สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก้ปัญหาน้ำท่วมตามแนวพระราชดำริ รัฐบาลอย่าปล่อยให้เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา/ปิ่น บุตรี

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

 โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)

วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปแทบทุกหย่อมหญ้า

       วิกฤตประเทศไทยกับเหตุการณ์อภิมหาน้ำท่วมใหญ่มโหฬารบานตะเกียงครั้ง นี้ นอกจากรัฐบาลปูนิ่มและศปภ.จะต้องแก้ปัญหาให้พ้นตัวไปวันๆแบบแก้ผ้าเอาหน้า รอดแล้ว หลังน้ำลดรัฐบาลยังจะต้องเผชิญกับปัญญาสารพัดสารพันที่ถาโถมเข้ามาจากวิกฤต ใหญ่ครั้งนี้ ให้ตามแก้กันอีกหลายเปลาะ
       
       ไม่ว่าจะเป็น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งด้านทรัพย์สินและด้านจิตใจ รวมไปถึงแรงงานจำนวนมากที่ต้องตกงานจากน้ำท่วมครั้งนี้,การฟื้นฟูประเทศ ซ่อมแซมถนนหนทาง อาคารบ้านเรือน วัดวาอาราม สถานศึกษา สถานที่ราชการ เรือกสวนไร่นา และทรัพย์สินข้าวของที่เสียหายต่างๆจำนวนมาก การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเยียวยาแก้ปัญหาในภาคเกษตร อุตสาหกรรม ภาคบริการ และอื่นๆที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม,การเร่งสร้างความเชื่อต่อนักลงทุนต่าง ชาติไม่ให้ย้ายฐานการผลิต
       
       เหล่านี้ถือเป็นปัญหาหลักๆ ทั้งปัญหาเร่งด่วนและปัญหาระยะสั้น ที่รัฐบาลต้องรีบเร่งดำเนินการแก้ไขหลังน้ำลดอย่างฉับพลันเร่งด่วน ซึ่งจะเป็นการสอบซ่อมพิสูจน์กึ๋น พิสูจน์ฝีมือรัฐบาลอีกครั้งว่าจะสอบผ่านหรือสอบตกซ้ำซากเหมือนการแก้ปัญหา น้ำท่วมที่ผ่านมาหรือเปล่า
       
       ในขณะที่ปัญหาระยะกลางนั้นรัฐบาลต้องปรับปรุงและบริหารจัดการระบบ ด้านการเตือนภัย การรับมือกับภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพ สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ไม่ใช่ทำกันมั่วซั่วไม่เป็นมวยเหมือนที่ผ่านมา
       
       ส่วนปัญหาระยะยาว(ซึ่งอันที่จริงก็ต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วนควบคู่ไป กับปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง)ก็คือ การแก้ปัญหาและป้องกันเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในอนาคต
       
       ทั้งนี้มีเสียงบอกกล่าว เสียงสะท้อน จากประชาชนจำนวนมากว่า ต้องการให้รัฐบาล(ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้ รัฐบาลหน้า หรือรัฐบาลไหนๆก็ตาม) น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้แก้ปัญหาน้ำท่วม และบริหารจัดการเรื่องน้ำในเมืองไทยแบบ“บูรณาการ”อย่างเป็นระบบ ไม่ใช่จัดการแบบ“ปูรณาการ”อย่างที่เป็นอยู่
       
       ทั้งนี้เนื่องจากแผนบริหารจัดการน้ำและการรับมือปัญหาน้ำท่วมตามแนว พระราชดำรินั้น มีการมองปัญหาและดำเนินการแบบเป็นองค์รวม ทั้งดิน ป่า น้ำ โดยเรื่องของน้ำได้มีแยกย่อยออกเป็นเรื่องของการแก้ปัญหา น้ำแล้ง น้ำเสีย และน้ำท่วม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยว ข้องนำไปปฏิบัติมาเป็นเวลานับสิบปีแล้ว ดังกระแสพระราชดำรัสที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้ในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ที่ว่า
       
