สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คำต่อคำ บรรทัดต่อบรรทัด โฆษกศาลยุติธรรม ไขข้อข้องใจคดียึดทรัพย์ทักษิณ

จากประชาชาติธุรกิจ


โฆษกศาลยุติธรรมออกโรงแจงข่าวคดียึดทรัพย์ ทักษิณ น้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ ไขข้อข้องใจทุกประเด็น ไม่เคยทำตามใบสั่งใคร ระบุศาลไม่มีมิตรแท้ แต่มีศัตรูถาวร ไม่สังกัดสี ศาลเป็นสถาบันหลักของประชาชนให้ช่วยกันรักษา ระบุข่าวสินบนพันล้านหากเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลจัดการทันที ไม่นิ่งดูดายแน่ !


     นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม แถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมี คำพิพากษาให้ทรัพย์ที่ได้มาจากการเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้คัดค้านที่ 1-5 จำนวน 46,373 ล้านบาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน นักวิชาการ สื่อมวลชน และสังคม ในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งศาลยุติธรรมขอน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์นั้น ติชมด้วยความเป็นธรรม ถือเป็นส่วนที่ช่วยพัฒนากระบวนการยุติธรรม และเป็นกระจกเงาสะท้อนให้ผู้พิพากษาในทางกลับกัน หากกระจกเงานั้นบิดเบี้ยว ติชมโดยไม่อยู่ในฐานของความเป็นจริง ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย     


โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ศาลก่อตั้งมา 128 ปี ตุลาการที่ล่วงลับและที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ถือเป็นคุณูปการวงการตุลาการ ผู้พิพากษาเปรียบเสมือนนักวิ่งผลัด ที่เปลี่ยนมารับหน้าที่รักษาทรัพย์สมบัติของชาติและประชาชน งานของศาลไม่มีมิตรแท้ แต่มีศัตรูถาวร เพราะการตัดสินของศาลย่อมมีผู้แพ้และชนะ คนชนะจะมองว่าศาลให้ความยุติธรรม แต่ในมุมของคนแพ้จะมองว่าศาลลำเอียง เพราฉะนั้นความยุติธรรมในความหมายของตนคือความพอใจ ที่ผ่านมามีบางคนวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นที่คลาดเคลื่อน ในฐานะโฆษกศาลยุติธรรม ไม่มีหน้าที่ปกป้องหรืออธิบายคำพิพากษา เนื่องจากคำพิพากษาขององค์คณะได้อธิบายไว้อย่างละเอียดแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ถูกเผยแพร่ออกมา แต่คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะสามารถดาวโหลดคำพิพากษาฉบับเต็มโดยย่อ จำนวน 180 หน้าได้ทางเว็บไซต์ของศาลฎีกาฯ ส่วนคำวินิจฉัยส่วนตัวขององค์คณะทั้ง 9 คนนั้น จะปิดประกาศที่หน้าศาลฎีกาฯ ต่อไป โดยสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้พิพากษาคนใดมีมติในประเด็นต่าง ๆ อย่างไร     


โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่คลาดเคลื่อนประเด็นแรก คือ มีคนกล่าวว่าศาลฎีกาฯ มีลักษณะยอมรับคำสั่ง คมช.ไปปฏิบัติ ศาลควรใช้กฎหมายในรัฐสภาเท่านั้น เรื่องนี้ขอชี้แจงว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 ถึงปัจจุบัน เกิดการปฏิวัติ-รัฐประหารหลายครั้ง คณะปฏิวัติจะตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อรับรองความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจ ในรูปแบบประกาศ ซึ่งปัจจุบันยังมีการนำมาใช้ในประมวลกฎหมายอาญา หรือ พ.ร.บ.ต่าง ๆ ศาลเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราขึ้น ถ้ากฎหมายออกมาที่ชอบโดยหลักการแล้ว ศาลมีหน้าที่บังคับใช้และตีความกฎหมายอย่างเสมอภาค  หากเลือกปฏิบัติจะถูกมองงว่า 2 มาตรฐาน     

นายสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า มีการเปรียบเทียบว่าการยึดทรัพย์ในสมัย รสช. กับ คมช. เมื่อที่มาของคำสั่งมีความแตกต่างกัน สมัย รสช.นั้นตั้งคณะบุคคลขึ้นมาทั้งพนักงานสอบสวน อัยการ ศาลแบบเบ็ดเสร็จ มีการยึดทรัพย์สินทั้งหมดไว้ ก่อนจะเปิดช่องให้เรียกคืนจากศาลแพ่ง และศาลฎีกา  ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นั้นแตกต่าง เมื่อมีการให้อำนาจ คตส.ไต่สวนตามกรอบเวลา ก่อนส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรืออัยการฟ้องศาล เมื่อเข้าสู่กระบวนการศาล ก็เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้าน พิสูจน์ความจริงอย่างเต็มที่     

สำหรับประเด็นที่ 3 มีการกล่าวหาว่าคำพิพากษามีการตั้งธง  เขียนเสร็จล่วงหน้า ถือว่าผู้พูดพูดถูกแต่พูดไม่หมด รู้จริงแต่ไม่รู้แจ้ง เพราะตามรัฐธรรมนูญทั้งปี 40 และปี 50 รวมถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการ เมือง ระบุไว้ว่า ให้ผู้พิพากษาทุกคนเขียนคำวินิจฉัยส่วนตัวเป็นหนังสือ ซึ่งความเห็นจะเหมือนหรือแตกต่างกันเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่จะดำเนินการ แต่ไม่ใช้การกำหนดหรือปักธงผลคำพิพากษาเอาไว้     

ประเด็นที่ 4 ที่มีการระบุว่า คำพิพากษาเสียงข้างมากไม่ระบุผลมติ ในเรื่องนี้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการ เมือง ให้ใช้เสียงข้างมากขององค์คณะผู้พิพากษา เป็นการใช้คำตามกฎหมาย ส่วนมติเท่าไรนั้น สามารถติดตามได้จากการปิดประกาศของศาลฎีกา ซึ่งเป็นเรื่องที่เปิดเผย และ

ประเด็นที่ 5 ที่ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดศาลต้องอ่านคำพิพากษาทุกถ้อยคำนั้น  เพราะการอ่านคำพิพากษาเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 140 อนุมาตรา 3 ที่กำหนดให้ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาทั้งหมดโดยเปิดเผย ต่อหน้าคู่ความทั้งสองฝ่าย     

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า มีผู้กล่าวหาว่าคดีนี้มีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง ตัดสินตามใบสั่งนั้น ขอชี้แจงว่า ในการเลือกองค์คณะทั้ง 9 คนต้องผ่านการลงคะแนนลับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกากว่า 120 คน  ก่อนติดประกาศชื่ออย่างเปิดเผย ให้คู่ความสามารถคัดค้านให้เปลี่ยนองค์คณะได้ แต่ไม่มีใครคัดค้าน ถือว่าไม่ติดใจ ทั้งนี้องค์คณะทั้ง 9 คนเป็นถึงระดับอดีตรองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา และเทียบเท่ารองประธานศาลฎีกา รับราชการมาเป็นเวลา 30-40 ปี มีเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยอมรับในหมู่ผู้พิพากษา เพราะฉะนั้นยืนยันได้ว่าไม่มีใครที่จะมาสั่งให้ซ้ายหัน-ขวาหันได้     

