ปลุกให้ตื่น ฟื้นมาวิ่ง SME ไทย (๒)
กว่าจะรู้ตัว ก็เกือบสายเสียแล้ว(ต่อ)
เรื่องของการหานักบัญชี ลองพิจารณาดูเรื่อง "คุณสมบัตินักบัญชี" ก็เคยเขียนไว้แล้ว ลองอ่านและลองพยายามหาว่าความต้องการของเราเป็นอย่างไร ข้อมูลที่เราจะใช้เราต้องการแค่ไหน แล้วค่อยหาวิธีที่จะตั้งคำถามเพื่อเลือกคนให้ได้ตามที่เราต้องการ หรือถ้าจะใช้บริการสำนักงานบัญชีก็ลองอ่านดูที่เคยเขียนเป็นบทความไว้ เรื่อง "วิธีการเลือกสำนักงานบัญชี" ก็จะชัดเจนขึ้น
ถ้าเราได้คนทำบัญชีมาแล้วเราควรจะได้อะไรบ้างจากนักบัญชีเหล่านั้น
1.อย่างน้อยเราต้องได้งานพื้นฐานที่เราควรจะได้คือ การทำงานในส่วนงานบัญชี งานการเงิน งานเกี่ยวกับภาษีอากร การจัดทำบัญชีและบันทึกบัญชี ปิดบัญชี จัดทำงบการเงินเพื่อส่งหน่วยราชการตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ถ้าเท่านี้ไม่ได้ก็ไม่ใช่นักบัญชี คงได้แค่พนักงานลงบัญชี หรือเสมียนที่คอยบันทึกรายการรับจ่ายประจำวัน พิมพ์ใบเสร็จ ออกใบกำกับ ช่วยขายของหน้าร้าน หรือ คอยช่วยเลี้ยงตี๋น้อยลูกเถ้าแก่ ไปวันวัน แล้วก็อย่าหวังว่านักบัญชีที่คุณจ้างมาจะทำอย่างที่เสมียนทำ เพราะเฉพาะงานบัญชีที่กล่าวมาแล้วทำให้ดีและทันเวลา ก็แย่แล้ว
2.ถ้าความต้องการของเราต้องการข้อมูลทางบัญชีมากขึ้น เราควรได้นักบัญชีที่มีความรู้ด้านการบัญชีต้นทุนและการวิเคราะห็ต้นทุนการผลิตหรือบริการต่างๆ (ทุกอย่างล้วนมีต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจซื้อมาขายไป ธุรกิจบริการ หรืองานอุตสาหกรรมการผลิต) ข้อเท็จจริงนักบัญชีส่วนใหญ่เรียนบัญชีต้นทุน แต่การทำบัญชีต้นทุนบางครั้ง นักบัญชีบางคนใช้ตัวเลขต้นทุนขายหรือต้นทุนการผลิตในงบการเงินมาหารด้วยจำนวนที่ผลิตได้ทั้งปี เป็นอันเสร็จพิธีปีละครั้ง
ดังนั้นการทำบัญชีต้นทุนที่จะได้เป็นต้นทุนต่อหน่วย ต่อแผนก ต่อผลิตภัณฑ์ ต่อตู้คอนเทนเนอร์ หรือแม้กระทั่งต่อราการที่เกิดขึ้นต่อรายการ(เช่นที่เราเคยได้ยินว่า ธนาคารคำนวณค่าต้นทุนการทำงานของการทำรายการหน้าเคาน์เตอร์รายการละ๔-๕บาทต่อรายการ เป็นต้น ) การจัดทำบัญชีต้นทุนจึงเป็นเรื่องประสบการณ์มากกว่าตำราที่เรียนมาในระดับมหาวิทยาลัย เพราะตราบใดที่การผลิต/บริการยังมีการพัฒนาปรับปรุงขบวนการ มีการจัดหน่วยการผลิต/บริการที่แตกต่าง มีความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ ในเชิงธุรกิจสินค้าประเภทเดียวกันขบวนการผลิตที่ต่างกันก็มีการจัดทำบัญชีต้นทุนที่มีลักษณะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับนโยบายการบริหาร , ขบวนการทำงาน , โครงสร้างของรายได้/ค่าใช้จ่าย หรือความลับทางการค้า ที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดความแตกต่าง เพราะฉะนั้นการที่นักบัญชีคนหนึ่งเคยทำงานในธุรกิจหนึ่งมาอาจจะไม่สามารถทำบัญชีในธุรกิจประเภทเดียวกันได้ดีก็ได้ ขึ้นอยู่กับการประยุกต์ใช้หลักการบัญชีและประสบการณ์ที่เคยมีมากับที่ใหม่ได้แค่ไหน ประสบการณ์ที่จะได้ก็จะเป็นประสบการณ์ความเข้าใจในธุรกิจมากกว่าประสบการณ์การทำบัญชี ดังนั้นประสบการณ์ในความเข้าใจในธุรกิจ นักบัญชีบางคนอาจมีความเข้าใจในธุรกิจนั้นๆมากกว่าคนที่เคยทำบัญชีในธุรกิจนั้นๆมา เหมือนกับในเชิงจิตวิทยาเขาอ้างถึง Frame of reference ของแต่ละคนนั่นแหละครับ เพราะฉะนั้นถ้าจะหานักบัญชีต้องถามให้ดี แล้วจะเข้าใจว่า "คนที่คิดว่าใช่ อาจไม่ใช่ แต่คนที่คิดว่าไม่ใช่ อาจใช่"
ถ้าเราติดตามตำราต่างประเทศจะเห็นว่ามีแนวคิดใหม่ๆในการบริหารต้นทุนและการผลิตออกมาใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้ก็มีส่วนที่จะทำให้การจัดทำบัญชีต้นทุนเปลี่ยนไปจากปกติ เช่น Activities base costing หรือ Lean Accounting (สองเรืองไม่เหมือนกันเอาไว้จะเขียนอีกครั้ง) บางครั้งแนวคิดต่างๆเหล่านี้ไม่ได้เขียนว่าเป็น Cost Accounting แต่เราจำเป็นที่จะต้องนำมาพิจารณาประยุกต์ใช้ ความจำเป็นในประสบการณ์ การทำงานและการประยุกต์ใช้ความรู้ตามตำราให้เหมาะสมกับการผลิต การทำบัญชีต้นทุนแบบเดิมๆอาจไม่สอดรับกับความต้องการของการผลิตก็ได้ รวมถึงการอ่านโครงสร้างต้นทุนให้ขาดเพื่อให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในขบวนการผลิตจึงมีส่วนอย่างมากที่จะทำให้ความสามารถของนักบัญชีแตกต่างกันไป ซึ่งอาจแตกต่างกับบัญชีการเงินที่ส่วนใหญ่รายการทางธุรกิจจะคล้ายๆกัน จนอาจเขียนเป็นรูปแบบชัดเจนได้
3.ถ้าเรามีความต้องการมากขึ้นไปอีก เราควรจะได้นักบัญชีที่สามารถวางระบบบัญชีและทางเดินเอกสารให้เราได้ ที่บอกว่าเราควรได้คนลักษณะนี้มาเนื่องจาก นักบัญชีจะเป็นคนที่ควรจะรู้เรื่องกิจกรรมภายในบริษัทพอสมควรทั้งด้านการเงินและต้นทุน เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรปิดบังข้อมูลที่จำเป็นจนเกิดความผิดพลาดในระบบงานที่วางขึ้น ประการถัดไป ลองให้ไปดูระบบบัญชีและการควบคุมภายใน ในคู่มือระบบบัญชีของคนที่เคยวางระบบดูจะเห็นว่า ระบบต่างๆจะเขียนเรื่องการบัญชีต้นทุนการผลิตไว้หยาบมากเพราะนักบัญชีที่มาวางระบบบัญชีให้ ร้อยละ 80-90 ไม่เคยทำบัญชีต้นทุนและในขั้นตอนของการวางระบบบัญชีจะไม่ได้ลงไปสอบถามข้อมูลอย่างลึกซึ้งมากนัก โดยเฉพาะการจ้างสำนักงานบัญชี วางระบบบัญชี เราจะได้เรื่องหลักๆ คือ ระบบบัญชีและการควบคุมภายในเกี่ยวกับบัญชีการเงิน ไม่ค่อยมีบัญชีต้นทุนเพราะส่วนใหญ่คนวางไม่เคยทำก็ต้องเปิดตำราแล้วนั่งเทียนเอาว่าจะเป็นอย่างไร(ลองหาเพื่อนที่เคยจ้างวางระบบหลายๆคนแล้วเอามาเทียบกันจะเห็นว่าไม่ค่อยมีความแตกต่าง ส่วนใหญ่เหมือนเป็นแบบสำเร็จรูป) ดังนั้นถ้าถามผม ผมจะแนะนำว่า ให้ไปซื้อหนังสือ "ระบบบัญชี" ของสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาอ่านเพราะอ.วิไล วีระปรีย และ อ.จงจิตต์ หลีกภัย เขียนไว้ดี ถ้าจะเอามาประยุกต์กับความเข้าใจทางธุรกิจของเจ้าของก็ไม่ต่างอะไรกับอ่านระบบบัญชีที่ไปจ้างเขาวาง แถมประหยัดเงินกว่าเป็น 100 เท่า หรือว่ายังไม่พอใจจะกวาดหนังสือบัญชีเกี่ยวกับการวางระบบบัญชีมาหมดชั้นหนังสือเลยก็ได้ ไม่ต่างกันมากหรอก ขอบอก (เพราะผมทำมาแล้ว)
ดังนั้นระบบบัญชีและการควบคุมภายในที่ได้จะเป็นระบบบัญชีเกี่ยวกับบัญชีการเงินและทางเดินเอกสารเป็นส่วนใหญ่ หากเราได้นักบัญชีที่ทำงานลักษณะนี้ได้คุณจะได้ระบบบัญชีต้นทุนอย่างที่บริษัทคุณอยากได้ ส่วนเรื่องการวางระบบบัญชีให้ไปอ่านในบทความเก่าที่เคยเขียนไว้แล้วเรื่อง "บัญญัติ 10 ประการที่ต้องคำนึงในการวางระบบบัญชีและการควบคุมภายใน" ทั้งสองภาค คาดว่าคงจะเข้าใจขึ้น
4.ถ้าเรามีความต้องการมืออาชีพของแท้นักบัญชีประเภทนี้อธิบายง่าย เราควรจะได้นักบัญชีที่ บริหารการเงินได้ , สนใจการเป็นไปของกิจการ , อ่านและวิเคราะห์งบการเงินได้ , เข้าใจว่าปัญหาเมื่อดูงบการเงิน , รู้ว่าควรแก้ปัญหาอย่างไร , สนใจในเรื่องเศรษฐกิจ / การบริหาร / เทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งการเมือง , สามารถสื่อสารได้อย่างกระชับและเข้าใจ
นั่นหมายความว่าเรื่องบัญชีอยากได้อะไรบอกไป เดี๋ยวนักบัญชีประเภทนี้เขาจัดให้แบบเต็มๆ เตรียมตังค์ค่าตัวไว้เยอะๆ ก็พอ
แล้วรู้ได้อย่างไรว่านักบัญชีที่เราได้มา ถ้าเราสนับสนุนเต็มที่จะได้สามารถลุยงานที่เราต้องการได้ ตรงนี้ตอบไม่ยาก คำตอบคือถ้านักบัญชีคนไหนทำได้ตั้งแต่ข้อ 2 ขึ้นไป เป็นอันว่าหัวจิตหัวใจใช้ได้ ซึ่งผมคิดว่าตอนนี้เรามีคนประเภทนี้ไม่น้อย การนำองค์กรเราเดินไปข้างหน้าหรือการฝ่าวิกฤต สิ่งต่างๆที่ได้จากนักบัญชีเหล่านี้จะเป็นแต้มต่อทางธุรกิจที่จะทำให้เรามีทางออกมากกว่าคนอื่น
ความคิดเห็น