กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป
โดย : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ได้ยินเรื่องกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรปมานานกว่า 1 ปี หลายๆ ท่าน ก็อาจจะลืมไปแล้วว่าคืออะไร ทำหน้าที่อะไร
และเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ของยุโรปที่กำลังยุ่งเหยิงอยู่ในขณะนี้อย่างไร ในวันนี้จึงขอนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันอ่านค่ะ
กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป หรือ European Financial Stability Facility ที่เรียกกันย่อๆ ว่า EFSF เกิดจากการที่ผู้นำของประเทศกลุ่มยูโร เห็นว่าหลังจากเกิดปัญหาหนี้สาธารณะในสาธารณรัฐไอร์แลนด์ กรีซ และโปรตุเกส ซึ่งต้องมีการประชุมให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกกลุ่มยูโรโดยการใช้ เครื่องมือที่มีอยู่ถาวร คือ กลไกรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป หรือ European Financial Stabilisation Mechanism (EFSM) ซึ่งมีวงเงินสำหรับให้สมาชิกในกลุ่มยูโรกู้จำนวน 60,000 ล้าน ยูโรนั้น แม้จะรวมกับกลไกอื่นๆ เช่น เงินกู้จากไอเอ็มเอฟ หรือประเทศอื่นที่เจรจากู้กันเองนั้น ไม่เพียงพอในการรับมือกับปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศชายขอบยุโรปซึ่งทำท่าว่าจะบานปลาย จึงควรต้องมีกองทุนในการ ดูแลช่วยเหลือเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหากับระบบการเงินของยุโรป เนื่องจากกลุ่มประเทศในยูโรมีการค้าขาย ให้กู้ยืม และพึ่งพากันทางเศรษฐกิจสูง ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศหนึ่ง อาจก่อให้เกิดปัญหาลุกลามต่อเนื่องไปยังประเทศอื่นๆ ได้ จึงให้สัญญากันว่าจะมีการลงขันกันจัดตั้งกองทุนขึ้น
ในวันที่ 7 มิถุนายน 2553 มีการก่อตั้ง EFSF ขึ้น มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ลักเซมเบิร์ก เช่นเดียวกับสำนักงานของกลุ่มยูโร โดยมีผู้ถือหุ้นเป็นประเทศต่างๆ ในกลุ่มยูโร ถือหุ้นในสัดส่วนมากน้อยตามแต่สถานะของแต่ละประเทศ และลงขันในสัดส่วนแตกต่างกัน EFSF เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2553 มีเป้าหมายเพื่อปกป้องเสถียรภาพการเงินของยุโรปด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิก มีภารกิจ 3 ปี โดยจะหมดภารกิจในเดือนมิถุนายน 2556 หลังจากนั้น จะทำหน้าที่เพียงบริหารและรับชำระคืน
กองทุนนี้เป็นนิติบุคคลที่ได้รับการจัดอันดับเท่ากับ AAA โดย S&P และ Fitch Ratings และได้ Aaa จาก Moody’s ซึ่งเป็นอันดับสูงสุด ในขั้นแรกสมาชิกตกลงที่จะเข้าค้ำประกันกองทุนนี้ในวงเงิน 440,000 ล้านยูโร โดยประเทศที่ประสบปัญหา คือ ไอร์แลนด์ กรีซ และโปรตุเกส ไม่ต้องเข้าค้ำประกันในรอบนี้
ในกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้โดยผู้กู้ประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่ม การค้ำประกันนี้จะคุ้มครองทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ผู้ค้ำประกันแต่ละรายจะค้ำประกันเกินวงเงินที่กำหนดไปอีก 20% คือ จะค้ำประกันในสัดส่วน 120% ของวงเงินที่ต้องรับผิดชอบ
สำหรับผู้ที่จะกู้ยืมจากกองทุนนี้ จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 0.5% และยังต้องมีเงินสำรองที่ต้องจ่ายล่วงหน้า นอกจากนี้ เพื่อให้แน่ใจว่ากองทุนนี้คงอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ AAA กองทุนอาจจะขอหักเงินจากเงินกู้ที่ผู้กู้จะรับเพิ่มเติมจากเงินสำรองได้ด้วย
ถ้าผู้กู้ผิดนัด ผู้ค้ำประกันแต่ละประเทศต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเพิ่มตามสัดส่วน
กองทุนนี้จะออกพันธบัตรเพื่อกู้เงิน โดยสำนักบริหารหนี้สาธารณะของเยอรมนีเป็นผู้ช่วยดำเนินการให้ เพื่อนำมาให้ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหากู้ ทั้งนี้ ในกรณีทั้งของไอร์แลนด์และโปรตุเกสนั้นเป็นการให้กู้ร่วมกับไอเอ็มเอฟ และ EFSM โดยไอร์แลนด์มีเงินกู้เพิ่มเติมจากสหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศนอกกลุ่มยูโร ด้วย เนื่องจากมีความสัมพันธ์กันใกล้ชิด