       “...การพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ในหลักใหญ่ก็คือการควบคุมน้ำให้ได้ดังประสงค์ ทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ เมื่อมีปริมาณน้ำมากเกินไป ก็ต้องหาทางระบายออกให้ทันการณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้ และในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลน ก็จะต้องมีน้ำกักเก็บไว้ใช้อย่างเพียงพอ ทั้งมีคุณภาพเหมาะสมแก่การเกษตร การอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค ปัญหาอยู่ที่ว่า การพัฒนาแหล่งน้ำนั้นอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ถ้าไม่มีการควบคุมน้ำที่ดีพอแล้ว เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้น ก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนสูญเสียทั้งในด้านเศรษฐกิจและในชีวิตคามเป็น อยู่ของประชาชน ทั้งส่งผลกระทบเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง”
       
       สำหรับหลักการดำเนินแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณา ดำเนินการแก้ไข ป้องกัน หรือช่วยบรรเทาปัญหา ในช่วงฤดูน้ำหลากไม่ให้น้ำไหลบ่าเข้าไปท่วมสร้างความเสียหายต่อชุมชน พื้นที่ทำการเกษตรของราษฎร(รวมถึงพื้นที่อุตสาหกรรมดังที่ปรากฏในปีนี้ด้วย) ตลอดจนการเร่งระบายน้ำออกจากที่ลุ่ม ซึ่งแบ่งออกเป็นหลักใหญ่ๆ สรุปความได้ดังนี้
       
       การก่อสร้างคันกั้นน้ำ : เพื่อกั้นน้ำที่มีระดับสูงกว่าตลิ่งไม่ให้ไหลบ่าเข้าไปท่วมพื้นที่ต่างๆให้ ได้รับความเสียหาย วิธีนี้นิยมทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยการกั้นเป็นคันดิน(หรือคันกระสอบทรายที่กำลังทำกันอยู่ในขณะนี้)กั้นน้ำ ขนาดเล็กที่มีความสูงไม่มากนัก ขนานไปตามลำน้ำห่างจากขอบตลิ่งเข้าไปเป็นระยะพอประมาณ วิธีนี้เคยสามารถป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำตามลำคลองต่างๆไม่ให้ ไหลบ่าเข้ามาท่วมพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในและเขตเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
       
       การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ : เป็นการปิดกั้นลำน้ำตามธรรมชาติ เพื่อกักเก็บน้ำที่ไหลลงมามากในฤดูน้ำหลาก จนเกิดเป็นเขื่อนหรือ“อ่างเก็บน้ำ”ขนาดต่างๆ ดังเช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี-สระบุรี เขื่อนคลองท่าด่าน จังหวัดนครนายก โดยน้ำที่เก็บกักไว้ในเขื่อนยามปกติจะระบายออกทีละน้อยเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเพาะปลูกในยามน้ำแล้ง ซึ่งเขื่อนทั้งสองสามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางตอน ล่างรวมถึง กทม.ได้ไม่น้อยเลย
       
       การก่อสร้างทางผันน้ำ : เป็นการผันน้ำในส่วนที่ล้นตลิ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมออกไปจากลำน้ำ และปล่อยให้น้ำส่วนใหญ่ที่ยังไม่ล้นตลิ่งไหลไปตามลำน้ำตามเดิม การสร้างทางผันน้ำหรือขุดคลองสายใหม่เชื่อมต่อกับแม่น้ำที่มีปัญหาน้ำท่วม จะต้องสร้างอาคารเพื่อควบคุมและบังคับน้ำ หรือสร้างประตูระบายน้ำที่เปิด-ปิดได้ตามความเหมาะสม เพื่อเชื่อมกับลำน้ำสายเก่า(สายใหญ่)ให้ไหลเข้าลำน้ำสายใหม่ได้โดยอัตโนมัติ ดังตัวอย่าง ทางผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง ผันเข้าแม่น้ำท่าจีน แล้วผันลงสู่ทุ่งบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี ก่อนระบายออกสู่ทะเล
       
       การระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม : พื้นที่ลุ่มที่มีน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ จำเป็นต้องทำการระบายน้ำออกด้วยการขุดคลองระบายน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และให้สามารถเพาะปลูกได้ รวมถึงมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการกักเก็บน้ำ ในคลองและป้องกันน้ำจำด้านนอกไม่ให้ไหลย้อนกลับเข้าไปในพื้นที่
       
       ตัวอย่างอันขึ้นชื่อของโครงการนี้ก็คือ โครงการแก้มลิงตามพระราชดำริ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำรัสอธิบายเกี่ยวกับแก้มลิงว่า
       