ประเด็นที่ 7 หากผู้พิพากษามีความเห็นที่ขัดแย้งกัน และควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยนั้น ขอเรียนว่าผู้พิพากษามีความเห็นแตกต่างกันในข้อกฎหมายถกเถียงหน้าดำคล้ำ เครียด  ก็เพราะต้องการหาทางออกให้ดีที่สุด ไม่มีลักษณะโกรธเคืองกัน การเขียนคำพิพากษากลางนั้น จะนำประเด็นของคำพิพากษาส่วนตัวที่องค์คณะที่เห็นว่าดีที่สุดมาปรับแต่งเป็น คำพิพากษากลาง จึงไม่แปลกหรือมีพิรุธที่คำพิพากษากลางเขียนเสร็จในช่วงเช้าและอ่านคำ พิพากษาในช่วงบ่าย ส่วนเรื่องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยนั้น เป็นการพิจารณาเฉพาะในคดีอาญา ไม่เกี่ยวกับคดียึดทรัพย์ที่เป็นคดีแพ่ง      

นายสิทธิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องศาล แต่ประชาชนอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน วันนี้สังคมไทยอ่อนแอ เกิดการแบ่งฝ่ายจากความเชื่อที่แตกต่างกัน สถาบันตุลาการ ถือเป็นสถาบันหลัก เป็นสมบัติของประชาชน หากศาลขาดความเชื่อถือ ก็จะเกิดศาลเตี้ยขึ้นมา ตนไม่อยากเห็นและไม่อยากจะให้เกิดขึ้น เพราะจะเป็นกลียุค ไม่มีใครเชื่อใคร ศาลยุติธรรม ตุลาการยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่มีเสื้อสีแดง สีเหลือง หรือสีน้ำเงิน ศาลเป็นตัวแทนของประชาชน ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ให้สังคมอยู่ได้โดยปกติสุข ขอให้ช่วยกันรักษาสถาบันหลักของชาติไว้ ประเทศไทยจะได้ไปรอด ประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือว่าโชคดีมากแล้ว ที่ผ่านมานายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา ก็ไม่เคยก้าวล่วง หรือแทรกแซงการทำงานขององค์คณะ ซึ่งมีอิสระเต็มที่ในการพิจารณาคดี      นายสิทธิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องสินบนตุลาการนั้น ได้เรียนให้นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล เลขานุการศาลฎีกาฯ ทราบแล้ว พร้อมกับหารือกับองค์คณะว่ามีบุคคลใดพูดจาในลักษณะดังกล่าว หากเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลก็ต้องดำเนินการ  ไม่ปล่อยนิ่งดูดายในเรื่องดังกล่าว     

ส่วนเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่องค์คณะ นายสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุปั่นป่วนด้วยการปาสิ่งปฏิกูล หรือวัตถุระเบิดขึ้นหลายครั้ง เราไม่อยากให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นกับองค์คณะผู้พิพากษา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง แต่ศาลก็ไม่ประมาทจัดการดูแลสวัสดิภาพขององค์คณะอย่างเต็มที่ รวมถึงดูแลบุคคลในครอบครัวผู้พิพากษาอีกด้วย เช่นเดียวกับอาคารสถานที่ที่มีการจัดการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างดี เพื่อไม่ให้บั่นทอนขวัญและกำลังใจ     

ต่อข้อถามเรื่องการลงพื้นที่ตรวจศาลของนายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคเหนือ ที่หลายฝ่ายหวั่นเกรง เนื่องจากเป็นพื้นที่ของกลุ่มเสื้อแดงนั้น นายสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า ประธานศาลฎีกามีนโยบายตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ โดยได้เดินทางไปให้กำลังใจแก่ข้าราชการตุลาการในพื้นที่มาแล้ว ส่วนเรื่องจะเดินทางไปพื้นที่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้น เชื่อว่าประธานศาลฎีกาไม่ได้รู้สึกหวั่นไหว และไม่ได้คิดว่าเป็นพื้นที่ของสีอะไร อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จะทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้     

ส่วนที่ศาลติดภาพลบในสายตาของกลุ่มคนบางกลุ่มนั้น นายสิทธิศักดิ์ กล่าวยืนยันว่า ไม่มีการสร้างภาพ ศาลต้องทำงานให้เกิดความศรัทธา เชื่อมั่นแก่ประชาชนตลอดไป

view