป ที่จะเป็นปัจจัยซ้ำเติมการส่งออก จะเห็นว่าปี 2552 จีนได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้คงที่กับเงินดอลลาร์สหรัฐ และถือโอกาสเกาะหลังดอลลาร์ เมื่อดอลลาร์อ่อนตัวลงไปด้วย คือกำหนดไว้ในอัตรา 6.8 หยวน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งปี 2552 และ 2 เดือนแรกในปีนี้ด้วย ทำให้ประเทศตะวันตกโจมตีจีนว่า อาศัยความได้เปรียบที่ไม่ยอมปล่อยให้ค่าเงินของตัวแข็งขึ้น ดุลการค้าและดุลการชำระเงินจึงค่อย ๆ ปรับขึ้นมาแข็งแรงตามเดิม ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลได้ใช้จ่ายในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างมหาศาล

ด้วย เหตุนี้แบบแผนทางการค้าการลงทุนจึงเปลี่ยนทิศทาง จากที่มีศูนย์ที่สหรัฐ ยุโรป มาทางฝั่งเอเชีย นโยบายเศรษฐกิจมหภาคของจีนได้รับการกล่าวขวัญถึงในทางบวกอย่างมาก ในขณะที่เกิดวิกฤตที่ว่านี้ การที่จีนถือทุนสำรองไว้มากที่สุดในโลก คือประมาณ 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จีนจึงเป็นประเทศสำคัญที่เกี่ยวกับความผันผวนทางการเงินในโลกเป็นอย่างมาก

สถานการณ์ เช่นว่านี้ทำให้อิทธิพลของกองทุนต่าง ๆ ที่เรียกว่า เฮดจ์ฟันด์ลดบทบาทลงไปมาก เพราะสภาพคล่องของกองทุนต่าง ๆ นี้ลดลง แต่ในขณะเดียวกันธนาคารกลางของจีนและกระทรวงการคลังของจีนกลับมีบทบาทมาก ขึ้นในเวทีการเงินและเงินทุนระหว่างประเทศ ถ้าสังเกตให้ดีขณะนี้นักเก็งกำไรที่เป็น กองทุนต่าง ๆ ของเฮดจ์ฟันด์สงบและเงียบลงไปมาก เพราะหลายครั้งถูกตอบโต้จากจีน ราคาน้ำมันที่ขึ้นลงไม่ได้ขึ้นอยู่กับกองทุนเฮดจ์ฟันด์ในตลาดสหรัฐก็ได้ แต่ขึ้นอยู่กับจีน พอจีนชะลอการซื้อก็ลง พอจีนเร่ง สต๊อกน้ำมัน ถ่านหิน ทองแดงหรือโภคภัณฑ์อย่างอื่น ราคาก็ขึ้น หรือถ้าจีนซื้อทองคำ ราคาทองคำก็ขึ้น ถ้าจีนหยุดซื้อราคาก็ลง

ดังนั้นราคาการเก็งกำไร หลังวิกฤต ดังกล่าวเปลี่ยนไปมาก เราจะได้ยินเรื่องของพวกเฮดจ์ฟันด์ พวกโซรอสน้อยลง แต่มีความสงสัยมากขึ้นว่า จีนทำอะไรอยู่ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยก็ดี ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็ดี ตลาดการเก็งกำไรจึงมีความสมดุลมากขึ้น พวกนักเก็งกำไรทั้งหลายหากไม่ดูตาม้าตาเรืออาจจะโดนจีนตีกบาลได้ง่าย ๆ จึงสงบเงียบลงไปค่อนข้างมาก

ในข้างหน้านี้ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจที่แท้ จริงยังคงอ่อนแออยู่ต่อไป อัตราดอกเบี้ยคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป อัตราเงินเฟ้อเป็นตัวที่ต้องคอยจับตา เพราะการแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ทำพร้อมกันทั้งโลก จึงเป็นเหตุให้ปริมาณเงินทั้งโลกเพิ่มขึ้น ไม่เฉพาะเงินดอลลาร์ แต่เงินทุกสกุลมีปริมาณเพิ่มขึ้น แม้ว่าเงินจะเพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมทั้งเงินบาทแต่เงินเฟ้อยังไม่ขึ้นเพราะความต้องการในสินค้าบริการยังต่ำ เพราะเศรษฐกิจยังอ่อนแอ ยังไม่ฟื้นตัวมาก แต่หากเมื่อไหร่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างจริงจัง อัตราเงินเฟ้อจะถีบตัวสูงขึ้นทันทีตามปริมาณเงิน สิ่งแรกที่จะขึ้นคือ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ คือน้ำมัน ทองคำ แร่ธาตุ ตัวละครที่สำคัญในเวทีตลาดโลกที่สำคัญคือจีน ผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก

สถานการณ์ หรือการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของโลกเป็นอย่างนี้ ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงย้ายมาอยู่ที่เอเชียมากขึ้น อเมริกา ยุโรปจะกลายเป็นปัญหาของโลก ของเรามากขึ้น ต้องจับตาอเมริกาว่า จะถอยกลับไปมีวิกฤตอีกหรือไม่ และยุโรป จะอ่อนแอ ยังป่วยอยู่ เหลือแต่เอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย และประเทศในภูมิภาคเอเชียที่จะเป็นหลักให้กับเศรษฐกิจโลก

ไทยก็คงจะ ต้องตามผลกระทบดังกล่าว ปีแรกเศรษฐกิจเราโดนผลกระทบอย่างแรง ทั้งด้านการส่งออกสินค้าและบริการ กระทบการท่องเที่ยว การเดินทาง ทำให้เศรษฐกิจหดตัวในอัตราที่ค่อนข้างมาก ในปี 2553 คงมีการปรับปรุงตัวขึ้น แต่หากดูตามทฤษฎีภาวะเศรษฐกิจตกต่ำคงไม่ได้อยู่ปีเดียว แม้จะฟื้นตัวขึ้นมาก็มาได้ครึ่งทาง เช่น ลงไป 7 ขึ้นมา 3 จากฐานที่เล็กกว่า ตอนตกไปที่ 7

ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องระมัดระวัง ระบบการผลิตยังแพง การว่างงาน ยังไม่น่าไว้วางใจ นโยบายดอกเบี้ยของทางการยังไว้ในระดับต่ำ แต่ตัวที่ต้องระวังคือ อัตราเงินเฟ้อ หากดูไม่ดี หรือทำไม่ดี อาจจะเกิดภาวะ Stagflation ได้ คือมีเงินเฟ้อแต่ขณะเดียวกันเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาด้วย อันนี้เป็นภาวะน่าห่วงอย่างยิ่งในยุโรป และในภูมิภาคของเราแสดงอาการที่เวียดนาม ซึ่งเวียดนามพยายามทำอย่างจีน แต่การส่งออกเวียดนามยังไม่ได้ขยายตัวสูงเท่าจีน เวียดนามเริ่มมีปัญหา การลดค่าเงินลดไม่เพียงพอ ค่อย ๆ ลดทีละน้อย ต้องดูต่อไปว่าสถานการณ์เวียดนามจะส่งผลลุกลามมาที่ลาว เขมร และของเราหรือไม่ แต่ที่น่าเบาใจอันหนึ่งคือ ทุนสำรองระหว่างประเทศเรามีสูง โอกาสที่จะมีปัญหาแบบปี 2540 จะไม่ค่อยมี แต่ความฝันที่ว่าเศรษฐกิจ จะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนยังน่าสงสัยอยู่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ฟื้นตัวตามตลาดโลกอาจจะสูงสุดแล้ว ข้างหน้าอาจจะอ่อนตัวลงก็ได้

ก็มีความเห็นเท่านี้ !!!!

view