หกสิบห้าปีแห่งการครองราชย์
โดย : ไชยันต์ ไชยพร
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ตลอดหกสิบห้าปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องทรงเผชิญกับความยากลำบาก และต้องทรงใช้พระราชวิริยภาพอย่างยิ่งยวด
เพื่อต่อสู้กับความยากลำบากนั้น ดังจะได้กล่าวให้เห็นในสามประเด็นสำคัญ ประเด็นแรก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ระบอบการเมืองใหม่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ในระยะเปลี่ยนผ่านของระบอบการเมืองการปกครองไทย ที่คณะผู้ก่อการมุ่งหวังจะสร้างให้เป็นประชาธิปไตยนี้ เป็นระยะของวิกฤติภาวะทางการเมือง ซึ่งเป็นสภาวะที่ "สิ่งเก่ากำลังผุกร่อนสลายลง และสิ่งใหม่ยังไม่อาจเกิดขึ้นได้ ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนี้ มีอาการอันวิปริตแปรปรวนต่างๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด" สภาพการเมืองของไทยในระยะ 25 ปีภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็คือ ความขัดแย้ง แตกร้าวและทำลายล้างกันระหว่างผู้นำทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอยู่บ่อยครั้ง ตลอดจนการดำเนินการเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของกลุ่มมากกว่าการคำนึงถึงหลักการตามกติกาที่รัฐธรรมนูญวางไว้ และความพยายามของผู้นำการเมืองในกลุ่มคณะราษฎรบางคนในการจำกัดบทบาทและอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เหลือน้อยที่สุด
เหตุเหล่านี้ ทำให้ระยะเปลี่ยนผ่านของการเมืองไทยภายหลัง 2475 เต็มไปด้วยความไร้เสถียรภาพอันเกิดจากการแข่งขันช่วงชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ ซึ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งบทบาทหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบการเมือง มีความคลุมเครือ ขาดความแน่นอนชัดเจน การต่อสู้ทำลายล้างและการเกาะตัวเป็นพันธมิตรทางการเมืองระหว่างกลุ่มต่างๆ นี้ในที่สุดจะก่อรูปเป็นโครงสร้างทางการเมืองแบบเผด็จการอำนาจนิยมภายใต้ระบอบที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สถาปนาขึ้นภายหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 อันเป็นโครงสร้างที่จะกลายมาเป็นทั้งโอกาสและข้อจำกัด ในการฟื้นฟูสถานภาพและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางการเมืองการปกครองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ประเด็นที่สอง แม้ระบอบการเมืองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะมีแบบอย่างของต่างประเทศเป็นต้นแบบให้ศึกษาได้ รวมทั้งเป็นแนวเทียบเคียงอย่างกว้างๆ ในการกำหนดกรอบเกี่ยวกับลักษณะพื้นฐานที่เป็นองค์ประกอบของระบอบดังกล่าว เช่น การกำหนดขอบเขตเกี่ยวกับพระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจในทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ เป็นต้น แต่เนื่องจากสภาพการณ์และระดับการพัฒนาทางการเมือง รวมทั้งโจทย์ปัญหาและปัจจัยแวดล้อมของสังคมการเมืองไทย มีความแตกต่างอย่างมากกับประเทศตะวันตก ต้นแบบดังกล่าวจึงเป็นได้อย่างมากก็เพียงแม่แบบ แต่ไม่อาจจะนำมาลอกเลียนหรือนำมาใช้อย่างสำเร็จรูปได้ สถานะและบทบาทอันเหมาะสมของสถาบันพระมหากษัตริย์สำหรับสังคมหนึ่งๆ จะพึงเป็นเช่นไร ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เงื่อนไขภายในสังคมนั้นจะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการกำหนดประเพณีการปกครองดังกล่าว มากกว่าจะเป็นผลของการ “นำเข้า” แม่แบบจากต่างประเทศโดยไม่มีการปรับเปลี่ยน เพราะไม่ว่าแม่แบบนั้นจะน่าพึงปรารถนาสักเพียงใด แม่แบบนั้นก็เป็นผลของพัฒนาการภายในสังคมของเขาเอง
