จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ เศรษฐ"ธรรมศาสตร์ ตลาดวิชา
โดย ศุภวัจน์ รุ่งสุริยะวิบูลย์ supawat@econ.tu.ac.th
เราได้ผ่านเดือนของการเฉลิม ฉลองปีใหม่มาได้ไม่นาน การเริ่มต้นปีด้วยการมองปัญหาที่เกิดขึ้นในเชิงบวก คงจะช่วยทำให้ท่านผู้อ่านและผู้เขียนเกิดกำลังใจในการเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดของการคิดเชิงบวกคงเป็นการช่วยทำให้เราทุกคนสามารถร่วม กันวิเคราะห์เพื่อหาโอกาสที่จะเป็นทางออกและความหวังให้กับประเทศ เป็นที่ปรากฏในหลายปีที่ผ่านมาว่า เราได้เผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่กลายเป็นวิกฤตอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตทางด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม อาหาร การเงิน การศึกษา การเมือง และเศรษฐกิจ วิกฤตต่าง ๆ เหล่านี้มีความสลับซับซ้อน และที่สำคัญคือวิกฤตดังกล่าวล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบซึ่งกันและกันอย่างหลีก เลี่ยงไม่ได้ ผู้เขียนจึงอยากเชิญชวนผู้อ่านร่วมกันวิเคราะห์ว่า ประเทศไทยจะสามารถสร้างโอกาสเพื่อให้เกิดประโยชน์จากวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร ในที่นี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างวิกฤตด้านอาหารที่ได้กลายเป็นประเด็นเชิง นโยบายของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ภายหลังจากที่ราคาอาหารและพลังงานได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนมองว่าภาคเกษตรกรรมของไทยน่าจะเป็นภาคการผลิตหนึ่งที่เป็นจุดแข็ง ที่ควรจะได้รับโอกาสจากวิกฤตอาหารโลกที่ได้เกิดขึ้น
โอกาสการพัฒนา ภาคเกษตรกรรมของไทย ถึงแม้ว่าในปัจจุบันทุกประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติและภาวะโลกร้อน ปัญหาแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่มีความผันผวน และปัญหาแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ได้กลายเป็นข้อจำกัดที่สำคัญและส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการ พัฒนาการเกษตรของแต่ละประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญรายใหญ่ของโลก และมีความสามารถในการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารสู่ตลาดโลกมาเป็นเวลา ช้านาน อีกทั้งเกษตรกรไทยมีองค์ความรู้และภูมิปัญญาในการทำกสิกรรมที่ได้รับการสืบ ทอดกันมาอย่างยาวนาน ปัจจัยดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นปัจจัยภายในที่สำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนาการ เกษตรของไทย ในขณะที่ปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติบโตของประชากรและเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น วิกฤติด้านอาหารและพลังงานที่ส่งผลทำให้ราคาอาหารและพลังงานเพิ่มสูงขึ้น และการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่สำคัญในการส่ง เสริมให้เกิดการพัฒนาการเกษตรของไทย ประเทศไทยจึงถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร ที่จะเป็นส่วนแบ่งที่สำคัญของโลกเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้เกิดขึ้น และจะสามารถรองรับต่อการเติบโตทางด้านอุปสงค์อาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมากใน ศตวรรษนี้
ความมั่นคงด้านอาหารจะเกิดขึ้นได้อย่างไร องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติได้ให้นิยามของความมั่นคงด้านอาหาร ในระดับประเทศไว้ว่า "การที่มีปริมาณอาหารในการบริโภคภายในครอบครัว ชุมชนอย่างเพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณภาพอย่างต่อเนื่องยั่งยืน อีกทั้งยังรวมถึงความมั่นคงทางการผลิต การเข้าถึงที่ดิน แหล่งน้ำ และทรัพยากรเพื่อการผลิตอื่น ๆ รวมทั้งต้องมีระบบการกระจายผลผลิตที่ดี เป็นธรรม เหมาะสมทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชน และประเทศ" การจะทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในระดับประเทศนั้นจำเป็นที่จะต้องเร่ง พัฒนาภาคเกษตรให้มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ และมีการเติบโตอย่างสมดุล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายรัฐจำเป็นที่จะต้องกำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเพื่อปรับโครง สร้างภาคเกษตรให้เกิดความมั่นคงและมีความปลอดภัยด้านอาหาร รวมถึงจะต้องสร้างความร่วมมือกันในระดับนานาประเทศให้เกิดขึ้น เพื่อร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหารให้เกิดขึ้นในระดับภูมิภาค
จะ พัฒนาภาคการเกษตรให้เข้มแข็งได้อย่างไร ภาคการเกษตรจะมีความเข้มแข็งและพัฒนาได้อย่างยั่งยืนนั้นสามารถทำได้ผ่านการ ส่งเสริมในด้านต่าง ๆ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดให้เกิดขึ้น การวางแผนการใช้ที่ดินให้เหมาะสม การสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอ และการเร่งสร้างเครือข่ายภาคการเกษตร เริ่มต้นโดยการพิจารณาการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดให้เกิดขึ้นได้ นั้นสามารถทำได้ผ่านการส่งเสริมในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เช่น พัฒนาวิจัยพันธุ์พืชและสัตว์ พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการผลิต และพัฒนาการใช้ปัจจัยการผลิตแต่ละชนิดในการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ด้านการวางแผนการใช้ที่ดิน จะต้องสนับสนุนให้มีการจัดรูปที่ดินและวางแผนการใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับการ ผลิตแต่ละชนิด รวมถึงการเลือกใช้ขนาดของที่ดินในการผลิตให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานสามารถทำได้โดยการลงทุนในระบบชลประทานและบริการ จัดการน้ำอย่างบูรณาการ รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือประกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ การสนันสนุนให้มีแหล่งเงินทุนสำหรับการกู้ยืมเพื่อการเกษตร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขึ้นในชุมชน ส่วนการสร้างเครือข่ายสามารถทำได้ด้วยการพัฒนาความสามารถของสหกรณ์การเกษตร ในการผลิตและการตลาด รวมถึงพัฒนาความเข้มแข็งและหลากหลายของเครือข่ายวิสาหกิจสินค้าเกษตรและ อาหาร
ท่าทีของไทยต่อเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ภายหลังจากเกิดวิกฤตด้านอาหารในปี 2551 รัฐบาลไทยได้อนุมัติการจัดทำยุทธศาสตร์รองรับสถานการณ์วิกฤตอาหารโลกและ พลังงานระยะ 12 ปี (2552-2563) โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมรับผิดชอบการดำเนินงาน และจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนั้น ได้มีการรับรองร่างแถลงการณ์กรุงเทพฯ ว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคอาเซียน โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงด้านอาหาร การตลาด และการค้าในภูมิภาค แผนสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคอาเซียน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง ประกอบไปด้วยแผนนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (AIFS Framework) และแผนกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (SPA-FS) และแผนกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (SPA-FS)
อย่าปล่อยให้ โอกาสนี้หลุดมือ เมื่อภาครัฐได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างความ มั่นคงด้านอาหารให้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่เราทุกคนอยากเห็น คือการสนับสนุนด้านงบประมาณและการส่งเสริมการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างจริงจัง เพื่อให้การพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไทยมีความเข้มแข็งและเป็นไปอย่างยั่งยืน เกษตรกรเองคงต้องเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของตัวเองให้สอดคล้องกับนโยบาย ข้างต้น ถ้าทุกภาคส่วนตระหนักดีว่าภาคเกษตรกรรมเป็นภาคการผลิตหนึ่งที่เป็นจุดแข็งใน การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ประเทศไทยจะสามารถสร้างโอกาสได้อย่างมากมายจากวิกฤตอาหารโลกที่ได้เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราคงไม่ยอมปล่อยให้โอกาสนี้หลุดมือไปอย่างแน่นอน