       “...ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงก็จะรีบปอกกล้วยแล้วเอาเข้าปากเคี้ยวๆ แล้วเอาไปเก็บที่แก้ม จะกินกล้วยเข้าไปที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน แล้วจะนำมาเคี้ยวและกลืนกินเข้าไปภายหลัง ด้วยพฤติกรรมการนำเอากล้วยหรืออาหารมาสะสมไว้ที่กระพุ้งแก้มก่อนการกลืนนี้ จึงเป็นพฤติกรรมตัวอย่างที่จะนำมาใช้ในการระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่น้ำท่วม ขังบริเวณทิศตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา...”
       
       แก้มลิง เป็นการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ท่วมขังในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลให้ออกจาก พื้นที่ตอนบน ไหลไปตามคลองในแนวเหนือ-ใต้ แล้วปล่อยให้ไหลลงไปเก็บพื้นที่แก้มลิงหรือคลองพักน้ำขนาดใหญ่บริเวณชายทะเล เมื่อระดับน้ำทะเลลดลงต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ให้ทำการระบายน้ำออกจากแก้มลิงทางประตูระบายน้ำ
       
       การปรับปรุงสภาพลำน้ำ : ทรงให้ขุดลอกคูคลอง ลำน้ำที่ตื้นเขิน และตกแต่งลำน้ำเพื่อช่วยให้น้ำไหลได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ในกรณีที่ลำน้ำมีแนวโค้งมากและเป็นระยะไกล ก็ให้พิจารณาขุดคลองลัดเชื่อมระหว่างแม่น้ำสายใหญ่ ดังกรณีของการขุดคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ที่ช่วยย่นระยะทางการไหลของทางน้ำเดิมลงสู่ทะเลได้ถึง 17 กิโลเมตร
       
       การหาความสัมพันธ์ของระดับน้ำและปริมาณปากแม่น้ำเจ้าพระยา(Hydrodynamic Flow Measurement) : วิธีการนี้เป็นการศึกษาหาความสัมพันธ์ของน้ำทะเลหนุน และปริมาณน้ำเหนือหลาก ผ่านเขตกทม. แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปบริหารจัดการน้ำเหนือที่ไหลผ่านลงมายังเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
       
       และนั่นก็คือข้อมูลเบื้องต้นจาก 6 หลักใหญ่ๆในการป้องกัน แก้ปัญหา และบริหารจัดการเรื่องน้ำท่วมตามแนวพระราชดำริ ซึ่งนอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่นๆอีก อย่าง การสร้างฝายชะลอน้ำและกักเก็บน้ำ การใช้วิธีธรรมชาติ อย่าง การปลูกหญ้าแฝก(หรือที่นายกฯปูนิ่มเข้าใจผิดคิดว่าเป็นหญ้าแพรกนะค๊า)ช่วย ยึดคลุมดิน ลดการชะล้าง พังทลายของหน้าดิน การปลูกป่าและการรักษาป่าต้นน้ำ เพื่อช่วยดูดซับน้ำ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นต้น
       
       อย่างไรก็ดีในจะการดำเนินการโครงการใดโครงการหนึ่งหรือเชื่อมโยงกัน หลายโครงการ พระองค์ท่านทรงให้แนวทางไว้ว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียด ดูความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ ภูมิประเทศ ประโยชน์ที่ได้รับกลับมา และความคุ้มค่าในการลงทุน ก่อนที่จะตัดสินใจลงมือดำเนินการ
       
       จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ และทรงดำเนินการก่อตั้งโครงการพระราชดำริต่างๆขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย ดินเสีย และแก้ปัญหาความเดือดร้อนอื่นๆอีกมากมายของพสกนิกรชาวไทยมานับเป็นสิบๆปี แล้ว
       
       เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาไม่ว่ากี่รัฐบาล นักการเมืองบ้านเรากับละเลย เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่สนใจไยดี ทำให้ปัญหาต่างๆเกิดการสะสมกลายเป็นวิกฤติของประเทศชาติอยู่จนทุกวันนี้


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : แก้ปัญหาน้ำท่วมตามแนวพระราชดำริ รัฐบาลอย่าปล่อย เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ปิ่น บุตรี

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view