ด้วยเหตุดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องทรงรับภารกิจเป็นผู้ทรงบุกเบิกเข้าไปในดินแดนที่ยังไม่มีผู้ใดสำรวจแผ้วถางนำทางไว้ให้ ได้ทรงขยายบทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการสนับสนุนการพัฒนาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าเหมาะสมต่อสภาพของประเทศ ซึ่งกำลังถูกผลักให้เข้าสู่สภาวะสมัยใหม่ตามกระแสโลก และในด้านที่เป็นการส่งเสริมเพิ่มพูนพระบารมีตามคติธรรมโบราณของไทยเกี่ยวกับผู้ปกครองที่ดี เพื่อดำเนินและดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับเหล่าพสกนิกรทั่วทุกระดับและในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ การปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ ซึ่งขยายออกไปจากหน้าที่ที่มีอยู่ตามแบบแผนทั่วไปของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยเหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกระทำด้วยพระราชหฤทัยตั้งมั่น ไม่ย่อท้อ นำให้พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายทรงเจริญรอยตาม การตรากตรำพระวรกายในการทรงงานเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องยาวนานมาตลอดรัชสมัย ทำให้สถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยได้รับการฟื้นฟูขึ้น จนกลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญในระบอบการปกครองใหม่ และทำให้พระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระสถานะอยู่เหนือการเมืองและภายใต้รัฐธรรมนูญ กลับมามีบทบาทที่สำคัญยิ่งในทางการเมือง ซึ่งมิใช่จำกัดอยู่แต่เพียงการทำหน้าที่ในฐานะพระประมุขของชาติเท่านั้น แต่ความสำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังอยู่ที่บทบาทในระบบการเมือง ในฐานะองค์อธิปัตย์ที่เป็นตัวแทนของเจตจำนงทั่วไปของคนในชาติ (general will) ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ในยามที่บ้านเมืองประสบวิกฤติภาวะอีกด้วย
ประเด็นที่สาม ภายใต้บริบทของระบอบการเมืองแบบเผด็จการทหารตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เปิดโอกาสให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกวางบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความเชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความเป็นรัฐ ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นชาติ ปัญหาเกี่ยวกับระบอบการเมืองการปกครอง และปัญหาเกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมือง โดยทั้งหมดนี้ มีประเด็นเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองเป็นหัวใจสำคัญ ทั้งในแง่ของการฟื้นฟูความเข้มแข็งให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนคนในชาติ เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถเป็นแหล่งที่มาแห่งความชอบธรรม และการใช้สถานะที่มีความชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแกนกลางในการประคับประคองการพัฒนาระบบการเมือง รวมทั้งเป็นพลังในการจัดการกับปัญหาความชอบธรรมของรัฐ ความชอบธรรมของระบอบ ความชอบธรรมของรัฐบาล และความชอบธรรมของการใช้ความเป็นไทยมากำหนดความเป็นชาติ เพื่อเอื้อให้การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ สร้างความเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติและของพระราชวงศ์ไปในเวลาเดียวกันและในลักษณะที่เป็นองค์ประกอบของกันและกัน ซึ่งทั้งหมดนี้มีทั้งผลสำเร็จและข้อจำกัด
แต่ท่ามกลางความสำเร็จและข้อจำกัดทั้งปวงนั้น สิ่งที่เป็นพระคุณอันวิเศษเป็นที่น่าอัศจรรย์แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็คือ พระราชวิริยะบารมีอันแรงกล้าที่ทรงเพียรบำเพ็ญตลอดมาแต่ต้นรัชสมัย เพื่อกระทำสิ่งที่ในจุดเริ่มต้นนั้น ยากที่จะมีใครคาดได้ว่าจะถึงฝั่งแห่งความสำเร็จได้อย่างไร หรือเมื่อใด
(จาก "หกสิบปีแห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ บทบาทในฐานะประมุขของประเทศ" เอกสารประกอบการจัดประชุมวิชาการเนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 28 กรกฎาคม 2549)
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี