สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ระวังยูโร...โรย

จาก โพสต์ทูเดย์


สิ่งที่เห็นได้ชัดตามมาคือ เงินในฟากฝั่งเอเชียจะแข็งค่าขึ้นแทน และจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวตามมาอย่างชัดเจน

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

เมื่อพูดถึงวิกฤตการณ์หนี้ในกรีซ และอีกหลายประเทศในเขตยูโรโซนที่กำลังฮอตฮิตแล้ว ประเด็นที่ต้องมานั่งพิเคราะห์นอกเหนือจากปัญหางบประมาณขาดดุล และปัญหาหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงแล้ว คงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าปัญหา “เงินยูโร”

เพราะยูโรในวันนี้กำลังเป็นทั้ง “ต้นตอของปัญหาทั้งปวง” และกำลังจะก่อ “ผลกระทบไปทั่วทั้งโลก” ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ไทยแลนด์
เรื่องนี้ต้องมองกัน ให้เป็นระบบ...

แรกเริ่มเดิมทีนั้น การขาดวินัยการคลังและการอัดงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ ถูกมองว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้กรีซ เผชิญกับการขาดดุลงบประมาณมหาศาลถึง 12.7% ของจีดีพีประเทศ และมีหนี้สาธารณะทะยานไปถึง 113% ของจีดีพี หรือสูงถึง 3 แสนล้านยูโร (ราว 13.5 ล้านล้านบาท)

ทว่า รัฐบาลกรีซ หรือแม้แต่รัฐบาลสเปนและโปรตุเกส ต่างก็คงรู้ดีอยู่แก่ใจว่าต้นตอของปัญหาไม่ได้อยู่เพียงแค่นี้ แต่หากจะพุ่งเป้าไปที่ประเด็นเงินยูโรกันก็ดูเหมือนจะเป็นการ “ตบหน้า” เพื่อนสมาชิกใน 16 ประเทศยูโรโซน โดยเฉพาะเยอรมนี และฝรั่งเศส

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกในวันนี้ รวมถึง พอล ครุกแมน เจ้าของรางวัลเศรษฐศาสตร์โนเบล ปี 2008 กำลังมองว่า ความหยิ่งผยองของบรรดารัฐบาลยุโรป โดยเฉพาะการผลักดันเรื่องเงินสกุลเดียว (Single Currency) ซึ่งนำไปสู่การใช้เงินยูโรร่วมกันในปี 2542 คือต้นเหตุสำคัญของปัญหากรีซในวันนี้

หลังจากที่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 1 ม.ค. 2542 เงินยูโรก็มีอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเหรียญ สหรัฐ จากระดับราว 0.8 ยูโรต่อเหรียญสหรัฐ ในปี 2002 ยูโรได้แข็งค่าขึ้นไปถึงราว 1.6 ยูโรต่อเหรียญสหรัฐ ในปี 2008

ในกรณีตัวอย่างของสเปนนั้น ย้อนกลับไปเมื่อปี 2007 สเปนยังมีหนี้ในระดับต่ำเพียง 43% ต่อจีดีพี เมื่อเทียบกับเยอรมนีซึ่งมีสูงถึง 66% งบประมาณอยู่ในภาวะเกินดุล และมีระเบียบด้านการเงินการธนาคารที่ถือเป็นแบบอย่าง

ความเป็นยุโรปใต้ที่เหมาะแก่การตากอากาศของเหล่าเศรษฐี ทำให้ตลาดบ้านในสเปนบูมอย่างรวดเร็ว เงินไหลสะพัดจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปด้วยกัน ทำให้จีดีพีของสเปนขยายตัวอย่างรวดเร็วไปพร้อมภาวะเงินเฟ้อ ระหว่างปี 2000–2008 ราคาสินค้าและบริการที่ผลิตในสเปนนั้นสูงขึ้นถึง 35%

เศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะดี เกิดปัญหาขึ้นโดยที่หลายฝ่ายอาจไม่ทันสังเกต

เพราะแม้เงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นจะช่วยให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง ดันจีดีพีประเทศให้โตขึ้น ทว่าก็นำไปสู่ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เงินยูโรที่แข็งปั๋งทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวลดลง สวนทางกับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น

และเมื่อวิกฤตการณ์ซับไพรม์ระเบิดขึ้นในช่วงปลายปี 2008 ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของสเปนก็แตกตัวไปด้วย การว่างงานทะยานขึ้นสูง ขณะที่รัฐบาลเผชิญปัญหางบประมาณขาดดุลที่สะสมมาหลายปี

กรณีของสเปน หรือกรีซนั้น ไม่ได้มีภาคการส่งออกที่แข็งแกร่งเหมือนกับเยอรมนี ซึ่งสามารถส่งออกได้แม้ในยามยูโรแข็งค่า

โดยปกติแล้ว หากเป็นประเทศที่มีสกุลเงินของตนเอง มักเลือกใช้วิธีลดค่าเงิน (Devaluation) เพื่อพยุงเศรษฐกิจในยามที่เกิดปัญหา อาทิ เวียดนาม หากสเปนยังคงใช้เงินสกุลเดิมอย่างเพเซตา การจะลดค่าเงินลงมาสัก 20% ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่เมื่อมีการรวมกลุ่ม 16 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันนั้น ทำให้เรื่องนี้เป็นไปได้ยากสำหรับประเทศเล็กอย่างสเปน ซึ่งถือเป็นปัญหาในการใช้สกุลเงินเดียวทั้งที่เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยูโรโซน นั้น ไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนกันหมด

ในวันนี้ ทุกฝ่ายเริ่มตระหนักถึงปัญหาที่ว่านี้แล้ว และแน่นอนว่าได้ฉุดให้ค่าเงินยูโรอ่อนลงอย่างหนักด้วยเมื่อเทียบกับเงิน เหรียญสหรัฐ ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

และนี่ก็คือปัญหาใหม่ที่กำลังตามมา การอ่อนค่าของยูโร และผลกระทบที่เชื่อกันของยูโรเหรียญสหรัฐบาท

เศรษฐกิจในเอเชียซึ่งรวมถึงไทยนั้น อาจไม่ได้เจอวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงเท่ากับในสหรัฐหรือยุโรป ที่มีทั้งปัญหาซับไพรม์และสถาบันการเงิน ทว่าตราบใดที่เราเป็นประเทศผู้ส่งออก และเน้นรายได้ด้านการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ เราย่อมได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นอกเหนือไปจากผลกระทบต่อทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งมีการเพิ่มในสัดส่วนของยูโรมากขึ้น หลังจากที่เหรียญสหรัฐอ่อนค่าหนักเมื่อ 1–2 ปีที่ผ่านมา

ในปีนี้ เงินยูโรอ่อนค่าลงมาแล้วถึง 4.8 เมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐ และอ่อนไปถึง 7.9% เมื่อเทียบกับเยน โดยเมื่อวานนี้อยู่ที่ระดับ 1.36 เหรียญสหรัฐต่อยูโร ท่ามกลางแนวโน้มที่ยูโรจะอ่อนลงอีกต่อเนื่องในปีนี้ จากปัญหาหนี้สาธารณะและงบประมาณขาดดุลในหลายประเทศยุโรป ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ฝรั่งเศส

สิ่งที่เห็นได้ชัดตามมาคือ เงินในฟากฝั่งเอเชียจะแข็งค่าขึ้นแทน และจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวตามมาอย่างชัดเจน นักท่องเที่ยวยุโรปจะลดการท่องเที่ยวมาเอเชีย หรือมีระยะเวลาเที่ยวที่สั้นขึ้น ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศก็จะลดลง

แม้ว่าบางคนอาจคาดหวังว่ายูโรอ่อนจะช่วยให้เหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นแทน และจะช่วยการส่งออกในเอเชียนั้น อย่าเพิ่งหวังกันไปไกล เพราะตราบใดที่สหรัฐยังตรึงดอกเบี้ยเพื่อใช้นโยบาย ดอกเบี้ยต่ำเหรียญสหรัฐอ่อน นำเศรษฐกิจประเทศนั้น เราจะยังไม่ได้เห็นเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นจนเป็นผลดีอย่างชัดเจนในเร็วๆ นี้ ตรงกันข้าม มีแต่เงินตะวันตก ยูโรเหรียญสหรัฐ จะอ่อนค่าไปพร้อมกันแทน

ระวังยูโรโรย ปล่อยเอเชียแข็งปั๋ง...!

 

view