กรีซได้รับอนุมัติเงินกู้รอบแรกไปแล้ว 110,000 ล้านยูโร จากการตกลงของประเทศสมาชิกในยูโร และไอเอ็มเอฟ ซึ่งอยู่นอกเหนือจาก EFSF โดยทยอยเบิกเงินกู้เป็นเวลา 3 ปี และต้องการรอบสองอีก 159,000 ล้านยูโร โดยเป็นส่วนของ EFSF 109,000 ล้านยูโร และที่เหลือเป็นการลดหนี้ภาคเอกชน ทั้งนี้ อียูจะตั้งคณะทำงานเข้าไปร่วมกับรัฐบาลกรีซในการดูแลอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจให้ดีขึ้นและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้แน่ใจว่า รัฐบาลกรีซจะมีเงินมาใช้คืนหนี้ในอนาคต
อย่างไรก็ดี ในการแก้ปัญหาของกรีซนั้น มีความคืบหน้าน้อยมาก เนื่องจากปัญหาการเมืองและสังคม รัฐบาลไม่สามารถตัดลดรายจ่ายโดยไม่ถูกประท้วง และการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อนำเงินมาใช้คืนหนี้ก็แทบจะไม่มีความคืบหน้า จากการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา จึงต้องมีการตกลงลดหนี้ หรือ haircut ลงบ้าง เพื่อให้ขอบเขตของปัญหาเล็กลง มิฉะนั้น วงเงินที่มีอยู่อาจจะหมดลง ไม่สามารถรองรับประเทศอื่นๆ ได้อีก
ต้องอย่าลืมว่ามีอีกสองประเทศที่มีท่าทีว่าอาจจะซ้ำรอยกรีซ คือ อิตาลีและสเปน และเนื่องจากขนาดของเศรษฐกิจอิตาลีและสเปนใหญ่กว่ากรีซมาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จึงออกมากล่าวอยู่เนืองๆ ว่า หากเกิดปัญหาขึ้นกับอิตาลีและสเปน ไอเอ็มเอฟไม่มีเงินพอที่จะให้กู้แล้ว
เพื่อให้แน่ใจว่ามีวงเงินเพียงพอต่อการดูแลรักษาเสถียรภาพการเงินของกลุ่มยูโร สมาชิกจึงต้องการขยายขนาดของวงเงินค้ำประกันกองทุน EFSF จาก 440,000 ล้านยูโร เป็น 780,000 ล้านยูโร และปรับให้ขยายครอบคลุมได้ถึง 165% ของวงเงิน ในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ (จากเดิม 120%) ทั้งนี้ ยังค้ำประกันครอบคลุมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่จะไม่เก็บเงินสำรองและค่าธรรมเนียมจากผู้กู้อีกต่อไป ทั้งยังอนุมัติให้กองทุนมีข้อยกเว้นที่จะสามารถเข้าไปแทรกแซงตลาดแรกของพันธบัตรในกรณีจำเป็น
ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศหลักๆ เช่น เยอรมนี และฝรั่งเศส เล็งเห็นแล้วว่า กรณีมีการผิดนัดชำระหนี้ จะต้องมีการเจรจาลดหนี้ และเจ้าหนี้ ซึ่งก็คือธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของประเทศในกลุ่มยูโร เห็นทีจะกระอัก เพราะปล่อยกู้แก่กรีซ อิตาลี และสเปนกันเต็มที่ จึง อนุมัติให้ EFSF และ ESM (ซึ่งจะดูแลรักษาเสถียรภาพต่อไป) สามารถเข้าไปเพิ่มทุนให้สถาบันการเงิน โดยผ่านเงินให้กู้แก่รัฐบาล ทั้งรัฐบาลของประเทศที่เป็นผู้กู้ และรัฐบาลของประเทศที่ไม่ได้เป็นผู้กู้ด้วย
พูดง่ายๆ ก็คือ เตรียมการเพิ่มทุนให้ธนาคารของเยอรมนี ซึ่งปล่อยกู้ให้กับกรีซมาก และธนาคารของฝรั่งเศสที่ปล่อยกู้ให้กับอิตาลีมาก เพราะจะถูกลดหนี้ไปเยอะและจำเป็นต้องเพิ่มทุน
การแก้ไขหลักการนี้ จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากสภาของประเทศสมาชิกต่างๆ โดยของเยอรมนีผ่านไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน ส่วนประเทศอื่นๆ ก็จะทยอยลงมติต่อไป
เป็นเรื่องไกลตัวที่ส่งผลมาถึงตัว จึงต้องจับตาดูค่ะ แต่ตอนนี้ที่ใกล้ๆ ตัว คือ ปัญหาอุทกภัยในไทย ซึ่งสาหัสกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณน้ำมีมากกว่าที่เคยมีมาก และการเตรียมการไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากส่วนใหญ่ประเมินปัญหาไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง อยากขอให้ท่านผู้อ่านให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องที่ประสบภัยกันตามกำลังที่มีอยู่ค่ะ ช่วยกันคนละไม้ละมือ อย่างน้อยก็อาจจะพอบรรเทาไปได้บ้าง นอกจากเงินและสิ่งของแล้ว ขอส่งกำลังใจไปให้ด้วยค่ะ กำลังใจที่ดีเท่านั้นจะช่วยให้ฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ และแข็งแกร่งขึ้น สู้ๆ นะคะ อย่ายอมแพ้
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี