จากประชาชาติธุรกิจ
จากเสี่ยรับเหมาก่อสร้าง ร้อยล้าน มีลูกน้องเป็นร้อยคน กลายเป็นคนตกงาน เพราะพิษต้มยำกุ้ง ปี 2540 เป็นหนี้แบงก์หลายสิบล้าน เรียกว่า สิ้นเนื้อประดาตัว แต่กลับพลิกฟื้นกลับมายืนได้อย่างทรนงอีกครั้ง ในธุรกิจใหม่ พระราม 9 ไก่ย่าง สูตรห้วยสามพาด อุดรธานี อยากเติมพลังชีวิต.... รีบอ่านโดยพลัน
จากเสี่ยรับเหมาก่อสร้าง ร้อยล้าน มีลูกน้องเป็นร้อยคน กลายเป็นคนตกงาน เพราะพิษต้มยำกุ้ง ปี 2540 เป็นหนี้แบงก์หลายสิบล้าน เรียกว่า สิ้นเนื้อประดาตัว แต่กลับพลิกฟื้นกลับมายืนได้อย่างทรนงอีกครั้ง ในธุรกิจใหม่ พระราม 9 ไก่ย่าง สูตรห้วยสามพาด อุดรธานี อยากเติมพลังชีวิต.... รีบอ่านโดยพลัน สัปดาห์ที่แล้ว ประชาชาติธุรกิจ เปิดเส้นทางสู้ชีวิตของ คนเรียน จบแค่ ป.5 อันเป็นตำนานนักขาย ของ สมชาย เหล่าสายเชื้อ" เจ้าของ "โตโยต้าดีเยี่ยม" ดีลเลอร์ขายรถโตโยต้ารายใหญ่ของอุบลราชธานี ปรากฏว่า มีผู้คนสนใจเข้ามาอ่าน ถล่มทลาย
สัปดาห์นี้ เราภาคภูมิใจ นำเสนอ เรื่องราว ล้มแต่ไม่แพ้ของ "สุเมธ ต่อสหะกุล" แห่ง พระราม 9 ไก่ย่าง ซึ่ง นิตยสาร เส้นทางเศรษฐี ที่มี คุณทวี มีเงิน เป็นบรรณาธิการบริหาร ได้นำเสนอเป็นเรื่องหน้าปก
เส้นทางสู้ชีวิตของคนไม่ยอมแพ้ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมายที่กำลังท้อแท้และสิ้นหวัง
แต่เราเชื่อว่า ถ้าท่านอ่าน เรื่องราว ต่อไปนี้ ไฟแห่งการต่อสู้จะลุกโชนขึ้นอีกครั้ง
@ เส้นทางเศรษฐี เส้นทาง สุเมธ
อดีตเมื่อราว 20 ปีเศษก่อนหน้านี้ เขามีฉายาเรียกขานว่า "อาเสี่ย" ผู้รับเหมาก่อสร้างถนนทั่วราชอาณาจักร ถัดมาไม่นาน งานที่เข้าไปดูแลคือหมู่บ้านจัดสรร โครงการมูลค่านับร้อยล้านบาท ฐานะในกิจการยังอยู่ที่ "เถ้าแก่ใหญ่" ไม่เปลี่ยนแปลง
ครั้นมรสุม "ต้มยำกุ้ง" โหมกระหน่ำทำลายเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อคราวปี 2540 นักธุรกิจน้อยใหญ่ เสียหายกันถ้วนหน้า หลายท่านสิ้นเนื้อประดาตัว บางท่านถึงขั้นชิงฆ่าตัวตายหนีหนี้ก็มี
หากสำหรับผู้ที่ให้เกียรติ มาเปิดเผยเรื่องราวประเดิมคอลัมน์ "จุดพลิกผัน" ในครั้งแรกนี้ ที่เคยมีผู้คนนับหน้าถือตาว่าเป็นอาเสี่ย ดังเกริ่นมานั้น เขามีวิธีหาทางรอดให้กับตัวเอง ภรรยา และลูกที่อยู่ในวัยกำลังกินกำลังนอนถึง 3 คน เริ่มต้นใหม่จากศูนย์ ด้วยการทำอาชีพสุจริต ย่างไก่ขายใต้ต้นไม้ มีกำไรวันละไม่กี่ร้อยบาท
แต่อาจด้วยเพราะความตั้งใจ ไม่ทิ้งกลางทาง บวกกับความซื่อสัตย์กับลูกค้าทั้งต่อหน้าและลับหลัง ปัจจุบัน กิจการเล็กๆ ขายไก่ย่างใต้ต้นไม้ ได้กลับกลายมาเป็นร้านอาหารขนาด 100 โต๊ะ รองรับลูกค้าได้ครึ่งพัน บริกรกว่า 80 คน มีเตาย่างไก่มูลค่านับล้านจำนวนถึง 3 ตัว
ล่าสุด กำลังจะขยายสาขาเป็น สอง-สาม-สี่ ในอนาคตอันใกล้
จุดพลิกผันในชีวิตของเขาคืออะไร มีเหตุปัจจัยอื่นอีกหรือไม่ ที่ทำให้เขาก้าวมาถึงจุดประสบความสำเร็จอย่างวันนี้
@ พิษต้มยำกุ้ง ...ไม่เหลือทุน
"พื้นเพ เป็นคนอุดรธานี ครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวกับซุปเปอร์มาร์เก็ต ผมเรียนหนังสือมาทางด้านก่อสร้าง พอเรียนจบ ได้ทุนจากทางบ้านมาบ้าง จึงเดินทางเข้าหางานทำที่กรุงเทพฯ" คุณสุเมธ ต่อสหะกุล เจ้าของกิจการ "พระราม 9 ไก่ย่าง" ร้านอาหารไทย-อีสาน ฮ็อตฮิตอันดับต้นๆ ของยุคนี้ เริ่มต้นบทสนทนา ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มเป็นกันเอง ก่อนย้อนให้ฟังเมื่อครั้งยังรุ่งโรจน์ในอาชีพผู้รับเหมา
"เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ผมมีลูกน้องเป็นร้อยคน เพราะมีงานสร้างถนนทั่วประเทศ รับเงินกันครั้งหนึ่งเป็นล้านๆ กระทั่งปี 2526 รัฐบาลยุคนั้นไม่มีเงิน การก่อสร้างทุกอย่างหยุดชะงัก หากมีออกมาสักงานหนึ่ง ผู้รับเหมายี่สิบสามสิบคน เป็นต้องฟาดฟันราคากัน เรื่องกำไรไม่ต้องพูดถึง มันไม่มีอยู่แล้ว แค่อยากได้งานมาให้ลูกน้องทำเท่านั้น"
คุณสุเมธ เล่าให้ฟังต่อว่า เมื่อรับงานมาทำแล้วไม่มีกำไร หนักเข้าไปไม่รอด เลยเลิกอาชีพรับเหมา หันมาทำธุรกิจรับเศษไม้จากภาคเหนือมาส่งให้กับโรงงานทำพื้นปาร์เก้ต์ งานนี้มีกำไรดีพอสมควร ทำให้เริ่มมีทุนขึ้นมาบ้าง แต่ทำไปได้ 2 ปีเศษ รัฐบาลมีนโยบายปิดป่า ทำให้ไม่มีไม้มาส่งเหมือนเดิม จึงต้องเลิกทำโดยปริยาย
จน เมื่อราวปี 2536 มีเพื่อนชวนให้ลงทุนทำบ้านจัดสรรขายที่จังหวัดอุดรฯ บ้านเกิด เมื่อเห็นว่าที่ดินทำเลที่ตั้งสวยมาก จึงตัดสินใจเข้าร่วมกับเขา สร้างโครงการหมู่บ้านกว่า 200 หลังคาเรือน แบบ "สร้างไป โอนไป" ในเบื้องแรกกิจการทำท่าไปได้สวย สามารถโอนให้ลูกค้าได้กว่า 100 หลัง ทั้งที่ใช้เวลาไม่นาน
แต่ในขณะที่ยังมีบ้านสร้างไม่แล้วเสร็จอยู่อีก ราว 80 หลังคาเรือน วิกฤตเศรษฐกิจ "ต้มยำกุ้ง" คืบคลานเข้ามาเยือนประเทศไทย อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ส่งผลให้ธุรกิจของเขาได้รับผลกระทบเข้าอย่างจัง
"พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เแบงก์ปิดบัญชีเราเลย เขาไม่สนลูกค้ารายย่อยของเราเลย พอยื่นเอกสารจะขอกู้ แบงก์จะบ่ายเบี่ยง กว่าจะปล่อยกู้หลังหนึ่ง ใช้เวลา 3-4 เดือน จนเราสู้ไม่ไหวแล้ว ลูกค้าก็สู้ไม่ไหว มีปัญหาเหมือนกัน ต้องทิ้ง ลำบากแล้วตอนนั้น เพราะเป็นหนี้แบงก์อยู่หลายสิบล้าน"
"พอดีมีที่ดินอีกแปลงหนึ่งที่อุดรฯ ซึ่งสวยมาก ติดถนนใหญ่ กะไว้ว่าจะทำโรงแรม สุดท้ายต้องขายทิ้ง เพื่อเอาเงินมาตัดบัญชีกับแบงก์ สุดท้ายหลุดจากเอ็นพีแอล แต่ตอนนั้นหมดแล้วไม่เหลืออะไรแล้ว" เจ้าของเรื่องราว เล่าด้วยสีหน้าหม่นลงเล็กน้อย @ ย่างไก่ขาย ให้คลายเหงา
แม้หนี้จะระงับ แต่ถึงกับทำให้ถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัว อดีตเสี่ยรับเหมา จึงต้องหอบครอบครัว มาตั้งหลักกันใหม่ที่บ้านพักในกรุงเทพฯ ย่านถนนพระราม 9 ซึ่งซื้อไว้สมัยธุรกิจของเขายังรุ่งเรือง
"ช่วงนั้นผมไม่มีงานทำ มีเวลาว่างมาก ทุกคืนจึงมักไปนั่งเป็นหน้าม้าในร้านหมูกระทะของเพื่อนสนิท ที่เขาเพิ่งมาเปิดขายย่านตลาดแฮปปี้แลนด์ แต่จนแล้วจนรอด ลูกค้ายังไม่มี ผมเลยชวนให้ย้ายทำเล" คุณสุเมธ ย้อนความทรงจำ
เมื่อเป็นตัวตั้งตัวตีให้เพื่อนมองหาทำเลค้าขายใหม่ คุณสุเมธจึงเต็มใจอาสาขับรถพาเพื่อนคนดังกล่าว ตระเวนหาที่ขายอาหาร มีอยู่วันหนึ่งแล่นรถไปย่านซอยนวลจันทร์ ตอนช่วงมื้อกลางวันพอดี เลยซื้อไก่ย่าง-ส้มตำ แถวนั้นมารับประทานกันในรถ
กัดเข้าไปไม่กี่คำ สองหนุ่มเพื่อนซี้ มองหน้ากัน ก่อนจะเอ่ยมาเป็นเสียงเดียวกันว่า
"เฮ้ย! ไก่ย่างบ้านเรา ที่อุดรฯ อร่อยกว่านี้ตั้งเยอะ ทำไมเราไม่เอามาขายบ้าง คืนนั้นผมเลยขับรถมุ่งหน้าอุดรฯ เลย หวังหาผู้เฒ่าผู้แก่ ที่เคยย่างไก่ขายแถวตำบลห้วยสามพาด ไปขอสูตรเขา"
คุณ สุเมธ เล่าให้ฟังอย่างออกรสต่อว่า ผู้เฒ่าขายไก่ย่างแห่งห้วยสามพาด ที่ไปขอสูตรมานั้น เขาเลิกขายแล้ว แต่ยินดีบอกสูตรให้ แต่สูตรค่อนข้างจะถูกปากคนอีสาน เขาจึงมาปรับให้คนกรุงเทพฯ รับประทานได้ด้วย ซึ่งใช้เวลาในการปรับสูตรไม่นานเท่าไหร่ เนื่องจากเขาเป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้ว
"ตอนตกงาน ผมมักออกไปซื้อกับข้าวมาทำให้ลูกกินอยู่เสมอ จะได้ประหยัด ฉะนั้น เรื่องการปรุงรสหมักไก่จึงไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อปรับสูตรจนได้ที่ จึงเริ่มลงทุนแล้ว ตอนนั้นมีเงินอยู่ 20,000 บาท ลงไปยังไม่หมด 20,000 เลย เพราะไม่ต้องเสียค่าจ้าง เพื่อนลงแรง ส่วนผมลงเงิน" เจ้าของเรื่องราว เล่าด้วยแววตาเป็นประกาย ก่อนเผยด้วยว่า
"อยู่บ้านเฉยๆ ตั้ง 2-3 ปี ไม่รู้จะทำอะไร ช่วงนั้นมีทุนอยู่นิดหน่อย แต่ลูก 3 คนกำลังกินกำลังใช้ เลยอยากลงทุนทำอะไรสักอย่าง ซึ่งการขายไก่ย่าง ลงทุนต่ำมาก ไก่สดตัวหนึ่งไม่กี่สิบบาท เหมาไก่มาสัก 300 ตัว ใช้เงินแค่หมื่นบาท และไม่เคยคิดว่าจะร่ำรวยจากไก่ย่างหรอก แค่อยากจะทำยังไงให้อยู่บ้านได้แบบไม่เหงา"
@ สุดภูมิใจ ขายได้ 17 ตัว
การตั้งต้นอาชีพใหม่ ในบทบาทพ่อค้าไก่ย่าง ของอดีตเสี่ยรับเหมาผู้นี้ เริ่มที่ใต้ต้นจามจุรี ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านพักของเขาราว 200 เมตร ถัดเข้ามาจากถนนใหญ่ แค่เพียงไม่กี่สิบเมตร แต่ช่วงเวลาในราว ปี 2543 นั้นผู้คนยังไม่พลุกพล่าน
"ซอยที่ผมไปย่างไก่ขายใต้ต้นไม้นั้น รถสามารถวิ่งลัดเข้าห้างเดอะมอลล์ รามคำแหง ได้ แต่ช่วงนั้นถนนใหญ่ยังไม่แออัด รถไม่จำเป็นต้องใช้ทางลัด ผมเลยตั้งเป้าไว้ว่าขายไก่ได้แค่วันละ 10-20 ตัวก็น่าพอใจแล้ว เพราะเราไม่มีหน้าร้านสวยงาม เตาถ่านย่างธรรมดา ขายแบบใส่ห่อกลับบ้านอย่างเดียว" คุณสุเมธ เล่า
เจ้าของพื้นที่ "จุดพลิกผัน" เล่าให้ฟังต่อ โดยยอมรับว่า ตอนเปิดขายครั้งแรก ในใจเฝ้าคิดวนเวียนว่าจะไปได้หรือเปล่า เพราะสภาพร้านไม่มีอะไรดึงดูดแม้แต่น้อย แต่สุดท้ายยอดขายวันแรกนั้น เขาจำได้แม่นว่า อยู่ที่ 17 ตัว
"ขายวันแรกได้ 17 ตัว ภูมิใจมาก เพราะกะไว้ว่า ถ้าได้แค่ 10 ตัว พอแล้ว กำลังใจนี่มาเลย ส่วนราคาขายตั้งไว้ที่ ตัวละ 69 บาท ตอนแรกว่าจะขาย 70 บาท แต่อยากเลียนแบบการตั้งราคาเหมือนรองเท้าบาจา" คุณสุเมธ เผยกลยุทธ์การตั้งราคา ก่อนหัวเราะอารมณ์ดี
คุณสุเมธ มีเรื่องราวภารกิจในช่วงนั้นมาถ่ายทอดให้ฟังด้วยว่า ทุก 3 วัน เขาจะต้องขับรถจากกรุงเทพฯไปจังหวัดอุดรธานี โดยออกจากบ้านตั้งแต่ตี 2 เพื่อไปซื้อไก่บ้านสดมาหมัก สาเหตุที่ต้องทำอย่างนั้น เพราะช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีไก่บ้านพันธุ์ที่ต้องการขายในตลาดกรุงเทพฯ และการขนไก่กลับมาจากอุดรธานีนั้น ต้องกลับมาให้ทันก่อน 5 โมงเย็น เพื่อขนของและรับเพื่อนที่ทำหน้าที่ขายไก่อยู่กลับเข้าบ้าน
"ขายไก่ใต้ต้นไม้อย่างนั้นอยู่ประมาณ 4 เดือน ระยะหลังขายได้วันละ 20 กว่าตัว แต่สุดท้ายเพื่อนที่ช่วยกันมาตั้งแต่ต้น เขาไม่ไหว และให้เหตุผลว่าได้กำไรนิดเดียว ไม่คุ้มเหนื่อย เลยขอเลิก ปล่อยให้ผมทำคนเดียว แต่ผมเลิกไม่ได้ เพราะก่อนหน้าไปประชาสัมพันธ์กับเพื่อนไว้หลายคนให้มาช่วยอุดหนุน จึงต้องกระโดดลงมาทำเองทั้งหมด" คุณสุเมธ เผยถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ @ จากเตาถ่าน...สู่เตาเงินล้าน
แม้หุ้นส่วนคนสำคัญขอบายไปก่อนถึงฝั่งฝัน แต่นั่นไม่ได้ทำให้ คุณสุเมธต้องท้อแท้หรือหมดหวัง เขายังก้มหาก้มตาย่างไก่ขายวันละ 20 กว่าตัวอยู่ต่อไป แต่เหมือนโชคชะตาเข้าข้าง อย่างไม่น่าเชื่อ หลังจากเพื่อนของเขาถอนตัวออกไปได้เพียงสัปดาห์เดียว ยอดขายไก่ย่างพุ่งขึ้นจากเดิม เป็นวันละ 70-80 ตัว ชนิดหาสาเหตุไม่ได้
"ผมว่ามันเป็นเรื่องแปลกอยู่เหมือนกัน ที่ยอดขายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในเวลาอันรวดเร็ว คนที่เคยผ่านไปผ่านมาไม่เคยซื้อลองเข้ามาซื้อ คนที่เคยซื้อกลับมาซื้อกินอีก อาจเป็นเพราะมีการบอกต่อกันไปปากต่อปาก หรือจะเป็นเพราะดวงดี"
"เคยมีเพื่อนอีกคนหนึ่งมาจากอุดรฯ เขาอยากกินไก่ย่าง แต่ที่ร้านไม่มีที่นั่ง เลยให้เด็กขี่รถมาเอาไก่เข้าไปกินในบ้าน รออยู่ตั้งนานยังไม่ได้สักที เลยออกมาตาม ปรากฏเห็นคนยืนรุมเต็มหน้าร้าน เพื่อนยังอดกินเลย หลังจากวันนั้นก็ขายดีมาตลอด" คุณสุเมธ ฉายภาพความหลังที่ยังแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำให้ฟัง
เมื่อกิจการพอมีกำไรและทำท่าจะไปได้สวย คุณสุเมธจึงลงทุนด้วยเงิน 20,000 บาท สร้างร้านให้เป็นโรงเรือนมุงหลังคากระเบื้องกันแดดลม แทนจะตั้งเตาย่างขายใต้ต้นไม้เหมือนเดิม ส่วนเรื่องที่ดินนั้นไม่ต้องกังวล เพราะเป็นที่ดินเหลือจากการเวนคืนซึ่งเป็นทรัพย์สินของเพื่อนเขา และเจ้าของยังไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์อื่นใดนอกจากใช้เป็นที่ทิ้งขยะจำพวก เศษปูนเศษไม้เหลือจากการก่อสร้าง
คุณสุเมธ เล่าต่อว่า เมื่อมีร้านเป็นเรื่องเป็นราวได้พักหนึ่ง จึงมีลูกค้าให้คำแนะนำว่า ขายไก่ย่างอย่างเดียวกำไรน้อย ต้องมีข้าวเหนียว ต้องมีส้มตำด้วย เขาและภรรยาจึงปรึกษากัน ว่าจะตำส้มตำสูตรไหนออกขาย เลยเริ่มไปซื้อมะละกอมาให้ภรรยาตำ แล้วเขาเป็นคนชิม และจดว่าในครกหนึ่งมีสัดส่วนของส่วนผสมอย่างไรบ้าง พอได้สูตรลงตัว จึงเชิญเพื่อนมานั่งรับประทานข้าวที่บ้าน แล้วตำส้มตำให้รับประทาน แต่บอกก่อนว่า ห้ามชมโดยเด็ดขาดว่าอร่อย ให้หาจุดที่ไม่ดีให้เขาหน่อย
"พอได้สูตรที่ลงตัวแล้ว ผมใช้วิธีขายไก่ 1 ตัว 69 บาท แถมส้มตำ 1 ถุง ตำแจกอยู่หลายวัน ปรากฏผลตอบรับกลับมา ลูกค้าชมกันทุกคนว่าอร่อยใช้ได้เลย จากนั้นผมทำขายเลย" คุณสุเมธ เล่าอย่างนั้น
ครั้นมีหน้าร้านเป็นสัดส่วนและมีรายการอาหารเพิ่มขึ้น สิ่งที่ลูกค้าถามหาลำดับต่อไปนั่นคือ ที่สำหรับนั่งรับประทานได้ที่ร้าน คุณสุเมธจึงลงทุนเพิ่มอีกรอบด้วยการควักเงินซื้อซุ้มไผ่มาตั้งหลังร้าน จำนวน 3 ซุ้ม ซึ่งได้ผลเกินคาด มีลูกค้ามารับบริการเต็มทุกวัน เป็นอย่างนั้นอยู่ 3 เดือน เขาจึงตัดสินใจ สร้างโรงเรือนเป็นแถวโล่ง จำนวน 7 ล็อค เพื่อรองรับลูกค้าให้ได้มากขึ้น กระทั่งปัจจุบัน กิจการของเขาขยับขยายเต็มพื้นที่นับไร่ รองรับลูกค้าได้กว่า 500 คน
"กว่ากิจการจะใหญ่โตขนาดนี้ ผมใช้เวลาประมาณ 7 ปีเศษนับแต่วันที่ย่างไก่ด้วยเตาถ่านขายอยู่ใต้ต้นไม้ ปัจจุบันร้านเราเลิกใช้เตาถ่านแล้ว เพราะลูกค้าหลายท่านกังวลเรื่องควันไฟ ผมเลยสั่งซื้อเตาย่างไก่ ไม่ใช้แรงงานคน ระบบไร้ควันและความร้อนสูงจากสหรัฐ มาใช้งานจำนวน 3 ตัวด้วยกัน เตาประเภทนี้ตัวหนึ่งราคาอยู่ที่เจ็ดหลักครับ" คุณสุเมธ เผยให้ฟัง @ ซื่อสัตย์ต่อหน้า-ลับหลัง ไม่มีวันตกอับ
สนทนามาถึงตรงนี้ มีข้อสงสัยเหตุใดจึงลงทุนซื้อเตาย่างไก่ในราคาสูงถึงหลักล้านบาท มาใช้งาน คุณสุเมธยิ้มกว้าง ก่อนบอกว่า ช่วงสถานการณ์ไข้หวัดนก ขายได้แต่กับข้าวอย่างอื่น ส่วนไก่ย่างขายไม่ได้เลยเป็นเวลา 2 เดือนเศษ เลยคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า เลยขอเข้ารับคำปรึกษาจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กระทั่งมีการสั่งซื้อในที่สุด
"ลูกค้าของร้านเรา ส่วนใหญ่มีฐานะ มีความรู้ ขับรถมาทานกันทั้งนั้น ฉะนั้น ถ้าร้านของผมมีเตามาตรฐาน พอเขาเข้ามาทานก็สบายใจ ซึ่งได้ผลเกินคาด พอได้เตานี้มาใช้ หลังมีการประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจ โอ๊ย ขายดีกว่าเดิมอีกครับ" คุณสุเมธ บอกยิ้มๆ
นอกจากจะกล้าลงทุนซื้อเตาราคาแพงมาใช้งานในร้านแล้ว เมื่อราว 3 ปีก่อนหน้านี้ คุณสุเมธยังริเริ่มทำ "ไก่ย่างสุญญากาศ" ออกมาจำหน่าย คาดว่าน่าจะเป็นรายแรกของเมืองไทยอีกด้วย โดยอธิบายที่มาให้ฟังว่า ที่ผ่านมามีคนมารับไก่สดจากทางร้านไปย่างขายต่อ แต่บางคนไม่ประสบความสำเร็จ เช่น หากย่างไว้เยอะ ลูกค้าน้อย ของเหลือขาดทุน แต่หากย่างไว้น้อย แต่ลูกค้าเยอะ คนขายก็เสียโอกาส
เขาจึงเกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีไก่หมักซึ่งอยู่ได้นานๆ เลยส่งลูกสาวคนเล็กไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านโภชนาการ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อมีการหารือกับอาจารย์ที่ปรึกษา จึงมีการพัฒนามาเป็นไก่ย่างสุญญากาศ สามารถอยู่นอกตู้เย็นได้หลายวัน ส่งไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศได้สบาย
ถามถึงยอดขายของไก่ย่างสุญญากาศ คุณสุเมธ ยอมรับว่า ไม่ดีอย่างที่คาด ทั้งที่คุณภาพดีมาก ทั้งนี้ ตัวเขาวิเคราะห์ว่า อาจเป็นเพราะคนไทยยังยึดติดอยู่กับ อาหารที่ต้องย่างกันใหม่ๆ และเชื่อว่าของแช่แข็งคงไม่อร่อย แต่ความจริงแล้วรสชาติเหมือนกันไม่มีเพี้ยน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังทำออกมาขายอยู่ เพราะมีลูกค้าประจำอยู่กลุ่มหนึ่ง
พูดคุยกันอย่างออกรสนานนับชั่วโมง จึงตั้งคำถามถึงหลักในการทำธุรกิจว่าคืออะไร คุณสุเมธหยุดคิดครู่หนึ่ง ก่อนบอกว่า เขายึดหลักความซื่อสัตย์ บางคนใช้วัตถุดิบไม่ดี แล้วมามั่วให้ลูกค้า เขาไม่ทำ อีกทั้งเรื่องความสะอาด ต้องซื่อสัตย์จริงๆ เขามักสั่งลูกน้องทุกคนไว้เสมอว่า ถึงเราทำสกปรกลูกค้าไม่รู้ แม้เราทำสะอาดลูกค้าก็ไม่รู้ แต่บาปจะติดตัว เพราะตัวเรารู้เอง
"ผมถือว่าทุกวันนี้ประสบความสำเร็จมากแล้ว และสิ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ผมเชื่อว่ามาจากความซื่อสัตย์ ซื่อสัตย์ในแง่การใช้วัตถุดิบ เครื่องปรุง ต้องดีสม่ำเสมอ ร้านขายอาหารไม่ใช่ไม่โกงเงินอย่างเดียว แต่ต้องซื่อสัตย์ทุกอย่าง การเอาของอีกเกรดหนึ่งมาหลอกขาย ต้องไม่ทำ แต่ถ้าทำแล้วขาดทุนจริงๆ ผมจะขอขึ้นราคา แต่ถ้าสู้ได้ ผมจะยืนอยู่ที่ราคาเดิม" คุณสุเมธ ทิ้งท้ายไว้หนักแน่น
( เรื่องและภาพ โดย พารนี ปัทมานันท์ เส้นทางเศรษฐี )