สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การสื่อสารนโยบายการเงินแบบใหม่ของเฟด

การสื่อสารนโยบายการเงินแบบใหม่ของเฟด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อกว่าสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดได้เผยแพร่ชุดข้อมูลเศรษฐกิจแบบใหม่ จากเดิมที่เราเคยดูว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละเท่าไร
รวมถึงพิจารณาจากคำพูดของ ดร.เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดที่จะกล่าวถึงเศรษฐกิจว่าจะย่ำแย่หรือเริ่มร้อนแรง แล้วตบท้ายด้วยผลโหวตของคณะกรรมการเฟด แต่มาคราวนี้ แพ็คเกจใหม่ของเฟดดังกล่าวประกอบด้วย การคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ และการคาดการณ์ช่วงเวลาของการเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสมาชิกคณะกรรมการเฟด
 

คำถามคือ ทำไมเฟดจึงเปลี่ยนวิธีการประกาศนโยบายการเงินในช่วงนี้ ก่อนที่จะตอบคำถามดังกล่าว ผมขอเล่าเบื้องหลังว่าทำไม ดร. เบน เบอร์นันเก้ จึงเชื่อว่าการใช้การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจแบบเป็นหมู่คณะดีกว่าการคาดการณ์แบบคนเดียว ดังนี้
 

จากการทดลองของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำและอดีตรองประธานธนาคารกลางสหรัฐ ดร. อลัน ไบน์เดอร์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ด้วยการใส่ลูกบอลสีแดงและสีน้ำเงินลงในกล่อง ด้วยจำนวนตั้งต้นให้ลูกบอลทั้ง 2 สี มีจำนวนเท่าๆ กัน แล้วให้ผู้เข้าร่วมการทดลองสุ่มหยิบออกมา ผู้ทดลองจะปรับจำนวนของลูกบอลทั้ง 2 สีให้มีสัดส่วนจาก 50/50 เป็น 60/40 หรือ 70/30 โดยที่ผู้เข้าร่วมการทดลองไม่รู้ตัว ผู้เข้าร่วมการทดลองจะทราบได้ก็ด้วยผลของการสุ่มว่าลูกบอลสีใดถูกหยิบขึ้นมาบ่อยขึ้น โดยคะแนนที่ได้จะสะท้อนถึงทั้งความถูกต้องของคำตอบ และความเร็วในการตอบ นอกจากนี้ ยังมีการทดลองการจำลองเศรษฐกิจจริงในลักษณะของการ Simulation ด้วยคอมพิวเตอร์อีกหนึ่งการทดลองโดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทำหน้าที่เป็นนายธนาคารกลาง
 

จะเห็นได้ว่าการทดลองนี้เหมือนเป็นการสะท้อนธรรมชาติของตลาดการเงินที่มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่มิได้มีความชัดเจน ต้องอาศัยการสังเกตตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดในการคาดการณ์ ผลปรากฏว่าจากการทดลองทั้งสอง การตัดสินใจแบบเป็นทีม (5 คน) ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการตัดสินใจแบบเพียงคนเดียว ด้วยเหตุผลที่ว่าผลรวมจากการตัดสินใจของสมาชิกแต่ละท่านจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ผิดพลาดน้อยกว่าการตัดสินใจเพียงคนเดียว
 

แล้วก็มาถึงคำตอบที่ โดยส่วนตัวผมคิดว่าเป็นเหตุผลที่อยู่ในใจของนายเบอร์นันเก้ ซึ่งทำให้เขาตัดสินใจเลือกช่วงเวลานี้ ในการทดลองแนวทางการสื่อสารนโยบายการเงินแบบเป็นทีม
 

ข้อแรก ต้องยอมรับว่าในช่วงเวลานี้ การเพิ่มปริมาณเงินให้กับระบบเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มขนาดของงบดุลธนาคารกลางด้วยการซื้อสินทรัพย์ทั้งภาครัฐและเอกชนมิได้ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ของสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์มีอยู่สูงมาก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ว่า แบงก์เหล่านี้เลือกที่จะปล่อยกู้เองน้อยลง หรือบางรายลดยอดรวมการปล่อยกู้สุทธิเสียด้วยซ้ำ ทว่ากลับเลือกที่จะถือครองสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องแทน เพื่อหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ทางการเงินที่เข้มงวดในการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ที่สูงขึ้น รวมถึงกังวลว่าความสามารถในการชำระคืนของลูกหนี้จะแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเศรษฐกิจยุโรปเกิดมีอันเป็นไป
 

ทว่าสภาพการณ์เช่นนี้ก็มิสามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไป คำถามที่ไม่มีใครสามารถตอบได้อย่างเต็มปากในตอนนี้ คือ เมื่อไรที่ธนาคารพาณิชย์จะเลิกถือครองแต่สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องและเริ่มกลับมาปล่อยกู้อีกครั้ง และอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นรวดเร็วเพียงใดในวันที่เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น
 

ความแม่นยำของคำตอบสำหรับคำถามดังกล่าว ขึ้นอยู่กับว่าธนาคารกลางสหรัฐจะสามารถพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจและการเงินที่มีอยู่หลายร้อยตัว แล้วสามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้รวดเร็วและถูกต้องเพียงใด ซึ่งตรงนี้นายเบอร์นันเก้เชื่ออย่างเต็มร้อยจากผลการทดลองของนายไบน์เดอร์ว่า หากเฟดตัดสินใจเป็นหมู่คณะน่าจะเวิร์คกว่าการที่เขาตัดสินใจเพียงคนเดียว
 

อย่างไรก็ดี ผมไม่ค่อยเชื่อว่าการทดลองดังกล่าวจะเป็นจริงกับคณะกรรมการเฟด ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ หนึ่ง นักศึกษามหาวิทยาลัยพรินซ์ตันที่เป็นผู้เข้าร่วมการทดลองเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ด้วยตำราเล่มเดียวกัน ดังนั้น การตัดสินใจแบบเป็นทีมย่อมให้ผลลัพธ์ของการตัดสินใจมีความเป็นเอกภาพมากกว่าทีมคณะกรรมการธนาคารสหรัฐ ซึ่งสมาชิกที่กลัวอัตราเงินเฟ้อมาก (Hawkish) เหมือนเรียนมาจากคนละตำรากับ สมาชิกที่ชอบการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Dovish) ดังนั้น ผลลัพธ์ของการตัดสินใจของคณะกรรมการเฟดจะรวดเร็วและถูกต้องกว่าการตัดสินใจของนายเบอร์นันเก้เพียงคนเดียวหรือไม่นั้น ผมยังไม่ค่อยแน่ใจนัก
 

สอง ในการทดลองดังกล่าวทีมมีสมาชิกเพียง 5 คน ทว่าคณะกรรมการเฟดมีสมาชิกสิบกว่าท่าน
 

สำหรับเหตุผลที่สอง ที่การประกาศนโยบายการเงินแบบใหม่เกิดขึ้นมาในช่วงนี้ คือ ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทั้งคณะกรรมการ ถ้าเกิดความผิดพลาดในการดำเนินการนโยบายการเงินขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังเกตได้ค่อนข้างยากและความผิดพลาดมีค่าใช้จ่ายสูงมาก รวมถึงหากพรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐช่วงปลายปีนี้ การทำงานในลักษณะนี้น่าจะทำให้นายเบอร์นันเก้ไม่กดดันมากนัก
 

ท้ายสุด จากเทคนิคการเลือกเป็นทีมของเฟดนั้น เราจะใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างไร ผมเห็นว่าเราสามารถคาดการณ์การประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจของเฟดได้ง่ายขึ้นเนื่องจากเฟดมีสมาชิกที่กลัวอัตราเงินเฟ้อมากประมาณ 5 คน เราสามารถเริ่มต้นประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจจาก 5 ท่านนี้ นอกจากนี้ ผลการศึกษาของนายไบน์เดอร์ยังระบุว่าการตัดสินใจของผู้หญิงจะเร็วกว่าผู้ชาย ก็อาจจะตีความได้ว่าสมาชิกเฟดที่เป็นผู้หญิงน่าจะให้การคาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจขึ้นลงตามวัฏจักรเศรษฐกิจแบบชัดเจน
 

ผมขอสรุปสั้นๆ ว่า นายเบอร์นันเก้เลือกที่จะสื่อสารนโยบายการเงินแบบใหม่ในช่วงเวลานี้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงหากขยับนโยบายการเงินผิดพลาด และอาจสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นในอนาคตครับ


หมายเหตุ ติดตามผลงานของผู้เขียนเพิ่มเติมได้จากคอลัมน์ มุมคิดธนกิจ ที่หน้าต่างประเทศ ทุกวันศุกร์เว้นศุกร์ (วันศุกร์ที่ 17 ก.พ. 2555) และทาง http://facebook.com/MacroView ครับ


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : การสื่อสารนโยบายการเงินแบบใหม่ เฟด

view